แรงจูงใจ


แรงจูงใจในการบริหาร

แรงจูงใจ

 

                งานของผู้บริหารจะบรรลุผลสำเร็จตามจุดมุ่งหมายหรือไม่นั้น  ขึ้นอยู่กับความรวมมือรวมใจกันในการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาที่จะปฏิบัติงานของตนอย่างจริงจัง โดยธรรมชาติของมนุษย์จะมีแนวโน้มที่ไม่อยากทำงานและเบื่อหน่ายต่องาน  ดังนั้นถ้าต้องการให้คนทำงานแบบทุ่มเททั้งกาย  สมอง  และจิตใจ  พร้อมทั้งให้เวลาแก่งานอย่างเต็มที่แล้ว จะต้องมีแรงกระตุ้นบางอย่าง  นักบริหารที่ดีจึงจำเป็นจะต้องรู้วิธีจูงใจผู้ใต้บังคับ

บัญชา  เพราะการจูงใจเป็นเทคนิคการบริหารงานบุคคลที่จะทำให้การใช้ความรู้ความสามารถของคนเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการทำงาน  ทั้งนี้เพราะแรงจูงใจเป็นการชักนำคนให้มุ่งมั่นต่องาน  ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติงานบังเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ความหมายของแรงจูงใจ

                มีผู้ให้ความหมาย แรงจูงใจหรือการจูงใจ (Motivation) ไว้ต่างๆกันดังนี้

                สมพงศ์  เกษมสิน (2523 : 414) ให้ทัศนะ การจูงใจ   หมายถึง  ความพยามที่จะชักจูงให้ผู้อื่นแสดงออกหรือปฏิบัติตามต่อสิ่งจูงใจ  สิ่งจูงใจอาจมีได้ทั้งจากภายในและภายนอกตัวบุคคลนั้นๆ ของแต่มูลเหตุจูงใจอันสำคัญ คือ ความต้องการ (needs)

          กิติ  ตยัคคานนท์ (2533: 120) ให้ความหมายไว้ว่า แรงจูงใจ หมายถึง พลังจิตที่อยู่ในตัวบุคคลแต่ละคน ซึ่งทำหน้าที่เร้าให้บุคคลนั้นกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดออกมา พลังจิตนี้เกิดจากการกระตุ้นหรือสิ่งเร้าต่างๆ ภายในหรือภายนอกร่างกาย

                ราณี  อิสิชัยกุล (2535 : 183) การจูงใจ หมายถึง การชักนำให้คนแสดงพฤติกรรมที่ต้องการให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ กล่าวง่ายๆ คือ การทำให้คนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพจนบรรลุผลสำเร็จขององค์การได้

                เอกชัย  กี่สุขพันธ์ (2538 : 119) กล่าวได้ว่า การจูงใจ หมายถึง การกระทำทุกวิถีทางที่จะให้พนักงานหรือผู้ปฏิบัติงานเกิดพฤติกรรมในทางที่ต้องการ   การจูงใจจึงเป็นเสมือนแรงขับภายใน (internal  Drive) ที่จะทำให้บุคคลเกิดพฤติกรรมการทำงานในทางที่ถูกต้องและเป็นไปตามที่องค์การคาดหวังไว้

                สุชา  จันทน์เอม (2529 : 101) ได้ให้ความเห็นว่า การจูงใจโดยทั่วๆ ไปหมายถึง

                1.  สภาวะที่อินทรีย์ถูกกระตุ้นให้แสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง  เพื่อบรรลุสู่จุดหมายปลายทาง  ที่ตั้งไว้

                2.  พฤติกรรมที่สนองความต้องการของมนุษย์  และเป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่จุดหมายปลายทาง

                3.  พฤติกรรมที่ถูกกระตุ้นโดยแรงขับ (Drive)  ของแต่ละบุคคล มีแนวมุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างใดอย่างหนึ่ง และร่างกายอาจจะสมประสงค์ในความปรารถนาอันเกิดจากแรงขับนั้นๆ ได้

                สรุปได้ว่า แรงจูงใจ หรือ การจูงใจ  (Motivation) หมายถึง ความพยายามที่จะชักนำหรือกระตุ้นให้บุคคลแสดงออกหรือปฏิบัติตามเป้าหมายที่ผู้จูงใจต้องการด้วยความสมัครใจ

 

ความหมายของสิ่งจูงใจ

สิ่งจูงใจ  สิ่งชวนใจ  หรือสิ่งเร้าใจ  (Incentive) มีความหมายเช่นเดียวกันเป็นองค์ประกอบของแรงจูงใจ หมายถึงสิ่งชักนำอาจจะเป็นวัตถุหรือสภาวะใดๆ ที่สามารถเร้าให้บุคคลแสดงพฤติกรรมออกมา สิ่งจูงใจในองค์การเป็นสิ่งที่จะกระตุ้นให้บุคคลเกิดแรงจูงใจในการทำงาน

 

ประเภทของสิ่งจูงใจ

                สิ่งจูงใจที่มักนำมาใช้ในองค์การ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทดังนี้

                1. สิ่งจูงใจในแง่บวก คือ สิ่งจูงใจในเชิงสร้างสรรค์ เช่น สิ่งจูงใจด้วยเงินค่าตอบแทน คำชมเชย คำยกยอ เกียรติยศ ความภูมิใจในความสำเร็จ การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ตลอดจนรางวัลดีเด่น หรือรางวัลเกียรติยศต่างๆ เป็นต้น

                2. สิ่งจูงใจในแง่ลบ คือ การลงโทษต่างๆ เพื่อเป็นการตักเตือนให้บุคคลในองค์การเพิ่มความสนใจในการทำงานให้มากขึ้น เช่น การตำหนิ การตัดเงินเดือน การลดขั้นเงินเดือน หรือถึงกับให้ออก ไล่ออกจากงาน เป็นต้น

ความสำคัญของแรงจูงใจ

                ในการพิจารณาความสำคัญของแรงจูงใจในการบริหารงานอาจแยกเป็นประเด็นสำคัญได้ 3 ประการ คือ (1) ความสำคัญที่มีต่อองค์การโดยส่วนรวม (2) ความสำคัญที่มีต่อผู้บริหาร และ (3) ความสำคัญต่อบุคลากร ดังรายระเอียดต่อไปนี้

                1. ความสำคัญต่อองค์การ แรงจูงใจมีประโยชน์ต่อองค์การ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการบริการงานบุคคล ดังนี้ 

                  1.1 ช่วยให้องค์การได้คนที่มีความสามารถมาร่วมการทำงานและรักษาคนดีเหล่านั้นให้อยู่ในองค์การต่อไปได้นานๆ

                  1.2 ทำให้องค์การมั่นใจว่าบุคลากรขององค์การจะทำงานตามที่ถูกจ้างได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ

                  1.3 ช่วยส่งเสริมพฤติกรรมในทางริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ขององค์การ

                2. ความสำคัญต่อผู้บริหาร แรงจูงใจมีประโยชน์ต่อผู้บริหาร ดังนี้

                  2.1 ช่วยให้การมอบอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในการมอบอำนาจหน้าที่จะพบมีอุปสรรคหลายประการเป็นต้นว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ยินยอมรับมอบอำนาจหน้าที่ อ้างว่าตนไม่มีความสารถไม่ต้องการรับผิดชอบงาน หรือผู้บริหารไม่ยินยอมมอบอำนาจหน้าที่ วิธีการจูงใจจะช่วยให้ทั้งผู้บริหารและผู้ใต้บังคับบัญชายินดีในการมอบอำนาจหน้าที่นั้นๆ

                  2.2 ขจัดปัญหาข้อขัดแย้งในการบริหารงาน แรงจูงใจจะช่วยให้อำนาจหน้าที่ของผู้บริหารเป็นที่ยอมรับของผู้ใต้บังคับบัญชา ทำให้ผู้บริหารมีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมของผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งจะช่วยลดปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างผู้บริหารกับผู้ใต้บังคับบัญชาลงได้

                  2.3 เอื้ออำนวยต่อการสั่งการ แรงจูงใจเป็นส่วนสนับสนุนให้ผู้บริหารมีภาวะผู้นำที่ดี ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้การสั่งการเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล

                3. ความสำคัญต่อบุคลากร แรงจูงใจมีประโยชน์ต่อบุคลากรขององค์การดังนี้

                  3.1 ช่วยให้บุคลากรสามารถสนองวัตถุประสงค์ขององค์การและการสนองความต้องการของตนได้พร้อมๆ กัน ทำให้สามารถปรับตัวเองให้เข้ากับองค์การได้สะดวกขึ้น

                  3.2 ได้รับความยุติธรรมจากองค์การและฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของค่าตอบแทน

                  3.3 มีขวัญในการทำงาน ทำให้ไม่เกิดความเบื่อหน่ายหรืออยากหลีกเลี่ยงงาน

คำสำคัญ (Tags): #แรงจูงใจ
หมายเลขบันทึก: 208288เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2008 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท