พัฒนาชุมชน
พันชุลี พันชุลี หมู่บ้าน ชุมชน

เนื้อเรื่อง "ขี้ซี" (ต่อ1)


ขอตอบเรื่อง

>>>>> ขอตอบเรื่อง ขี้ซีตามประสบการณ์เดิม (แฟนพัน แต่อาจจะไม่แท้) ที่ตนเองเคยสัมผัสมาอยู่ช่วงระยะหนึ่งของชีวิต อันประดุจดังความฝันที่แสนจะเสียดายซึ่งเป็นเรื่องยากในการดึงมันกลับมาได้อีก ก็ลองมาอ่านดูนะว่ามันจะเป็นไปเช่นไร

คำสำคัญ (Tags): #ต่อเนื่อง
หมายเลขบันทึก: 175746เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2008 18:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

>>>>> ขั้นแรกก็ขออธิบายถึง ต้นจิก ต้นรัง (ไม้เต็ง - รัง) ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า "ขี้ซี = ยางไม้ที่ย้อยออกมาตามลำต้น ตามกิ่ง" ต้นจิก ต้นรัง ต้นไม้ 2 ชนิดนี้ เกิดอยู่ตามพื้นที่ป่าดินแล้ง แต่เนื้อไม้และ “ขี้ซี” ซึ่ง ต้นจิก ต้นรังนั้นมีคุณสมบัติไม่แตกต่างกันมากนัก เป็นไม้เนื้อแข็ง

>>>>> ประโยชน์ใช้สอยของเนื้อไม้ = ทำเป็นไม้แปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ต่างๆ มากมาย เช่น องค์ประกอบในการสร้างบ้านได้ทั้งหลัง, เครื่องมือทางการเกษตร (สมัยก่อน 30 กว่าปีที่แล้ว ปัจจุบันพื้นที่ป่าชนิดนี้มีน้อยลงมากตามสัดส่วนของจำนวนประชากรของประเทศ) เช่น ด้ามจอบ ด้ามมีดอีโต้ ด้ามเสียม คราด คันไถ สามารถใช้ทำถ่านหุงต้มได้เชื้อเพลิงเกรดดีพอสมควร และอื่นๆ อีกมากมาย หรือเรียกง่ายๆ ก็คือ ไม้สารพัดประโยชน์

>>>>> ประโยชน์ใช้สอยของยางไม้ (ภาษาอีสานเรียกว่า "ขี้ซี") = ใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยการบดให้เป็นผงละเอียดแล้วใช้ประกอบกับ "พุ" (ไม้ไผ่ลวกยาวประมาณ 2 เมตร เจาะรุให้ทะลุผ่านตลอดแนว ทำเป็นเครื่องมือล่าสัตว์ของชาวบ้าน ใช้ไม้ไผ่เหลาเป็นลูกดอกปลายแหลมยาวประมาณ 1 ฟุต ใช้นุ่นหรือสำลีพันไว้ท้ายของลูกดอก แล้วสอดใส่ภายในรุ “พุ”

>>>>> วิธีล่าสัตว์ เมื่อเห็นสัตว์ต่างๆ เช่น นก หนู กบ เป็นต้น อยู่ในระยะประมาณ 4 - 6 เมตร ผู้ล่าก็จะเล็งปากกระบอก “พุ” ไปทางที่สัตว์อยู่ ส่วนด้านท้ายของ “พุ” ผู้ล่าก็จะใช้ “ปาก” เป็นแรงในการพลักดันลูกดอกให้พุ่งตรงไปยังเป้าหมายคือสัตว์ หากผู้ล่ามีความแม่นยำ สัตว์นั้นก็จะตกเป็นอาหารมื้อโปรดของคนในชนบทนั่นเอง

>>>>> ที่นี้ก็มาถึงความสามารถของเจ้า “ขี้ซี” แล้วแหล่ะว่าจะนำมาประยุกต์ใช้กันอย่างไร “ขี้ซี” ที่บดเป็นผงละเอียดดีแล้ว ก็นำมาบรรจุภายในรุของ “พุ” พอประมาณทางด้านท้าย แล้วใช้สำลีปิดกระบอกไว้เพื่อปองกันไม่ให้ “ขี้ซี” ผงไหลย้อนกลับเวลาใช้งาน ส่วนทางด้านปลายกระบอกของ “พุ” จะใช้ไม้เท่ากับไม้เสียบลูกชิ้นพันสำลีชุบด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงแล้วผูกติดกับปลายกระบอกเตรียมเอาไว้ ผู้ล่าก็จะใช้ออกล่าสัตว์ในเวลากลางคืน เมื่อเห็นนกนอนหลับอยู่ตามกิ่งไม้สูง ประมาณ 4 – 6 เมตร จากพื้นดิน

>>>>> ผู้ล่าจะติดไฟที่ปลายกระบอก แล้วเล็ง “พุ” ไปยังนกที่กำลังหลับฝันหวานอยู่นั้น แล้วใช้ปากเป่าสำลีที่ปิดไว้ท้ายของ “พุ” เพื่อดัน “ขี้ซี” ให้พุ่งออกไปผ่านไฟ จากนั้นมันก็จะติดไฟลุกดังพรึบ พร้อมกับแสงสว่างโชติช่วงมีหลากสีสวยงามมาก ทันใดนั้นเจ้านกที่หลับอยู่ก็จะตกใจตื่นแล้วก็บินหนีไป “แต่โอ้อนิจจา” มันหารู้ไม่ว่านั่นคือ ช่องทางที่ทำให้ไฟที่ติดเชื้อจาก “ขี้ซี” ได้พวยพุ่งไปที่ลำตัวและปีกที่กางออกเพื่อที่จะบินนั้นเอง ทำให้ขนอันอ่อนนุ่มของมันถูกไฟเผาจนย่อยับไปในพริบตา

>>>>> จากนั้นน้ำหนักตัวของมันก็จะถูกแรงโน้มถ่วงของโลกฉุดมันลงไปกระแทกกับพื้นอย่างแรง ซึ่งมันก็ที่ไม่รู้ว่าจะเจ็บมากน้อยสักเพียงใด หากแข่งขามันไม่หักมันก็จะวิ่งหนีกะเสือกกะสน เพื่อเอาชีวิตรอดตามประสาของสัตว์ผู้ร่วม “เกิดแก่เจ็บตาย” ลองคิดดุสิว่า ถ้าหนีรอดมันจะดำรงอยู่กันเช่นไร

>>>>> แต่ถ้ามันถูกผู้ล่าจับได้ มันก็จะส่งเสียงร้องด้วยความหวาดกลัวสุดแรงเกิดของมันเลยทีเดียว ส่วนจะงอยปากอันแหล่มคมของมันก็จะกัดหรือจิกผู้ล่า เท่าที่มันจะสามารถใช้ได้อย่างที่เราคาดไม่ถึง มันยังไม่สิ้นฤทธิ์แต่เพียงเท่านั้น กรงเล็บที่คมของมันก็ใช่ย่อยเช่นกัน ถ้ามันสามารถใช้งานได้มันก็จะพยายามตะเกียดตะกายเต็มที่ เท่าที่มันจะช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ถึงมันจะพยายามดิ้นสุดกำลังเช่นไร สุดท้ายแรงอันน้อยนิดที่มันมีก็ย่อมสู้แรงอันมหาสารของผู้ล่าไม่ได้ และแล้วมันก็จะตกเป็นเมนูเด็ดจานโปรดของใครต่อใครที่เฝ้ารออยู่ทางบ้าน เฮ้อ...!

>>>>> ตะกร้าตักน้ำได้ คนสมัยนี้คงไม่เชื่อว่ามันทำได้ แต่เจ้า “ขี้ซี” นี่แหล่ะ มันสามารถทำได้อย่างน่าทึ่งของภูมิปัญญามนุษย์ โดยการนำเอา “ขี้ซี” ที่ตำผงละเอียดมาผสมกับยางไม้ที่ได้จากการเจาะ “ต้นยาง” (ชาวบ้านเรียกต้นตราด) ที่โคนต้นให้เป็นแอ่ง โดยกว้างประมาณ 10 - 20 เซนติเมตร ไว้รองรับน้ำ ลึกประมาณ 10 เซนติเมตร แล้วใช้ไฟเผาทิ้งไว้ประมาณ 10 – 20 นาที (บางคนไปทำกิจธุระอื่นๆ รอ แต่บางครั้งลืมซึ่งก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของไฟป่าในสมัยนั้น) เพื่อเป็นการเปิดช่องทางให้น้ำมันไหลซึมออกมาเร็วขึ้น จากนั้นก็ดับไฟปล่อยทิ้งไว้ประมาณครึ่งวัน แล้วก็นำภาชนะมาบรรจุเอายางไปใช้ประโยชน์มากมาย เช่น นำไปผสมกับขี้เลื่อยหยาบ หรือซากไม้ผุ เพื่อทำเป็น “คบเพลิง หรือ ไต้” ส่องแสงสว่างยามค่ำคืน ของวิถีชีวิตของคนในบนโลกนี้ในยุคหนึ่ง เอาแค่นี้แหล่ะนะ

>>>>> มาเข้าเรื่องตะกร้าตักน้ำได้กันนะ ถ้าดูตามลักษณะของตะกร้าแล้วเราก็คงเข้าใจว่ามันตักน้ำไม่แน่นอน เพราะตะกร้าทำจากไม้ไผ่ ซึ่งเป็นเครื่องจักสานนั่นเอง ด้วยภูมิปัญญาของคนโบราณอันล้ำเลิศจึงคิดหาวิธี เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตให้เป็นไปโดยไม่ฝืดเคืองจนเกินไปในชีวิตประจำวัน

>>>>> ขั้นตอนการทำก็มีวิธีง่ายๆ คือ 1.นำผง “ขี้ซี” ที่บดผงร่อนละเอียด 2.น้ำมันยางจากต้นตราด โดยการนำทั้ง 2 ส่วนมาผสมกันในประมาณที่พอเหมาะ ซึ่งเมื่อผสมเสร็จแล้วจะมีคุณลักษณะเหนียวนุ่นคลายๆ กับกาวชั้นดีที่มีคุณสมบัติในการเกาะติดกับผิวของตะกร้าไม้ไผ่ที่จักสานอย่างดี

>>>>> ปริมาณในการนำส่วนผสมทั้ง 2 อย่างนั้นมาโปะลงบนผิวของตะกร้าไม้ไผ่ ความหนาก็กะเอาประมาณ 1 มิลลิเมตร ทั้งด้านนอกและด้านในของตะกร้าให้ทั่วพื้นที่ใช้งานจนมองไม่เห็นเนื้อไม้ที่เป็นตะกร้าใบนั้น เสร็จแล้วก็พร้อมที่จะนำมาทำเป็นภาชนะสำหรับตักน้ำได้อย่างเหนียวแน่และคงทนพอสมควรในยุคนั้น แต่ต้องหลังจากที่ถูกตากผึงไว้ในที่ร่มแล้วประมาณ 2-3 วันเป็นอย่างน้อย (นี่แค่กรณีของตะกร้าตักน้ำเท่านั้นนะ หากใครที่เคยมีประสบการณ์ว่ามันสามารถนำไปใช้กับอะไรได้อีกก็ช่วยนำรายละเอียดมาฝากกันบ้างนะ)

>>>>> เป็นไงละขี้เกียจอ่านแล้วละสิ แต่ขออภัยนะสัพคุณของต้นไม้จิก ต้มไม้รังยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ทนๆ อ่านต่อไปนะ ไหนๆ ก็อ่านมานานแล้ว อ่านอีกนิดหนึ่งจะเป็นไรไปละ

>>>>> มาเริ่มอีกทีที่ประโยชน์จาก “ใบตอง” ลักษณะใบตองของ “ต้นไม้จิก” รูปทรงจะเป็นวงรียาว ชาวบ้านไม่ค่อยนำประโยชน์มากนัก ส่วนใบตองของ “ต้นไม้รัง” ลักษณะจะเป็นรูปทรงวงรีกลมใหญ่พอสมควร “ใบตองสด” ชาวบ้านจะนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ห่อหก ห่อขนม ส่วน “ใบตองแห้ง” ชาวบ้านจะเอาไม้ไผ่ประกบเป็นแผงใช้มุงหลังคา กั้นผนัง เป็นต้น

>>>>> ประโยชน์จาก “ดอก” หลังจากฤดูพลัดใบประมาณเดือนธันวาคม – มกราคม ของแต่ละปีแล้ว ทิ้งระยะมาประมาณเดือน 4 – 5 คือประมาณช่วง มีนาคม – เมษายน ก็เริ่มผลิดอกออกใบบานสะพรั่ง ในยามแดดร่มลมตกของช่วงเย็นๆ หากเราได้เดินไปตามราวป่าหรือชายทุ่ง กลิ่นอันหอมอบอวนก็จะฟุ้งกระจายไปทั่ว บริเวณ ประกอบกับกลิ่นเถ้าถ่านของไฟไหม้ป่าช่วงหน้าแล้ง บรรยากาศช่างน่าหลงใหลเสียนี่กะไร

>>>>> และยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ได้ผลพวงขณะที่นานาพันธุ์กำลังเบ่งบานอยู่นี้ ปรากฏว่าได้มีหมู่ภมรน้อยใหญ่ต่างก็เพลินเพดินในการเที่ยวเก็บน้ำหวานจะดอกไม้ ซึ่งก็ทำให้เกิดคำว่า “น้ำผึ่งเดือนห้า” ขึ้นมา เออ..! แล้วนี่จะบอกอะไรให้ คือว่า ในบรรดาน้ำผึ่งที่คนนิยมมากที่สุดก็คือช่วงนี้แหล่ะ ก็เพราะว่าน้ำในช่วงหน้าแล้งมีไม่ค่อยมาก จึงส่งผลให้น้ำจากดอกไม้หวานเป็นพิเศษ และการแสวงหาน้ำหวานของแมลงต่างๆ ก็เป็นวิธีการผสมเกสรดอกไม้ได้เป็นอย่างดีเยี่ยมเลย แต่ก็อย่างว่าแหล่ะนะ เราจะหวนคืนกาลเวลาอันน่าภิรมย์เช่นนั้นคงยากแล้ว เพราะผื้นป่าได้ถูกใช้สอยเป็นที่ทำมาหากินของชาวบ้านไปหมดแล้ว

>>>>> ประโยชน์จาก “ฝักหรือเมล็ด” หลังจากที่เบ่งบานอยู่ประมาณเดือนเศษๆ ฝักหรือเมล็ดก็จะแก่ได้ที่ ซึ่งก็พอดีกับช่วงเดือนหกที่เราๆ ก็พอจะรู้กันว่าปลายร้อนต้นฝน ฉะนั้นช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ จึงทำให้เกิดลมแล้ง หรือคนอีสานจะเรียกว่า “ลมหัวกุด” คือมันจะเกิดจากอากาศร้อนจัด จากนั้นก็จะมีลมพัดแรงๆ โดยฉับพลับ หรือเรียกอีกอย่างว่า “ลมบก” นั่นเอง

>>>>> ซึ่งลักษณะที่มันเป็นก็คือ ลมจะพัดจนเกิดการหมุดอย่างแรงมากๆ จนดูเหมือนกับ “พายุทอร์นาโด” ย่อมๆ เลยทีเดียว แต่ไม่ค่อยเป็นอันตรายมากนัก แล้วมันก็จะหมุนหอบเอาเศษหญ้า เศษใบไม้ ฝุ่นละอองที่เป็นขี้เถ้าสีดำของฟางหรือหญ้าที่ถูกไฟไหม้ป่าหน้าแล้ง ให้ลอยละล่องเป็นกลุ่มก้อนบนท้องฟ้า มองเห็นแล้วสวยงามไปอีกแบบหนึ่ง สมัยเด็กๆ ชีวิตส่วนมากอยู่กับควายตามชายทุ่ง พอมองเห็นก็ชอบวิ่งเข้าไปเล่นกับเจ้า “ลมหัวกุด” นี้ บางที่ก็เอาผ้าขาวม้าหรือถอดเสื้อออกโยนใส่ เพื่อให้มันลอยขึ้นไปตามลมนั้น มีอยู่เหมือนกันที่ผ้านั้นลอยไปติดอยู่บนต้นไม้สูงๆ ปีนไปเอาได้บ้างไม่ได้บ้าง ซึ่งก็มีความสุขตามประสาของเด็ก “บ้านนอกๆ” เฮ้อ...สนุกซะเพลินเลยเรา เอาละเข้าเรื่องต่อดีกว่า

>>>>> ก็ขณะที่ลมหัวกุดหมุนนี่แหล่ะ “ฝักหรือเมล็ด” ของต้นจิก ต้นรังก็จะถูกพัดพาเอาไปพร้อมๆ กับสัพสิ่งที่เบาพอจะปลิวไปได้ ลักษณะเช่นนับว่าเป็นกระบวนการของการแพร่ขยายพันของนานาพันของแมกไม้ได้ดีนักแล ซึ่งบางครั้งเราทำกิจกรรมอยู่ตามที่ต่างๆ พอมองขึ้นไปบนท้องฟ้าก็จะเห็น เจ้า “ฝักหรือเมล็ด” ของต้นจิก ต้นรัง ร่วงล่นลงมาด้วยการหมุนอย่างสวยงามมาก ราวกับนางฟ้าโปรยดอกไม่ทิพย์ลงมาจากสวรรค์เลยแหล่ะ ไม่แน่ใจนักที่เขาว่า “สวรรค์บนดิน” มันคืออันนี้หรือเปล่า ไชโย..! มีความสุขจังเลย..! เวอร์แล้วเรา

>>>>> ประโยชน์จาก “ใบผุ” จากการสังเกตใต้โคนต้นเมื่อใบแห้งจนผุทับทมกันนานๆ พอฤดูฝนก็จะกล้ายเป็นเชื้อเห็ดชนิดหนึ่ง แต่ไม่แน่ใจว่าเขาเรียกว่าเห็ดอะไร สีเห็ดจะออกชมพูอ่อนๆ หรือชมพูเข้มจนออกสีม่วง นำมาประกอบกับแกงป่ารสชาติอร่อยมาก

>>>>> ประโยชน์จาก “กิ่งไม้จิก กิ่งไม้รัง” หลังจากที่มันตายจะด้วยสาเหตุอะไรต่างๆ มากมายก็ตาม นั่นก็คือมันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ หรือไม่บางทีคนก็ทำให้มันตาย อันนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับคนเราที่พระพุทธองค์ท่านได้ตรัสสอนมวลมนุษย์มานานแล้ว กิ่งแห้งของมันสามารถตัดไปทำเป็นฟื้นหุงต้ม ซึ่งก็เป็นเชื้อเพลิงได้อีกรูปแบบหนึ่ง (จนกลายเป็นฉากหนึ่งของศิลปินที่จินตนาการแล้วนำเอาวิถีชีวิตของคนที่มีอาชีพเก็บฟื้นขายมาแต่งเป็นบทเพลง “คนเก็บฟื้น” แล้วร้องได้อย่างไพเราะ เป็นที่ชื่นชอบของคนที่คลั่งไคลบทเพลงแนว “เพื่อชีวิต” อยู่ในยุคหนึ่ง )

>>>>> ประโยชน์จาก “เปลือกสด” สามารถใช้ทำเป็นยาสมุนไพรได้ เปลือกไม้จิก ไม้รังสัพคุณ ไม่ต่างกันมากนัก คือ แก้อาการปวดท้อง ท้องร่วงเฉียบพลับ ท้องอืดท้องเฟ้อใช้เป็นยาระบายขับลมได้เป็นอย่าดี วิธีรับประทาน ใช้มีดถากเปลือกหรือหักเอากิ่งสดมาเคี้ยวให้ละเอียด แล้วกลื่นกินน้ำเอากากทิ้ง ปริมาณที่ใช้ 1 – 2 ข้อนิ้วมือ รสชาติจะออกเฝื่อนๆ ฝาดๆ

>>>>> ประโยชน์จาก “เปลือกแห้ง” สามารถใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงได้ดีพอสมควร แต่อาจจะมีควันแสบตานิดหน่อย

>>>>> ประโยชน์จาก “ขอนไม้จิก ขอนไม้รัง” หากไม่ถูกคนนำไปใช้ประโยชน์อะไร เมื่อกาลเวลาผ่านล่วงเลยไปซัก 3 - 5 ปี หลังจากที่มันตายแล้ว กระพี้ตามลำต้นจะเริ่มผุ เปลือกจะหลุดออกบ้างเล็กน้อย ทีนี้จะมีพวก “ด้วง” ชอบมาไชเพื่อวางไข่ ชาวบ้านชอบไปเจาะเอามาคั่วกินรสชาติอร่อยมันดี นอกจาก “ด้วง” แล้วยังมี “เห็ดกระด้าง” ชอบขึ้น แต่ขอนไม้ต้องมีความชุ่มชื่นพอเหมาะ ส่วนมากจะออกช่วงหน้าฝน เห็ดกระด้างสามารถนำมาประกอบหารได้หลายอย่าง เช่น ทำลาภ แกงป่า เป็นต้น

>>>>> ประโยชน์จาก “ตอ” ต้นจิก ต้นรัง ที่คนตัดเอาต้นไปใช้งานแล้ว โคนหรือ “ตอ” ก็จะมี “เห็ดกระด้าง” เกิดขึ้นรอบกระพี้ของ “ตอ” และตอไม้ก็สามารถขุดถอนราก แล้วนำเอาไปใช้ประดับเพื่อความสวยงามได้อีกต่างหาก เช่น ตกแต่งสวนหย่อม หรือนำมาทำเครื่องตกแต่งบ้าน เป็นต้น

>>>>> หมดแล้วแหล่ะ <<<<<

http://www.phunchulee.com

29 / 02 / 51

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท