ผู้เขียนติดตามหนังเรื่อง กำเนิดเจ้าแม่กวนอิม ทางโทรทัศน์ช่อง tpbs มาหลายวัน... เกิดความรู้สึกว่า การเผยแพร่หลักธรรมทางศาสนานั้น การอ้างอำนาจบางอย่างที่เหนือสิ่งธรรมดาซึ่งเรียกกันตามสำนวนไทยว่า ปาฏิหาริย์ หรือ อภินิหาร มีอยู่ทุกชาติศาสนา และทุกยุคสมัย... ดังนั้น จึงนำเรื่องนี้มาเล่าโดยผ่านคำทั้งสองนี้....
ปาฏิหาริย์ หรือ อภินิหาร ตามสำนวนไทย น่าจะหมายถึง เหลือเชื่อ ยากที่จะเชื่อได้ หรือเหนือการคาดหมาย ซึ่งความหมายโดยอรรถตามนัยบาลีก็เป็นไปทำนองนี้เช่นกัน... และเมื่อว่าตามรูปศัพท์ ท่านตั้งอรรถวิเคราะห์ไว้ ๒ นัย กล่าวคือ
- ปฏิ + หิ = ปาฏิหาริยะ
- ปฏิปกฺเข เหติ คจฺฉตีติ ปาฏิหาริยํ
- ธรรมชาติใด ย่อมเป็นไป คือย่อมไป ในฝ่ายตรงข้าม ดังนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า ปาฏิหาริยะ (ไปในฝ่ายตรงข้าม)
นัยนี้ ท่านว่ามาจาก ปฏิ เป็นบทหน้าในความหมายว่า ฝ่ายตรงข้าม ... ผสมกับ หิ รากศัพท์ในความหมาย ไป หรือ เป็นไป .... เมื่อร่วมความแล้วก็ได้ความหมายว่า ไปในฝ่ายตรงข้าม ... ขยายความว่า ฝ่ายหนึ่งจะทำบางสิ่งบางอย่างให้ไปกระทบความรู้สึกของฝ่ายตรงข้าม ที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามยอมรับ มิกล้าขัดขืน เชื่อถือ คล้อยตาม....
- ปฏิ + หร = ปาฏิหาริยะ
- ปฏิปกฺเข หรตีติ ปาฏิหาริยํ
- ธรรมชาติใด ย่อมนำไป ซึ่งฝ่ายตรงข้ามทั้งหลาย ดังนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า ปาฎิหาริยะ (นำไปซึ่งฝ่ายตรงข้าม)
นัยนี้ ท่านว่ามาจาก หร รากศัพท์ในความหมายว่า นำไป ... ส่วนอย่างอื่นก็ไม่แตกต่างจากนัยก่อน... ขยายความต่างกันไปนิดหนึ่งว่า ฝ่ายหนึ่งจะทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อชักจูงให้ฝ่ายตรงข้ามยอมรับ คล้อยตาม ไม่กล้าขัดขืน... ทำนองเดียวกัน
.............
เรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า ปาฏิหาริย์ คงจะมีมานานแล้ว ซึ่งในการเผยแพร่หลักธรรมคำสอน พระพุทธเจ้าทรงอ้างถึง ปาฏิหาริย์ ๓ ประการ กล่าวคือ
- อิทธิปาฏิหาริยะ การแสดงฤทธิ์ที่ต้องยอมรับ มิอาจขัดขืนได้
- อาเทศนาปาฏิหาริยะ การดักใจ รู้ทันความคิด ความรู้สึกของคนอื่น จนยากที่ใครจะขัดขืน หรือปฏิเสธได้
- อนุสาสนีปาฏิหาริยะ คำสั่งสอนที่น่าเชื่อถือ เพียบพร้อมด้วยเหตุผล และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง จนไม่อาจโต้แย้งได้
แม้ว่าพระพุทธเจ้าทรงใช้ทั้งสามประการ แต่พระองค์ก็ทรงยกย่องว่า ประการสุดท้ายคือหลักคำสอนเท่านั้น เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์จริงๆ...
อนึ่ง ประเด็นเรื่องปาฏิหาริย์ ๓ นี้ ผู้สนใจอาจอ่านในพระไตรปิฏก หรืออ่านต่อในอรรถกถาได้ จาก Link ต่อไปนี้
.............
สำหรับ ปาฏิหาริย์ ในสำนวนไทย ผู้เขียนคิดว่า คนทั่วไปมุ่งหมายเฉพาะประเด็นแรกคือ อิทธิปาฏิหาริย์ เท่านั้น... ส่วนผู้ที่ดักใจ ทายใจ รู้ทันความคิดเห็นคนอื่นได้อย่างอัศจรรย์ (เช่น พวกหมอดู) ก็อาจใช้คำว่าปาฏิหาริย์อยู่บ้าง เช่น หลวงพ่อวัดโน้น ทายถูกทุกเรื่อง ดั่งปาฏิหาริย์... ส่วนหลักคำสอน ไม่ค่อยจะมีสำนวนอ้างถึงว่าเป็นปาฏิหาริย์
อนึ่ง นอกจากปาฏิหาริย์แล้ว สำนวนไทยบางครั้งก็ใช้คำว่า อภินิหาร ในความหมายทำนองเดียวกับ ปาฏิหาริย์ ...
แต่รู้สึกว่าไม่เคยเห็นในวรรณคดีบาลีว่า อภินิหาร ใช้แทนคำว่า ปาฏิหาิริย์ ได้ (นักบาลีเข้ามาอ่านเจอ ถ้ามีความเห็นเพิ่มเติมช่วยบอกกันบ้าง...)
- อภิ + นิ + หาร = อภินิหาร
อภินิหาร อาจแปลง่ายๆ ว่า นำออกไปข้างหน้า, นำออกไปเฉพาะ หรือ นำออกไปอย่างยิ่งใหญ่ ... และคำนี้เท่าที่จำได้ที่ใช้อยู่ในวรรณคดีบาลี หมายถึง ก้าวย่าง หรือ คำพูด
- ก้าวย่าง นั่นคือ
นำร่างกายออกไปจากจุดที่ยืนอยู่ไปยังข้างหน้า...
- คำพูด นั่นคือ ถ้อยคำที่เปล่งออกมาจากปาก จะส่งกระแสเสียงไปข้างหน้า...
...........
ส่วนสิ่งที่ผู้เขียนค่อนข้างแปลกใจก็คือ เรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เรียกว่า ปาฏิหาริย์ ยังมีคนอ้างถึง และมีคนเชื่อถืออยู่ทุกยุคสมัยและทุกชาติศาสนา... จนกระทั้งทุกวันนี้
สำหรับเรื่องนี้ ใครมีความเห็นอย่างไรบ้าง ?
ก็เล่าสู่กันอ่านได้...