สารคดี เรื่อง"ท่องแดนสว่างนคร"


สารคดี เรื่อง"ท่องแดนสว่างนคร"

สารคดี

เรื่อง

ท่องแดนสว่างนคร

บทนำ

            ดินแดนแห่งหนึ่งของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 600 กิโลเมตร  มาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดินแดนที่ราบสูงอันอุดมสมบูรณ์ อดีตดินแดนแห่งนี้เคยเป็นมหาสมุทรมาก่อน   มาตามเส้นทางหลวงหมายเลย 2 มีอำเภอหนึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดอุดรธานีไปทางทิศตะวันออกตามเส้นทางหลวงหมายเลข 230 หรือถนนนิตโย มุ่งสู่จังหวัดสกลนคร จะผ่านอำเภอหน้าด่านของสกลนคร ดินแดนแห่งอารยะธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคขอมเรืองอำนาจ อำเภอนี้ก็คือ อำเภอสว่างแดนดิน

คำขวัญอำเภอสว่างแดนดิน

แดนดินถิ่นลาวย้อ พบพ้อแหล่งโบราณ         สืบสานประเพณี มีหนองคูคู่บ้าน

ตำนานแดนเมืองเก่า ศาลเจ้าดอนปู่ตา          ปราสาทขอมล้ำค่า ถิ่นคนกล้าวีรชนชน

 

ประวัติความเป็นมา

ปีพุทธศักราช ๒๔๐๖  รัตนโกสินทร์ศก ๘๒  พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งราชวงศ์จักรี ได้พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งเมือง “ภูวดลสอาง”โปรดเกล้าฯแต่งตั้งพระราชบุตร (เหม็น) เมืองสกลนคร เป็นพระภูวดลบริรักษ์ เป็นเจ้าเมืองภูวดลสอาง โดยยกบ้านโพธิหวา ซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำเซบั้งไฟ เมืองมหาชัย ต่อมาได้เติมสร้อยต่อท้ายว่า “เมืองมหาชัยกองแก้ว” อยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) และให้พระภูวดลบริรักษ์ เจ้าเมือง นำบุตร ภรรยา พรรคพวกอพยพครอบครัวไปอยู่ที่เมืองภูวดลสอาง ตั้งอยู่ที่บ้านโพธิหวา เมืองมหาชัยกองแก้ว เพื่อรักษาช่องทางป้องกันพระราชอาณาเขตมิให้ญวนเข้ามาล่วงล้ำเข้ามากดขี่บ่าวไพร่ราษฎรให้ได้รับความเดือดร้อน

การตั้งเมืองสว่างแดนดินครั้งแรก

  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท้าวเทพกัลยา(ท้าวแดง) เป็นหัวหน้ากลุ่มชนไทยโย้ย เป็นพระเทศประสิทธิ์ เป็นเจ้าเมือง ได้อพยพมาจากเมืองภูวดล(ภูวานากระแด้ง) เมืองมหาชัยกองแก้ว  (ปัจจุบันประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) มาตั้งครอบครัวอยู่ที่บ้านโพนสว่างหาดยาว ตั้งอยู่ริมปากน้ำปลาหางไหลมาบรรจบกับห้วยน้ำอูนที่บ้านสว่างเก่า โดยยกบ้านโพนสว่างหาดยาวเป็นเมืองสว่างแดนดิน  คำว่า “เมืองสว่างแดนดิน” มาจากคำว่า “สว่าง” ซึ่งคำว่าสว่างเป็นส่วนหนึ่งของคำว่าบ้านสว่าง (ปัจจุบัน บ้านสว่าง ตั้งอยู่ที่บ้านสว่าง อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร) จึงเป็นที่มาของคำว่า “เมืองสว่างแดนดิน” พระเทศประสิทธิ์ เป็นเจ้าเมืองสว่างแดนดินตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๐๖ – ๒๔๑๑

การย้ายเมืองครั้งแรก (บ้านเดื่อศรีคันไชย)

  พระเทศประสิทธิ์ ได้ย้ายเมืองสว่างแดนดิน (บ้านสว่าง) ไปตั้งอยู่ที่บ้านเดื่อศรีคันไชย (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร) ปีพุทธศักราช ๒๔๑๑ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

  ในปีพุทธศักราช ๒๔๑๘ จีนฮ่อได้เข้ามารุกรานบริเวณหัวพันทั้งห้าทั้งหก จนถึงทุ่งเชียงคำ (อยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) เกิดศึกฮ่อขึ้น  ทางเมืองสว่างแดนดินได้ถูกเกณฑ์ไปปราบจีนฮ่อด้วย  พระเทศประสิทธิ์เจ้าเมืองชราภาพไม่สามารถไปศึกฮ่อได้จึงให้บุตรเขยจัดกำลังไปสมทบไปปราบจีนฮ่อ และจีนฮ่อ (ศึกฮ่อ) แพ้แก่กองทัพสยาม

  เมื่อเสร็จศึกฮ่อ ท้าวหำ (บุตรเขยของพระเทศประสิทธิ์) ได้รับโปรดเกล้าเป็น พระสิทธิศักดิ์ประสิทธิ์ ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองสว่างแดนดิน ในปีพุทธศักราช ๒๔๒๐ – ๒๔๒๔

การย้ายเมืองครั้งที่ ๒ (บ้านโคกสี)

  เมืองสว่างแดนดิน (บ้านเดื่อศรีคันไชย) ได้ย้ายไปตั้งอยู่ที่บ้านโคกสี ในปีพุทธศักราช ๒๔๒๔ (บ้านโคกสี ในปัจจุบันเป็นตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร) เมืองสว่างแดนดินที่บ้านโคกสีตั้งอยู่นานถึงประมาณ ๑๔ ปี เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ประกอบด้วยบึงน้ำ (บึงลับ และบึงฟ้าแลบ) และป่า

การย้ายเมืองครั้งที่ ๓ (บ้านหัน)

  ในปีพุทธศักราช ๒๔๓๘ ความเจริญได้เข้ามาได้มีการสร้างทางหลวงสายอุดรธานี – สกลนคร (ถนนนิตโย) ผ่านมาในเขตเมืองสว่างแดนดิน แต่ถนนได้สร้างยังห่างไกลจากตัวเมืองสว่างแดนดิน (บ้านโคกสี) ตัวเมืองไม่สะดวกในการติดต่อกับมณฑลและเมืองใหญ่ๆ ได้ เจ้าเมืองจึงย้ายเมืองสว่างแดนดินจากบ้านโคกสีมาตั้งที่บ้านหัน (ปัจจุบันอยู่ในตำบลสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร) ในปีพุทธศักราช ๒๔๓๘

การย้ายเมืองครั้งสุดท้าย (ที่ว่าการอำเภอสว่างแดนดิน ในปัจจุบัน)

  ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๕ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้จัดระเบียบการปกครองแผ่นดิน โดยแบ่งการปกครองออกเป็นหมู่บ้าน  ตำบล  อำเภอ  จังหวัด  และมณฑล  ให้เจ้าเมืองเป็นนายอำเภอ  อุปฮาดเป็นปลัดอำเภอ  ราชวงศ์ เป็นสมุหอำเภอ  ราชบุตร เป็นเสมียนอำเภอ  เมืองสว่างแดนดิน (บ้านหัน) ซึ่งเปลี่ยนชื่อนามว่า อำเภอบ้านหัน อยู่ในเขตปกครองของจังหวัดสกลนคร มณฑลอุดรธานี

  จนถึงปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ อำเภอบ้านหันได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น อำเภอสว่างแดนดิน ซึ่งพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่ออำเภอบ้านหัน มาเป็นอำเภอเมืองสว่างแดนดิน เพราะอำเภอสว่างแดนดินเดิมมีที่มาจากเมืองสว่างแดนดิน  จากการสืบค้นของนายสุพัฒน์ วงศ์วัฒนะ เป็นนาย อำเภอจึงขอเปลี่ยนชื่อจากอำเภอบ้านหันมาเป็นอำเภอสว่างแดนดิน และได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากบ้านหันมาตั้ง ณ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลสว่างแดนดิน จึงปรากฏที่ตั้งอำเภอสว่างแดนดินมาจนทุกวันนี้

 

                สภาพทั่วไป         

                อำเภอสว่างแดนดินตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดสกลนคร พื้นที่โดยทั่วไปนั้นเป็นที่ราบสูง ลาดเอียงเป็นลูกคลื่นบางแห่งเป็นป่า ส่วนใหญ่เป็นที่โล่งเตียนมีสภาพป่าที่เหลือน้อย เนื้อที่ทั้งหมด ๙๗๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๖๐๒.๒๕๐ ไร่ คิดเป็นร้อยละ ๑๐ ของพื้นที่ที่ตั้งจังหวัดสกลนคร สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๑๗๐ เมตรตั้งอยู่สองฝากถนนสายสกลนคร อุดรธานี อยู่ห่างจากจังหวัดสกลนคร ๘๓ กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดสกลนคร ๗๗ กิโลเมตร   ห่างจากกรุงเทพมหานคร ๗๒๐ กิโลเมตร ทิศเหนือติดต่อ อำเภอเจริญศิลป์ อำเภอบ้านม่วง อำเภอวานรนิวาส และอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ทิศใต้ติดต่อกับ อำเภอส่องดาว อำเภอวาริชภูมิ และอำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี

ทิศตะวันออกติดต่อกับ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ทิศตะวันตกติดต่อกับ อำเภอหนองหาน และอำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี

                สภาพภูมิประเทศ

                                สภาพภูมิประเทศ เป็นที่ราบ และเป็นพื้นที่ป่า ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ มีรายได้ค่อนข้างต่ำ เมื่อหมดฤดูทำนา ประชาชนที่อยู่ในวัยทำงานจะไปหางานทำในต่างจังหวัด และบางส่วนเดินทางไปรับจ้างทำงานต่างประเทศ เนื่องจากในฤดูแล้งพื้นที่มีความแห้งแล้ง ไม่มีแหล่งน้ำเพียงพอที่จะทำการเกษตรให้เกิดผลดี

 

 

 

                ผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP อำเภอสว่างแดนดิน

ตำบลสว่างแดนดิน  ผลิตภัณฑ์ น้ำผึ้ง
คุณลักษณะพิเศษ
น้ำผึ้งบริสุทธิ์จากเกสร/น้ำหวาน ดอกยางพารา ดอกนุ่น ดอกลำไย สบเสือ ดอกไม้ป่า

                ตำบาลคำสะอาดผลิตภัณฑ์ ผ้าไหม

คุณลักษณะพิเศษ ได้แก่ ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมเกล็ดเต่า ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าไหมลายลูกแก้ว ผ้าสะไบไหม
                ตำบลบ้านต้าย ผลิตภัณฑ์ ผ้าห่ม ผ้าขาวม้า

คุณลักษณะพิเศษ เป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ผ้าห่มจากเส้นฝ้ายสำเร็จรูป  และผ้าข้าวผ้าทอจากเส้นด้ายสำเร็จ มี ลวดลายหลากสี
                ตำบลโพนสูงผลิตภัณฑ์ กระติบข้าว

คุณลักษณะพิเศษ เป็นกระติบข้าวหรือกล่องไม้ไผ่ใส่ข้าว มีหลายขนาดตั้งแต่เบอร์1- เบอร์10

 

                ตำบลบงใต้ผลิตภัณฑ์ ผ้าไหมมัดหมี่

คุณลักษณะพิเศษ ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ ทอจากเส้นไหม ลวดลายและสีสันสวยงาม มีให้เลือกมากมายตามความนิยม หรือตามความต้องการของผู้ใช้
                ตำบลพันนาผลิตภัณฑ์ ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ

คุณลักษณะพิเศษ ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ เป็นผ้าฝ้ายทอมือด้วยความประณีต เนื้อผ้าดี ย้อมด้วยสี  ธรรมชาติ สวยงาม มีให้เลือกมากมาย (OTOP)
                ตำบลแวงผลิตภัณฑ์ ไม้กวาดดอกหญ้า

คุณลักษณะพิเศษ ผลิตภัณฑ์ไม้กวาดดอกหญ้าเป็นอุปกรณ์ที่  ใช้ประจำครัวเรือน ทำจากดอกแขม ลักษณะอ่อน เหนียว ทำความสะอาดได้หมดจด มีด้ามจับเหมาะมือ นำหนักเบา  เก็บรักษาง่าย แข็งแรง

ทนทาน มีให้เลือกมากมาย

สถานที่สำคัญ

ปราสาทขอมบ้านพันนา(กู่พันนา)

ปราสาทขอมบ้านพันนา อ.สว่างแดนดิน

ตั้งอยู่ที่บ้านพันนา อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 70 กม. ห่างจากตัวอำเภอสว่างแดนดิน 11 กม. ในเส้นทางสายสกลนคร-อุดรธานีลักษณะของปราสาทมียอดเดียว ฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้า สร้างด้วยศิลาแลง บริเวณใกล้กับตัวปราสาทมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ก่อด้วยศิลาแลงเป็นชั้นๆ มีน้ำขังตลอดปี เชื่อว่าสร้างสมัยเดียวกับปราสาทพระธาตุภูเพ็ก ปราสาทบางส่วนยังคงสภาพสมบูรณ์

                กู่พันนาเป็นศาสนสถานประจำสถานพยาบาลเรียกว่า “อโรคยศาล”สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘  สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งอาณาจักรขอม  ประกอบด้วยปราสาทประธานทรงสี่เหลี่ยมก่อมุข  ทางด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออกและวิหารที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้  ที่มุขด้านหน้าก่อด้วยศิลาแลงและหินทรายล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง มีโคปุระหรือประตูซุ้มขนาดใหญ่ทางด้านทิศตะวันออก นอกกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้มีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากรุด้วยศิลาแลง 

                จากการขุดแต่งในปี ๒๕๔๒ พบโบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่เศียรพระวัชรธร  ชิ้นส่วนพระโพธิสัตว์วัชรปราณีทรงครุฑ  พระยมทรงกระบือ  พบชิ้นส่วนพระกรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร  ประติมากรรมเหล่านี้เป็นรูปเคารพ ในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน รูปแบบเขมรแบบบายน  (ราว พ.ศ. ๑๗๒๐-๑๗๘๐)               กรมศิลปากรประกาศ กู่พันนา เป็นโบราณสถานของชาติเมื่อ ๘  มีนาคม ๒๔๗๘  และประกาศขอบเขต เมื่อ วันที่ ๑๘   พฤศจิกายน  ๒๕๒๕  พื้นที่  ๔ ไร่ ๑ งาน ๓๓ ตารางวา

                นอกจากนี้ที่บ้านพันนา  ตำบลพันนา อำเภอสว่างแดนดิน ยังพบเครื่องปั้นดินเผายุคบ้านเชียง เป็นจำนวนมากในชั้นเหนือดินขึ้นมา  พบภาชนะดินเผาและโบราณวัตถุ สมัยทวาราวดี และสมัยลพบุรี จนมาถึงสมัยล้านช้างในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ 

            ประเพณีที่สำคัญ                    

 งานบุญข้าวจี่ยักษ์  อนุรักษ์ประสาทขอม  จัดขึ้นที่บริเวณปราสาทขอมบ้านพันนา  ในวันเพ็ญเดือนสาม เริ่มพิธีทำบุญข้าวจี่ในตอนเช้า โดยใช้ข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อน ขนาดเท่ากำปั้นแล้วใช้ไม้ไผ่ที่เหลากลมๆ เสียบตรงกลาง ตามยาวของปั้นข้าวเหนียวแล้วนำไปปิ้งพอเกรียมแล้วชุบด้วยไข่ ย่างไฟจนสุก แล้วใส่ภาชนะไปตั้งใว้ในศาลาวัด นิมนต์พระมาให้ศีลให้พร แล้วเอาข้าวจี่ใส่บาตรนำถวายแด่พระสงฆ์ พร้อมด้วยอาหารอื่นๆ เมื่อพระฉันเสร็จแล้วมีการแสดงพระธรรมเทศนา ตอนเย็นมีการเวียนเทียนมาฆบูชาฟังเทศน์ที่วัด
มูลเหตุที่ทำ
         เนื่องจากในเดือนสาม อากาศของภูมิภาคอีสาน กำลังอยู่ในฤดูหนาว ในตอนเช้าผู้คนจะใช้ฟืนก่อไฟผิงแก้หนาวเมื่อฟืนถูกไฟเผาเป็นถ่าน ชาวบ้านจะเอาข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อนกลม โรยเกลือวางไว้บนเตาไฟ เราเรียกว่า ข้าวจี่
พิธีกรรม
        พอถึงวันทำบุญข้าวจี่ซึ่งมักจะเป็นวันเพ็ญเดือนสาม ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านจัดเตรียมข้าวจี่ แล้วนิมนต์พระสงฆ์มารวมกันที่ศาลาโรงธรรมญาติโยมจะมาพร้อมกันแล้วอาราธนาศีล ว่าคำถวายข้าวจี่เสร็จแล้วเอาข้าวจี่ไปใส่บาตร พระสงฆ์สวดมนต์จบแล้ว ญาติโยมยกอาหารคาวหวานไปถวายพระฉันเสร็จแล้วอนุโมทนาเป็นการเสร็จพิธีถวายข้าวจี่ ในปัจจุบันชาวบ้านนอกจากจะทำบุญข้าวจี่แล้วยังทำบุญมาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง วันมาฆบูชานี้ตรงกับวันเพ็ญเดือนสาม

 

สรุป

สว่างแดนดิน ดินแดนแห่งความสว่าง   ดินแดนแห่งพุทธธรรม ดินแดนแห่งอารยธรรมที่รุ่งเรืองมาแต่อดีตกาล  ท่านที่เดินทางผ่านอำเภอสว่างแดนดินหรือประสงค์จะท่องเที่ยวดินแดนแห่งอารยธรรมก็ขอเชิญชวนทุกท่านได้ท่องเที่ยวตามอัธยาศัยชาวอำเภอสว่างแดนดินยินดีต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดียิ่ง

.......................................................

 

 

คำสำคัญ (Tags): #สว่างแดนดิน
หมายเลขบันทึก: 174123เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2008 23:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2013 21:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ

ได้ความรู้ดีนะคะ หากมีภาพประกอบ คงจะดีไม่น้อยค่ะ

อิอิ

ขอบคุณค่ะ ที่แบ่งปันความรู้ดี ๆ ของชาวอีสานมากขึ้น ค่ะ

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสว่างนคร พร้อมภาพประกอบเชิญที่

http://hs4is.multiply.com/journal

ขอบคุณครับ

สุดยอดเรยค่ะ อาจารย์

-*-

อย่างเริ่ด

เด็ก ต.อ.

6/5 คร้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท