สื่อการเรียนจริยศึกษา


ธรรมศึกษา

 

สื่อการเรียน คือ กิจกรรมและวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องช่วยให้เกิดกิจกรรมการเรียนการสอนต่าง ๆ และช่วยให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ มีเจตคติ ทักษะ และประสบการณ์ตามจุดประสงค์ของบทเรียน หรือหลักสูตรการศึกษาที่จัดให้มีการเรียนการสอนนั้น ตามความเข้าใจทั่วไปในวงการครู อาจารย์เวลานี้ คำว่า สื่อการเรียนการสอน หมายถึง หนังสือ ตำรา แบบเรียน แบบฝึกหัด แบบทดสอบ และแบบประเมินค่าต่าง ๆ วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ สถานที่ วิทยากร และสื่อสารมวลชนต่าง ๆ ที่ครู อาจารย์สามารถนำมาใช้ในการสอน และนักเรียน นักศึกษาสามารถนำมาใช้ในการศึกษาเล่าเรียน หรือไปศึกษาเล่าเรียนจากที่นั้นสิ่งนั้นได้

สื่อการเรียนจริยศึกษา ได้แก่ กิจกรรม วัสดุ อุปกรณ์ สถานที่และบุคคลในสังคมที่เป็นเครื่องช่วยในการจัดและการสอนจริยศึกษาในสถานศึกษา และช่วยให้นักเรียน นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ มีคุณธรรม บุคลิกลักษณะ และพฤติกรรม ตามคุณลักษณะที่กำหนดไว้ในความมุ่งหมายของการศึกษาในแผนการศึกษาแห่งชาติ และจุดหมายของหลักสูตรการศึกษาระดับต่าง ๆ สถานศึกษาและครู อาจารย์จะต้องพิจารณาและดำเนินการเกี่ยวกับสื่อการเรียนจริยศึกษา ดังนี้

1. หลักทั่วไปในการเลือกและผลิตสื่อการเรียนการสอน การจัดและการสอนจริยศึกษา มีความจำเป็นต้องใช้สื่อการเรียนมากเป็นพิเศษ เพราะสื่อการเรียนจะช่วยทำให้เนื้อหาของหัวข้อจริยธรรมที่เข้าใจยาก หรือเป็นนามธรรมกลายเป็นเนื้อหาของหัวข้อจริยธรรมที่เข้าใจง่าย และเป็นศูนย์รวมของความสนใจ เนื่องจากสื่อการเรียนสำหรับจริยศึกษาระดับนี้มีมากมาย ครูอาจารย์อาจได้มาโดยการรับแจก หรือขอ หรือขอยืมมาจากแหล่งสื่อการเรียนต่าง ๆ ในบางโอกาสอาจผลิตสื่อการเรียนขึ้นมาใช้เอง หรือร่วมมือกับครูศิลปศึกษาช่วยกันจัดทำให้ก็ได้ ดังนั้น ครู อาจารย์จึงควรทราบหลักทั่ว ๆ ไปในการเลือกและผลิตสื่อการเรียน เพื่อใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแห่งการเรียนรู้ของนักเรียน

1.1 สื่อการเรียนนั้น ควรจะให้มีความสัมพันธ์กับประสบการณ์ของนักเรียนเพื่อนักเรียนจะได้เข้าใจง่ายขึ้น

1.2 ควรจัดให้เหมาะสมกับความเจริญเติบโตหรือวุฒิภาวะของนักเรียน

1.3 ควรจัดให้เหมาะสมกับความสนใจ ความต้องการและปัญหาของนักเรียน

1.4 ควรจัดให้เหมาะสมกับสภาพความแตกต่างระหว่างบุคคลของนักเรียน

1.5 ควรมีความแน่นอน และพอเชื่อถือได้

1.6 ควรจะสดุดตาน่าสนใจ สามารถดึงดูดจิตใจหรือตรึงความสนใจของนักเรียนอยู่ได้นาน

1.7 ควรจะมีคุณค่าทางจริยศึกษาอย่างกว้างขวาง ซึ่งช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีได้นาน และมั่นคง

1.8 ควรหาได้ง่าย ผลิตได้ง่าย ราคาถูก และใช้ได้อย่างประหยัด

2. สื่อการเรียนชนิดต่าง ๆ การสอนจริยศึกษาชั้นต่าง ๆ มีสื่อการเรียนหลายชนิดซึ่งครูอาจารย์สามารถพิจารณาเลือกสื่อจริยศึกษา ได้ดังนี้

2.1 หนังสือ ได้แก่ หนังสืออ่านประกอบเกี่ยวกับจริยศึกษาต่าง ๆ ทั้งที่ส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นได้จัดทำขึ้น

2.2 แบบฝึกหัด แบบทดสอบ และแบบประเมินผลจริยศึกษาต่าง ๆ ทั้งที่ส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นได้จัดทำขึ้น

2.3 วัสดุอุปกรณ์ ได้แก่ วัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับจริยศึกษาต่าง ๆ เช่น

ก. บัตรและภาพชนิดต่าง เช่น บัตรภาพ บัตรภาพประกอบคำ บัตรคำภาพพลิก และสมุดภาพ ฯลฯ

ข. แผนภูมิต่าง ๆ เช่น แผนภูมิพรหมวิหาร 4 เป็นต้น

ค. อุปกรณ์ของจริง เช่น พระพุทธรูป นักเรียน ครู ดอกไม้ธูปเทียนและบาตร ฯลฯ

ง. หุ่นจำลอง เช่น พระพุทธรูป พระภิกษุ บ้าน หมู่บ้าน และสิ่งของต่าง ๆ

จ. อุปกรณ์ประเภทเครื่องแสงและเสียง เช่น เทป วิทยุ แผ่นเสียง เครื่องเล่น แผ่นเสียง เครื่องกระจายเสียง ภาพยนตร์ เครื่องฉายภาพยนตร์ สไลด์ และฟิล์มสตริป ฯลฯ

2.4 สื่อการเรียนทั่วไป ได้แก่ สถานที่ที่ไปทัศนศึกษาต่าง ๆ เช่น พานักเรียนไปฟังเทศน์ที่วัด การเชิญวิทยากร เช่น อนุศาสนาจารย์ พระสงฆ์ มาบรรยายเนื้อหา ของหัวข้อจริยธรรม และสื่อสารมวลชนต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วารสาร วิทยุ และโทรทัศน์ ฯลฯ

3. สิ่งต่าง ๆ ทั้งที่เป็นสื่อการเรียนจริยศึกษา สื่อการเรียนวิชาต่าง ๆ และที่เด็กนักเรียน

นักศึกษาได้ประสบพบเห็นหรือได้สัมผัส ในชีวิตประจำวันทั้งที่บ้านและสถานศึกษามีอิทธิพลต่อการจัดและสอนจริยศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษามาก เช่น แบบเรียน หนังสือ สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ หนังสือรายสัปดาห์ รายคาบ หนังสือพิมพ์ รายการวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ถ้าหากผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้จัดรายการ หรือผู้นำมาให้นักเรียน นักศึกษาได้ใช้ ได้พบเห็น ได้อ่าน ได้ชม ไม่คำนึงถึงด้านศีลธรรมจรรยา หรือคุณธรรมจริยธรรมของสังคมแล้ว จะทำให้การจัดจริยศึกษาของสถานศึกษาต่าง ๆ ประสบผลสำเร็จยาก ดังนั้น ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในด้านต่าง ๆควรพิจารณาดำเนินการในเรื่องต่อไปนี้ด้วย คือ

3.1 ทางราชการที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับการพิมพ์ การจัดรายการทางสื่อสารมวลชน และการมหรสพต่าง ๆ ควรกวดขันการผลิตหนังสือ เอกสาร สิ่งพิมพ์ต่างๆรายการวิทยุโทรทัศน์ภาพยนตร์การแสดงไม่ให้มีสิ่งยั่วยุหรือส่งเสริมให้ผู้อ่านผู้ฟังผู้ชมเห็นดีเห็นงามหรือกระทำตามในสิ่งที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม

3.2 ทางราชการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ต่าง ๆ ตามข้อ 3.1 ควรส่งเสริมให้มีการผลิตหนังสือ เอกสาร สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ รายการวิทยุ โทรทัศน์ การแสดงที่ส่งเสริมชักนำหรือปลูกฝังให้เด็กนักเรียนนักศึกษาและประชาชนมีคุณธรรมและจริยธรรมให้เกิดคุณลักษณะตามความมุ่งหมายของการศึกษาในแผนการศึกษาแห่งชาติ

3.3ส่วนราชการและเอกชนผลิตตำราหนังสือแบบเรียนและวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นสื่อการเรียนทั้งหมดควรผลิตสื่อสิ่งที่ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมแก่นักเรียน นักศึกษา และระมัดระวังไม่ให้มีสิ่งขัดต่อการอบรมสั่งสอนและปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมแก่นักเรียน นักศึกษา

4. แหล่งวิทยาการและสื่อการเรียน ที่สถานศึกษาและครูอาจารย์สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือในการตอบปัญหาทางคุณธรรมจริยธรรม เชิญวิทยากรมาบรรยาย หรือขอยืมสื่อการเรียนมาใช้ในการจัดและสอนจริยศึกษาในสถานศึกษาได้ มีดังนี้

4.1 กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร

4.2 ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร

4.3 ศึกษานิเทศก์สายวิชาสังคมศึกษา กรมสามัญศึกษา และสำนักงานประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร

4.4 สถาบันทางศาสนา เช่น วัด ศาลาคริสตธรรม มัสยิด ฯลฯ

4.5 ห้องสมุดของสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ มหาวิทยาลัยสงฆ์

4.6 สมาคมการศึกษาแห่งประเทศไทย เทเวศร์ กรุงเทพมหานคร

4.7 พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ถนนพระอาทิตย์ ยุวพุทธิสมาคมแห่งประเทศไทย วัดกันมาตุยาราม เยาวราช องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก สุขุมวิท สมาคม มูลนิธิ และองค์การศาสนาต่าง

 

คำสำคัญ (Tags): #ป.บัณฑิต รุ่น 3
หมายเลขบันทึก: 212245เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2008 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 19:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท