การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นครูเป็นศูนย์กลาง


การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นครูเป็นศูนย์กลาง ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่ครูสามารถเลือกใช้ได้ ควรให้เหมาะกับสถานการณ์

           การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นครูเป็นศูนย์กลาง ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่ครูสามารถเลือกใช้ได้ แต่ควรให้เหมาะกับสถานการณ์ การที่การสอนโดยยึดครูเป็นศูนย์กลางเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา ก็เนื่องจากครูมักใช้เป็นประจำอยู่แนวทางเดียวต่อเนื่องไปตลอด จึงทำให้ไม่เกิดประสิทธิภาพในการเรียนรู้ เนื่องจากแนวการสอนเพียงแนวเดียว ไม่สามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ครบทุกด้านเสมอไป

          การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นครูเป็นศูนย์กลาง เป็นการจัดกลุ่มของลักษณะ การสอน โดยยึดความสำคัญของบทบาทที่มีผลต่อการเรียนการเรียนรู้ของผู้เรียนและการใช้เวลาเรียน (learning  time) เป็นเกณฑ์  ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนโดยยึดครูเป็นศูนย์กลาง   หมายถึงลักษณะของการจัดการเรียนการสอนที่ครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญหรือมีส่วนร่วมอย่างตื่นตัว (active  participation) ในกิจกรรมการเรียนการสอนมากกว่าผู้เรียน  ครูทำหน้าที่ดำเนินการต่าง ๆ เช่น บรรยาย  อธิบายให้ผู้เรียนฟัง  สาธิตให้ผู้เรียนดู  เป็นต้น  จะเห็นได้ว่าการที่ครูดำเนินการเช่นนั้นครูกำลังมี “active  participation” ครูต้องมีการเคลื่อนไหวทางด้าน ร่างกาย  ต้องพูด ต้องแสดงท่าทาง  ต้องเดินไปมา  ต้องหยิบโน่นทำนี่  ครูมีการตื่นตัวทางสติปัญญา  เพราะต้องคิดว่าจะพูดอะไร  อย่างไร  จะต้องเรียบเรียงคำพูด  คิดหาวิธีอธิบาย  คิดถามคำถามหรือตอบคำถาม  เป็นต้น  ครูมีการตื่นตัวทางสังคม  เพราะต้องคอยสังเกตผู้เรียนถามผู้เรียน  นอกจากนั้นครูยังมีการตื่นตัวทางอารมณ์  เช่น  หากผู้เรียนให้ความสนใจเรียนครูก็พอใจ  หากผู้เรียนไม่สนใจ  ครูอาจไม่พอใจ  และเกิดความ รู้สึกท้อแท้หรือเบื่อหน่ายได้  จากที่กล่าวมาทั้งหมดแสดงว่า  ขณะที่ครูสอน  ครูเป็นผู้มีบทบาทที่  ตื่นตัวมาก  หรือมีส่วนร่วมอย่างตื่นตัวในกิจกรรมการเรียนการสอนมาก  ในขณะที่ผู้เรียนซึ่งก็มี บทบาทและมีส่วนร่วมในกิจกรรมเช่นกัน  คือเป็นผู้ฟัง  ผู้จด  ผู้ตอบคำถาม  แต่การมีส่วนร่วมนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างตื่นตัวครบทุกด้าน  เช่น  ถ้านั่งฟังนาน ๆ อาจเกิดอาการง่วงนอน  ถ้าฟังแล้วไม่ได้คิดตาม  ไม่ช้าก็จะไปคิดเรื่องอื่น  หากสิ่งที่ฟังไม่ก่อให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกพึงพอใจหรือเข้าใจ  หรือเห็นประโยชน์  สิ่งที่เรียนรู้นั้นก็อาจไม่มีความหมาย  แต่ในทางตรงกันข้าม  หากการบรรยาย  อธิบาย สาธิต  ดังกล่าว  ครูสามารถทำได้ดีมากจนผู้เรียนเกิดความตื่นตัว  ตั้งใจฟังใช้ความคิดถามคำถามด้วยความสนใจ  และผู้เรียนเกิดความเข้าใจ  ก็ถือได้ว่า ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมอย่างตื่นตัวด้วยเหมือนกัน  แม้ว่าการเรียน     การสอนนั้นจะยึดครูเป็นศูนย์กลางเพราะครูมีบทบาทมากกว่าผู้เรียน

          โดยทั่วไป  การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นครูเป็นศูนย์กลางนั้น  มีความเหมาะสมกับ  การเรียนรู้เนื้อหาสาระที่ผู้เรียนไม่สามารถหาอ่านได้จากหนังสือหรือตำรา  หรือกับเนื้อหาสาระที่มีความซับซ้อนซึ่งผู้เรียนไม่สามารถทำความเข้าใจได้ด้วยตนเอง  ต้องอาศัยคำอธิบายจากครู  หรือเป็นความรู้จากประสบการณ์ของผู้สอน  ซึ่งผู้สอนสามารถถ่ายทอดได้ดี  เนื่องจากเป็นผู้ที่ได้ประสบมาด้วยตนเอง  เนื้อหาสาระใดที่ผู้เรียนสามารถอ่านและทำความเข้าใจด้วยตนเองได้  ก็ไม่จำเป็นที่ครูจะต้องบรรยาย  บอก  เล่า  แต่ครูจำเป็นต้องมีการตรวจสอบความเข้าใจของผู้เรียน

          จะเห็นได้ว่า  การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นครูเป็นศูนย์กลางเป็นแนวการจัดการเรียนการสอน  โดยครูมีบทบาทมากกว่าผู้เรียนครูเป็นผู้ “active” และเป็นผู้ใช้เวลาส่วนใหญ่ของการเรียนการสอน  แต่การที่ครูจะสอนอย่างไรนั้น  เป็นเรื่องที่ครูต้องแสวงหา  ซึ่งหากครูคิดถึงประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ  และมีความสามารถสูง  ครูก็อาจแสวงหาวิธีการสอนที่เหมาะสมและดำเนินการสอนโดยใช้เวลาส่วนใหญ่ในการสอน  แต่ด้วยความสามารถและวิธีการที่เหมาะสม  ครูก็อาจช่วยให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์สูงสุด คือ  เกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมายได้ดี

          ดังนั้น  จะเห็นได้ว่า  การสอนโดยเน้นครูเป็นศูนย์กลางนั้นไม่ได้เป็นรูปแบบการสอนหรือวิธีสอนแต่เป็นการจัดกลุ่มของการสอนโดยยึดเอาบทบาทและการใช้เวลาในการเรียนการสอนเป็นเกณฑ์  หากครูเป็นผู้มีบทบาทที่ตื่นตัว (active  role) มากกว่าผู้เรียนและใช้เวลาของการเรียนการสอนเป็นส่วนใหญ่ก็ถือว่าการจัดการเรียนการสอนนั้นยึดครูเป็นสำคัญ  แต่ในการสอน  ครูจำเป็นต้องหารูปแบบหรือวิธีการต่าง ๆ มาใช้  ซึ่งมีรูปแบบและวิธีการบางวิธีที่มีลักษณะเอื้อต่อลักษณะการสอนที่เน้นครูเป็นศูนย์กลาง  หากครูสามารถนำมาใช้และทำได้ดี  ก็อาจเกิดประโยชน์ สูงสุดแก่ผู้เรียนได้  คือช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี

อ้างอิง

http://www.sobkroo.com/rs_3.htm

หมายเลขบันทึก: 204268เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2008 04:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 22:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท