ปัญหาจริยศึกษาของชาติ


ธรรมศึกษา

 

 

 

 

ถ้ายอมรับกันว่า การศึกษา คือ การพัฒนาความสามารถ เจตคติ พฤติกรรม และค่านิยม หรือคุณธรรมของบุคคล เพื่อให้เป็นสมาชิกที่ดีและมีประสิทธิภาพของสังคม แล้วจะเห็นว่าจริยศึกษาเป็นการศึกษาที่มีความสำคัญมากกว่าการศึกษาแขนงอื่นใดทั้งหมด เพราะความสามารถในด้านต่าง ๆ ของบุคคลในด้านใดก็ตาม จะต้องมีจิตใจเป็นพื้นฐาน เจตคติของบุคคลก็มาจากจิตใจทั้งสิ้น จริยศึกษาเป็นการศึกษาที่มุ่งพัฒนาจิตใจของมนุษย์ ให้ปรากฏผลการพัฒนาออกมาทั้งในส่วนความสามารถ เจตคติพฤติกรรมและค่านิยมหรือคุณธรรมดังนั้นต้นกำเนิดของการศึกษาของทุกชาติจึงเริ่มมาจากศาสนาและหน่วยงานหรือองค์การของศาสนาเป็นผู้ดำเนินการให้การศึกษาแก่ประชาชนมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน

 

 

การศึกษาที่หน่วยงานหรือองค์กรศาสนาจัดเป็นการศึกษาที่มุ่งสร้างจิตใจ เพราะถือว่าจิตใจเป็นต้นกำเนิดของเจตคติและคุณธรรม เมื่อคนมีจิตใจสูง ก็มีเจตคติมีคุณธรรมสูง และมีพฤติกรรมและความสามารถในด้านต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกที่ดี และมีประสิทธิภาพของสังคมได้ การฝึกอบรมจิตใจเป็นเรื่องยาก ในทางพระพุทธศาสนาจึงได้มีหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ขึ้นโดยให้ผู้ศึกษากระทำกายวาจาให้เรียบร้อย อยู่ในกรอบอันดีงามก่อน เมื่อกายวาจาอยู่ในกรอบอันดีงามแล้ว ใจก็จดจ่อรวมเข้าเป็นหนึ่ง มีความเข้มข้นทำให้มีพลังมากเป็นสมาธิ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว อะไรยาก อะไรลึกลับ ก็จะเข้าถึงและแก้ออก คือ สามารถศึกษา เรียนรู้ เกิดปัญญาขึ้นได้ ในศาสนาอื่นก็เช่นเดียวกัน จะมีศีล ข้อห้าม หรือวินัยเป็นเบื้องต้นในการศึกษาทั้งสิ้น เมื่ออยู่ในศีลในกรอบวินัยที่เอื้ออำนวยต่อการเป็นช่างเป็นอาชีพต่าง ๆ ก็ย่อมบรรลุถึงความสามารถความชำนาญในที่สุด

            ปัจจุบัน นับแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา โลกอยู่ในสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากเหตุ 2 ประการ และเหตุ 2 ประการนี้มีผลต่อกันอย่างใกล้ชิด คือ ประการแรก ได้แก่ การเพิ่มพลเมืองอย่างรวดเร็ว ทุกประเทศ ทุกบ้านเมือง ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน จะมีคนเพิ่มมากขึ้นสองเท่าของเมื่อ 20 – 25 ปีก่อนอยู่เสมอ ประการที่สอง ได้แก่ ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยในการอุปโภคบริโภคของมนุษย์มีจำกัด และสิ้นเปลืองหมดลงไปทุกวัน เพราะคนกินคนใช้ทุกวันทุกเวลา เมื่อคนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ความสิ้นเปลืองของทรัพยากรธรรมชาติก็มีมากขึ้น สิ่งที่มีอยู่ก็ร่อยหรอหมดไปเรื่อย ๆ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียิ่งเจริญขึ้นเพื่อเสาะหาดัดแปลงสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ มาให้คนได้กินอยู่กันให้พอในปัจจุบัน และแสวงหาเพื่ออนาคตเรื่อยไปการที่คนรวมกันได้เป็นครอบครัว เป็นหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด เป็นชาติ เป็นประเทศ เป็นสังคมนี้ อยู่รวมกันได้ เพราะมีหลักศีลธรรมหรือจริยธรรมเป็นเครื่องยึด เครื่องร้อยรัดแม้ชาติต่าง ๆ หรือประเทศต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกัน สังคมใดเครื่องร้อยรัด หรือเครื่องยึดนี้แข็งแรง สังคมนั้นก็อยู่รวม หรือร่วมกันด้วยดี มีความสุข มีความผาสุก มีสันติสุข แต่ถ้าเครื่องร้อยรัดหรือเครื่องยึดจับนี้หย่อนยาน เสื่อมคลายลงไป ความวุ่นวาย ความแตกแยก เดือนร้อนต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้นทันที ครอบครัวก็จะแตก ผู้คนจะขัดแย้งมุ่งประทุษร้ายกัน ประเทศชาติไม่มั่งคง แต่ละพวกแต่ละประเทศ ก็มุ่งเอารัดเอาเปรียบกัน รบราฆ่าฟันกันโลกในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ ศีลธรรมเครื่องร้อยรัดสังคมให้อยู่รวมกันอย่างเป็นสุข มีความผาสุก มีสันติสุข ย่อมหย่อนคลาย เสื่อมทรามเป็นธรรมดา เพราะการที่มีคนมากและเพิ่มพูนอย่างรวดเร็ว ก็ต้องแย่งกันอยู่แย่งกันกิน แบ่งกันทำมาหากิน คนแต่ละคนก็ต้องกระเสือกกระสนให้ตนได้กินได้อยู่ ได้มีนั่นมีนี่ไม่มีเวลาที่จะได้คิดถึงคนอื่นอย่างจริงจังยังจะต้องใช้เวลาหาความคุ้นเคยและสามารถใช้ประโยชน์จากผลิตผลจากความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุอันเนื่องมาจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คนไม่มีเวลาคิดถึงผู้อื่น ไม่ว่าเวลาคิดถึงส่วนรวมหรือสังคม หลักศีลธรรม จริยธรรมต่าง ๆ จึงถูกละเลยหรือถูกมองว่าเป็นของไม่จำเป็น เกิดลัทธิใหม่ขึ้นแทนลัทธิศาสนา เพื่อความร่มเย็นของสังคม เช่น ลัทธิบริโภคนิยม ลัทธิวัตถุนิยม เป็นต้น

 

 

        ลักษณะสังคมไทยประสบความเปลี่ยนแปลงทำนองเดียวกันกับชาติต่าง ๆ และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก การศึกษาไทย เดิมอาศัยวัดให้พระเป็นผู้สอน ความมุ่งหมายของการศึกษาของประชาชนหรือของชาติก็คือการทำคนให้เป็นคนโดยสมบูรณ์เพื่อเล่าเรียนฝึกหัดให้พร้อมที่จะบวชเรียนเมื่อบวชเรียนเรียบร้อยแล้วก็ออกมาเป็นพลเมืองดีของสังคม ในสังคมก็เอาหลักจากวัดจากศาสนามาสอนกัน พ่อแม่ผู้ปกครองสอนลูกสอนหลาน ผู้ใหญ่สอนเด็ก มุ่งในด้านศีลธรรมจรรยาเป็นหลัก ปลูกฝังความรักความเคารพ ความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ความสามัคคี ความมีวินัย เพื่อดำรงตนในสังคมให้เกิดความสุข ความผาสุก ความสงบ และสันติสุขเป็นสำคัญ อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาไทยเดิมหนักอยู่ในด้านจริยศึกษา สังคมไทยจึงเป็นไทย ตลอดมาได้
คำสำคัญ (Tags): #ป.บัณฑิต รุ่น 3
หมายเลขบันทึก: 212250เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2008 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท