ตอนที่44 ก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์แนวทางลดต้นทุนด้านพลังงาน


เคยใช้จำนวนวันละ 6 ลิตร เหลือเพียงใช้วันละ 1 ลิตร ถ้าคิดค่าน้ำมันดีเซลในราคาลิตรละ 30 บาท จะสามารถลดต้นทุนได้ถึงวันละ 150 บาท

เมื่อสภาวะพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานต่างๆ จากภาครัฐ และเอกชน พยายามหาพลังงานจากแหล่งอื่นทดแทน แต่เมื่อย้อนไปเมื่อปี 2539-2546  กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์และปรับปรุงสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินการในพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ สามารถควบคุมของเสียที่ปล่อยออกจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์มาทำลายสิ่งแวดล้อม และทดแทนพลังงานเชื้อเพลิง

นายรังสรรค์  กองเงิน  เกษตรจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า  โครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์และปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการส่งเสริมการก่อสร้างบ่อก๊าซชีวภาพขนาดตั้งแต่ 12-100 ลูกบาศก์เมตร โดยให้เกษตรกรแจ้งความจำนงค์ต่อเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอหรือเกษตรจังหวัดในการรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และก่อสร้างให้โดยช่างฝีมือท้องที่ผู้ผ่านการอบรมจนเกิดทักษะอย่างถูกต้อง เทคโนโลยีที่ใช้จะเป็นลักษณะโดมคงที่(Fixed Dome) ฝังอยู่ใต้ดิน ประกอบไปด้วย บ่อเติมมูลสัตว์(บ่อที่ 1) สำหรับผสมมูลสัตว์กับน้ำก่อนเติมลงใน บ่อหมัก(บ่อที่ 2) เพื่อหมักให้เกิดก๊าซมีเทนและก๊าซอื่นๆ ซึ่งก๊าซที่เกิดขึ่นจะผลักดันให้มูลสัตว์และน้ำที่มีอยู่ด้านล่างของบ่อหมักไหลไปอยู่ในบ่อล้น(บ่อที่ 3) แต่เมื่อมีการเปิดก๊าซไปใช้ น้ำในบ่อล้นก็จะไหลย้อนกลับเข้าไปบ่อหมักเพื่อผลักดันก๊าซให้มีความดันเพียงพอที่จะสามารถนำไปใช้งานได้ ระบบจะเกิดอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ตลอดเวลา เพียงแต่เกษตรกรจะต้องทำการบำรุงรักษาโดยหมั่นเปิดระบายกากมูลสัตว์ออกป้องกันการตกตะกอนนอนก้นบ่อหมัก และทำความสะอาดหรือเปลี่ยนสายท่อส่งก๊าซไปสู่แหล่งใช้พลังงานที่ต้องการสร้างบ่อก๊าซชีวภาพ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์จึงควรหันมาสร้างบ่อก๊าซชีวภาพใช้ในฟาร์ม ไม่เพียงปรับปรุงสิ่งแวดล้อมและการใช้ก๊าซทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงอื่น ๆ เท่านั้น แต่ยังสร้างความเอื้ออาทรต่อเพื่อนบ้านใกล้เคียง จากการแบ่งปันก๊าซที่มีเหลือใช้ในฟาร์ม ด้วยการต่อท่อไปสู่บ้านเรือนที่ต้องการ

นางนิตย์  จิตจำนง บ้านเลขที่ 416 ม.16 .หนองแซง อ.หันคา จ.ชัยนาท เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรขุน 1,000 ตัว กล่าวว่า เมื่อปี 2545 ได้รับการส่งเสริมจากนายชลอ  ม้าทอง เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล ในการเข้าร่วมโครงการบ่อก๊าซชีวภาพ   โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 72,000 บาท เมื่อก่อสร้างแล้วรวมค่าช่างฝีมือ และวัสดุแล้วต้องจ่ายเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนเงิน 90,000 บาท รวม 162,000 บาท เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้ใช้ก๊าซเพื่อใช้สำหรับเครื่องยนต์หมุ่นพัดลมระบายอากาศในโรงเรือนเลี้ยงสุกรแบบปิดและสำหรับหุงต้มในครัวเรือนจนถึงปัจจุบัน สามารถประหยัดน้ำมันดีเซลได้จากเคยใช้จำนวนวันละ 6 ลิตร เหลือเพียงใช้วันละ 1 ลิตร ถ้าคิดค่าน้ำมันดีเซลในราคาลิตรละ 30 บาท  จะสามารถลดต้นทุนได้ถึงวันละ 150 บาท เดือนละ  4,500 บาท ปีละ 8 เดือนคิดเป็นเงิน 36,000 บาท เพียง 3 ปีก็คุ้มกับต้นทุน และปุ๋ยมูลสัตว์ที่ได้สามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องนำไปหมักอีก จึงนับว่าคุ้มค่ากับการสร้างบ่อก๊าซชีวภาพสำหรับใช้ในฟาร์ม หรือชุมชน

หมายเลขบันทึก: 173158เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2008 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากทำบ่อแก็ส ที่รองรับสุกรประมาณ 200 ตัวครับ มีแบบ และประมาณค่าใช้จ่ายใหมครับ ถ้ามีรบกวนส่งข้อมูลให้หน่อยนะครับ กำลังศึกษาจะทำบ่อแก็สครับ ตามที่อยู่นี้นะครับ [email protected] / ขอบคุณครับ

ขอด้วยครับ อยากทำบ่อแก็ส ที่รองรับสุกรประมาณ 200 ตัวครับ มีแบบ และประมาณค่าใช้จ่ายใหมครับ ถ้ามีรบกวนส่งข้อมูลให้หน่อยนะครับ กำลังศึกษาจะทำบ่อแก็สครับ ตามที่อยู่นี้นะครับ [email protected] ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท