บทเรียนจากนักเรียนชาวนา บทที่ ๔: การขุดบ่อเพื่อการพัฒนาระบบเกษตรอินทรีย์


วิธีการขุดบ่อ ที่สำคัญก็คือ การขุดไว้ในที่ลุ่ม ที่มีชั้นดินสามารถรองรับการเก็บกักน้ำ มีอัตราการซึมน้อย ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญ คือ การมีชั้นดินเหนียว หรือชั้นดานที่ขัดขวางการไหลซึมของน้ำเป็นสำคัญ

 

         ในสภาพแวดล้อมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีความแปรปรวนและการกระจายตัวของฝนค่อนข้างสูง ทำให้เกษตรกรทั่วไปประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในบางช่วงที่พืชเจริญเติบโต โดยเฉพาะในช่วงต้นและปลายฤดูฝน หรือในขณะที่พืชกำลังให้ผลผลิต วิธีการแก้ไข ปัญหาแหล่งน้ำ มีหลายวิธีด้วยกัน แต่การขุดบ่อน้ำก็เป็นการเก็บกักน้ำฝน และอาจเป็นช่องทางการใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำตื้น หรือน้ำซับ ที่จะช่วยเสริมให้การขุดบ่อมีประโยชน์มากขึ้น ทำให้บ่อไม่รั่วซึมและมีน้ำใช้ตลอดปี

 

ก.   เทคนิคการดำเนินการ

             การจัดการระบบเกษตรอินทรีย์มีความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำที่ไม่มีสารพิษปนเปื้อน จึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไหลมาจากที่อื่น จึงใช้ได้เฉพาะน้ำฝนที่ตกในพื้นที่เป็นหลัก ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ในแปลงนา ในช่วงเวลาที่จำเป็นต้องใช้น้ำ ไม่ว่าจะเป็นช่วงตกกล้า ช่วงปักดำ หรือชดเชยให้กับต้นข้าวในระยะฝนทิ้งช่วง ในระยะที่ข้าวกำลังให้ผลผลิตที่จะขาดน้ำไม่ได้

             วิธีการขุดบ่อ ที่สำคัญก็คือ การขุดไว้ในที่ลุ่ม ที่มีชั้นดินสามารถรองรับการเก็บกักน้ำ มีอัตราการซึมน้อย ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญ คือ การมีชั้นดินเหนียว หรือชั้นดานที่ขัดขวางการไหลซึมของน้ำเป็นสำคัญ

             การขุดที่ดีควรพิจารณาจาก การเกาะตัวของดินว่า มั่นคงมากน้อยเพียงใด ในกรณีที่ดินมีการเกาะตัวกันอย่างหลวมๆ  จำเป็นต้องมีชานบ่อและขุดแบบลาดชันน้อย ในลักษณะแบบเดียวกับ “หนองน้ำ” แทนการขุดในลักษณะของ “สระน้ำ” แต่ในกรณีของดินที่มีการเกาะตัวกันดี อาจจะขุดแบบมีความลาดชันสูงได้อย่างไม่มีปัญหามากนัก

             วิธีการขุดแบบหนองน้ำ อาจใช้แทรกเตอร์ดันดินขึ้นเป็นคันรอบบ่อ แต่ถ้าการขุดโดยใช้รถแบคโฮ ก็จะสามารถขุดได้ลึกและทำฝั่งลาดชันได้ตามความต้องการ และยังสามารถกำหนดขนาดบ่อได้ง่ายกว่าการขุดด้วยรถแทรกเตอร์

 

 

ข.   ทรัพยากรพื้นฐานที่เหมาะสม

             พื้นที่ที่เหมาะแก่การขุดบ่อ ควรพิจารณาอย่างน้อย 2 ลักษณะด้วยกัน คือ ปริมาณพื้นที่รับน้ำเหนือบ่อ หรือรอบบ่อ และความสามารถในการเก็บน้ำของบ่อ ซึ่งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 ปัจจัยด้วยกันคือ ลักษณะของดินที่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ และสภาพน้ำใต้ดินที่สูงพอ จะดันน้ำไม่ให้ไหลซึมลงไปในดินชั้นล่างเร็วจนเกินไป ก็จะทำให้สามารถเก็บกักน้ำได้ดี นอกจากนี้ ถ้าเลือกขุดในพื้นที่ที่มีน้ำใต้ดินสูง ก็ยังสามารถเป็นแหล่งน้ำที่ดีกว่าการขุดเพื่อเก็บกักน้ำฝน เพราะน้ำออกบ่อหรือน้ำใต้ดิน จะมีปริมาณและความต่อเนื่องตลอดทั้งปีมากกว่าน้ำฝน ซึ่งจะมีเฉพาะฤดูฝนเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นในกรณีที่เป็นบ่อขนาดใหญ่และมีพื้นที่รับน้ำกว้าง จึงจะมีน้ำเพียงพอต่อการทำนา

ค.   ระยะเวลาที่เหมาะสม

             ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การขุดบ่อ ก็คล้ายคลึงกับการทำคันนา แต่ควรเป็นช่วงที่ไม่มีน้ำแช่ขัง ที่จะรบกวนการทำงานของเครื่องจักรกล และสามารถทำให้ดินที่ปั้นเป็นฝั่งบ่อมีการเกาะตัวกันได้ดี  ดูแลง่ายในระยะต่อๆ ไป

ง.    ทุน และค่าใช้จ่าย

             ค่าขุดบ่อ ส่วนใหญ่จะคิดกันเป็นลูกบาศก์เมตรของดิน ตามปริมาตรของบ่อ ในระยะที่ราคาน้ำมันแพง ราคาขุดอาจสูงถึง 35 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นขีดจำกัดในการลงทุนในการลงทุนเพื่อการขุดบ่อของเกษตรกรโดยทั่วไป  ดังนั้น การขุดบ่อส่วนใหญ่จึงมักอาศัยงบประมาณจากองค์กรพัฒนา หรือหน่วยงานของรัฐ

จ.   ผลประโยชน์ที่ได้รับ

             หลังจากการขุดบ่อ จะทำให้เกษตรกรมีแหล่งน้ำใช้ได้นานกว่าเดิม และในหลายกรณี อาจจะใช้ในการเลี้ยงปลา ปลูกพืชผักตามฝั่งบ่อ หรือใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเลี้ยงสัตว์ได้อีกด้วย บริเวณรอบๆ บ่อจะมีการพัฒนาที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ อันเนื่องมาจากมีน้ำเพียงพอที่จะใช้ในกิจกรรมการเกษตรได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีการสร้างที่พักอาศัยบริเวณใกล้บ่อน้ำที่ขุดขึ้นใหม่ ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการพัฒนาได้รวดเร็วกว่าเดิม

จ.   ขีดจำกัดและข้อควรระวัง

             การขุดบ่อ ถึงจะมีข้อดีต่อการเก็บกักน้ำ แต่ก็เป็นการใช้พื้นที่ที่แตกต่างไปจากเดิม ที่เกษตรกรส่วนใหญ่มองว่าเป็นการสูญเสียพื้นที่ทำนา แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการใช้ที่ดินทำกินจากพื้นที่นากลายเป็นแหล่งน้ำ เป็นแปลงผัก เป็นที่ปลูกต้นไม้ หรือเป็นที่พักอาศัย ที่สามารถพัฒนาต่อไปให้เป็นระบบเกษตรผสมผสานได้อีกด้วย

             สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึง ก็คือ ในกรณีที่ขุดบ่อแล้วเอาดินกองไว้รอบๆ บ่อ จะเป็นการใช้พื้นที่ค่อนข้างมาก เช่น การขุดบ่อที่มีขนาดบ่อ 1 ไร่ จะต้องใช้พื้นที่อย่างน้อย 4 ไร่ ฉะนั้น ถ้าเกษตรกรมีพื้นที่น้อย ก็จะขุดบ่อได้ยาก เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่จะกลายเป็นพื้นที่น้ำและพื้นที่ฝั่งบ่อ ดังนั้น จึงอาจจำเป็นต้องทำเฉพาะในพื้นที่ที่มีนาเกินกว่า 10 ไร่ขึ้นไป จึงจะมีที่นาเหลือมากพอในการทำเกษตรอินทรีย์

 (บทความนี้ได้ตัดทอนแบบ "หนังตัวอย่าง" มาจาก รายงานชุดความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ ที่กำลังเตรียมการตีพิมพ์ จากผลงานวิจัยของผมเองครับ- กรุณาติดตามตอนต่อไป ที่นี่ครับ)



ความเห็น (16)

ขอบคุณนะคะ ที่นำเรื่องที่ท่านอาจารย์ทำมาบอกต่อค่ะ

อาจารย์แสวงครับ การขุดบ่อเก็บกักน้ำ ถ้าดินเดิมเก็บน้ำไม่ค่อยดี ไม่อยู่บางแห่งใช้พลาสติคดำบุพื้นบ่อเพื่อป้องกันน้ำซึมลงใต้ดินด้วยครับ

การใช้แผ่นพลาสติกนั้น ไม่เป็นที่นิยมครับ

อาจจะเพราะไม่มีความรู้ ไม่มีทุนพอ หรือ อย่างไรผมก็ไม่แน่ใจ

เท่าที่ทราบ มันเป็นงานประณีตมาก ทั้งการเตรียม การสร้าง และการดูแล เพราะเมื่อรั่วแล้ว หรือ เมื่อรูปร่างบ่อเปลี่ยนแปลง (ตามเวลา) แก้ไขยากมากครับ

การอุดบ่อรั่วที่ชาวบ้านนิยมทำมีดังนี้ครับ

  • การนำตะกอนน้ำขุ่นๆใส่บ่อ
  • การเลียนแบบหนองควายนอน ใช้ดินเหนียวเป็นวัสดุ แล้วมีลูกกลิ้งลาก แต่บ่อต้องเป็นรูปกระทะ
  • การเลี้ยงเป็ดในบ่อใหม่ พออุดดีแล้วก็นำเป็ดออก
  • ทนใช้ไประยะหนึ่ง สองสามปี (บางบ่อ) จะเก็บน้ำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

แต่การรั่วด้านข้างแก้ไขยากมากครับ

บ่อน้ำที่นาผมก็ยังหาวิธีแก้ที่เหมาะสมยังไม่ได้เลยครับ

พื้นบ่อเป็นหินดาลปนดินน้ำรั่วหมดเลยครับทำไงดีลงทุนไปแล้วสามหมื่นกว่าบาท(บ่ออยู่บนภูเขาครับ)

มีสองทางเลือก คือใช้ดินเหนียว(ถ้ามี)บดอัดก้นและข้างบ่อ หรือใช้แผ่นพลาสติกรองพื้นครับ

ราคาขอให้สืบเองครับ แต่ละแห่งทุนไม่เหมือนกันครับ

สวัสดีท่านอาจารย์ หนูขออนุญาตเป็นลูกศิษย์เพราะหนูไม่มีความรู้ทางด้านเกษตรและการขุดบ่อเลยและได้อ่านข้อความของอาจารย์แล้วรู้สึกเริ่มเข้าใจจึงจะขอคำแนะนำบางอย่างจากอาจารย์บ้าง

ด้วยความยินดีครับ ติดต่อมาทางเมล์ก็ได้ครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์

นั่ง หาข้อมูล พอดีมาเจอบทความนี้ ตรงใจมาก

ใจจริงอยากได้ที่ปรึกษา อยากขุดสระ ตามนี้เลย

พอดีมีที่อยู่ 18 ไร่เป็นที่นาเก่า หญ้ารก อยากทำเกษตร

ทำไงดีคะ อยากรู้ว่าจะขุดสระ 1 ไร่ ส่วนไหนของพื้นที่ 18 ไร่ ถึงจะถูกต้อง

ที่อยู่ ประจันตคาม ปราจีนบุรี อาจารย์ ผ่านมาเที่ยวแถวนี้บ้างไหมคะ

ขอบคุณค่ะ อาจารย์

ต้องส่งข้อมูลพื้นฐานและความต้องการมาครับ

ผมจะผ่านไปวันเสาร์นี้หรือ วันอาทิตย์ขากลับ

แต่ถ้าจำเป็นมีเวลามากวันจันทร์ที่ ๑๗ นี้ครับ

ลองโทรมาคุยก็ได้ครับ

089 711 9684 ครับ

ดีใจมากเลยค่ะ อาจาร์ย ขอบคุณสำหรับ คำแนะนำดีๆนะค่ะ

เวปไซด์ นี้ มีประโยชน์ มากมาย หลายๆ เรื่องเลยค่ะ

ยังไง คงต้องรบกวน อาจาร์ย เป็นที่ปรึกษา ว่าที่เกษตรกร ด้วยนะคะ

งานนี้ ฮึดขึ้นอีกเยอะ ยังไง ปีนี้ ก็ต้อง บรรลุ เรื่องการขุด สระ เพื่อไม่ให้น้ำขังท่วม หน้าฝน จะ ได้ เดิน หน้าต่อด้วยการปลูกไม้ป่า ไม้ยืนต้น

เข้าใจว่า ถ้าเรา คิดไว้ แล้วได้เริ่มลงมือทำ ไม่ช้าก็จะสำเร็จ เริ่มอย่างถูกต้อง ตามคำแนะนำผู้รอบรู้เชื่ยวชาญ ย่อมเป็นการดี

ขอบคุณ มากค่ะ คงต้องรบกวน ปรึกษาอาจาร์ย เป็น ขั้นๆ ตอน ดำเนินการ ตามความเป็นไปได้ค่ะ :)

เรียนท่านอาจารย์ครับ

ผมกำลังจะปรับปรุงผืนนาที่ดอนเป็นนาเกษตรพอเพียง จะทำแบบปลอดเคมี 100 % เลยอยากขอคำแนะนำจากอาจารย์ เรื่องการวางแปลน ว่า สระน้ำควรอยู่ตรงไหน แปลงปลูกผัก ปลูกไม้ยืนต้น ทำโรงเลี้ยงสัตว์ เนื้อที่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบ่อน้ำเดิมกว้าง 4x4 เมตร ลึก 6 เมตร อยู่ชิดขอบด้านหนึ่งของผืนนา พอถึงเดือนมีนาคม น้ำจะแห้งหมด ถ้าปีไหนน้ำมาก ที่แห่งนี้จะพอดี แต่ถ้าน้ำน้อย หรือน้ำปกติ ที่แห่งนี้จะแห้งแล้ง ทุกปีจะหว่านข้าวไว้เอาเงินภัยแล้ง และปลูกข้าวโพดบ้างเป็นบางครั้ง ก็เลยอยากพัฒนาเป็นที่นาสวนผสม แบบปลอดสารพิษ 100 % ขอคำแนะนำอาจารย์เป็นวิทยาทานด้วยครับ

ขอเพิ่มเติมครับ เป็นที่นาใกล้บ้าน เลยวางแปลนแบบไม่ต้องแบ่งพื้นที่สำหรับที่พักอาศัยครับ กะจะทำเป็นที่นา ที่สวน โรงเลี้ยงสัตว์ และสระน้ำเท่านั้นครับ

ขอบคุณครับ

ชัย

เรียนอาจารย์ครับ

ข้อมูลเพิ่มเติมครับ ที่นา จำนวน 5 ไร่ครับ กะจะทำคันดินรอบพื้นที่แล้วขยายสระเดิมเป็น 6x12 เมตร ลึก 4 เมตร มีคันคูรอบสระเพื่อปลูกกล้วย และมะพร้าวน้ำหอม รอบสระ ส่วนคันดินรอบพื้นที่จะปลูกกลัวย มะพร้าวน้ำหอม มะม่วง ขนุน ไผ่ ฯลฯ จะถมดินให้เป็นพื้นที่ปลูกผัก ทำโรงเลี้ยงไก่บ้าน เลี้ยงหมู และโรงเรือนผสมปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ แต่ปัญหาคือเรื่องน้ำ ไม่รู้จะวางแปลนการจัดการบริหารเรื่องน้ำอย่างไร ขอรับความเมตตาข้อมูลจากประสบการณ์จริงของอาจารย์เต็มๆ เลยนะครับ

ด้วยความเคารพครับ

ชัย

มาหาข้อมูลครับ มีนา 5ไร่ อยากขุดสระน้ำ ทำนาวสวนผสม อยู่ที่ ต.แตล อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ จะลาออกจากงานที่ กทม ไปเป็นเกษตรกร จะเริ่มยังไงดีครับ

เริ่มอ่านหนังสือ และทำความรุ้จักตัวเองว่าตัวเองชอบอะไร ก็ทำอย่างนั้นครับ

เรียนถามท่านอาจารย์แสวงครับ ผมอยากขุดบ่อน้ำประมาณ 1 ไร่ ลึก 3 เมตร ในที่นา ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ชุมชน ไม่ทราบว่า ประมาณการค่าใช้จ่าย ณ วันนี้ ประมาณกี่บาทครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท