ไข้ไม่รู้สาเหตุ...เทคนิคการแพทย์บอกได้...นี่ไงบทบาทของเรา


เป็นไข้ไม่รู้สาเหตุมาตลอดเวลาอาทิตย์กว่าๆแล้ว โดยจะมีอาการไข้ต่ำๆ และตัวรุมๆเจ็บแปร๊บๆเวลาโดนลม รู้สึกไม่สบายตัวอยู่ตลอดเวลา ความกระตือรือร้นที่จะทำอะไรลดลงอย่างน่ารำคาญ เป็นอาการที่แปลกประหลาดมากสำหรับตัวเอง เพราะปกติเวลาเป็นอะไรก็จะพยายามรักษาตัวเองไปตามสิ่งที่เป็นโดยไม่รู้สึกกังวลอะไร คิดว่าเป็นได้ก็หายได้ เพียงแต่เราต้องดูแลตัวเอง ทำใจให้สบายช่วยร่างกายให้ค่อยๆรักษาตัวเองไปตามแต่ละอาการ แต่ครั้งนี้ทำใจไม่ค่อยได้ รู้สึกว่าอาการที่เป็นอยู่นี่ต้องมาจากเชื้ออะไรสักอย่างแน่นอน เพียงแต่นึกไม่ออกว่าจะเป็นอะไรได้ เพราะอาการที่เป็นนั้นไม่ใช่อาการที่จำเพาะกับโรคของเชื้ออะไรสักอย่าง ซึ่งผลเสียก็คือถ้าหากเป็นเชื้ออะไรที่เป็นอันตรายเราก็อาจจะแก้ไม่ถูกจุด และอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้ในเวลาต่อๆไป โดยเฉพาะถ้าเราไม่ได้มีร่างกายและภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา

วันนี้ไปเจาะเลือดตรวจสอบ พบว่าผลทางโลหิตวิทยาปกติ ผลทางเคมีคลินิกก็ปกติ แต่พระเอก เอ๊ะ หรือจะเป็นนางเอกดี...ไปอยู่ที่ผลทางภูมิคุ้มกันวิทยา ที่พบว่ามีผลของแอนตี้บอดี้ต่อเชื้อ Murine Typhus สูงทีเดียว พี่ถ่าวที่แสนดีเพิ่งโทรมาแจ้งข่าวเมื่อค่ำนี้เอง คนหน่วยนี้เขาทำงานกันไม่บันยะบันยังเลยล่ะค่ะ มีเคสให้ต้องวิ่งไปจัดการกันอยู่เสมอๆ วันนี้ก็เผอิญโชคดีที่มีเคสแล้วพี่ถ่าวได้ทดสอบเลือดเราเป็นของแถมไปด้วยได้

โรคนี้ติดต่อมาจากหมัดหนูหรือสัตว์เลี้ยงพวกแมว หมา ไม่ติดต่อจากคนถึงคน (สบายใจไปเปลาะหนึ่ง) และในคนส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรงมาก ของเรานี่ยังถือว่าอาการน้อยมาก ไม่มีไข้สูงหรืออาการอื่นๆที่จำเพาะเสียด้วย น่าจะเป็นเพราะได้ยาฆ่าเชื้อส่วนหนึ่งไปตั้งแต่แรกที่คิดว่าติดเชื้อในหู และร่างกายค่อนข้างแข็งแรงอยู่แล้ว

นึกภูมิใจในบทบาทของห้องแล็บและนักเทคนิคการแพทย์ต่อการวินิจฉัยโรคขึ้นมาอย่างยิ่งยวดอีกครั้ง นี่ถ้าไม่มีผลจากการตรวจทางห้องแล็บละก้อ ไม่มีทางที่เราจะบอกได้อย่างชัดเจนเลยนะคะว่าอาการไข้แบบนี้นั้นเกิดจากอะไร และเมื่อรู้แล้วการรักษาสาเหตุก็แสนจะง่ายดาย เพราะไม่ใช่เชื้ออะไรร้ายแรงมาก สามารถที่จะรักษาได้ด้วยยาฆ่าเชื้อปกติธรรมดานี่เอง ภูมิใจจนเกือบหายป่วยเลยนะคะนี่ เลือดรักวิชาชีพสูบฉีดอย่างแรงค่ะ...เทคนิคการแพทย์...Medical Technologist....เย้!

หมายเลขบันทึก: 202129เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2008 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

พี่โอ๋คะ

เป็นกำลังใจให้หายไว ๆ ค่ะ พักผ่อนเยอะๆ นะคะ

สู้สู้!! หายไวไวนะค่ะ รักษาสุขภาพด้วยค่ะ

  • มีแลปฯ เอง ทำงานเอง มีเพื่อนร่วมแลปฯเอย
  • มันก็ดีอย่างนี้แหละ
  • ขอชูมือเชียร์แลปฯ
  • ไปดูปลามองโชว์ไม่ใส่แว่นได้ที่
  • http://gotoknow.org/blog/remotesensing/202128
  • เข้ามาขยายความเพิ่มเติมในเรื่องโรค Murine typhus ครับ
  • Murine typhus เป็นโรคติดเชื้อ ricketsia ครับ เกิดจากเชื้อ Rickettsia typhi ซึ่งเชื้อนี้ มักอาศัยในหมัดหนู แล้วหมัดหนูมากัดคน ก็พาเชื้อนี้มาด้วย โรคนี้มักมีการระบาดอยู่ในเมืองครับ แตกต่างจากพี่น้องเขาอีกตัว คือ scrub typhus ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อริกเกตเซียอีกตัว แต่อยู่ในไร (mite) มักจะอยู่ตามพุ่มไม้เล็กๆ แล้วเกิดการระบาดตามชานเมือง หรือชนบท ไม่ว่าจะเป็นตัวไหน ก็มีอาการไข้ เหมือนกันครับ ถ้าอาการไม่มาก จะแยกออกจากโรคในกลุ่มอาการไข้ (acute febrile illness) ได้ยากครับ โรคกลุ่มพวกนี้ ก็ได้แก่ พวกไข้เลือดออก มาลาเรีย ไทฟอยด์ ไทฟัส กับอีกสารพัดโรค
  • ในแง่ของการตรวจทางแล็บนั้น ในโรงพยาบาลทั่วไปนิยมตรวจ Weil Felix test ครับ การทดสอบนี้เป็นการเอา serum มาทำปฎิกิริยากับเชื้อ Proteus จำนวน 3 strains คือ OXk, OX2, OX19 ดังนั้นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจึงเป็นปฏิกิริยาข้ามกลุ่ม หากผล OXk ขึ้น ไตเตอร์มากกว่า 1:320 ในซีรั่มเดี่ยวหรือมีการเพิ่มขึ้นของแอนติบอดีมากกว่า 4 เท่า ขึ้นไป ถือได้ว่ามีการติดเชื้อ scrub typhus ส่วนเจ้า murine typhus นี้ ให้ดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับ OX19 ครับ ถ้า OX19 มีไตเตอร์มากกว่า 1:160 ในการตรวจครั้งเดียวหรือมีการเพิ่มขึ้นของแอนติบอดีมากกว่า 4 เท่าขึ้นไป ถือได้ว่าเป็นโรคนี้ครับ การทดสอบแบบนี้ที่แล็บมอ ไม่ทำแล้วครับ เนื่องจากมีความไวต่ำกว่าการตรวจหาแอนติบอดีแบบจำเพาะ
  • ส่วนการตรวจแอนติบอดีแบบจำเพาะ ปัจจุบันนิยมใช้การตรวจด้วยวิธี indirect fluorescent assay (IFA) ซึ่งห้องแล็บหน่วยภูมิคุ้มกันวิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นห้องปฏิบัติการแรกในประเทศไทย ที่พัฒนาการทดสอบนี้มาเปิดบริการเป็นงานประจำครับ โดยในอดีตเรามีการพัฒนาในด้านนี้จนสามารถเพาะเลี้ยงเชื้อริกเกตเซีย ทั้ง scrub typhus และ murine typhus ได้ในห้องปฎิบัติการทั้งแบบที่ฉีดในไข่ไก่ฟักและสามารถเลี้ยงในเซลล์ mouse fibroblast เช่น L929 cell line ได้ครับ
  • เชื้อที่เลี้ยงได้ จะถูกนำมาแปะติดอยู่บนสไลด์ แล้วทำปฏิกิริยากับซีรั่มของผู้ป่วย หลังจากล้างเอาส่วนที่ไม่ได้ทำปฏิกิริยาออกไป ก็ย้อมด้วย conjugate อีกครั้ง ซึ่งเราสามารถแยกแอนติบอดี แต่ละชนิดออกจากกัน เป็น IgG, IgM หรือ Total Ab (IgG, IgM, IgA) โดยการใช้ conjugate ที่แตกต่างกัน อ้อลืมบอกไปครับ ว่า conjugate ในที่นี้คือ anti human immunoglobulin ที่ label ไว้ด้วยสารเรืองแสง  หลังจากนั้นล้างเอาส่วนที่ไม่ได้ทำปฏิกิริยาออกไป แล้วเอาไปดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ฟลูออเรสเซนต์ หากผู้ป่วยมีแอนติบอดี จะเห็นการเรืองแสงของตัวเชื้อครับ
  • และ ห้องปฎิบัติการหน่วยภูมิคุ้มกันวิทยา ก็เป็นห้องปฏิบัติการแรก ที่พัฒนาการทดสอบนี้ เป็น microdot IFA และเป็น multitestes กล่าวคือ สามารถทดสอบเชื้อ scrub typhus, murine typhus, และ leptospirosis ได้ในคราวเดียวกัน โดยทำปฏิกิริยาพร้อมกันบนสไลด์แผ่นเดียวกัน โดยเราได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในเวลาต่อมา
  • การแปลผลโรคทั้ง 3 ตัวนี้ ถ้าใน serum เดี่ยว ใช้ cut off ที่ไตเตอร์ 1:400 ครับ ส่วน pair serum ใช้ดู 4 fold rising in titer
  • ในแง่การรักษา ถ้ารู้ว่าเป็นโรคกลุ่ม rickettsia รักษาง่ายครับ ที่มอ นิยมรักษาโดยการให้ยา doxycyclin ครับ

ดีใจที่ทราบผลแล้ว ไม่เป็นอะไรนะคะ

พี่ไมโตะคุง

สาธยายได้เข้าใจง่ายดีครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท