ทำไมคนใต้ จึง "ยิก-ทูด" มท.1


บทความนี้มีความน่าสนใจเพราะรวมศาสตร์ 2 แขนงใหญ่ ๆ คือ ด้านการเมืองการปกครองกับด้าน วัฒนธรรมและภาษาศาสตร์ จึงเก็บมาไว้ในรวมข่าวครับ ลองอ่านดูนะครับ

ทำไมคนใต้ จึง "ยิก-ทูด" มท.1


          ผมอ่านบทความนี้แล้วคิดว่ามันมีความน่าสนใจเพราะรวมศาสตร์ 2 แขนงใหญ่ ๆ คือ ด้านการเมืองการปกครองกับด้าน วัฒนธรรมและภาษาศาสตร์ จึงเก็บมาไว้ในรวมข่าวครับ ลองอ่านดูนะครับ

ภาษาถิ่นใต้มีคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า "ไล่" หรือ "ตะเพิด" ในภาษากลางอยู่หลายคำ และแต่ละคำก็ใช้ในโอกาสหรือกาลเทศะที่แตกต่างกันไป ได้แก่ คำว่า "ยิก" หมายถึง การไล่ที่ผู้ไล่วิ่งตามหลังคนหรือสิ่งที่ตนเองไล่ไปติดๆ ด้วย เช่น "หมายิกแลน" หมายถึง หมาไล่ตะกวด "ยิกวัว" หมายถึงคนต้อนวัวให้เดินไปตามที่ตนต้องการ เป็นต้น

คำว่า "ทูด" หมายถึง การไล่ตะเพิดให้ไปให้พ้นๆ โดยผู้ไล่อาจจะไล่ตามไปบ้างแต่ไม่ได้ตามไปติดๆ ตามไปเพียงเพื่อให้สิ่งที่ตนไล่ได้ยินเสียงของผู้ไล่เท่านั้น เช่น "ทูดนกกระจาบไม่ให้มาลงกินข้าวในนา" "ทูดมุดสังไม่ให้มากินไก่" (หมายถึง ไล่ชะมดไม่ให้มากินไก่) เป็นต้น

บางครั้งคนใต้อาจจะใช้ทั้งคำว่า "ยิก" และ "ทูด" พร้อมๆ กันเป็น "ยิกทูด" เพื่อเน้นให้เห็นว่าเป็นการไล่ที่ผู้ไล่มีอารมณ์ชิงชังกับสิ่งนั้นอย่างรุนแรงจึงทั้งวิ่งตามไปติดๆ แบบ "ยิก" และส่งเสียงตะเพิดไล่ หรือ "ทูด" ไปพร้อมๆ กัน

ดังนั้น กรณีที่ชาวจังหวัดกระบี่และจังหวัดใกล้เคียงหรือชาวภาคใต้รวมตัวกันขับไล่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือ มท.1 ซึ่งชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า "อ้ายเหลิม" ที่ลงพื้นที่ไปมอบนโยบายแก่ข้าราชการในจังหวัดชายฝั่งอันดามันเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาจึงเหมาะสมที่จะใช้คำว่า "ยิก-ทูด" เพราะมีทั้งที่วิ่งตามไปติดๆ และส่งเสียงตะเพิดไล่ไม่ให้เหยียบแผ่นดินภาคใต้

หลังจากเกิดเหตุการณ์ "ยิก-ทูด มท.1" เพียงวันเดียว สื่อมวลชนบางฉบับได้โทรศัพท์ถามความคิดเห็นของผู้เขียนต่อกรณีดังกล่าวว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ มันเกิดจากความแตกแยกขัดแย้งของความรู้สึกตามกระแส "ภาคนิยม" หรือเปล่า

ได้ให้ความเห็นว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับ มท.1 มาจากเหตุปัจจัยหลายด้าน ผสมผสานแบบผสมโรง ดังนี้

ประการแรก มาจากลักษณะเฉพาะตัวของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เองที่เป็นบุคคลพิเศษที่มีความสามารถในการสร้างศัตรูได้เกือบทุกครั้งที่ปรากฏตัวต่อสาธารณชน โดยเฉพาะเวลาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน บุคลิกลักษณะเฉพาะตัว น้ำเสียง แววตา ลีลายั่วยวนของท่านเป็นลักษณะที่ขัดหูขัดตาและขัดใจคนใต้ที่ไม่ค่อยชอบคนแบบนี้เพราะถือว่าไม่ใช่ "คนนักเลง" อย่างที่คนใต้เขานิยมชมชอบกัน จึงเกิดความรู้สึกที่ชาวใต้เรียกว่า "กูเกลียดแล" หมายถึงหมั่นไส้ อยากสั่งสอนให้รู้สำนึกเสียบ้าง

ประการที่สอง ต้องยอมรับความจริงว่าภาคใต้เป็นเขตอิทธิพลของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองที่ครองใจคนภาคใต้มาหลายสมัยเลือกตั้ง โดยเฉพาะนับตั้งแต่วันที่นายชวน หลีกภัย นักการเมืองอาวุโส ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หลังปี 2531 เป็นต้นมา และสร้างกระแสชูคนใต้เป็นนายกรัฐมนตรีจนประสบความสำเร็จได้เป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 สมัย และไม่มีพรรคการเมืองใดเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ในเขตเลือกตั้งเกือบทุกเขตใน 14 จังหวัดภาคใต้ เจาะได้บ้างเฉพาะบางเขตบางพื้นที่เท่านั้น

ดังนั้น เมื่อรัฐมนตรีที่คนใต้รู้สึก "เกลียดแล" ลงไปในพื้นที่ย่อมไม่ยากที่จะผลักดันให้คนใต้ที่อยู่ใกล้ๆ ทางผ่านของท่านจะออกจากบ้านไปร่วม "ยิก-ทูด" ซึ่งสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ไม่จำเป็นต้องปลุกระดมแต่อย่างใด เพราะโดยปกติท่านก็เป็นคน "ต้นทุนทางสังคมต่ำ" อยู่แล้ว (อันนี้เป็นความเห็นของท่านรัฐมนตรีเองนะ)

ประการที่สาม นานมาแล้วที่ภาคใต้ปลอดจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี หรือคนใต้ส่วนใหญ่รู้สึกว่า 14 จังหวัดภาคใต้เป็นดินแดนของฝ่ายค้านมายาวนานนับตั้งแต่พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ให้กับพรรคความหวังใหม่ พรรคชาติไทยและพรรคไทยรักไทยและไม่ได้ร่วมรัฐบาลมาหลายสมัยเลือกตั้ง ประกอบกับกระแส "ภาคนิยม" และ "พรรคนิยม" ที่ทรงอิทธิพลทำคนใต้ส่วนใหญ่ที่เข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองรู้สึกไม่ค่อยดีต่อนักการเมืองกลุ่มอื่น พรรคอื่น โดยเฉพาะนักการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์กับพรรคการเมืองของคนใต้

ประการที่สาม ความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติของรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ปี 2544 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นการกระจายเม็ดเงินงบประมาณลงมาในพื้นที่ภาคใต้ เพราะอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณเคยให้ความเห็นต่อสาธารณชนว่า "มีความจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือกับประชาชนในเขตพื้นที่ที่สนับสนุนรัฐบาลก่อน"

การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ล้มเหลวและไม่ค่อยให้ความสำคัญ

คนภาคใต้รู้สึกว่านายกรัฐมนตรีทักษิณขณะยังดำรงตำแหน่งไม่ค่อยให้ความสนใจกับความเดือดร้อนของพี่น้องชาวภาคใต้ในกรณีที่ประสบอุทกภัย สึนามิ ไม่เหมือนหรือเท่าเทียมกับกรณีที่ภาคเหนือประสบเหตุการณ์ในทำนองเดียวกัน ดังนั้น จึงทำให้คนใต้รู้สึกที่ไม่ดีต่อรัฐมนตรีที่เป็นพวกเดียวกันกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณเช่นคุณเฉลิม

ประการที่สี่ คตินิยมของคนใต้ที่มีมาแต่ดั้งเดิมคือคตินิยมความเป็นคนนักเลงและต่อต้านอำนาจรัฐในลักษณะ "อารยะขัดขืน" หรือ "อนารยะขัดขืน" ก็แล้วแต่ (เพราะรัฐมนตรีเฉลิมอาจจะรู้สึกว่าคนใต้ไม่มีอารยะก็ได้) ซึ่งมีมานานตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมโจรในยุค "รุ่ง ดอนทราย" "ดำหัวแพร" ที่กล่าวกันว่า "นายรักเหมือนเสือกอด หนีนายรอดเหมือนเสือหา" อันมีความหมายว่า การเป็นคนใกล้ชิดนายหรือเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับพวกเจ้าพวกนายหรือผู้มีอำนาจในบ้านเมืองล้วนมีอันตรายแทบทั้งสิ้น เข้าทำนองว่า "นายเมานายถีบเรา เราเมานายก็ถีบเรา"

และในยุคต่อๆ มากล่าวกันว่า "ไม่รบนายไม่หายจน" หมายความว่าสาเหตุที่ประชาชนคนใต้ที่เคยได้ชื่อว่าอยู่ในดินแดนที่เรียกว่า "แหลมทอง" หรือ "สุวรรณภูมิ" ต้องประสบกับความอดอยากยากจนหรืออัตคัดขัดสนเพราะถูกเอารัดเอาเปรียบจาก "นาย" คือ พวกนักปกครอง ตำรวจ ทหาร พลเรือนและนายทุนต่างๆ

ดังนั้น หากจะหนีให้พ้นความยากจนจึงต้องต่อสู้ "ยิก-ทูด" พวกนายเหล่านี้ลงจากอำนาจให้ได้

อุทาหรณ์ที่เกิดขึ้นกับ มท.1 จึงน่าจะเป็นอนุสติเตือนใจสังคมปัจจุบันให้ทุกฝ่ายพึงสำเหนียกถึงลางร้ายแห่งความแตกแยกในสังคมไทย โดยเฉพาะปรากฏการณ์ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างระหว่างชนชั้นนำอันมีตัวตายตัวแทนที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน ความขัดแย้งระดับภาคนิยมที่เคยส่งผลให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างภาคเหนือ ภาคอีสานกับภาคใต้เพียงเพราะมีความนิยมชมชอบในพรรคการเมืองต่างกันคนละพรรค

และที่สำคัญในขณะนี้คือความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างประชาชนคนภาคใต้กับคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีของเขาที่ออกมาทะเลาะเบาะแว้ง ท้าทาย เย้ยหยัน ข่มขู่อาฆาตกันอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งๆ ที่ปรัชญาการเมืองสมัยโบราณ

"การเมืองหมายถึง การทำหน้าที่สร้างสรรค์ชีวิตที่มีคุณธรรมให้เกิดขึ้นในรัฐ โดยการใช้อำนาจรัฐเพื่อจัดสรรแบ่งปันสิ่งที่มีคุณค่าให้ทั่วถึงและเป็นธรรมในสังคม การแสวงหาระบอบการปกครองที่ดีที่สุด การแสวงหาความยุติธรรมและการมีชีวิตที่ดีภายในรัฐ ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่มีคุณธรรมจริยธรรม รัฐนำมาซึ่งชีวิตที่ดี รัฐมีพันธะหน้าที่สำคัญในการสร้างชีวิตที่ดี องค์ประกอบที่แท้จริงของรัฐคือราษฎร รัฐเป็นวิวัฒนาการทางธรรมชาติของปัจเจกบุคคล รัฐจึงเกิดขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงทางจริยธรรมแก่มนุษย์ หน้าที่ของรัฐคือการสร้างชีวิตที่ดีหมายถึงความยุติธรรมในการปกครองให้เกิดขึ้นแก่ราษฎรในรัฐ"

แต่น่าแปลกที่การเมืองไทย รัฐไทยและรัฐบาลไทยนอกจากจะไม่ยินดียินร้ายต่อพันธกิจดังกล่าวแล้ว มิหนำซ้ำยังกลับกระทำตรงกันข้ามกับหน้าที่อันสำคัญดังกล่าว

แล้วจะไม่ให้ชาวบ้าน "ยิก-ทูด" จนดูไม่ทันว่าทางที่ตนวิ่งออกไปนั้นเป็น "ทางแลนหรือทางหมา"

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11080
หน้า 6
โดย จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคม ภาคใต้ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ

หมายเลขบันทึก: 193453เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2008 12:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท