"คนจน" 2


ยายนวลจะหยุดชะงัก แล้วเงียบไปไม่ตอบ ทำให้ผมหงุดหงิดหลายครั้ง แกว่า “ปวดหัว” จำไม่ได้แล้ว

 

12

ตอนบ่าย เกษตรฯ เข้าใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร นำหนังสือระบุข้อความให้ยืมเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองมาให้ผู้ใหญ่บ้านเซ็นว่า ได้รับเมล็ดพันธุ์ไปเมื่อปีที่แล้ว ผู้ช่วยเด่นคนที่ผมไม่ชอบหน้าเมื่อวาน เดินรี่เข้ามาขอเมล็ดพันธุ์  เกษตรบอกว่า ให้เก็บเงินพันธุ์ถั่วที่นำมาให้ยืมในปีที่แล้ว และนำเงินจำนวนนั้นเป็นกองทุนหมุนเวียนเพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์ต่อ ผู้ช่วยเด่นบอกว่า แล้วที่เกษตรมีอีกมั้ย (หมายถึงเมล็ดพันธุ์) ไม่มีหรอก ตอบเสียงห้วน  มีก็ปลูกไม้ขึ้น  ปลูกไม่ขึ้นจะมาขอทำไม ก็ไม่ต้องเอา แฮะ ๆ ผมก็พูดไปอย่างนั้น เดี๋ยวไปตรวจหวยก่อน ถูกแล้วจะเลี้ยงเหล้า ไม่ต้องเลี้ยงหรอก น้ำเสียงฉุนเฉียวเต็มที...19 ตุลาคม 2535

13

ตั้งวงเหล้าร่วมกับแกนนำการพัฒนาบนบ้านนายพัฒน์ ลุงใจดีที่ให้ที่หน้าบ้านทำที่อ่านหนังสือ  วันนี้แกเป็นเจ้าภาพเลี้ยงเหล้าบัณฑิตหนุ่มจากกรุงเทพ ผู้หลงตัวว่ามาทำงานพัฒนาให้ชาวบ้าน การสนทนาวันนี้ทำให้ผมเบิกบานใจ หัวหน้าคุ้ม 2 ตกลงที่จะมาลงแรงทำศาลาในเดือนหน้า  ลุงยกขี้เมาให้เสา 1 ต้น  ทุกคนในวงเหล้ารับปากจะช่วยทำเต็มที่ แต่ก็ไม่วายได้ยินเรื่องความขัดแย้งการทำบัตรสงเคราะห์ที่กลุ่มคนยากจนไม่ได้รับบัตรแต่เข้าใจว่าคนที่ไม่ยากจนได้รับแทน เรื่องไฟฟ้าหมู่บ้านที่ทราบว่าผู้ใหญ่คนก่อนไม่ได้ทำโครงการเดินสายไปยังกลุ่มบ้านบน บ้านอื่นมีไฟฟ้าใช้แต่บ้านบน 10 กว่าหลังไม่มี พวกเขาคิดว่าผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันเป็นผู้ขอโครงการและกลั่นแกล้งไม่ยอมให้ไฟใช้...

21 ตุลาคม 2535

14

กิ่งอำเภอทองแสนขัน  เป็นวันแรกที่ผมเดินขึ้นอำเภอ หลังจากคุยกับศึกษาธิการ  และพัฒนาการอำเภอเสร็จ ผมก็ตรงไปหาปลัดอาวุโส  เอ่ยเรื่องความขัดแย้งในหมู่บ้าน ปลัดบอกว่าทราบเรื่องนี้อยู่ สาเหตุเกิดจากการทะเลาะวิวาทกันของเยาวชน ผมบอกว่าน่าจะมีสาเหตุอื่นอีก แล้วยกตัวอย่างเรื่องน้ำประปา ปลัดมีท่าทีไม่พอใจบอกว่าอย่าเพิ่งด่วนสรุป พร้อมกับอธิบายประโยชน์ที่หมู่บ้านมีน้ำประปาใช้  แล้วบอกอีกว่ากลุ่มประชากรที่ขัดแย้งมีเพียงส่วนน้อย ความขัดแย้งมีอยู่ทั่วไปไม่ใช่เรื่องใหญ่โต มองสังคมให้กว้าง  ผมคิดได้ว่าในสายตาของปลัดผมกำลังทำหน้าที่เจรจากับทางราชการเสมือนเป็นตัวแทนของกลุ่มคนยากจนเหล่านั้น  ผมถามเกี่ยวกับเรื่องถนนเข้าหมู่บ้าน ปลัดบอกว่ากระทรวงเกษตรกำลังจะออกกฎกระทรวงยกเลิกพื้นที่ป่าสงวน เพื่อจะได้ตัดถนนเข้ามาได้ ปลัดยังคงถามผมเรื่องความขัดแย้ง ด้วยท่าทีของฝ่ายปกครองที่ระแวงสงสัยที่มาที่ไปของผม...22 ตุลาคม 2535

15

วันแห่งการรอคอยก็มาถึง ผมตื่นเช้าเป็นพิเศษแต่งตัวชุดลุยงานหนัก เดินไปบ้านลุงพัฒน์เห็นกำลังถางหญ้า ผมเข้าไปช่วยถางพร้อมรอคอยผู้ที่จะมาสมทบสร้างศาลานั่งพักและเป็นที่อ่านหนังสือ นายมัดมาเป็นคนแรกมาถึงก็ลงมือรื้อศาลาหลังเก่า ไม่นานวัยรุ่นในหมู่บ้านก็มาช่วยอีกคน ผู้ช่วยไกรมาพร้อมกับกบไฟฟ้า  นายจันตามมา  พ่อผู้ใหญ่ปิดท้าย  เริ่มลงมือได้สักพัก ลุงยกก็แบกเสามา แขกที่ไม่ได้รับเชิญแต่เต็มใจมาช่วยงานส่วนรวมทุกครั้งคือ นายแหนบเด็กวัยรุ่นยากจนที่ใคร ๆ ก็ว่าเป็น ผีบ้า  พอใกล้เที่ยงลุงยกไปหามะละกอมาตำกินมีนายแหนบเป็นลูกมือช่วยอย่างใกล้ชิด นายมัดไปเอาข้าวเหนียวที่บ้านมา ผมไปซื้อเกาเหลามาสองถุง ทุกคนกินอย่างมีความสุข รอยยิ้ม และเต็มไปด้วยเสียงกระเซ้าเย้าแหย่ บางคนติ บางคนเสนอความเห็น ในที่สุดศาลาก็เป็นรูปเป็นร่าง  ค่ำนั้นเราดื่มฉลองศาลากันอย่างมีความสุข... 28 ตุลาคม 2535

16

หลังจากทำที่อ่านหนังสือเสร็จ ผมไปรายงานต่อศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ได้รับการต่อว่าต่อขานว่า ที่อ่านหนังสือมาตรฐานต้องมีขนาด 4 คูณ 6 เมตร มีพระบรมฉายาลักษณ์ ธงชาติ ที่แขวนหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะต้องติดป้ายข้อความว่า ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน  ไม่ใช่ แหล่งเรียนรู้ เจ้าหน้าที่ศูนย์ขอให้เปลี่ยนป้ายชื่อมิฉะนั้นจะไม่ได้รับงบประมาณซื้อหนังสือพิมพ์ และบอกให้ผมเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่อย่าตามใจชาวบ้านนัก หลายวันมานี่จึงหมดแรงกายแรงใจ อาการหวัดก็ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ทั้งที่กินยาจนสมองมึนงงไปหมด  ตอนเย็นพ่อผู้ใหญ่กลับมาจากประชุมที่อำเภอพร้อมกับผู้ใหญ่หมู่ 1 หิ้วเบียร์มาสองขวด ผมเลี่ยงออกไปหาประธานฝ่ายสาธารณสุขหมู่บ้าน คุยกันถูกคอและได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี แกซื้อเหล้าขาวมาให้ดื่ม 1 ขวด ปลากระป๋อง และกลอยนึ่งใส่น้ำตาล กินกับข้าวและแกล้มเหล้าปนกันไป หลังจากกินเสร็จผมนั่งดื่มกับเจ้าของบ้านต่อ แต่ก็รู้สึกสลดยิ่งเมื่อลูกและเมียของแกยกกลอยนึ่งใส่น้ำตาลไปกินต่อ ส่วนปลากระป๋องนั้นผมกินเรียบไม่เหลือ อาหารมื้อเย็นของสองแม่ลูกคือกลอยนึ่งใส่น้ำตาลที่เหลือจากที่ผมกิน ส่วนเหล้าและปลากระป๋องที่ผมกินจนหมดอย่างไม่เกรงใจนั้นก็ซื้อมาด้วยเงินเชื่อจากบ้านผู้ช่วยเด่นที่อยู่ใกล้นั่นเอง...           

4 พฤศจิกายน 2535

17

แบบสัมภาษณ์เสร็จแล้ว มีคำถามตั้งแต่เกิด ชีวิตวัยเด็ก เรียนหนังสือ จนกระทั่งปัจจุบัน ตื่นนอนกี่โมง ทำอะไรบ้าง กินอะไร ไปไหนบ้าง เข้านอนเวลาไหน มันระเอียดยิบจนน่ารำคาญถ้าใครจะมาถามผมแบบนี้ แต่ทำไงได้ ผมเดินขึ้นไปบ้านบน เห็นตาสวนนั่งอยู่หน้าบ้าน ในมือถือมีดพร้าเฉือนเล็บตัวเองอยู่ ผมเดินเข้าไปกล่าวทักทาย ทำอะไรอยู่ครับ แกยิ้มให้อย่างเป็นมิตร เผยฟันสองซี่สุดท้ายที่เหลืออยู่ แต่ไม่ตอบอะไร ผมนำแชมพู 10 กว่าซองที่เตรียมไปให้ และงัดบุหรี่มาแจกเด็กชายหน้าตาประหลาดที่เคยพบกันตอนผมเดินขึ้นมาครั้งแรก เขาเดินตามผมมาตั้งแต่เข้าเขตบ้านบน กรองทิพย์ซะด้วย เขากล่าวชื่นชมแล้วยิ้มอย่างภาคภูมิ นายคนนี้อายุเท่าผมพิการแต่กำเนิด แขนเหยียดไม่ได้ ขาเสียข้างหนึ่ง และสติไม่ดี หลังจากอัดบุหรี่เข้าเต็มปอดก็หันมาชมว่า บุหรี่มันนุ่ม เขาชื่นชมอยู่กับบุหรี่เหมือนได้ของเล่นชิ้นโปรด บนโลกที่มีเขากับของเล่นเพียงลำพัง โดยไม่สนใจว่าผมถามอะไรตาสวนบ้าง แต่เมื่อบุหรี่หมดมวนผมก็เริ่มถูกก่อกวน คำถามที่ผมถามตาสวนนั้นมีผู้ตอบแทนด้วยความสนุกสนาน ตื่นนอนกี่โมงครับ นายนั่นตอบแทนว่า ตื่นตอนเที่ยงเล่นเอาตาสวนยิ้มขวยเขินรีบปฏิเสธว่า ไม่ถึง การสัมภาษณ์ดำเนินต่อไป นายนั่นเคาะไม้บ้าง เอาคลิปหนีบกระดาษไปเล่นบ้าง ตะโกนโหวกเหวกทักคนที่เดินผ่าน กินยาอะไรบ้างในแต่ละวัน ตาสวนตอบว่า กินยาแก้ปวดเป็นซอง นายนั่นแทรกว่า แล้วยาเส้นล่ะ เขาเริ่มสนใจการสัมภาษณ์ของผม เมื่อผมถามถึงภรรยาที่ผ่านมาแล้วถึง 9 คน ของตาสวน เขาแสดงความสนใจด้วยการมานั่งตรงหน้าผมหันหลังให้ตาสวน บังตัวตาสวนไว้จนผมต้องโยกตัวคุย เขายังคงนั่งแกว่งขาเล่น ตาจ้องมองมาที่ผมไม่กระพริบ หัวเราะอย่างกับได้ดูการ์ตูนเรื่องโปรดกับคำถามบางคำถาม ผมสัมภาษณ์ได้อีกไม่นานก็ยอมแพ้...

18

กระต๊อบไม้ไผ่ขนาดเท่าเถียงนา ใช้ใบควงแห้งปิดเป็นผนังมีรูให้แสงธรรมชาติรอดผ่านทั่วทุกด้าน ตั้งอยู่ปลายสุดของหมู่บ้านบนตีนเขา ลมพัดเย็นสบาย กะว่าจะนั่งเล่นสักพักก็จะกลับ ไม่นานภรรยาคนที่ 9 ของตาสวนก็กลับมาจากเอาของไปแลกข้าว ตัวเธอผอมแกรน ตาลึกโต ฟันดำ ตัดผมหน้าม้าเหมือนเด็กนักเรียน ผิวสีน้ำตาลอ่อน แต่สิ่งที่สะดุดใจที่สุดคือแววตาที่ไม่เคยผ่านร่องรอยความสุขมาเลยชั่วชีวิต เธอเดินเข้ามากับลูกสาวที่สติไม่สมประกอบ ไร้ความร่าเริง  เกาะแขนแม่ตลอดเวลา เป็นลูกสาวที่แม่บอกกับใคร ๆ ว่า ลูกตัวเองเป็น ผีบ้า ไม่ยอมให้ไปโรงเรียน .... 27 กุมภาพันธ์ 2536

19

เหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือนจะได้กลับบ้านแล้ว  วันนี้เป็นวันแรกหลังจากใช้เวลาหลายเดือนที่ผมได้พบผู้นำกลุ่มคนยากจน แกคุยประวัติอันบ้าบิ่นโลดโผนให้ฟังจนผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กไม่ประสาต่อโลกนี้เลย คุยอยู่นานนับชั่วโมงน้องต่างมารดาของลุงศิลาก็เดินมานั่งร่วมด้วย ผมชวนคุยเรื่องฝายกั้นน้ำที่ได้ยินเสียงเล่าลือมานานแล้ว น้องชายลุงศิลาจึงอาสาพาผมไปดู เดินออกไปจากหมู่บ้านขึ้นบนเขาราว 1 กิโลเมตร ก็ได้เห็นฝายเจ้าปัญหานั่นเต็มตา มันเหมือนกับผลงานเด็กที่ไปขโมยปูนเหลือจากผู้ใหญ่มาโบกเล่น สูงไม่ถึงเมตร เทียบแล้วเอากระสอบทรายมากั้นสักสองแถวยังเก็บน้ำได้มากกว่า ตามโครงการที่เสนอไปนั้นฝายนี้สูง 5 เมตร ชาวบ้านระดมความคิดว่าถ้ากั้นน้ำที่ไหลลงมาจากเขาที่ตรงนี้ได้ จะได้แอ่งน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถทำการเกษตรได้เกือบตลอดปี แต่สภาพที่เห็นนั้นทำให้นึกไม่ออกเลยว่ามันเป็นโครงการพัฒนาหมู่บ้านไปได้อย่างไร บริเวณที่สร้างฝายนี้เดิมเป็นที่ปลูกข้าวโพดของคนยากจน ผู้ใหญ่มาคุยขอให้บริจาคที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่เมื่อบริจาคไปแล้วกลับไม่มีใครได้ประโยชน์ ชาวบ้านทุกคนรู้สึกว่าถูกหลอก แต่ไม่รู้ว่าใครหลอก อำเภอ ผู้รับเหมา หรือผู้ใหญ่บ้าน... หรือทั้งหมดรวมกัน

20

และวันที่ไม่อาจลืมได้เลยก็มาถึง  ยายนวล คือยายคนที่ขอเงินผม 1 บาทเพื่อไปซื้อยาสูบ วันนี้แกยิ้มแย้มยินดีที่ได้พบผม นายไม่ไปบ้านยายเหรอ นายไปหน่อยนะ ไปถ่ายรูปก็ได้  นายจะกลับเมื่อไหร่ แกพูดถี่ยิบ ผมคิดในใจว่ายายจะขออะไรผมอีกล่ะ ก็ที่ผ่านมาไม่เคยสนใจผมเลยนอกจากจะขอเงิน เคยให้สัมภาษณ์ได้สักพักก็บอกปวดหัวไม่อยากคุยแล้ว ... แต่แล้ววันนี้กลับเป็นวันที่ทำให้ผมสะท้านใจเป็นที่สุด เมื่อคุยกันได้สักพักนึกขึ้นได้ว่ามีรูปแกที่เคยถ่ายไว้ จึงหยิบมาแล้วเปิดให้ดู นี่รูปยาย ผมบอก แกคว้าไปดูนิ่งเงียบ อาการที่เคยรุกรนพลันสงบเฉย น้ำตาซึมออกมาเป็นทางยาว ผมตกใจนึกไม่ถึงว่าแกจะร้องไห้เมื่อได้เห็นรูปตัวเอง นี่รูปยายเหรอ แกถามย้ำ น้ำตายังคงไหลพรากอาบแก้ม  ...แกไม่เคยส่องกระจกมาเลยและนี่คือครั้งแรกที่ได้เผชิญกับสภาพน่าเวทนาของตัวเองเพราะที่ผ่านมาได้เก็บกั้นมันไว้ตลอดชีวิต...เมื่อมันมาอยู่ตรงหน้าความรู้สึกที่ถูกกดทับไว้ได้พังทลายลง เป็นหยาดน้ำตาที่ไม่อาจปิดอำพรางไว้ได้อีก

การพูดคุยสิ้นสุดลงผมจากมาเงียบ ๆ ปนความเหงา เศร้าซึม ความกระหายในข้อมูลมลายไปสิ้น

2 มีนาคม 2536

21

4 เดือนหลังจากนั้นผมสอบผ่านสารนิพนธ์ไปอย่างราบรื่น เป็นสารนิพนธ์ที่ได้รับคำชมเชย ยกย่องให้เป็นตัวอย่างของการเขียนสารนิพนธ์  ภาพถ่ายและเรื่องราวชีวิตของผู้คนที่ผมเอ่ยถึงข้างต้นยังคงปรากฏในงานสารนิพนธ์ที่วางเป็นหนังสือสำรองถาวรในห้องสมุดปรีดีมาจนถึงปัจจุบัน

 15 ปีผ่านไปผมไม่เคยรู้สึกเลยว่าได้ทำอะไรชดใช้หยาดน้ำตาหยดนั้นไปได้บ้าง อาจเป็นเพราะด้วยเป็นเพียง น้ำตาของ คนจนที่ดาษดื่นและท่วมนอง

25 มกราคม 2551

สามชาย ศรีสันต์ บอ.24

ผนวก

1. หมู่บ้านที่ผมอยู่หากจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์ต้องเดินทางไปที่อำเภอระยะทาง 7 กิโลเมตร เวลานั้นไม่มีโทรศัพท์มือถือ ผมปั่นจักรยานเข้าอำเภอเพื่อไปโทรศัพท์ทุกสัปดาห์

2. คนชายขอบ ผมเข้าใจซึ้งทราบกับคำนี้ดี คนจนเหล่านี้ถูกรังแกผลักไสให้ไปตั้งบ้านที่ห่างจากชุมชน เขาหวาดระแวงคนแปลกหน้าเพราะเกรงจะมาตรวจจับ หาความผิดข้อหาตัดไม้ เก็บของป่า และลักลอกปลูกพืชไร่ในเขตป่า คนกลุ่มนี้ไม่มีทะเบียนบ้าน ไม่มีบัตรประชาชน และกว่าจะได้มารวมกันที่ตรงนี้ก็เร่ร่อนเคลื่อนย้ายถูกรื้อไล่มาแล้วหลายครั้งหลายหน

3. ข้าราชการที่ผมสัมผัสด้วยในหมู่บ้าน ล้วนวางท่าใหญ่โต หมิ่นเหยียดและประณามชาวบ้านโดยเฉพาะคนจน  พัฒนากรบอกผมว่าอย่าไปฟังมันมากพวกนี้มีแต่เรียกร้องเอาผลประโยชน์ ผมได้ข่าวตำรวจที่จับคนตัดไม้ไปและเรียกขอข้าวสารแทนหากไม่มีค่าปรับ ถ้าไม่มีทั้งสองอย่างก็ขังคุกโดยไม่ทำสำนวนฟ้องศาล

4.ผู้ช่วยเด่นกลับกลายเป็นผู้สะท้อนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านได้อย่างดี  เขาพูดใส่ผมว่า มานี่ก็ให้ได้ผลงานกลับไปเน้อ แม้ตอนนั้นจะไม่ยอมรับ แต่วันนี้เมื่อคิดย้อนกลับไปครานั้นผมก็ไม่ต่างจากข้าราชการที่เข้าไปในหมู่บ้านแล้วอยากได้ผลงานโดยไม่สนใจว่าชาวบ้านต้องการหรือไม่

5.  เรื่องราวของคนยากจนนั้นรันทด หดหู่กว่าที่ปรากฏในเรื่องนี้หลายเท่านัก คนเหล่านี้ไม่เพียงเผชิญความลำบากทางกายภาพที่โหดร้ายทารุณ เขายังต้องเผชิญกับการทำร้ายจากสังคมรอบข้าง ที่หากเป็นสังคมชนเผ่าไร้ความเจริญ เขาอาจเป็นสุขใจกว่าสังคมที่กำลังพัฒนาอย่างในเวลานี้มากนัก

6. ยายนวลจะหยุดชะงัก แล้วเงียบไปไม่ตอบ ทำให้ผมหงุดหงิดหลายครั้ง แกว่า ปวดหัว จำไม่ได้แล้ว ผมมาคิดได้ทีหลังว่า เรื่องที่ถามอาจกระทบความรู้สึกจนไม่อาจรื้อฟื้นมันขึ้นมาได้อีก

7. โครงการที่ทำในหมู่บ้านที่ผมได้รู้สึกตอบแทนคนจนเหล่านี้ และเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจได้มากที่สุดจากการเป็น บอ. คือ การต่อท่อประปาเข้าไปยังกลุ่มบ้านบน โดยพ่อผู้ใหญ่นำเงินกองกลางหมู่บ้านสมทบ 1 พันบาท และครัวเรือนยากจนลงหุ้นกันคนละ 100 บาท ติดมิเตอร์กลางและดูแลเก็บค่าน้ำกันเอง ทุกคนบนกลุ่มบ้านบนมาลงแรงต่อท่อขึ้นไปวันที่ต่อเสร็จและเปิดน้ำใส่ปี๊บที่นำมารองไว้นั้น น้ำใสหยดแรกที่พุ่งออกมาจากก๊อก เรียกเสียงเฮลั่นไปทั่วบริเวณบ้านบน เป็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่ไม่เคยดังขึ้นเป็นเวลานานแสนนาน

8. พี่จุ๋ม (ภาวนา นาถะพินธุ บอ.10) ถามผมว่าทำวิจัยเรื่องคนจนไม่เบื่อบ้างรึไง ทำให้ผมกลับมาทบทวนหาคำตอบ เรื่องราวเหล่านี้คงเป็นคำตอบได้ชัดเจนว่า ทำไมวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผมจึงเป็นเรื่อง  ความจน

9. ผมเขียนเรื่องนี้ด้วยมุ่งหวังให้ใครก็ตามที่กำลังจะเดินเข้าสู่ชุมชน ได้เห็นความในหลากหลายแง่มุมของชีวิตที่ไม่ได้มีเพียงด้านเดียว อยู่ที่ว่าเราเลือกยืนอยู่จุดไหน ส่วนตัวแล้วก็ขอวิงวอนให้ยืนอยู่ข้าง คนจน ถ้าข้อเขียนชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์และมีคุณค่าผมก็ขอยกผลงามความดีนั้นให้กับคนยากจนทุกคนที่เป็นวัตถุการของศึกษา และถูกนำมากล่าวถึงดุจตัวละคร...

 

หมายเลขบันทึก: 218285เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2008 08:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะอ.สามชาย

ตามมาอ่านต่อค่ะ อ่านแล้วก็ให้นึกถึงตอนที่คนไม่มีรากเรียนป.โทวัฒนธรรมศึกษา ที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท ม.มหิดล ต้องลงพื้นที่ 2 เดือนในจ.นครนายก หมู่บ้านไทยพวน ...

ลงพื้นที่ครั้งแรกอะไรก็แปลกใหม่ น่าสนใจ น่ารู้ไปหมด วิชาความรู้ที่มีก็อยากถ่ายทอด ทำไมอยู่กินกันแบบนี้ คิดอย่างนี้ได้อย่างไร อ้อ..ก็คิดอย่างนี้ ก็เลยอยู่จนกันแบบนี้ แอบคิดว่า...บ้านเมืองเลยแย่ ยังดักดาน ไม่ไปไหน แต่...พบว่า...

ช่วงเวลาในพื้นที่ 2 เดือน ให้บทเรียนที่ไม่เคยพบที่ไหนมาก่อน ให้ความคิด ความรู้สึก ให้ความจริง ให้มุมมอง...และท้ายที่สุด...ให้สติ ส่วนปัญญานั้น ยังไม่กล้าพอจะบอกว่าได้มาด้วยหรือไม่ นอกจากได้ความตระหนักรู้ว่า...โลกนี้มีอะไรมากกว่าที่เรานึกคิด

ขอชื่นชมและนับถืออาจารย์ด้วยใจคารวะ....

15 ปีผ่านไปผมไม่เคยรู้สึกเลยว่าได้ทำอะไรชดใช้หยาดน้ำตาหยดนั้นไปได้บ้าง อาจเป็นเพราะด้วยเป็นเพียง น้ำตาของ ”คนจนที่ดาษดื่นและท่วมนอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท