หมากเม่าผลไม้พื้นบ้านสะท้านสู่สากล


หมากเม่า

บทความทางวิชาการ

เรื่อง

หมากเม่าผลไม้พื้นบ้านสะท้านสู่สากล

บทนำ

ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อนชื้น  มีความอุดมสมบูรณ์  ความหลากหลายทางพันธุศาสตร์ของพืชและสัตว์    โดยเฉพาะพืชแล้วเมืองไทยมีพันธุ์พืชมากมายทั้งที่เป็นพืชเศรษฐกิจ  พืชพันธุ์ธรรมชาติ    พืชที่ใช้เป็นอาหาร  พืชที่เป็นสมุนไพร  ยารักษาโรค  บางชนิดเป็นได้ทั้งอาหาร สมุนไพรและยารักษาโรคในคราเดียวกัน   ในยุคสมัยแห่งความเจริญรุ่งเรืองทางเทคโนโลยีจะมีใครซักกี่คนที่มองเห็นคุณค่าของพืชผักผลไม้ป่าพื้นบ้าน  ที่มีคุณค่าทางโภชนาการและการรักษาโรค   นอกจากนี้ยังสามารถที่จะแปรรูปเป็นสินค้าส่งออกสู่ต่างประเทศได้อีกด้วยและหนึ่งในผลไม้ป่าพื้นบ้านของไทยที่นี้ก็คือหมากเม่า

หมากเม่า...ไม้ผลที่นานาชาติตระหนักในคุณค่า  เม่า เป็นพืชในตระกูล Antidesma ที่พบกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ ในหลายทวีป และด้วยคุณค่าของพืชในตระกูลนี้ทำให้ชนพื้นถิ่นในแต่ละพื้นที่มีการใช้ประโยชน์จากพืชตระกูลนี้ในหลากหลายรูปแบบด้วยกัน  การบริโภคเม่าเป็นอาหารได้ปฏิบัติกันมานานในหลายประเทศ โดยส่วนใหญ่จะบริโภคผลสด ในประเทศไทย อินเดีย และอินโดนีเซีย มีการบริโภคใบ และยอดของพืชในกลุ่ม Antidesma ทั้งรับประทานผลสดหรือผสมอาหารเพื่อให้มีรสเปรี้ยว (Hoffman, 2005) โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยนิยมรับประทานผลสด  โดยการนำมาปรุงรสคล้ายกับส้มตำที่เรียกว่า ตำหมากเม่า หรือใช้เปลือกต้นหรือใบมาโขลกรวมกับพริกสด และน้ำปลาร้า เรียกว่าตำเมี่ยง นิยมรับประทานในฤดูร้อนโดยฝาดจากเปลือกต้นและใบ จะช่วยลดอาการท้องเสียได้ จะเห็นได้ว่านอกจากประโยชน์ในด้านการเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงแล้ว พืชในกลุ่ม Antidesma ยังมีคุณค่าทางเภสัชอีกด้วย


                ชื่อวิทยาศาสตร์ Antidesma thwaiteaianum Muell. Arg.
                วงศ์
STILAGINACEAE
                ชื่ออื่น : เม่าเสี้ยน มัดเซ มะเม่า หมากเม่า
                ลักษณะทั่วไป : ไม้ผลท้องถิ่นยืนต้นไม่ผลัดใบ (evergreen tree) สูง 12-15 เมตร ใบ ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมันวาว เรียงตัวแบบสลับ (alternate) ดอก ออกเป็นช่อแบบ spike ดอกแบบแยกเพศต่างต้น (dioecious) ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ผลสุกในเดือนสิงหาคม-กันยายน ผลกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.8-1.2 เซนติเมตร ผลดิบสีเขียวเมื่อเข้าสู่ระยะสุกผลเปลี่ยนเป็นสีแดงและเป็นสีดำเมื่อสุกจัด
                นิเวศวิทยาและการแพร่กระจาย : พบแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เช่น สกลนคร อุดรธานี กาฬสินธุ์ นครพนม มุกดาหาร และหนองคาย มีความทนแล้งได้ดี
               

ประเภทและพันธุ์หมากเม่า

1.       หมากเม่าตาควายหรือเม่าสร้อย

2.       หมากเม่าช้าง

3.       หมากเม่าไข่ปลา

4.       หมากเม่าขน

5.       หมากเม่าสาย

6.       หมากเม่าหลวง

7.       หมากเม่าเหล็ก

 

จากเดิมเม่าหลวงเป็นเพียงผลไม้พื้นบ้าน ที่รู้จักและบริโภคกันเฉพาะในท้องถิ่นเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเม่าหลวงกลายเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย มีผู้บริโภคเม่าหลวงในรูปผลสดและในลักษณะผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการแปรรูปมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากเม่าหลวงมีคุณค่าทางโภชนาการสูง และมีความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง เพราะเป็นพืชที่เกิดเองตามธรรมชาติโดยใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตค่อนข้างน้อย อาจกล่าวได้ว่า การให้ความรู้ด้านคุณค่าทางโภชนาการและการนำผลเม่าหลวงที่มีอยู่ในธรรมชาติมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ถือว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม (value added) ให้กับไม้ผลท้อง ถิ่นชนิดนี้อีกทางหนึ่ง ทำให้มีอุปสงค์มากขึ้นส่งผลให้ราคาของเม่าหลวงสูงขึ้น จากเดิมที่เคยปล่อยทิ้งขว้างหรือจำหน่ายเพื่อกินผลสดราคาประมาณกิโลกรัมละ 10-15 บาท แต่ในปัจจุบันราคากลับเพิ่มสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 25-45 บาท ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มที่จะใช้เม่าหลวงเป็นแหล่งวัตถุดิบ เพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรมอาหารมากยิ่งขึ้น สามารถจำแนกประโยชน์จากเม่าหลวงได้ดังนี้ (อร่าม คุ้มกลาง และวินัย แสงแก้ว, 2543: 40-49)

                ประโยชน์ : ผลสุก รับประทานเป็นผลไม้ ผลดิบ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนนำมาประกอบอาหารคล้ายส้มตำ ปัจจุบันเป็นไม้ผลเศรษฐกิจ เพาะปลูกขายต้นพันธุ์ ผล นำมาทำน้ำผลไม้และไวน์แดง ให้สีสันและรสชาติดี

1. การบริโภคผลดิบ (สีเขียวอ่อน) และผลสุกสีแดงที่มีรสเปรี้ยว จะนำมาทำเป็นส้มตำเม่า ส่วนผลสุกสีดำม่วงจะมีรสหวานอมเปรี้ยว โดยทั่วไปจะนำมารับประทานในลักษณะผลสดเลยก็ได้

2. สรรพคุณทางสมุนไพร พบว่าถ้าหากรับประทานผลเม่าหลวงในปริมาณเหมาะสม จะมีสรรพคุณเป็นยาระบายและบำรุงสายตา นอกจากนั้นยังสามารถใช้ใบสด นำมาอังไฟเพื่อใช้ประคบแก้อาการฟกช้ำดำเขียวได้อีกด้วย

3. สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ได้หลายหลายชนิดได้แก่ 1) น้ำผลไม้ เช่น น้ำเม่า

แท้ (pure juice) น้ำเม่าเข้มข้น (squash) น้ำเม่าพร้อมดื่ม เป็นต้น 2) สุราแช่ ได้แก่ ไวน์เม่า 3) อื่นๆ เช่น แยมเม่า เม่ากวน Topping เม่า (ลักษณะคล้ายคาราเมลใช้ราดไอศกรีม) เป็นต้น

4. สีสกัดจากเม่า น้ำคั้นที่ได้จากผลเม่าหลวงสุกจะให้สีม่วงเข้ม ซึ่งเกิดจากเม็ดสีในกลุ่มสาร xanthophylls จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า สีที่ได้จะมีคุณสมบัติคงทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ดี โดยเฉพาะที่อุณหภูมิสูง ไม่ว่าจะเป็นการต้มหรือนึ่ง จึงเหมาะที่จะนำมาทำสีผสมอาหาร ซึ่งเป็นสีที่ได้จากธรรมชาติและปลอดภัยต่อผู้บริโภค

5. ประโยชน์อื่นๆ จากต้นเม่า เช่น ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงา ไม้ประดับ และหากต้นเม่ามีอายุมากกว่าสิบปีสามารถนำเนื้อไม้มาใช้ทำที่อยู่อาศัยและเฟอร์นิเจอร์ได้อีกด้วย

ด้วยเหตุที่เม่าหลวงมีคุณสมบัติเหมาะสม ที่จะนำมาพัฒนาเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายชนิด และนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้หลายอย่าง ปัจจุบันอุปสงค์ของผลเม่าหลวงมีมากกว่าอุปทาน ทำให้ราคาของผลเม่าหลวงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้เกษตรกรมีความสนใจที่จะปลูกเม่าหลวงมากขึ้น จากเดิมที่เคยเป็นพืชที่เกิดเองตามธรรมชาติ ปัจจุบันเกษตรกรเพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้น จากการสำรวจต้นเม่าหลวงในเขตจังหวัดสกลนคร พบว่ามีทั้งหมดประมาณ 39,793 ต้น (สำนักงานเกษตรจังหวัดสกลนคร, 2545: 1)  ความต้องการที่จะใช้ผลเม่าหลวงทั้งในรูปของการบริโภคผลสดและใช้ในการแปรรูปประมาณ 300-350 ตัน ดังนั้นเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของเกษตรกรที่สนใจปลูกเม่าหลวงเชิงธุรกิจ จำเป็นต้องศึกษาสภาพการตลาดและการผลิตเม่าหลวง  ต้นทุนการผลิตต่อไร่ ต้นทุนการผลิตต่อกิโลกรัมเพื่อการตั้งราคาสินค้าโดยพิจารณาต้นทุนเป็นหลัก (cost-plus pricing) ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าราคาที่กำหนดขึ้นไม่ทำให้ผู้ปลูกขาดทุน และเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนด้านต้นทุน ที่จะนำเข้าสู่โรงงานเพื่อแปรรูปและพัฒนาเม่าหลวงให้เป็นพืชเศรษฐกิจต่อไป

               

การขยายพันธุ์เม่าหลวง  ในอดีตที่ผ่านมาใช้วิธีการเพาะเมล็ด  ซึ่งเป็นวิธีการที่สะดวกและได้ปริมาณต้นเป็นจำนวนมาก  นิยมปฏิบัติกันมาช้านาน  และใช้กับพืชทั่วๆ  ไป ไม่เฉพาะเม่าเท่านั้นโดยเฉพาะกับพืชใช้สอยของมนุษย์  พืชชนิดใดมีลักษณะดี เป็นที่นิยมของผู้คนมาก  จะมีการขยายพันธุ์กระจายพันธุ์ไปยังแหล่งต่างๆ  โดยวิธีการแบ่งปันต้นกล้าพันธุ์พืช  นำติดตัวไปยังถิ่นอื่นๆ  ที่มีการโยกย้ายถิ่นฐานหรือเยี่ยมเยือนกันในหมู่เครือญาติ  ส่วนมากจะเป็นพืชเพื่อประโยชน์ใช้สอย เช่น ผัก  สมุนไพร  ผลไม้ท้องถิ่นที่มีรสชาติดี  จนกลายเป็นวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่งของการะกระจายพันธุ์ หรือขยายพันธุ์พืชรวมถึงเม่าพันธุ์ดีในชุมชนท้องถิ่นภาคอีสาน วิธีการขยายพันธุ์หมากเม่าพอสรุปได้ดังนี้

1.       การเพาะเมล็ด

วิธีการเพาะเมล็ด  การเพาะเมล็ดเม่าหลายวิธี ประกอบด้วย

                                1. การหว่านเมล็ดลงในแปลงโดยตรงเหมือนเพาะกล้าผักแบบดั้งเดิม เตรียมดินก่อนหว่านเมล็ดพันธุ์ หลังหว่านแล้วคลุมแปลงด้วยวัสดุกันความชื้นจากดินระเหยออกเร็วเกินไป เช่น ฟางแห้ง หญ้าแห้ง เป็นต้น

                                2. เพาะในตะกร้าโดยเตรียมวัสดุส่วนผสม เช่น ทราย ดินร่วน แกลบเผา ให้พร้อมแล้วหว่านเมล็ดเม่าและกลบด้วยวัสดุเพาะอีกชั้นหนึ่ง รดน้ำสม่ำเสมอ

                                3. เพาะในกระบะ คล้ายเพาะในตะกร้าแต่จะได้ปริมาณมากกว่าทุกวิธี อาจใช้ระบบน้ำแบบพ่นหมอก พ่นฝอยโดยตั้งเวลาปิด เปิด หรือรดน้ำด้วยสายยาง

2.       การขยายพันธุ์โดยการทาบกิ่ง

การขยายพันธุ์แบบทาบกิ่ง (Approach grafting) เป็นการขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศอีกวิธีหนึ่ง  โดยนำต้นกล้าเม่าที่ได้เพาะเมล็ดไว้จนได้ขนาดพอเหมาะต่อการทาบกิ่ง คือ อายุประมาณ  6 เดือน  ถึง 12 เดือน  มาทำให้เกิดแผล  และให้ประกบกับกิ่งพันธุ์ดีที่ได้ทำแผลไว้แล้ว เช่นกัน เพื่อให้เนื้อไม้ทั้งสองต้นประสานเป็นเนื้อเดียวกัน  แล้วจึงตัดยอดของต้นกล้าทิ้งไปเหลือส่วนโคนเอาไว้  ตัดโคนกิ่งพันธุ์ดีออกจากต้นแม่ให้เหลือแต่ยอดต้นตอเอาไว้  ซึ่งจะได้เม่าที่มีลักษณะดี  2 ประการหลักๆ คือ ระบบรากแบบมีรากแก้วแข็งแรง  ได้ยอดเป็นเม่าพันธุ์ดี  เหมือนต้นแม่ทุกประการไม่เป็นต้นตัวผู้

3.       การขยายพันธุ์แบบเสียบยอด

                การขยายพันธุ์แบบเสียบยอด (Grafting) เป็นวิธีการขยายพันธุ์เม่าแบบไม่ใช้เพศอีกวิธีหนึ่ง ที่ให้ลักษณะของเม่าที่ดี  เหมือนต้นแม่ทุกประการและไม่เป็นต้นตัวผู้  มีระบบรากแข็งแรงเหมือนขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด           การขยายพันธุ์แบบเสียบยอดมีความแตกต่างกับการขยายพันธุ์แบบทาบกิ่ง คือ จะนำเอายอดหรือกิ่งพันธุ์ดีมาเสียบทับกับต้นตอที่ได้เตรียมไว้แล้วในเรือนเพาะชำ  โดยไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์ไปที่ต้นพันธุ์ดีเหมือนการทาบกิ่ง  ซึ่งการขยายพันธุ์แบบเสียบยอดจะมีความสะดวกกว่าการทาบกิ่ง  วิธีการ คือ ตัดกิ่งพันธุ์จากต้นเม่าพันธุ์ดีที่มีขนาดพอเหมาะ คือ กิ่งมีสีเขียวที่ปลายและมีสีเทาหรือน้ำตาลที่โคนกิ่งประมาณ 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 2 ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางกิ่ง เท่ากับส่วนปลายของตะเกียบที่ใช้รับประทานอาหาร หรือ เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.4 0.6 เซนติเมตร ความยาวกิ่งพันธุ์ดี  30 เซนติเมตร  โดยประมาณ ตัดใบออกจากโคนกิ่งถึงครึ่งกิ่งส่วนที่เหลือให้ตัดใบออกครึ่งใบยกเว้นยอด นำกิ่งนั้นมาเฉือนทำแผล แบบปาดหรือแบบฝานบวบ และเฉือนต้นตอเม่าเป็นแบบฝานบวบเช่นกัน  ความยาวของแผลให้เท่ากันกับแผลของกิ่งพันธุ์ดีด้วยมีดคัตเตอร์ หรือมีดที่คม  แล้วนำมาประกบกันให้พอดี  แล้วพันรอยต่อด้วยพลาสติกใส หรือเชือกฟางให้แผลประกบกันแน่นพอดีไม่เลื่อนหรือโยกคลอน  จากนั้นนำไปเก็บในโรงพลาสติกกันการคายน้ำมากเกินไป หรือถ้าปริมาณน้อยจะเก็บในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ ปิดปากถุงกันการคายน้ำมากเกินไป จนกว่าจะครบ 1 เดือนจึงทยอยเปิดพลาสติกคลุมออก   

 

คุณค่าทางโภชนาการ

                 คุณค่าทางอาหาร ของ ผลเม่า

          พลังงาน                    75.20                  กิโลแคลลอรี่    /100 กรัม
          โปรตีน                       0.63                   กรัม                /100กรัม
          เยื่อใย                        0.79                    กรัม                /100กรัม
          คาร์โบไฮเดรต          17.96                   กรัม                /100กรัม
          แคลเซียม                 13.30                   มิลลิกรัม          /100กรัม
          เหล็ก                          1.44                   มิลลิกรัม          /100กรัม
          วิตามิน ซี                    8.97                   กรัม                /100กรัม
          วิตามิน บี1                 4.50                   ไมโครกรัม       /100กรัม
          วิตามิน บี2                  0.03                  ไมโครกรัม       /100กรัม
          วิตามิน อี                     0.38                  ไมโครกรัม       /100กรัม

      น้ำเม่าสกัดเข้มข้น 100%  เป็นอาหารบำรุงสุขภาพในลักษณะเดียวกับ น้ำพรุนสกัดเข้มข้น ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปเนื่องจาก เม่า ซึ่งเป็น ผลไม้ในตระกูลเดียวกันกับ พรุน คือ ตระกูล เบอร์รี่ ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ  เม่า มีสารอาหาร และ วิตามิน หลายชนิด ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายรวมทั้งมี สารต้านอนุมูลอิสระ
                ใช้เป็นยาพื้นบ้านในหลายพื้นที่ เช่น เปลือกต้นเม่าเป็นส่วนประกอบของลูกประคบ
สำหรับการนวดประคบเพื่อผ่อนคลายและรักษาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

                กัมมาลและคณะ (2546) ศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV เชื้อรา เชื้อแบคทีเรียของสมุนไพรไทย 5 ชนิด คือ มะเม่า ฟ้าทลายโจร หญ้าแห้วหมู ผักเป็ดแดง และสายน้ำผึ้งพบว่า มะเม่า สายน้ำผึ้ง และหญ้าแห้วหมู มีศักยภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและมีฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV ได้
                สมานและสำรี (2549) ศึกษาการออกฤทธิ์ของสารโพลีฟีนอลในไวน์แดงสยามมัวส์ต่ออะพอสโตซีสของเซลล์มะเร็งเต้านมชนิด MDA-MB- 435 ที่ปลูกถ่ายในหนูเปลือยที่ตัดต่อมไทมัส : ตรวจผลโดยการสร้างภาพเคมีและฮีทโตเคมี โดยใช้สารประกอบโพลีฟีนอลที่สกัดจากไวน์แดงสยามมัวส์ (SRPE) และไม้มะเม่า (MPE)

               

 

 

การแปรรูป

                โดยการผลิตเป็นน้ำหมากเม่า  น้ำหมากเม่าสกัดเข้มข้น การหมักทำไวน์    โดยเฉพาะไวน์แดงในปัจจุบันไวน์หมากเม่าของไทยเป็นไวน์แดงชั้นดี ขนานแท้ของไทย เน้นการผลิตให้ได้มาตราฐาน รสชาติเป็นสากล  เป็น ออร์แกนนิคไวน์(Organic Wine) หรือไวน์ปลอดสารพิษอย่างแท้จริง เพราะผลิตจากผลเม่าหลวง (ไทยบลูเบอรี่) ซึ่งเติบโตตามธรรมชาติ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงใดๆทั้งสิ้น

เป็นไวน์จากน้ำผลไม้อย่างแท้จริง มิใช่ไวน์น้ำตาล ซึ่งใช้น้ำตาลเป็นหลักในการหมัก

เป็นไวน์แดงสีสวย สดใส ได้สีโดยธรรมชาติจากผลเม่าหรือไทยบลูเบอรี่ ไม่แต่งเติมสีใดๆทั้งสิ้น จึงประกันความปลอดภัยสูงสุด เป็นไวน์ที่ผลิตอย่างพิถีพิถัน เน้นหนักเรื่องความสะอาดทุกขั้นตอน จากโรงงานซึ่งได้มาตรฐาน จีเอ็มพี เก็บและบ่มไวน์ในห้องเย็นยาวนาน ได้รับรางวัลดีเด่นภาคอีสาน รางวัลชมเชยระดับประเทศ ที่หนึ่งOTOP ระดับจังหวัดและภาคฯ  กระทรวงอุตสาหกรรมให้การรับรอง มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน

               

                สรุป

                หมากเม่าเป็นผลไม้ที่ได้จากไม้ยืนต้นสูงใหญ่ของไทย มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ ผ่านการคัดสรรโดยวิวัฒนาการธรรมชาติมานับล้านปี สายพันธุ์บริสุทธิ์ผุดผ่อง อุดมตามเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร ซึ่งให้ผลโต คุณภาพสูงกว่าแหล่งอื่นๆ เป็นผลไม้อุดมด้วยคุณค่าทางอาหารแร่ธาตุและวิตามินเช่น โปรตีน เยื่อใย

คำสำคัญ (Tags): #หมากเม่า
หมายเลขบันทึก: 172945เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2008 14:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ผมมาทำงานที่ จ.ระยอง ครับ เลยต้องการปลูกมะเม่าไว้กินเอง และอนุรักษ์พันธุ์ไม้อีสานให้ลูกหลานดูครับ

ผมขอปรึกษา **** ผมอยากทราบคุณสมบัติของมะเม่าแต่ละสายพันธุ์ครับ

ตอนเด็กๆ ผมเคยกินอยู่ 2 พันธุ์

พันธุ์แรก ต้นใหญ่ ดกมาก ผลจะสุกช่วงฤาดูดำนาครับ ลูกเล็กหวานดี ( เดือนหก )

(แม่บอกว่า"มะเม่าค่น" ต้นใหญ่ แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยออกผล )

พันธุ์ที่สอง ต้นเล็ก ลูกเล็ก ผลสุกช่วงเกี่ยวข้าวครับ หวานดี

ขึ้นเองตามธรรมชาติ อ.เลิงนกทาครับ

จึงอยากทราบว่าทางวิชาการแล้วเรียกว่าพันธุ์อะไรครับ

ขอบคุณล่วงหน้านะครับ

น.ท. พิทักษ์ มีศิริ

ผมสนใจมากและตอนนี้ผมได้แม่พันธุ์แบบต่อยอดจาก สกล ฯมาหนึ่งต้น ผมจะทดลองปลูกที่ ชร.จะได้ผลหรือไม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท