ระบำ รำ ฟ้อน


ระบำ รำ ฟ้อน

ระบำ รำ ฟ้อน

        นาฏศิลป์ เป็นการรวมความเป็นเลิศของศิลปะแขนงต่าง ๆ วิวัฒนาการมาพร้อมกับความเจริญของมนุษย์ โดยอาศัยพลังและเจตนา เป็นเครื่องผลักดันให้จิตกระตุ้นร่างกายให้แสดงการเคลื่อนไหว มีจังหวะ มีแบบแผน เพื่อให้เกิดความสุข ความเข้าใจ และความงดงามแก่ตนเองและผู้อื่น  นาฏศิลป์ไทย เป็นศิลปวัฒนธรรมประจำชาติแต่โบราณ เป็นศิลปะชั้นสูง แยกประเภทการแสดงออกเป็นหลายแบบ ใช้ภาษาท่าเหมือนกัน แต่แยกลักษณะและประเภทการแสดงแตกต่างกัน  
ขอบข่ายของนาฏศิลป์ไทย จำแนกเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่ โขน หนัง หุ่น ละครรำ ละครรำ ละครร้อง ละครสังคีต ละครพูด การละเล่นของหลวง การเล่นเบิกโรง การละเล่นพื้นเมือง
        นาฏศิลป์ไทยประเภทต่างๆ ดังกล่าวมานี้ เรียกกันโดยทั่วไปว่า "มหรสพ" ซึ่งหมายถึงการเล่นรื่นเริง มีโขน ละคร หรือสิ่งที่คล้ายคลึงกัน ปัจจุบันมหรสพมีความหมายกว้างขวาง รวมไปถึงการเล่นรื่นเริงทุกชนิด มีระบำ รำ ฟ้อน เป็นต้น

     ระบำ คือ ศิลปะของการร่ายรำที่แสดงพร้อมกันเป็นหมู่เป็นชุด ความงามของการแสดงระบำ อยู่ที่ความสอดประสานกลมกลืนกัน ด้วยความพร้อมเพรียงกัน  การแสดงมีทั้งเนื้อร้องและไม่มีเนื้อร้อง ใช้เพียงดนตรีประกอบ  คำว่า "ระบำ" รวมเอา "ฟ้อน" และ "เซิ้ง" เข้าไว้ด้วยกัน เพราะวิธีการแสดงไปในรูปเดียวกัน แตกต่างกันที่วิธีร่ายรำ และการแต่งกายตามระเบียบประเพณีตามท้องถิ่น

ระบำ แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ ระบำดั้งเดิมหรือระบำมาตรฐาน และระบำปรับปรุงหรือระบำเบ็ดเตล็ด
     ๑. ระบำดั้งเดิมหรือระบำมาตรฐาน หมายถึง การแสดงที่ปรมาจารย์ได้กำหนดเนื้อร้อง ทำนองเพลง ลีลาท่ารำและการแต่งกาย ตลอดถึงกระบวนการแสดงไว้อย่างแน่นอนตายตัว และได้สั่งสอน ฝึกหัด ถ่ายทอด ต่อๆ กันมาเป็นเวลานาน จนนับถือเป็นแบบฉบับ จัดเป็นระบำมาตรฐาน เป็นแม่บทที่ควรธำรงรักษาไว้ ซึ่งใครจะเปลี่ยนแปลงลีลาท่ารำไม่ได้ เช่น ระบำดาวดึงส์ ระบำกฤดาภินิหาร ระบำเทพบันเทิง ระบำโบราณคดี

     ๒. ระบำปรับปรุงหรือระบำเบ็ดเตล็ด หมายถึง การแสดงที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามประสงค์ ตามเหตุการณ์ ตามสมัยนิยม และตามเนื้อเรื่องที่ผู้ประพันธ์ต้องการ  ระบำปรับปรุงแยกออกเป็น

           ปรับปรุงจากแบบมาตรฐาน หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นโดยยึดแบบและลีลา ตลอดจนความสวยงามในด้านระบำไว้  ท่าทางลีลาที่สำคัญยังคงไว้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ดูงามขึ้นอีก หรือเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสมกับสถานที่ที่นำไปแสดง เช่น การจัดรูปแถว การนำเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงเข้าไปสอดแทรก เป็นต้น

           ปรับปรุงจากพื้นบ้าน หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์สร้างสรรค์ขึ้นจากแนวทางความเป็นอยู่ของคนพื้นบ้าน การทำมาหากิน อุตสาหกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ในแต่ละท้องถิ่นมาแสดงออกเป็นรูประบำ เพื่อเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น เช่น เซิ้งบั้งไฟ เต้นกำรำเคียว ระบำงอบ ระบำกะลา รองเง็ง ฯลฯ

          -  ปรับปรุงจากท่าทางของสัตว หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ตามลักษณะลีลาท่าทางของสัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น ระบำนกยูง ระบำนกเขา ระบำมฤครำเริง ระบำบันเทิงกาสร ระบำตั๊กแตน เป็นต้น

          -  ปรับปรุงจากตามเหตุการณ หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นใช้ตามโอกาสที่เหมาะสม เช่น ระบำพระประทีป ระบำโคมไฟ ระบำที่ประดิษฐ์ขึ้นรำในวันนักขัตฤกษ์ ลอยกระทงในเดือนสิบสอง ระบำที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อการต้อนรับ เพื่อแสดงความยินดี อวยพรวันเกิด เป็นต้น

          -  ปรับปรุงจากสื่อการสอน เป็นระบำประดิษฐ์และสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อเป็นแนวทางสื่อนำสู่บทเรียน เหมาะสำหรับเด็ก ๆ เป็นระบำง่าย ๆ เพื่อเร้าความสนใจ ประกอบบทเรียนต่าง ๆ เช่น ระบำสูตรคูณ ระบำวรรณยุกต์
         ระบำประเภทปรับปรุงขึ้นใหม่นี้ ลักษณะท่ารำจะไม่ตายตัว จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ ตัวบุคคล ตลอดจนฝีมือและความสามารถของผู้สอนและตัวนักเรียนเอง

     รำ หมายถึง การแสดงที่มุ่งความงามของการร่ายรำ เป็นการแสดงท่าทางลีลาของผู้รำ โดยใช้มือแขนเป็นหลัก

ประเภทของการรำ ได้แก่ การรำเดี่ยว  การรำคู่  การรำหมู่
๑.  การรำเดี่ยว  คือ การรำที่ใช้ผู้แสดงเพียงคนเดียว จุดมุ่งหมายคือ
     ๑.๑  ต้องการอวดฝีมือในการรำ
     ๑.๒  ต้องการแสดงศิลปะร่ายรำ
     ๑.๓  ต้องการสลับฉากเพื่อรอการจัดฉาก หรือตัวละครแต่งกายยังไม่เสร็จเรียบร้อย
การรำเดี่ยว เช่น การรำฉุยฉายต่าง ๆ รำมโนราห์บูชายัญ รำพลายชุมพล ฯลฯ

๒.  การรำคู่  แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ รำคู่ในเชิงศิลปะการต่อสู้ ไม่มีบทร้อง และรำคู่ในชุดสวยงาม
     ๒.๑  การรำคู่ในเชิงศิลปะการต่อสู้ ได้แก่ กระบี่ กระบอง ดาบสองมือ โล่ ดาบ เขน ดั้ง ทวน และรำกริช เป็นการรำไม่มีบทร้อง ใช้สลับฉากในการแสดง
     ๒.๒  การรำคู่ในชุดสวยงาม ท่ารำในการรำจะต้องประดิษฐ์ให้สวยงาม ทั้งท่ารำที่มีคำร้องตลอดชุด หรือมีบางช่วงเพื่ออวดลีลาท่ารำ มีบทร้องและใช้ท่าทางแสดงความหมายในตอนนั้น ๆ ได้แก่ หนุมานจับสุพรรณมัจฉา หนุมานจับนางเบญกาย พระรามตามกวาง พระลอตามไก่ รามสูร เมขลา รจนาเสี่ยงพวงมาลัย ทุษยันต์ตามกวาง รำแม่บท รำประเลง รำดอกไม้เงินทอง รถเสนจับม้า

๓.  การรำหมู่  เป็นการแสดงมากกว่า ๒ คนขึ้นไป ได้แก่ รำโคม ญวนรำกระถาง รำพัด รำวงมาตรฐาน และรำวงทั่วไป การแสดงพื้นเมืองของชาวบ้าน เช่น เต้นกำรำเคียว รำกลองยาว              

     ฟ้อน  หมายถึง ศิลปะการแสดงที่เป็นประเพณีของทางภาคเหนือ จะใช้ผู้แสดงเป็นจำนวนมาก
มีลีลาการฟ้อนพร้อมเพรียงกันด้วยจังหวะที่ค่อนข้างช้า
การพิจารณาศิลปะการฟ้อนที่ปรากฏในลานนาปัจจุบัน อาจารย์ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล ได้แบ่งการฟ้อนออกเป็น ๕ ประเภท คือ
๑.  ฟ้อนที่สืบเนื่องมาจาการนับถือผี  เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อและพิธีกรรม เป็นการฟ้อนเก่าแก่ที่มีมาช้านาน ได้แก่ ฟ้อนผีมด ผีเม็ง ฟ้อนผีบ้านผีเมือง ฟ้อนผีนางดัง
๒.  ฟ้อนแบบเมือง  หมายถึง ศิลปะการฟ้อนที่มีลีลาแสดงลักษณะเป็นแบบฉบับของ "คนเมือง" หรือ "ชาวไทยยวน" ได้แก่ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนเจิง ตบมะผาบ ฟ้อนดาบ ตีกลองสะบัดไชย ฟ้อนสาวไหม
๓.  ฟ้อนแบบม่าน  เป็นการผสมผสานกันระหว่างศิลปะการฟ้อนของพม่า กับของไทยลานนา ได้แก่ ฟ้อนม่านมุ่ยเชียงตา
๔.  ฟ้อนแบบเงี้ยวหรือแบบไทยใหญ หมายถึง การฟ้อนตลอดจนการแสดงที่รับอิทธิพล หรือมีต้นเค้ามาจากศิลปะการแสดงของชาวไทยใหญ่ ได้แก่ เล่นโต กิ่งกะหร่า(กินนรา) หรือฟ้อนนางนก กำเบ้อคง มองเซิง ฟ้อนไต(ไทยใหญ่) ฟ้อนเงี้ยว
๕.  ฟ้อนที่ปรากฏในบทละคร  เป็นการฟ้อนที่มีผู้คิดสร้างสรรขึ้นในการแสดงละครพันทาง ซึ่งนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้แก่ ฟ้อนน้อยใจยา ฟ้อนลาวแพน ฟ้อนม่านมงคล

หมายเลขบันทึก: 216738เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2008 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะ แวะมาเยี่ยมค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

คิดถึงอาจารย์นะคะ

เจออาจารยืในนี้ด้วย

ดีจังเลย

การรำ และการฟ้อนเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ยกตัวอย่างด้วยน่ะคะ

ขอบคุณคะ

สวัสดีครับ อาจารย์

มีบอดละ อิอิ

 

ดีจังค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท