กระบวนทัศน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียน


วิจัยเชิงคุณภาพยากจริงหรือ?

                                                                                          

การวิจัยเชิงคุณภาพในชั้นเรียน : กระบวนทัศน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียน

               

                                                                                                                                                                           ดร.วสัน  ปุ่นผล

 กศ.ด.วิจัยและประเมินผลการศึกษา 

 

เมื่อกล่าวถึงการวิจัยในชั้นเรียน บุคคลโดยทั่วไป โดยเฉพาะครู ผู้ที่ถือว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญของการดำเนินการวิจัยในชั้นเรียน มักจะมองว่า การวิจัยในชั้นเรียน ก็คือการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการการเรียนการสอนในชั้นเรียน ซึ่งสาเหตุของปัญหาต่างๆ เหล่านั้น ก็จะมาจากตัวของผู้เรียน วิธีการสอน สื่อการสอน และสภาพแวดล้อมในชั้นเรียน เป็นหลักและด้วยความเชื่อเช่นนี้เอง ครูจึงมีหน้าที่เป็น ครูผู้ค้น ครูผู้คิด และครูผู้แก้ปัญหาการเรียนการสอนในชั้นเรียน เป็นสำคัญ

กระบวนการของการวิจัยในชั้นเรียนที่ผ่านมาโดยตลอด จึงมีครูผู้สอนเป็นคนค้นหาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนในชั้นเรียน โดยวิธีการต่างๆ อาทิเช่น จากการสังเกต จากการทดสอบความรู้ของผู้เรียน  จากการพูดคุยกับผู้เรียน เป็นต้น จนครูมั่นใจ(หรืออาจจะไม่มั่นใจนักแต่คาดว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น) ว่า ผลจากการสำรวจของตนเองนั้น ได้พบปัญหาที่เป็นปัญหาเกี่ยวข้องกับการเรียน       การสอนจริง ๆ และผู้เรียนกลุ่มใหญ่ในชั้นก็มีปัญหาเหล่านี้ตรงกัน และครูก็จะต้องมีบทบาทเป็นผู้ค้นหาวิธีการหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่แก้ไขปัญหาดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วงไป 

 ด้วยแนวคิดและความเชื่อดังกล่าวนี้เอง งานวิจัยในชั้นเรียนจึงมีลักษณะที่เป็นงานวิจัยใน    เชิงปริมาณที่เน้นการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนเป็นหลัก และโดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานวิจัยที่เน้นการสร้างสื่อการสอนหรือพัฒนาวิธีการสอน ตลอดจนเปรียบเทียบรูปแบบการสอนแบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับชั้นเรียนของตนเองเป็นสำคัญ จนทำให้ครูละเลยสิ่งสำคัญไป นั่นคือ              ความเป็นองค์รวม (Holistic ) และ การบูรณาการ (Integrated) ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการ สร้างคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์แบบ เพราะในสภาพความเป็นจริงนั้น ผู้เรียนไม่ได้มีชีวิตอยู่แค่ในชั้นเรียนของครูผู้สอนเท่านั้น หากแต่ยังมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับโลกภายนอกห้องเรียนด้วยผู้เรียนแต่ละคนจะมีพื้นฐานมาจากครอบครัวที่แตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้างและสิ่งเหล่านี้ก็หล่อหลอมและส่งผลให้ผู้เรียนแต่ละคนมีศักยภาพในการเรียนรู้ ตลอดจนสภาพปัญหา และ        ความต้องการที่แตกต่างกันไป  (ทั้งในส่วนของปัญหาด้านการเรียนรู้ และปัญหาด้านพฤติกรรมอื่นๆ หรือทั้งสองด้านประกอบกัน) ดังนั้นการมองปัญหาของผู้เรียนแต่ละคน จึงไม่อาจมองเฉพาะสิ่งที่ปรากฎในชั้นเรียนได้เท่านั้น หากแต่ควรที่จะต้องมองย้อนไปยังบริบทโดยรอบ หรือมองผู้เรียนคนนั้นใน ลักษณะที่เป็นองค์รวม โดยไม่ได้แยกตัวของผู้เรียนคนนั้น ออกจากสังคมโดยรอบตัวเขาด้วย ซึ่งวิธีการ มองแบบนี้ ไม่อาจมองได้โดยใช้แนวคิดของการวิจัยในเชิงปริมาณ หากแต่ต้องใช้แนวคิดของ  การวิจัยในเชิงคุณภาพเป็นหลัก เพื่อให้ ครู ได้สามารถเข้าถึงสภาพปัญหาของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง และสามารถที่จะแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง ตรงจุด  สามารถพัฒนาพฤติกรรมของผู้เรียนให้มีคุณภาพตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรหรือตามที่สังคมคาดหวังได้

 

ประเภทของการวิจัยในชั้นเรียน 

การวิจัยในชั้นเรียน โดยทั่วไปสามารถจำแนกประเภทตามเกณฑ์การจำแนกได้หลายเกณฑ์ แล้วแต่ว่าผู้แบ่งจะใช้เกณฑ์ใดเป็นหลัก อาทิเช่น หากแบ่งตามประโยชน์ที่ได้จากการวิจัย ก็อาจจะจำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ การวิจัยพื้นฐานหรือการวิจัยบริสุทธิ์ และการวิจัยประยุกต์ หรือหากจำแนกตามข้อมูลที่ใช้ ก็จะได้ 2 ประเภท คือ การวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ หรืออาจจะจำแนกตามเกณฑ์เฉพาะที่พบในการวิจัยในชั้นเรียนได้ดังนี้

1. จำแนกตามลักษณะความเข้มของกระบวนการวิจัย อาจจำแนกได้ 3 ประเภท คือ

1.1 การวิจัยหน้าเดียว ซึ่งเป็นการวิจัยที่สามารถเขียนรายงานเพียงหน้าเดียวหรือหลายหน้าแต่ไม่มากนัก และการเขียนจะเขียนเพียงบอกปัญหาและวิธีแก้ปัญหาและผลการแก้ปัญหาอย่างย่อพอเข้าใจคล้ายกับบทคัดย่อของการวิจัยอื่น

1.2 การวิจัยอย่างง่าย เป็นการวิจัยที่ค่อนข้างมีกระบวนการที่ครบถ้วนแต่การเขียนรายงานการวิจัยบางหัวข้ออาจขาดความสมบูรณ์บ้างเช่น เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

1.3 การวิจัยที่สมบูรณ์ หรืออย่างที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าการวิจัยห้าบท เป็นการวิจัยที่อยู่ในระดับมาตรฐานสากล ดำเนินการตามกระบวนการที่ครบถ้วน เขียนรายงานการวิจัยอย่างสมบูรณ์

2. จำแนกตามจุดมุ่งหมายเฉพาะของการวิจัย อาจจำแนกได้ 2 ประภท คือ

2.1 การวิจัยเพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาในชั้นเรียน เช่น การวิจัยเพื่อวิเคราะห์ผู้เรียนหรือวินิจฉัยผู้เรียน การวิจัยเพื่อประเมินคุณภาพการศึกษา การวิจัยเพื่อศึกษาสภาพและปัญหาการเรียนรู้ หรือสภาพพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของผู้เรียน เป็นต้น

2.2 การวิจัยเพื่อประยุกต์ทฤษฎีในการแก้ปัญหาและพัฒนา เช่น การวิจัยเพื่อสร้างสื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้ การวิจัยเพื่อสร้างเครื่องมือประเมินผลการเรียนรู้ การวิจัยเพื่อปรับแก้พฤติกรรมบางอย่างของผู้เรียน การวิจัยเพื่อพัฒนาทักษะหรือพฤติกรรมของผู้เรียนให้มีความเป็นเลิศ เหล่านี้    เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การวิจัยเรื่องหนึ่ง ๆ อาจจะไม่สามารถแยกประเภทได้อย่างเด็ดขาด  อาจจัดอยู่ในบางประเภทหรือหลายประเภทในขณะเดียวกันก็ได้ เช่น ในการวิจัยเรื่องหนึ่งอาจจะเป็นการวิจัยเพื่อพรรณนาหรือบรรยาย ปัญหา และแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหา  และทดลองนวัตกรรมการแก้ปัญหา  

 

การวิจัยนี้จึงเป็นทั้งการวิจัยเชิงพรรณนาหรือบรรยายและการวิจัยเชิงทดลอง การวิจัยบางเรื่องอาจจะต้องใช้ทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพ หรือการวิจัยบางเรื่องอาจจะเกี่ยวข้องกับสาขาวิชาหลายสาขาหรือที่เรียกกันว่า สหวิทยาการ” (Interdisciplinary) ต้องมีการบูรณาการองค์ความรู้ที่หลากหลายเข้ามาใช้เพื่อแก้ปัญหาให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ทั้งนี้เนื่องจากในสภาพการณ์ปัจจุบันนั้น ปัญหาของผู้เรียน หรือปัญหาของการจัดการเรียนการสอนนั้น มีความสลับซับซ้อนและมีความเกี่ยวพันกับสิ่งต่างๆมากมาย  มีความเป็นองค์รวมกับสังคมภายนอกดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้น ยกตัวอย่างเช่น ครู อาจจะพบว่าผู้เรียนในชั้นเรียนของตนเองไม่สนใจการเรียนวิชาภาษาอังกฤษในชั่วโมงเรียนที่ครูสอน  มีปัญหาการใช้ความรุนแรง พฤติกรรมก้าวร้าว โต้เถียง หรือแสดงกิริยาไม่พอใจเมื่อครูซักถาม หรือตำหนิ หรือในทางตรงกันข้ามก็อาจจะมีพฤติกรรมเก็บกด ไม่กล้าแสดงออกก็ได้ ซึ่งถ้าหากครูต้องการที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ จำเป็นที่ครูจะต้องมีความเข้าใจในตัวผู้เรียน ตลอดจนสาเหตุแห่งพฤติกรรมเหล่านั้นของผู้เรียนอย่างลึกซึ้ง โดยนำแนวคิดของการวิจัยเชิงคุณภาพเข้ามาประยุกต์ใช้

 

กระบวนทัศน์ของการวิจัยเชิงคุณภาพในชั้นเรียน

การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นการวิจัยที่แสวงหาความจริงในสภาพที่เป็นอยู่โดยธรรมชาติ (Naturalistic inquiry)  ซึ่งเป็นการสอบสวน มองภาพรวมทุกมิติ (Holistic perspective)  ด้วยตัวผู้วิจัยเอง  เพื่อหาความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์ที่สนใจกับสภาพแวดล้อมนั้น  โดยให้ความสำคัญกับข้อมูลที่เป็นความรู้สึกนึกคิด คุณค่าของมนุษย์  และความหมายที่มนุษย์ให้ต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆรอบตัว ซึ่งในที่นี้ก็คือตัวของผู้เรียน หรือกลุ่มบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้เรียน โดยเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มา ด้วยการตีความเพื่อสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย  (Inductive  analysis) เพื่อให้ได้ความรู้ความเข้าใจในปรากฎการณ์ที่ต้องการศึกษาอย่างลึกซึ้ง

การเตรียมตัวทำงานวิจัยเชิงคุณภาพในชั้นเรียน

            สนาม  สำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพในชั้นเรียน  คือ  พื้นที่ที่ผู้วิจัยจะเข้าไปศึกษา ซึ่งในที่นี้คือภายในชั้นเรียนนั่นเอง หรืออาจเป็นครอบครัว ชุมชน  หมู่บ้าน ที่ผู้เรียนอาศัยอยู่ก็ได้ หากเรื่องที่ศึกษามีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจในบริบทโดยรอบของตัวผู้เรียนอย่างลึกซึ้ง อาทิเช่นเมื่อครูต้องการศึกษาถึงสาเหตุแห่งพฤติกรรมก้าวร้าวของผู้เรียน ที่พบในชั่วโมงการสอนภาษาอังกฤษของครู ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้ ครูจำเป็นที่จะต้องศึกษาไปถึงสภาพแวดล้อมของเด็กผู้เรียนไม่ว่าจะเป็นในส่วนของปฏิสัมพันธ์ของเด็กผู้เรียนกับเพื่อนในโรงเรียน หรือสัมพันธภาพของเด็กผู้เรียนกับสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชน     เป็นต้น ดังนั้นครูผู้วิจัย จึงต้องกำหนดกลุ่มคนผู้ที่สามารถจะตอบปัญหาที่ต้องการดังกล่าวได้อย่างลึกซึ้ง  ทำให้มีการขยาย สนามของการวิจัยออกไปจากชั้นเรียนตามปกติ  และตัวครูผู้วิจัย ก็ต้องมีการเตรียมตัว เตรียมความพร้อมในการเข้าสนาม ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น สมุดบันทึก ดินสอ กล้องถ่ายรูป เทปบันทึกเสียง  ไว้ด้วย

 

การเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพในชั้นเรียน

การวิจัยเชิงคุณภาพในชั้นเรียนนั้น ครูผู้วิจัยจะต้องพยายามนำตัวเองเข้าไปสัมผัสกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น และพยายามเข้าให้ถึงวิธีอธิบายปรากฎการณ์แบบคนใน (insider) ให้มากที่สุด กล่าวคือครูผู้วิจัยจะต้องมองหรืออธิบายปรากฎการณ์ตามแนวคิดของผู้ที่ให้ข้อมูลนั้นๆ ไม่ใช้ตัวครูผู้วิจัยเองเป็นคนตัดสินปรากฎการณ์ดังกล่าว ตามมุมมองหรือความเชื่อของตนเอง  หากแต่จะต้องเข้าใจว่าเด็กผู้เรียนรู้สึกอย่างไร ทำไมถึงมองว่าการสอนวิชาภาษาอังกฤษของเราน่าเบื่อหน่าย หรือทำไมมองว่าการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวของเขานั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องซึ่งวิธีการในการเก็บรวบรวมข้อมูลนั้น    โดย

ทั่วไปจะใช้วิธีการสังเกตและการสัมภาษณ์เป็นหลัก

 การสังเกต(Observation)การสังเกตในวิจัยเชิงคุณภาพอาจจำแนกอย่างง่ายๆเป็น 2 แบบ คือ

            1) การสังเกตแบบมีส่วนร่วม (participation observation) คือ การสังเกตที่ผู้สังเกตเข้าไปใช้ชีวิตหรือมีการกระทำกิจกรรมด้วยกันจนกระทั่งเข้าใจความรู้สึกนึกคิดและความหมายที่คนเหล่านั้นให้ต่อปรากฎการณ์ทางสังคมที่ผู้วิจัยศึกษา  ซึ่งเมื่อสังเกตแล้วจะต้องมีการซักถามและการจดบันทึกข้อมูล ด้วย

            2) การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม (non-participation observation)  คือ  การสังเกตที่ผู้สังเกตไม่ได้เข้าไปใช้ชีวิตร่วมหรือมีกิจกรรมกับกลุ่มคนที่ศึกษา เนื่องจากไม่ต้องการให้ผู้ถูกสังเกตรู้สึกรบกวนเพราะอาจทำให้พฤติกรรมผิดไปจากปกติได้

โดยการสังเกตนั้น ควรสังเกตใน 6 สิ่งต่อไปนี้

                   ก) การกระทำ คือ การใช้ชีวิตประจำวัน การรับประทานอาหาร การปฏิบัติภารกิจอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันของผู้เรียน หรือกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการศึกษา

                   ข) แบบแผนการกระทำ คือ การกระทำหรือพฤติกรรมที่เป็นกระบวนการ  มีขั้นตอนจนเป็นแบบแผน  ชี้ให้เห็นสถานภาพ  บทบาทและหน้าที่ของผู้เรียนหรือเป้าหมายที่เราสนใจ

      ค) ความหมาย  คือ  การให้ความหมายของการกระทำหรือแบบแผนพฤติกรรมนั้น ว่าผู้เรียนรู้สึกอย่างไร หรือมีความเชื่อต่อการกระทำของตนเองอย่างไร

                   ง) ความสัมพันธ์  คือ  ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนในชั้นเรียน และระหว่างผู้เรียนกับบุคคลอื่นๆ โดยรอบ

                    จ)การมีส่วนร่วมในกิจกรรมคือการที่ผู้เรียนหรือกลุ่มเป้าหมายยอมร่วมมือในกิจกรรมนั้น ๆ

                   ฉ) สภาพสังคม คือ ภาพรวมทุกแง่ทุกมุมที่สามารถประเมินได้ ที่ผู้เรียน หรือเป้าหมายที่ต้องการศึกษาเผชิญอยู่

             การสัมภาษณ์ (Interview) เป็นการเจาะลึกประเด็นต่าง ๆ ที่ผู้วิจัยสนใจ อาจใช้สัมภาษณ์เป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มก็ได้  โดยอาจแบ่งประเภทของการสัมภาษณ์ได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

            1)การสัมภาษณ์แบบเป็นทางการ (formal  interview) หรือการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง    เป็นการสัมภาษณ์ที่ผู้วิจัยได้เตรียมคำถามและข้อกำหนดไว้แน่นอนตายตัว      ซึ่งในที่นี้จะไม่แนะนำให้ครูผู้วิจัยใช้วิธีการนี้  เพราะไม่ได้ช่วยให้ได้ข้อมูลที่ลึกซึ้งและครอบคลุมเพียงพอโดยเฉพาะในแง่ของสังคม ความหมายและความรู้สึกนึกคิดของผู้เรียนหรือกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการศึกษา อีกทั้งยังทำให้ผู้เรียนหรือกลุ่มเป้าหมายรู้สึกเกร็ง และไม่สะท้อนความเป็นจริงออกมา ทำให้โอกาสความเป็นคนในของครูผู้วิจัยหมดไปในที่สุด

            2) การสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ (informal  interview) เป็นวิธีการที่มีความเหมาะสมมากที่สุดสำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพในชั้นเรียน และโดยส่วนใหญ่ก็มักจะใช้ร่วมกับการสังเกตแบบมี      ส่วนร่วม เพื่อให้ครูผู้วิจัยได้เห็นภาพและเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมได้อย่างรอบด้าน ซึ่ง               การสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการนั้นจะมีการเตรียมคำถามกว้าง ๆ มาล่วงหน้า เพื่อเป็นกรอบสำหรับผู้วิจัยเองว่าต้องการข้อมูลในด้านใดบ้าง และการสัมภาษณ์แบบนี้อาจแบ่งย่อยออกได้อีก เช่น          การสัมภาษณ์โดยเปิดกว้างไม่จำกัดคำตอบ  การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (in depth  interview)        การตะล่อมกล่อมเกลา (probe) ซึ่งเป็นการซักถามที่ล้วงเอาส่วนลึกของความคิดของผู้เรียนหรือกลุ่มเป้าหมายออกมาให้ได้มากที่สุด และการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (key informant interview) โดยกำหนดตัวผู้ตอบ     บางคนแบบเจาะจง เพราะมีข้อมูลที่ดี ลึกซึ้ง กว้างขวางเป็นพิเศษ  การเงี่ยหูฟัง (eavesdropping) จากคำสนทนาของผู้อื่นโดยครูผู้วิจัยไม่ต้องตั้งคำถามเองตลอดจนการสนทนากลุ่ม (focus  group discussion)  ก็เป็นเทคนิคของการวิจัยเชิงคุณภาพอีกอย่างหนึ่ง 

            ซึ่งในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยเชิงคุณภาพนั้น  ผู้วิจัยอาจใช้อุปกรณ์  เช่น  กล้องถ่ายรูป  เทปบันทึกเสียงหรือวีดีโอเทป  เพื่อช่วยให้การเก็บรวบรวมข้อมูลมีความสมบูรณ์ ครบถ้วนถูกต้องมากขึ้นก็ได้

การตรวจสอบและการวิเคราะห์ข้อมูล

            หลังจากที่ครูผู้วิจัยได้เก็บรวบรวมข้อมูลมาจากผู้เรียนหรือกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการแล้ว  ขั้นตอนต่อไปที่จะต้องทำ  คือ  การตรวจสอบข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งครูผู้วิจัยอาจทำไปพร้อมกับการเก็บรวบรวมข้อมูลก็ได้   การตรวจสอบข้อมูลในการวิจัยเชิงคุณภาพที่นิยมใช้กัน เรียกว่า        การตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า (triangulation) ได้แก่  การตรวจสอบสามเส้าด้านข้อมูล โดยพิจารณาจากช่วงเวลา  สถานที่และแหล่งบุคคลผู้ให้ข้อมูลที่แตกต่างกัน  กล่าวคือ  ถ้าข้อมูลต่างเวลากันจะเหมือนกันหรือไม่   ถ้าข้อมูลต่างสถานที่จะเหมือนกันหรือไม่  และถ้าบุคคลผู้ให้ข้อมูลเปลี่ยนไปข้อมูลจะเหมือนเดิมหรือไม่   หรือครูผู้วิจัยอาจจะใช้การตรวจสอบสามเส้าด้านผู้วิจัยก็ได้ โดยเปลี่ยนตัวผู้สังเกต  จากการที่ตัวเราเองเป็นผู้สังเกต เป็นให้ครูคนอื่นลองเป็นผู้สังเกตดูบ้าง  นอกจากนี้ก็อาจจะใช้          การตรวจสอบสามเส้าด้านวิธีรวบรวมข้อมูลก็ได้  โดยใช้วิธีเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ กันเพื่อรวบรวมข้อมูลเรื่องเดียวกัน เช่น ใช้วิธีสังเกตควบคู่ไปกับการซักถาม เหล่านี้เป็นต้น

สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยเชิงคุณภาพนั้น มักจะไม่ใช้สถิติช่วยในการวิเคราะห์ หากแต่จะใช้แนวคิดทฤษฎีเป็นกรอบในการวิเคราะห์        โดยวิธีการหลักที่ใช้กันนั้นมี  2  วิธี  คือ  วิธีแรกเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการตีความสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย (inductive)   ซึ่งได้จากการสังเกตและการสัมภาษณ์ที่ได้จดบันทึกไว้จากสิ่งที่เป็นรูปธรรมหรือปรากฏการณ์ที่มองเห็น  โดยผู้วิจัยได้เห็นหลาย ๆ เหตุการณ์และได้ทำการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้าแล้วก็สามารถลงมือเขียนเป็นประโยคหรือข้อความเพื่อสร้างข้อสรุปได้ตามกรอบแนวคิดทฤษฎีหรือเพื่อตอบปัญหาของการวิจัย ข้อมูลที่ไม่ต้องการจะถูกกำจัดออกไปได้ วิธีที่สองเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) ซึ่งได้จากการศึกษาเอกสาร (document research) ในการวิเคราะห์เอกสารผู้วิจัยต้องคำนึงถึงบริบท (context) หรือสภาพแวดล้อมของข้อมูลเอกสารที่นำมาวิเคราะห์ประกอบด้วยว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร การวิเคราะห์ข้อมูลทั้งสองวิธีนี้จะเป็นข้อความแบบบรรยาย (descriptive) ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ขึ้นอยู่กับประเด็นหรือปัญหาที่จะวิเคราะห์และการเลือกของครูผู้วิจัย   ดังนั้นการมี            กรอบความคิดหรือทฤษฎีที่หลากหลายจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลได้ลึกซึ้งและสร้างข้อสรุปที่หนักแน่น เพื่อตอบคำถามของการวิจัยในชั้นเรียนในครั้งนั้นๆได้เป็นอย่างดี

 

การเขียนรายงานการวิจัยเชิงคุณภาพในชั้นเรียน

            ขั้นสุดท้ายของกระบวนการวิจัย  คือ  การเขียนรายงานผลการวิจัย  เพื่อนำเสนอผลงานที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้าและวิจัยว่าได้ค้นพบความจริงหรือได้ความรู้ใหม่ ๆ อะไรบ้าง   การเขียนรายงานการวิจัยเชิงคุณภาพในชั้นเรียนนั้น รูปแบบจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของครูผู้วิจัยว่าต้องการให้งานวิจัยของตนเองเป็นเช่นไร เป็นงานวิจัยแบบหน้าเดียว งานวิจัยอย่างง่าย หรืองานวิจัยแบบสมบูรณ์  แต่ทั้งนี้รายงานวิจัยควรที่จะต้องมีสาระครบถ้วนตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย  มีความถูกต้อง  รัดกุม  ชัดเจน  เป็นสำคัญ สามารถตอบคำถามการวิจัยที่ครูสงสัย ใคร่รู้ ได้อย่างลึกซึ้ง และครูผู้วิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม

 

บทส่งท้าย

            การวิจัยในชั้นเรียนนั้นมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ไม่ใช่แต่เพียงในด้านของการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพในเชิงวิชาการของผู้เรียนเท่านั้นแต่ต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ ไปพร้อมกันด้วย การปรับหรือพัฒนาพฤติกรรมด้านอื่นๆของผู้เรียนจะช่วยส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น  ซึ่ง  

สิ่งเหล่าเหล่านี้กระบวนการของการวิจัยเชิงคุณภาพจะเข้ามาเป็นตัวช่วยเสริมให้การวิจัยในชั้นเรียนสามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ครูบางคนอาจจะรู้สึกว่าการทำวิจัยนั้นเป็นเรื่องที่ยาก และการวิจัยเชิงคุณภาพยิ่งเป็นเรื่องที่ยากกว่าการทำวิจัยเชิงปริมาณ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ถ้าครูคนนั้นได้ลองย้อนกลับไปพิจารณา หรือประเมินถึงพฤติกรรมของตัวเองว่า ในกระบวนการเรียนการสอนของตนเองนั้น ครูได้ให้ความสนใจกับตัวผู้เรียนของตนเองเช่นไร มีการซักถาม สังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนในชั้นเรียน หรือผู้เรียนที่ตนเองรับผิดชอบ ตลอดจนติดตามเยี่ยมบ้านผู้เรียน พบปะผู้ปกครองมากน้อยเพียงไร หากลองได้ประเมินสิ่งนี้ออกมาแล้ว ครูหลายท่านอาจจะตกใจว่าสิ่งเหล่านั้น ก็คือส่วนหนึ่งของกระบวนการศึกษาวิจัยในเชิงคุณภาพที่ครูได้ทุ่มเทเวลาของตนเองเพื่อพ

หมายเลขบันทึก: 195426เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2008 13:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • อ่านแล้วเยี่ยมมากเลยครับอาจารย์
  • ลองใช้อักษร Tahoma 14 point พิมพ์ใน word
  • copy มาวางใน gotoknow นะครับ
  • จะทำให้น่าอ่านมากขึ้นครับ
  • ขอบคุณครับ

 สวัสดีคะ...ท่านพี่ ... มาเป็นกำลังใจคะ... (วิจัยและประเมินผลการศึกษา รุ่น 9 มน.)

 

* เข้ามาให้กำลังใจในการเขียน ค่ะ

* อยากให้มีบทความคุณภาพอย่างนี้ เขียนบ่อยๆ นะคะ

เขียนได้ดีนะครับ

พี่ชายสุด love น้องเพิ่งมีโอกาส ได้เข้ามาอ่าน

แสดงว่า IN เชิงคุณภาพ ช่ายยยป่ะคะ

ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่นี้ค่ะ วันนี้อบรมเรื่องการวิจัยในชั้นเรียนพอดี ก็เลยได้มาศึกษาเพิ่มเติมที่คุณครูนี่แหล่ะค่ะ

อ.หนุ่ม ครับ เพื่อนพิบูลวิทยาลัย'87 ร่วมรวมตัวกันที่ facebook. ลองเข้าไปอ่านดูนะครับ

หากมีเวลา ให้เอารูปเก่าๆ ไป post ลงด้วยนะครับ เคยอยู่ห้องไหนก็เข้าไปรายงานตัวกันไว้ด้วยครับ

จากเพื่อน พีรเดช เรืองนิคม(เบียร์)

http://www.facebook.com/home.php?sk=group_114180528649111

ข้อมูลของอาจารย์ดีมากเลยคะ ได้มีข้อมูลในการทำวิจัยในชั้นเรียนอ่านแล้วเข้าใจง่าย

ขอบคุณนะครับ

 

อ่านแล้วเข้าใจง่ายดีค่ะ  ขอบคุณค่ะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท