คำนิยมในหนังสือแปล “นายธนาคารเพื่อคนจน” โดย Muhammad Yunus แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล (เกี่ยวกับ “กรามีนแบงก์” ธนาคารเพื่อคนจนแห่งแรกของโลก)


                                                      คำนิยม

                ศาสตราจารย์ ดร. มูฮัมหมัด ยูนุส  ได้รับรางวัลเกียรติยศระดับนานาชาติหลายรางวัล ที่โดดเด่นที่สุดคือ  รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ  ซึ่งเขาได้รับในปี ค.ศ. 2006  หรือ พ.ศ. 2549    

                ดร.มูฮัมหมัด ยูนุส เป็นศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์   แต่ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาสันติภาพ  เพราะความสำเร็จที่โดดเด่นของ ดร.ยูนุส  คือการแก้ปัญหาความยากจนของคนจนที่สุดในบังคลาเทศกว่า 2 ล้านครอบครัว  และยังมีอิทธิพลต่อการขยายประยุกต์วิธีการของเขาไปทั่วโลก  รวมทั้งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา  ซึ่งยังมีคนยากจนอยู่จำนวนมิใช่น้อย

                 การแก้ปัญหาความยากจนที่ทำให้ประเทศและโลกมีความยากจนลดลง เป็นทั้งสันติภาพในตัวเอง พร้อม ๆ กับเป็นการสร้างฐานและปัจจัยแห่งสันติภาพทั้งในประเทศและในโลก  นี่คือเหตุที่ ดร.มูฮัมหมัด ยูนุส  แม้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ แต่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

                ที่จริงแล้ว ดร.มูฮัมหมัด ยูนุส ไม่ได้เป็นแต่นักเศรษฐศาสตร์ประเภทเท้าติดดินเท่านั้น  แต่เป็นนักมนุษยธรรมที่รักคนจนและมุ่งมั่นแก้ปัญหาความยากจนอย่างไม่ลดละมาโดยตลอด เป็นนักคิดนักสร้างสรรค์ที่ลงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เป็นนักปรัชญาที่ลึกซึ้ง  เป็นนักจิตวิทยาประยุกต์ที่เข้าใจธรรมชาติมนุษย์ดีมาก  เป็นนักจัดการและบริหารองค์กรที่ชาญฉลาด  เป็นนักสื่อความที่มีประสิทธิผลสูง  และเป็นนัก เล่าเรื่อง (storyteller)  ที่มีศิลปะลีลาอย่างน่าประทับใจ

                หนังสือ นายธนาคารเพื่อคนจน  เล่าเรื่องการก่อกำเนิด การดำเนินงาน  การบริหารจัดการ  การพัฒนาต่อเนื่อง และหลักคิดตลอดจนจินตนาการสร้างสรรค์ของ   ดร.มูฮัมหมัด ยูนุส  อย่างมีศิลปะ อย่างละเอียด  อย่างเป็นรูปธรรม  และอย่างสร้างแรงบันดาลใจได้ดียิ่ง  เป็นหนังสือที่ดีมากที่สุดเล่มหนึ่งเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความยากจนด้วยวิธีการรูปธรรมที่ทำได้จริงและประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวาง

                คุณสฤณี  อาชวานันทกุล  ซึ่งเป็นผู้แปลหนังสือเล่มนี้ด้วยความชื่นชอบและชื่นชมในตัวบุคคลและผลงานของ ดร.มูฮัมหมัด ยูนุส   เป็นนักวิชาการ นักคิด นักเขียน รุ่นใหม่ที่มีอายุเพียง 30 ปีเศษ จบการศึกษาทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศสหรัฐอเมริกา  เคยทำงานกับธนาคารทั้งของประเทศไทยและของต่างประเทศ  แต่ได้ตัดสินใจลาออกมาเป็นนักเขียนอิสระ เป็นนักวิเคราะห์วิจารณ์สังคม  โดยยังคงความเป็นนักวิชาการอยู่ด้วย

                สังเกตได้ว่า คุณสฤณี  แปลหนังสือ นายธนาคารเพื่อคนจน  โดย ดร.มูฮัมหมัด ยูนุส เล่มนี้ด้วย หัวใจและสมอง  ทำให้ได้หนังสือแปลที่ดีมากเล่มหนึ่ง  ทั้งในแง่สาระ ลีลา การใช้ภาษา และอื่น ๆ

                ผมหวังว่า หนังสือแปลเล่มนี้จะได้รับความสนใจจากนักปฏิบัติ  นักนโยบาย  นักคิด  นักวิชาการ และคนทั่วไปจำนวนมาก ที่สนใจและพยายามหาวิธีการแก้ปัญหาความยากจนที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพดังเช่นกรณีธนาคารกรามีนที่ก่อตั้งและบริหารโดย ดร.มูฮัมหมัด ยูนุส

                ผมเชื่อมั่นว่า การอ่านหนังสือเล่มนี้ นอกจากจะได้ข้อมูล ข้อคิด หลักคิด และวิธีการอย่างละเอียดเกี่ยวกับวิธีแก้ปัญหาความยากจนในแบบฉบับของธนาคารกรามีนแล้ว  ยังจะสร้างความประทับใจและแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านนำไปคิดต่อว่า ในกรณีประเทศของเราเองหรือกรณีการแก้ปัญหาความยากจนที่ผู้อ่านเกี่ยวข้อง  จะสามารถนำอะไรไปประยุกต์ใช้ได้บ้างและอย่างไร  แน่นอนว่าสถานการณ์ในแต่ละประเทศ และในแต่ละกรณีย่อมไม่เหมือนกัน  

                ในประเทศไทยของเราก็ได้มีนวัตกรรมการแก้ปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้นมากมายหลายแบบหลายอย่าง  ทั้งจากภาครัฐ ภาคองค์กรพัฒนาเอกชน  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก ภาคประชาชน หรือ ภาคชาวบ้าน เอง  ซึ่งในปัจจุบันนวัตกรรมเหล่านี้ได้รับการปฏิบัติ ประยุกต์ ขยายผล สร้างเป็นระบบ เป็น ขบวนการ (Movement) อย่างน่าประทับใจและอย่างบรรลุผลที่น่าพอใจไม่ด้อยไปกว่าความก้าวหน้าในเรื่องเดียวกันนี้ในประเทศอื่น ๆ และในบางกรณีก็ก้าวหน้าโดดเด่นจนเป็นกรณีศึกษาและเป็นที่ดูงานในระดับนานาชาติอย่างน่าภาคภูมิใจ

                จึงขอชื่นชม  ชมเชย  และแสดงความนับถือต่อความตั้งใจ ความพยายาม  และความสามารถในการแปลหนังสือ  “Banker to the Poor”  โดยคุณสฤณี  อาชวนันทกุล ในครั้งนี้

                                                                                                                                                ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

                                                                                                                                                      กรกฎาคม  2551

คำสำคัญ (Tags): #คุณไพบูลย์
หมายเลขบันทึก: 199606เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2008 17:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 12:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เคยดูในชีพจรโลกของสุทธิชัย หยุ่น น่าทึ่งมากครับ

คุณสฤนีเป็นนักเขียน นักเแปลที่มีแนวทางชัดเจนคนหนึ่ง ผมชอบและติดตามอ่านมาหลายเล่มแล้วครับ เล่มนี้ก็เป็นอีกเล่มหนึ่งที่ต้องหามาอ่าน

คุณสฤนีเป็นนักเขียนที่ผมชื่นชมมากคนหนึ่งครับ เป็นเรื่องที่น่ายินดีมากที่ได้ทราบว่าคุณสฤณีมีผลงานใหม่ครับ เดี๋ยวผมต้องรีบไปหามาอ่านครับ

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

"จำเป็นต้องอ่าน" เช่นกันค่ะ เพราะชื่นชมทั้งคนเขียน คนแปล และยังชื่นชมมาถึงชาวบ้านไทย แกนนำชาวบ้านไทยที่เก่งไม่แพ้ยูนุส แต่ยังไม่มีคนช่วยถ่ายทอดเรื่องราวออกมาสู่สาธารณะได้อย่างน่าสนใจมีชีวิตชีวา

กำลังรออยู่ว่า รอบต่อไปคุณสฤณีจะเขียนเรื่องขององค์กรการเงินชุมชนไทยโดยตรงนะคะ

ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ไพบูลย์ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของขบวนองค์กรชุมชนไทยด้วยค่ะ

ถือโอกาสนี้สวัสดี ดร.นเรศ ลูกสาวน่ารักค่ะ คิดไม่ถึงว่าจะได้เจอกันที่นี่ แล้วจะแวะไปเยี่ยมในบล็อกนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท