ความเห็นผิดคืออย่างไร


ความเห็นผิดคืออย่างไร


ปัญหา ข้อที่ว่าโลภและโกรธเป็นมูลเหตุให้เกิดอกุศลกรรมนั้น พอจะเข้าใจแล้ว แต่ข้อที่ว่าโมหะอันเป็นเหตุให้เกิดมิจฉาทิฐิความเห็นผิดนั้นคือเห็นอย่างไร ?


พุทธดำรัสตอบ “..... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นมิจฉาทิฐิมีความเห็นวิปริตว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเช่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากของกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์พวกที่เกิดผุดขึ้นไม่มี สมณะพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอนหมู่สัตว์ให้รู้ตามไม่มีในโลก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าทิฐิวิบัติ.... เพราะทิฐิวิบัติเป็นเหตุ สัตว์ทั้งหลายเมื่อกายแตกตายไป ย่อมเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก.....ฯ”


อยสูตร ติ. อํ. (๕๕๗)
ตบ. ๒๐ : ๓๔๕ ตท. ๒๐ : ๓๐๒

*** องค์ประกอบของมิจฉาทิฏฐิ(ความเห็นผิดไปจากความเป็นจริง) ***


       มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดไปจากความเป็นจริง เมื่อแยกบทแล้ว ได้ ๒ บท คือ


         มิจฉา     แปลว่า     วิปริต

         ทิฏฐิ      แปลว่า      ความเห็น


    เมื่อรวมกันแล้ว เป็นมิจฉาทิฏฐิ แปลว่าความเห็นที่วิปริต หมายถึง ความเห็นที่ผิดแผกไปจากความเป็นจริง     ดังวจนัตถะแสดงว่า


           มิจฺฉาปสฺสตีติ - มิจฺฉาทิฏฐิ


    แปลความว่า "ธรรมชาติใด ย่อมมีความเห็นที่วิปริตผิดไปจากความเป็นจริง ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า มิจฺฉาทิฏฐิ"


   เรื่องมิจฉาทิฏฐินี้ พระพุทธองค์แสดงไว้อย่างกว้างขวาง มีสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดที่ยึดมั่นในขันธ์ ๕ ว่า เป็นเรา.


   สำหรับมิจฉาทิฏฐิในมโนทุจริตนี้ มุ่งหมายเอา"นิยตมิจฉาทิฏฐิ" ๓ ประการ อันเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหยาบ ที่ให้สำเร็จเป็นอกุศลกรรมบทได้ ส่วนมิจฉาทิฏฐิอย่างอื่นนั้น เป็นเพียงทิฏฐิสามัญเท่านั้น




           นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ ประการ คือ


   ๑. นัตถิกทิฏฐฺ  มีความเห็นว่า ทำอะไรก็ตาม ผลที่พึงได้รับนั้น ย่อมไม่มีความเห็นผิดชนิดนี้ จัดเป็นอุจเฉททิฏฐิด้วย คือ เห็นว่า สัตว์ทั้งหลายตายแล้วก็สูญไป ไม่มีการเกิดอีก ในสามัญผลสูตร แสดงความเห็นผิด ชนิดที่เป็น นัตถิกทิฏฐินี้ว่า ได้มาจากความเห็นผิด ๑๐ อย่าง คือ


    ๑) เห็นว่า   การให้ทานไม่ได้รับผลแต่อย่างใด

    ๒) เห็นว่า   การบูชาต่างๆ ไม่ได้รับผล

    ๓) เห็นว่า   การต้อนรับเชื้อเชิญไม่ได้รับผล

    ๔) เห็นว่า   การทำดี ทำชั่วไม่ได้รับผลแต่อย่างใด

    ๕) เห็นว่า   ผู้มาเกิดในภพนี้ไม่มี

    ๖) เห็นว่า    ผู้ไปเกิดในภพหน้าไม่มี

    ๗) เห็นว่า   คุณมารดาไม่มี

    ๘) เห็นว่า   คุณบิดาไม่มี

    ๙) เห็นว่า   สัตว์ที่ผุดเกิดเติบโตในทันที คือ สัตว์นรก เปรต เทวดา พรหม ไม่มี

   ๑๐) เห็นว่า  สมณะพราหมณ์ ที่รู้แจ้งโลกนี้ และโลกหน้าด้วยตนเอง และสามารถแนะนำชี้แจงสมณะพราหมณ์ ที่ถึงพร้อมความสามัคคี ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ นั้นไม่มี


    ผู้มีนัตถิกะทิฏฐินี้ มีความเห็น"ปฏิเสธผล" ซึ่งเท่ากับปฏิเสธอำนาจกุศล อกุศลเจตนาที่เป็นเหตุให้เกิดผลต่างๆด้วย





   ๒. อเหตุกทิฏฐิ คือผู้ที่มีความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายที่กำลังได้รับความลำบาก หรือความสบายก็ตาม ไม่ได้อาศัยเหตุใดๆ ให้เกิดขึ้นเลย เป็นไปเองทั้งนั้น ในสามัญผลสูตรแสดงว่า    ชนกเหตุ คือเหตุให้เกิด และอุปถัมภกเหตุ คือ เหตุช่วยอุปถัมภ์ ให้สัตว์ทั้งหลายมีความเศร้าหมอง ลำบากกาย ลำบากใจนั้นไม่มี สัตว์ทั้งหลายที่กำลังเศร้าหมองและลำบากอยู่นั้น ก็ไม่มีชนกเหตุ และอุปถัมภกเหตุแต่อย่างใด เหตุที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายมีความบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากความลำบากกาย ลำบากใจนั้นไม่มี และสัตว์ทั้งหลายที่มีความบริสุทธิ์ พ้นจากความลำบากกายใจได้นั้น ไม่เกี่ยวกับชนกเหตุ และอุปถัมภกเหตุแต่อย่างใด


    ผู้มีอเหตุกทิฏฐินี้ มีความเห็น"ปฏิเสธเหตุ"ไม่เชื่อว่ากรรมดี หรือกรรมชั่วที่สัตว์ทั้งหลายได้กระทำกันอยู่ทุกวันนี้ จะเป็นเหตุให้เกิดผลได้ ผู้ที่ปฏืเสธเหตุ เท่ากับเป็นการปฏิเสธเหตุ และผล ดังสามัญผลสูตร อรรถกถาว่า "ผู้ที่เห็นว่า ความสุขทุกข์ ของสัตว์ทั้งหลายนั้น ไม่เกี่ยวเนื่องมาจากเหตุ ก็เท่ากับว่า เป็นการปฏิเสธเหตุ และผล ไปพร้อมกันด้วย"





    ๓. อกิริยทิฏฐิ มีความเห็นว่า การกระทำต่างๆของสัตว์ทั้งหลายนั้น ไม่สำเร็จเป็นบาป บุญแต่ประการใด ในสามัญผลสูตรแสดงว่า


   ผู้ที่มีความเห็นผิดชนิดอกิริยทิฏฐิ เห็นว่า การทำดี ทำชั่วของสัตว์ทั้งหลาย จะทำเองก็ตาม ใช้ให้ผู้อื่นทำก็ตาม ไม่ได้ชื่อว่าเป็นบุญ บาป หรือฆ่สัตว์ด้วยตนเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นทำก็ตาม ลักทรัพย์ด้วยตนเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นลักทรัพย์ก็ตาม ไม่ได้ชื่อว่าเป็นบุญ บาป


    ความเห็นผิดชนิดอกิริยทิฏฐินี้  เป็นความเห็นที่ปฏิเสธกรรม อันเป็นตัวเหตุ ฉะนั้นจึงเท่ากับว่า ปฏิเสธผลของกรรมด้วย ดังในสามัญผลสูตร อรรถกถาแสดงว่า


    "เมื่อปฏิเสธการการทำบาป บุญที่เป็นตัวเหตุแล้ว ก็เท่ากับปฏิเสธผลของการทำบาป บุญนั้นด้วย"


    นิยตมิจฉาทิฏฐินี้ เป็นความเห็นผิดชนิดที่สามารถส่งผล ให้เกิดใน"นิรยภูมิ"อย่างแน่นอน แม้พระพุทธองค์ก็โปรดไม่สำเร็จ      (นิรยภูมิ - สัตว์นรก)



 (คัดจากหนังสือ พระอภิธรรมมัตถสังคหะ)

----------------------------------------------------------------

โดยท่านอาจารย์บุญมี เมธางกูร




ในพระไตรปิฎกมีเรื่องของนารทะฤาษี กลับความเห็นผิดของพระราชาองค์หนึ่ง
มีจุดเชื่อมโยงมาถึงโลกันตนรก พอสรุปว่า "มิจฉาทิฏฐิ" หรือความหลงผิดอย่างแรงกล้า ว่านรกสวรรค์บุญบาปไม่มี จึงก่อกรรมชั่วโดยไม่ยับยั้งชั่งใจ เป็นเหตุให้ไปเกิดในโลกันตนรก



ในความเป็นจริง ภพที่เต็มไปด้วยความมืดน่าสะพรึงกลัวนั้นมีอยู่มาก
แต่ที่ชื่อว่ามืดมิดแบบไม่มีแสงสว่างส่องมาถึงเลย
ก็ได้แก่โลกันตนรกนี่เอง ขอให้ลืมชื่อโลกันตนรกเสีย
เอาไว้แต่เพียงสภาพมืดสนิทที่ปราศจากความสว่าง
นั่นแหละภพๆหนึ่ง นั่นแหละที่มีบัญญัติภายหลัง ว่าคือโลกันตนรก
แท้จริงแล้วยังมีภพอื่นที่มืดพอกัน เพียงแต่แสงสว่างยังเกิดขึ้นเป็นบางคาบบางเวลา ภพนั้นจึงไม่ได้ชื่อ ไม่เข้าข่ายความเป็นโลกันตนรก



สัตว์ที่มีสิทธิ์ไปเกิด ณ ที่นั้นได้ต้องมีคุณสมบัติเด่นๆ เช่น
๑) มีความเห็นผิดอย่างแรงกล้า ปักใจเชื่ออย่างถอนไม่ขึ้นด้วยวิธีใดๆ
ว่าสวรรค์ไม่มี นรกไม่มี บาปไม่มีผล บุญไม่มีผล


๒) เผยแพร่ความเห็นผิดออกไปในวงกว้าง และมีผู้ให้ความเชื่อถือ
เกิดความหลงผิดตามว่าสวรรค์ไม่มี นรกไม่มี บาปไม่มีผล บุญไม่มีผล



สภาพจิตของเขาเอง ที่ไม่เผยอขึ้นรับธรรมะแบบเผื่อขาดเผื่อเหลือ
จมอยู่กับความมืดของมิจฉาทิฏฐิแห่งตนนั่นเอง
ที่ก่อภพอันมืดมิด ไร้แสงสว่างขึ้น



นอกจากนั้นบาปจะเผล็ดผลอันเผ็ดร้อนในที่นั้น
เพราะผู้ตั้งจิตไว้ในทางแห่งมิจฉาทิฏฐิ ย่อมก่อกรรมชั่วโดยไม่ยับยั้งชั่งใจ
อาจมีความทรมานประการต่างๆเป็นกำนัลในโลกันตนรกตามฐานะอันควรแก่ตน
ทำนองเดียวกับที่โลกนี้มีทั้งรางวัลและบทลงโทษหลากหลาย
ไม่ใช่ว่ามาเกิดในโลกมนุษย์แล้วทุกคนจะได้รับสภาพเท่าเทียมกันหมด...

หมายเลขบันทึก: 215822เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 17:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท