“ 7 สมบัติ 5 หน้าที่ คือครูแท้ที่เป็นครูด้วยจิตวิญญาณ ”


นางพัชรี วิชพันธุ์ รหัสประจำตัว 515100055 (รุ่น5/1)

                    

                                                                                                                                                                                                                                    

7  สมบัติ  5  หน้าที่  คือครูแท้ที่เป็นครูด้วยจิตวิญญาณ

ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นครู ได้ศึกษาแนวคิดในการเป็นครูจากบทความ  และจากการศึกษาเอกสารต่างๆทำให้สามารถสรุปเพื่อตอบคำถามสำคัญเกี่ยวกับความเป็นครูได้ดังนี้

ครูคือใคร  
                         
ข้าพเจ้าได้พบว่าโบราณให้ความหมายคำว่า ครู หมายถึง  ผู้เปิดประตูของวิญญาณไปสู่คุณธรรมเบื้องสูง ผู้ควรเคารพ ผู้มีความหนัก ผู้เป็นเจ้าหนี้อยู่เหนือศีรษะของทุกคน   พระราชวรมุณี(ป.อ.ปยุตโต) กล่าวถึงคุณค่าของครูไว้ในหนังสือ  ขอบฟ้าการเรียนรู้ว่า 
ถ้าท่านให้ปลาแก่คน เขาจะกินปลาเพียงวันเดียว ถ้าท่านสอนวิธีการจับปลาให้แก่เขา เขาจะมีปลากินตลอดชีวิต    นอกจากนี้ ข้าพเจ้าพบคำประพันธ์ที่แสดงถึงคุณค่าแห่งความเป็นครูที่ผู้ประพันธ์ได้รจนาไว้อย่างไพเราะจับใจดังนี้

                                                                              ถิ่นไทยในป่ากว้าง      ห่างไกล

                                                                     แสงวัฒนธรรมใด                      ส่องบ้าง

                                                                     เห็นเทียนอยู่รำไร                       เล่มหนึ่ง

                                                                     ครูนั่นแหละอาจสร้าง                เสกให้ชัชวาล

                       สังคมไทยแต่โบราณได้ยกย่องให้ครูนั้นเป็นปูชนียบุคคลตลอดมา ทั้งนี้เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมพุทธ พุทธศาสนามีอิทธิพลต่อจิตใจของคนในชาติ   พุทธศาสนาเป็นเสมือนเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ หลักคำสอนในพุทธศาสนาให้ความสำคัญต่อบิดา  มารดา    ครูบาอาจารย์ โดยพระพุทธองค์ทรงยกย่อง บุพการีว่าเป็นครูคนแรกของลูก และชาวพุทธยกย่องพระพุทธองค์ว่าเป็นบรมครู   เป็นครูที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ ไม่ใช่เป็นครูเพียงมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเป็นครูของเทวดาอีกด้วย  ดังคำบาลีที่ว่า สตฺถาเทวามนุสฺสานํ

                       ครูดีนั้นคืออย่างไร 
                                ในหนังสือธรรมนูญชีวิต บอกไว้ว่าคุณสมบัติที่ดีของครูประกอบด้วย

                                           1. ปิโย น่ารัก  คือความใจดี มีเมตตากรุณา ใส่ใจในประโยชน์ของศิษย์  เข้าอกเข้าใจสร้างความรู้สึกเป็นกันเอง ชวนใจให้ศิษย์อยากเข้าไปปรึกษา  ไต่ถาม

                                           2. ครุ  น่าเคารพ คือเป็นผู้หนักแน่น ยึดมั่นถือหลักการเป็นสำคัญและมีความประพฤติเหมาะสม ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ  มั่นใจ เป็นที่พึ่งได้และปลอดภัย

                                           3.  ภาวนีโย  น่ายกย่อง ในฐานะที่เป็นครูที่บุคคลที่ทรงคุณ  คือ  ความรู้ และทรงภูมิปัญญาอย่างแท้จริง

                                           4. วัตตา  จ รู้จักพูดให้เหตุผล  คือมีความรู้จริง  มีจิตวิทยาในการพูด  รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ  รู้ว่าเมื่อไร  ควรพูดอะไร  อย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน  เป็นที่ปรึกษาที่ดีได้

                                           5. วจนักขโม อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถาม แม้จุกจิกตลอดจนคำล่วงเกิน  และคำตักเตือนวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆอดทนฟังได้ไม่เสียอารมณ์

                                           6.  คัมภีรัญจ กถัง  กัตตา  แถลงเรื่องล้ำลึกได้  คือ  กล่าวชี้แจงเรื่องต่าง ๆที่ยุ่งยากซับซ้อน ลึกซึ้งให้เข้าใจได้ และสอนศิษย์ให้ได้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป

                                          7.  โนจฏฐาเน นิโยชเย ไม่ชักจูงชี้นำไปในทางที่เสื่อมเสีย หรือเรื่องเหลวไหลไม่สมควร 

                       คุณสมบัติทั้ง 7  ประการนี้ข้าพเจ้าถือว่าเป็นคุณสมบัติที่ดีของครู  การเป็นครูนั้นไม่ใช่ใคร ๆก็เป็นครูกันได้ เพราะครูที่ดีนั้นต้องมีความเสียสละ และต้องมีความอดทนเป็นอย่างสูง ไม่ใช่ว่ามีแต่ในประกาศนียบัตร แล้วทุกคนก็เป็นครูได้ ครูที่ดีนั้นจะต้องเป็นครูด้วยจิตวิญญาณแห่งความเสียสละ

                       

                    คำถามสุดท้าย หน้าที่ของครูมีอะไรบ้าง  
                                 
ได้มีการเปรียบเทียบครูบาอาจารย์เปรียบเสมือนแขนขวา  หรือทิศเบื้องขวา เป็นคุณธรรมที่ครูเมื่อได้รับการบำรุงจากศิษย์ดีแล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยหน้าที่  5  ประการคือ

                                            1. แนะนำดี หมายถึง สอนและแนะนำศิษย์  ฝึกอบรมให้ศิษย์เป็นคนดี

                                            2. ให้เรียนดี หมายถึง สอนให้ศิษย์เกิดความเข้าใจในเรื่องที่เรียนอย่างแจ่มแจ้ง

                                            3. บอกศิลปะให้สิ้นเชิง ไม่บิดบังอำพราง  หมายถึง  ไม่หวงวิชา มีความรู้เท่าไหร่ถ่ายทอดให้หมด

                                            4.  ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง  หมายถึง ส่งเสริมและยกย่องความดีงามตามความสามารถของศิษย์ให้ปรากฏในทุกที่

                                            5. ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย  หมายถึง สร้างเครื่องคุ้มกันภัยในสารทิศ คือสอนฝึกให้ศิษย์สามารถใช้วิชาเลี้ยงชีพ และรู้จักดำรงตนในการดำเนินชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข

                       ดังนั้น หน้าที่ของครู คือ สร้างความอยู่รอดของสังคม โดยการให้การศึกษาที่สมบูรณ์แก่ศิษย์  การศึกษาที่สมบูรณ์ คือการศึกษาที่ครบองค์สาม  อันได้แก่ ให้ความรู้ทางโลก  ให้ความรู้ทางธรรม เพื่อให้ใจอยู่รอด คือรอดพ้นจากความครอบงำของกิเลสและให้รู้จักทำตนให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคม

ถ้าผู้ที่เป็นครูกอปรด้วยคุณสมบัติ 7  ประการ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนทั้ง  5 ประการ  ดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้าถือว่าผู้นั้นเป็นครูโดยจิตวิญญาณ  และถือว่าเป็นครูโดยแท้จริง สมควรแก่การยกย่องว่าเป็นปูชนียบุคคล

 

หมายเลขบันทึก: 196508เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2008 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กรกฎาคม 2012 18:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
รัศมิ์มาลิน สง่าโฉม

รักครูๆทุกคนนะค่ะ

ครูคือพ่อ แม่คนที่สอง คือคนที่คอยตักเตือน ให้กำลังใจ และคอยส่งเสริมให้เราทำดี

ทำให้เราเป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งกายและใจ มีคุณธรรมและความดีเหมือนที่คุณครูมีให้กับลูกศิษย์เสมอมา

คงไม่ผิดที่คิดถึงใครบางคน ยังไม่เคยลืมแม้แต่วินาทีเดียว คิดถึงครูเปา เสมอมา ครับ 0800058796

หากครูได้มาอยู่ในตำแหน่งและในหน้าที่อันเป็นตำแหน่งและหน้าที่ที่มีความรับผิดชอบอย่างสูงขนาดนี้ หากปล่อยปละละเลยในหน้าที่บุคคลนั้นถือว่าเป็นบาปในหน้าที่นั้น ดังนั้น ครูทุกคนควรที่จะมีสมบัติและรับผิดชอบในหน้าที่ที่กล่าวมาแล้วนั้นได้อย่างบริบูรณ์จึง ขึ้นชื่อว่าเป็นครูด้วยจิตวิญญาณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท