ภาคีความร่วมมือไทย – คานาดา : สู่สังคมสมานฉันท์


            (5 มี.ค. 49) ไปร่วมสัมมนาจัดโดย มูลนิธิวิเทศพัฒนา (Development Cooperation Foundation หรือ DCF ซึ่งมีคุณวิลาศ โอสถานนท์ เป็นประธาน ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ เป็นเลขาธิการ และ คุณนฤมล ลิม เป็นผู้อำนวยการ) ที่โรงแรม “Cabbages and Condoms Resort” ที่พัทยา ซึ่งเป็นของคุณมีชัย วีระไวทยะ
            หัวข้อการสัมมนา คือ “Thai – Canada Partnerships : Toward Harmonised Societies” มีผู้เข้าร่วมสัมมนาปราณ 50 คน สัมมนากัน 1 วันครึ่ง (วันที่ 4 มีนาคมเต็มวัน และวันที่ 5 มีนาคมครึ่งวัน)
            ผมตีความหัวข้อสัมมนาเป็นภาษาไทยว่า “ภาคีร่วมมือไทย – คานาดา : สู่สังคมสมานฉันท์” และให้ความเห็นไว้บางประการดังนี้
            1. ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือเป็นเงินสนับสนุนโครงการพัฒนาต่างๆจากต่างประเทศหลายแห่งรวมถึงประเทศคานาดา ซึ่งประเทศไทยและคนไทยควรต้องขอบคุณในความปรารถนาดีและการสนับสนุนจากต่างประเทศดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันและในอนาคตข้างหน้า ประเทศไทยควรพยายามพึ่งตนเองให้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มทำมากขึ้นแล้ว เช่น การมี “สถาบันพระปกเกล้า” พร้อมงบประมาณจากรัฐเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบการเมืองการปกครอง การมี สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) พร้อมงบประมาณจากรัฐเพื่อสนับสนุนการสร้างชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาประชาสังคม การมี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อม “กองทุน” ที่ได้จากส่วนเพิ่มของภาษีสุราและบุหรี่ ประมาณปีละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนสสส.นี้ สามารถสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาได้หลากหลายมาก รวมถึงการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ และน่าจะรวมถึงการพัฒนาระบบธรรมาภิบาล (Good Governance) และสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ด้วย (ทั้งสองประเด็นนี้ คือ เรื่องที่ประเทศคานาดาได้ให้เงินช่วยเหลือต่อประเทศไทยผ่านมูลนิธิวิเทศพัฒนา และเป็นฐานที่มาของการจัดสัมมนาครั้งนี้) ดังนั้น ในอนาคต จึงน่าจะเป็นไปได้ที่จะพยายามให้ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุน เช่น สสส. สำหรับโครงการพัฒนาด้านธรรมาภิบาลและสิทธิมนุษยชน อันจะเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งในการสร้าง สังคมสมานฉันท์ (Harmomised Societies)  หรือ “สุขภาพทางสังคม” (Social Health)
            2. ประเทศไทยควรยินดีร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศผู้ปรารถนาดีหรือเป็นพันธมิตร เช่น ประเทศคานาดา ในการจัดการความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาธรรมาภิบาลและสิทธิมนุษยชน ตลอดการพัฒนาระบบการเมืองการปกครองที่ดี ทั้งนี้โดยใช้เงินสนับสนุนจากภายในประเทศไทยเอง และอาจมีบางส่วนที่เป็นการสนับสนุนจากประเทศพันธมิตรเช่นคานาดาด้วย (คาดว่าประเทศคานาดาจะยังคงสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาในระดับกลุ่มประเทศ หรือ ภูมิภาค (Regional) ต่อไป แม้ว่าจะลดการสนับสนุนสำหรับประเทศที่มีการพัฒนาก้าวหน้าขึ้นแล้ว เช่น ประเทศไทย)
            3. น่าจะมีความพยายามในประเทศไทย ที่จะให้เกิดกลไกทำนอง “เครือข่ายองค์กรเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย” (Network of Organizations for the Development of Democracy – NODD) ซึ่งอาจจะประกอบด้วย องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญบางแห่ง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา สถาบันพระปกเกล้า หน่วยราชการบางแห่ง องค์การมหาชนบางแห่ง สถาบันการศึกษาบางแห่ง องค์กรประชาสังคม (Civil Society Organizations) บางแห่ง องค์กรภาคประชาชน (People’s Organizations) บางแห่ง เป็นต้น

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
8 มี.ค. 49

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 18022เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2006 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท