การจัดการความรู้ กรมส่งเสริมการเกษตร


                          1. ภายใต้สภาวะแวดล้อมของเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่เป็นโลกแห่งการเรียนรู้ โลกแห่งภูมิปัญญา(Knowledge Based Economy) การที่องค์กรใดหรือผู้ใดที่จะคิดหรือตัดสินใจกระทำการใดๆ ต้องใช้ข้อมูล ข่าวสาร องค์ความรู้ และภูมิปัญญา ในสภาวการณ์ปัจจุบัน องค์กรจะคิดถึงเฉพาะการเรียนรู้เพื่อการอยู่รอด(Survival Learning) เพียงอย่างเดียวคงจะไม่เพียงพออีกต่อไป จะต้องเรียนรู้เพื่อเจริญเติบโต(Generative Learning) และก้าวหน้าอย่างมั่นคง จึงถือว่าองค์กรนั้นประสบผลสำเร็จ โดยกลยุทธ์ที่สำคัญคือพัฒนาการไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

                          2. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 มาตราที่ 11 ระบุไว้ว่า ส่วนราชการมีหน้าที่พัฒนาความรู้ในส่วนราชการ เพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสามารถประมวลความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเหมาะสมต่อสถานการณ์ รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถ สร้างวิสัยทัศน์และปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการในสังกัด ให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพมีการเรียนรู้ร่วมกัน ทั่งนี้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการให้สอดคล้องกับการบริหารราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ตามพระราชกฤษฎีกานี้

                          3. แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ 5 คือ การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมของระบบราชการ จำเป็นต้องสร้างรูปแบบกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงให้เกิดขึ้น การจัดการกับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ รู้ทันโลก และปรับตัวทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ส่วนราชการจะต้องจัดให้มีการพัฒนาองค์ความรู้ภายในองค์กร การปฏิบัติงานเชิงรุก กล่าวคือ การปฏิบัติงานเต็มกำลังความสามารถและมีความกระตือรือร้นในการปฏิบัติงาน ซึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จคือ การสร้างองค์ความรู้และทักษะใหม่ๆ ให้กับข้าราชการ เพื่อเพิ่มทักษะในการบริหารจัดการเพื่อให้ผลการปฏิบัติงานดียิ่งขึ้น

                           4. กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้ดำเนินการจัดการความรู้(Knowledge Management) ของกรมส่งเสริมการเกษตรขึ้นในปี 2548 เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการความรู้ในองค์กรที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งสามารถพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และเป็นแนวทางการดำเนินงานกับหน่วยงานต่างๆ ในองค์กรต่อไป

หมายเลขบันทึก: 1928เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2005 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
ผมชื่นชมที่กรมส่งเสริมการเกษตรยึดถือหน้าที่ "คุณอำนวย" เพื่อเข้าไปเกื้อหนุนเกษตรกร    ไม่ใช่ "คุณอำนาจ" อย่างแต่ก่อน   แต่สงสัยว่าทำไมการสนับสนุนเกษตรยั่งยืนแบบไม่ใช้สารเคมี จึงไม่จริงจัง    และทำไมไม่ใช้วิธีส่งเสริมให้เกษตรกรทำ KM (แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน) 

ขอแสดงความยินดีกับ blog ใหม่ของกรมส่งเสริมการเกษตร ด้วยคนครับ

ผมเคยเห็นผลงานเด่นๆในทางปฏิบัติของกรมฯ อยู่บ่อยๆในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือสื่ออื่นๆ   จึงคาดหวังลึกๆครับว่า  พื้นที่นี้ กรมฯ จะนำเรื่องราวดีๆของภาคเกษตรในพื้นที่ มาเล่าสู่กันฟัง  เป็นความรู้ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งครับ 

ยินดีต้อนรับสู่ชุมชนหน่วยงานจัดการความรู้ค่ะ     อยากเห็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับเนื้องานจัดการความรู้ดีๆ ในพื้นที่ของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่จะเป็นความรู้ต้นแบบให้กับภาคีใน blog นำไปเรียนรู้ปรับใช้ค่ะ  โดยเฉพาะเรื่อง เกษตรอินทรีย์ หรือ เกษตรปลอดสาร (เพราะรู้มาว่า กรมส่งเสริมการเกษตร มีการทำงานเรื่องนี้ดีๆ อยู่หลายพื้นที่ และเป็นแม่แบบได้)

ผมร่วมงานกับคุณเกรียงไกร เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยชวนมาร่วมเพื่อลงลึกการจัดการความรู้อาชีพด้านการเกษตรของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านซึ่งถือเป็นจังหวัดนำร่องการจัดการความรู้ของกรมฯ
จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมีนโยบายและเป้าหมายชัดเจนที่จะสนับสนุนเกษตรกรรมอินทรีย์ โดยมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก
ม.วลัยลักษณ์เองก็มีคลินิคเทคโนโลยีเรื่องการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และโรงปุ๋ยอินทรีย์ในความรับผิดชอบ
เรื่องที่ดูว่าง่าย ๆ แต่ทำไมไม่ง่าย ในการขยายผลเรื่องเกษตรอินทรีย์อย่างกว้างขวาง น่าจะมีเหตุผลของมันอยู่นะ

ยินดีด้วยครับ สำหรับ Blog ของกรมส่งเสริมการเกษตร

...คราวนี้จะได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้กันผ่าน Blog กับ Blog (B2B) ซึ่งเห็นความเอาจริงเอาจังของกรมส่งเสริมมาแล้ว

เมื่อครั้งไปร่วมเวที แลกเปลี่ยนความรู้ "การบริหารองค์ความรู้ 9 จังหวัดนำร่อง" ซึ่งมีความน่าสนในหลายจังหวัดทีเดียว อย่างไรก็ตาม การทำงานของ กรมส่งเสริมผมมองว่าทีมดูเข็มแข็ง จริงจังกับกิจกรรมที่ร่วมกันทำกับเกษตรกร แต่อย่างว่าที่คุณธุวนันท์ (พี่หม่า) (หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตร) บอกว่า ยังอ่อนเรื่องประชาสัมพันธ์ แต่การทำงานผมว่าแข็งขันดีครับ ซึ่งตอนนี้ผมก็ได้รับการติดต่อกับทาง จ.กำแพงเพชรบ้างแล้ว เพราะที่มีจุดเด่นเรื่องสวนส้มของเกษตรกร ที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันข้าม อำเภอแล้ว และยังมีกิจกรรมทุกเดือนด้วย

มีทั้งคุณอำนวยที่เอาจริง กับคุณกิจที่ทำจริง อย่างนี้ความสำเร็จคงจะอยู่ไม่ไกลเกินความสามารถของทุกฝ่ายแน่นอนครับ.

ผมทราบว่าเนื้องานของกรมส่งเสริมการเกษตรแนวใหม่ เช่น ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง (ขออภัยหากเรียกชื่อไม่ถูกต้องนะครับ)ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ และอื่นๆ เป็นงานที่ใช้ความรู้นำทั้งสิ้น ออกแบบกิจกรรมได้ดีมาก ผมชอบมาก ครูนอกโรงเรียนตัวเล็กตัวน้อยอย่างผม อยากร่วมทำงานด้วยมาก ตอนนี้ก็ทำแก้จนเมืองนคร เป็นทีมคุณอำนวยด้วยกัน คลุกกันเข้าอย่างแยกไม่ออกแล้ว ทับซ้อนกันเกือบจะสนิทแล้วครับ อยากเห็นสัญญาณจากข้างบนครับ ดีใจด้วยครับที่มีบล็อกไว้ให้ได้ ลปรร กันครับ จะหาโอกาสเข้ามาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนเรื่อยๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท