วิเคราะห์เพลง ลาวคำหอม


เพลง : ลาวคำหอม  ประพันธ์โดย พระยาประสานดุริยศัพท์

ยามเมื่อลม พัดหวน                        ลมก็อวล แต่กลิ่นมณฑาทอง
ไม้....เอย ไม้สุดสูง                         อย่าสู้ปอง ไผเอยบ่ได้ต้อง...
แต่ยิน...เอย นามดวงเอย                โอ้เจ้าดวง
เจ้าดวง..ดอกโกมล                        กลิ่นหอม เพิ่งผุดพ้น
พุ่มในสวน ดุสิตา                           แข่งแข อยู่แต่ นภา
ฝูงภุมรา สุดปัญญาเรียมเอย           โอ้อกคิดถึง
คิดถึงคะนึงนอนวัน                        นอนให้ ใฝ่ฝันเห็นจันทร์แจ่มฟ้า
โอ้อกคิดถึง                                   คิดถึงคะนึงนอนวัน
นอนให้ ใฝ่ฝันเห็นจันทร์แจ่มฟ้า       ทรงกลดสวยสดโสภา
แสงทองส่องหล้า                           ขวัญตาเรียมเอย.

 
คีตพจน์ อรรถาธิบายถึง ประวัติเพลงลาวคำหอมไว้ความว่า

เพลงลาวคำหอม เป็นเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อร้องอวดกันในการเล่นสักวา โดยจะแต่งขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่มีเพลงใดเป็นสมุฏฐาน โดยเพลงเหล่านี้จะมีทำนองที่แต่งขึ้นอย่างไพเราะคมคาย เพลงลาวคำหอมเป็นเพลงที่ จ่าเผ่นผยองยิ่ง (โคม) ซึ่งเรียกโดยทั่วไปว่า "จ่าโคม" นักร้องและนักแต่งเพลงสักวามีชื่อผู้หนึ่งแต่งขึ้นโดยอัตโนมัติทั้งบทร้องและทำนองเพลง เพลงลาวคำหอมนี้ แม้จะมีประโยคคล้ายและลีลาเป็นอัตรา 2 ชั้นก็จริง แต่ก็มีความยาวไล่เลี่ยกับเพลงอัตรา 3 ชั้นบางเพลง และมีทำนองไพเราะน่าฟังมากจนเป็นที่นิยมแพร่หลายเข้ามาในวงการร้องส่งดนตรีโดยทั่วไป เมื่อทำนองเพลงลาวคำหอมได้รับความนิยมเข้ามาในวงการร้องส่งดนตรี พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) จึงแต่งทำนองดนตรีขึ้นสำหรับบรรเลงรับร้อง โดยถอดจากทำนองร้องของจ่าเผ่นผยองยิ่งอีกชั้นหนึ่ง และก็ได้รับความนิยมแพร่หลายในวงการดนตรีทุกชนิดจนปัจจุบัน (1)


แต่ทว่าเนื้อเพลงลาวคำหอม กวีได้กล่าวถึง "ไม้เอย ไม้สุดสูง อย่าสู้ปอง" และไม้สุดสูง นี้มี "พุ่มในสวนดุสิตา"  ซึ่งสวรรค์ชั้นดุสิตา (สวรรค์ชั้นที่ 4) นี้กลับไม่ปรากฎว่ามีต้นไม้สวรรค์ ปากฎอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับ งานวิจัยหัวข้อ ประวัติพรรณพืชทางศิลปวัฒนธรรมไทย ของอาจารย์อรไท ผลดี แห่งภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้อรรถาธิบายถึง ทิพยพฤกษ์หรือปัญจพฤกษ์ คือ ดอกไม้สวรรค์ 5 ต้นใน ดาวดึงสภูมิ อันได้แก่ ปาริชาต กัลปพฤกษ์ มณฑารพ หริจันทน์ (จันทน์เทศ) สันตาน (2)


รูปดอกปาริชาต (3



เวปไซต์พระนิพพาน ได้กล้าวอ้างถึงดอกปาริชาต และดอกอสาพตี ซึ่งเป็นดอกไม้ในสวรรค์ชั้น ดาวดึงส์ไว้ความว่า

นอกเมืองดาวดึงส์ออกไป ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีอุทยานใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ชื่อว่า ปุณฑริกวัน มีกำแพงล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน กลางสวนมีไม้ทองหลางใหญ่ต้นหนึ่ง เป็นไม้ทิพย์ชื่อว่า ปาริชาต ต้นปาริชาต นี้ จะมีดอกบานครั้งหนึ่ง ต่อเมื่อครบหนึ่งร้อยปี พูดง่าย ๆ ว่าร้อยปี จะดอกบานครั้งหนึ่งและขณะที่ดอกปาริชาตนี้บาน จะมีรัศมีเรืองไปไกลถึงแปดแสนวา และเมื่อลมพัดไปทางทิศใดย่อมมีกลิ่นหอมฟุ้งไปทิศนั้นไกลแสนไกล กลิ่นหอมนั้นจะตลบอบอวลอยู่ทั่วบริเวณสวรรค์ชั้นนี้นานเท่านาน กล่าวกันว่า ยามที่ดอกปาริชาตนี้บาน จะมีเหล่าเทพบุตรเทพธิดา มาเล่นสนุกสนานใต้ต้นปาริชาตนี้เป็นจำนวนมากและกลิ่นปาริชาต ที่โชยโรยรินมาต้องเทพบุตรเทพธิดาองค์ใด จะช่วยทำให้เทพบุตรเทพธิดาองค์นั้น ระลึกชาติได้อย่างอัศจรรย์ และหากเทพบุตรเทพธิดาองค์ใด ต้องการดอกปาริชาตมาทัดหูบ้าง เพียงแต่เข้าไปภายใต้ต้นและยื่นมือออกไป ดอกปาริชาตก็จะลงมาถึงมือเอง ราวกับรู้ใจของเขา แต่ถ้าเขายังรับไม่ทัน ดอกไม้ก็จะลอยอยู่บนอากาศ อยู่มิให้ตกถึงพื้นจนกว่าจะมีเทวดาผู้ต้องการยื่นมือมารับณ ใต้ร่มปาริชาตินี้เอง มีแท่นศิลาอันหนึ่งชื่อว่า บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ มีสีแดงดังดอกชบา และอ่อนนุ่มดังฟูกทิพย์ ขณะที่พระอินทร์นั่ง แผ่นศิลานี้จะอ่อนยุบลงและเมื่อพระองค์ลุกขึ้น แท่นศิลาก็จะคืนเต็มตามเดิมแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ เป็นแท่นที่มีชื่อเสียงชาวโลกรู้จักกันดี เพราะเวลามีเหตุเดือดร้อนในเมืองมนุษย์ แท่นนี้ขณะที่พระอินทร์นั่ง จะไม่อ่อนยุบลงเหมือนปกติ แต่จะแข็งกระด้างดังศิลา หรือร้อนระอุ ราวกับถูกเผาด้วยไฟ เป็นเครื่องหมายว่ามีเรื่องร้ายกับผู้มีบุญใน เมืองมนุษย์พระอินทร์ต้องลงมาช่วย ห่างจากต้นปาริชาตไม่เท่าใดนัก มีศาลาใหญ่หลังหนึ่งตั้งตระหง่านงดงามที่สุด นามว่า ศาลาสุธรรมมาเทวสถาน มีอาณาบริเวณกล้างขวางใหญ่โตมาก พื้นศาลาทำด้วยแก้วผลึก และประดับด้วยแก้ว 7 ประการ ล้อมรอบ ด้วยกำแพงทองอันล้ำค่า ที่ศาลาสุธรรมานี้ มีดอกไม้สวรรค์ชนิดหนึ่งชื่อว่า อสาพตี เป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจยิ่งกว่าดอกปาริชาต และนานหนักหนากว่าจะบานสักครั้ง กล่าวกันว่าต้องใช้เวลาเป็นพันปี จึงจะบานครั้งหนึ่ง ขณะที่ใกล้จะบานเทวดาทั้งหลายจะมาเปลี่ยนเวรกันเฝ้า รอการบานของดอกไม้สวรรค์นี้ (4)

ในเนื้อเพลงลาวคำหอม กล่าวถึง ดอกมณฑาทอง และดอกโกมล ท่อนที่ว่า "ยามเมื่อลม พัดหวน  ลมก็อวล แต่กลิ่นมณฑาทอง" และ "โอ้เจ้าดวง เจ้าดวงดอกโกมล กลิ่นหอมเพิ่งผุดพ้น พุ่มในสวนดุสิตา" จากการสืบค้นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้คำจำกัดความคำว่า ดอกมณฑารพ/มณฑา และ ดอกโกมล ไว้ความว่า

มณฑารพ [มนทารบ] น. ชื่อต้นไม้ในเมืองสวรรค์, มณฑา ก็ใช้. (ป. มณฺฑารว).

โกมล 1 ว. อ่อน, งาม, หวาน, ไพเราะ, เช่น กรรณาคือกลีบกมลโก-
มลกามแกล้งผจง. (สมุทรโฆษ). (ป., ส.).

โกมล 2 น. ดอกบัว เช่น ก็ทัดทานวาริชโกมล. (ม. คําหลวง มหาราช).
(ป. กมล).
(5)


 
รูปดอกมณฑา(สีเหลือง)ทอง (6)

ผู้เขียนสันนิษฐานว่าดอก มณฑารพ นี้คนไทย พูดให้สั้นลงเป็นดอก มณฑา บ้างก็เรียกตามลักษณะสีของดอกมณฑาว่ามีสีทอง จึงเรียก มณฑาทอง


ดอกมณฑาทอง ในเพลงลาวคำหอมก็คือดอก  ดอกมณฑารพ ซึ่งเป็นดอกไม้บนสวรรค์ชั้น ดาวดึงส์นั่นเอง สำหรับ ดอกโกมล  โกมล พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (ออนไลน์) แปลว่า ดอกบัว และเมื่อพินิจพิเคราะห์ ภาพดอกมณทอง จะเห็นได้ว่ามีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม ฉะนั้น ในบริบทของเพลงลาวคำหอม ดอกโกมล ก็น่าจะหมายถึง ดอกมณฑารพ ด้วยเช่นกัน

เวปไซต์ บ้านมหาดอตคอม กล่าวอ้างถึง ประวัติประเพณีแห่มาลัยอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ซึ่ง มีการกล่าวถึง ดอกมณฑารพ ไว้ความว่า

เนื้อความในพระไตรปิฎกส่วนที่ว่าด้วยพระสุตตันตปิฎก บทปรินิพพานสูตร กล่าวถึง ดอกมณฑารพ ซึ่งเป็นดอกไม้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีความสวยงามและมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ เมื่อถึงกาลเวลาที่ดอกมณฑารพจะบาน และร่วงหล่นก็ด้วยเหตุการณ์สำคัญ ๆ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน จาตุรงคสันนิบาต และทรงแสดงพระธัมมจักรกัปวัตนสูตร ดอกมณฑารพจึงได้ร่วงหล่นลงมายังโลกมนุษย์ ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันปรินิพพาน ที่เมืองกุสินารา ดอกมณฑารพนี้ก็ได้ร่วงหล่นลงมาทั้งก้านและกิ่ง เปรียบเหมือนความเสียอกเสียใจพิไรรำพันต่อการเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า (7)

ฉะนั้นผู้เขียนขอสันนิษฐานไว้ว่า ดอกมณฑารพ ก็คือ ดอกไม้สวรรค์ ในบริบทของเพลงลาวคำหอม และเพราะผู้ชาย ณ ห้วงเวลาหนึ่ง ขณะที่มีความรัก ก็น่าจะมีนางในดวงใจ เพียงนางเดียว แต่นางในดวงใจนั้น อาจจะมีหลายชื่อนั่นเอง 

 

สำหรับคำว่า นอนวัน ในเพลงลาวคำหอม นั้น ก็ไม่ได้หมายถึง นอนกลางวัน ฝันกลางวันแต่อย่างใด นอนวัน พจนานุกรม ฉบับมานิต มานิตเจริญ พิมพ์ครั้งที่ 9 หน้า 479 ให้ความหมายไว้ความว่า

นอนวัน เป็นคำกริยา (ลูกข่าง) หมุนตรงสนิทอยู่กับที่
vi. (of a top or a gyro) to spin smoothly as if stopping still
(8)


กริยาที่เรียก ลูกข่างนอนวัน ซึ่งเพี้ยนมาจาก ลูกข่างนอนวน สาเหตุอาจจะเป็นด้วยคำว่า นอน และคำว่า วน เป็นพยัญชนะนาสิกย์ (nasals) ( ม ,น,ญ ,ง) ทั้งคู่ เวลาออกเสียงคำว่า นอนวน จึงอาจเกิดการกลมกลืนเสียง (Assimilation) เป็น นอนวัน ก็เป็นได้ (เดานะ ..หาตำราไม่เจอ เขียนจากความทรงจำ...ฮา) สาเหตุที่ผู้เขียนติดใจคำว่า นอนวัน เพราะเนื้อเพลงลาวคำหอมแต่งเนื้อร้อง ไว้ว่า

"โอ้อกคิดถึง คิดถึงคะนึงนอนวัน นอนให้ ใฝ่ฝันเห็นจันทร์แจ่มฟ้า"


บริบทของเนื้อเพลงลาวคำหอม นี้ กล่าวถึงช่วงเวลากลางคืน เพราะกล่าวอ้างถึงพระจันทร์ แต่เป็นไปได้ว่า บริบทของเพลงจะเป็น คืนข้างแรม (ไร้จันทร์) แต่พี่ก็จะขอ "นอนให้ ใฝ่ฝันเห็นจันทร์แจ่มฟ้า" นั่นเอง

แต่ถ้าแปลตามบริบทของเพลงลาวคำหอมว่า พี่นอนฝันกลางวัน (นอนวัน) ฝันเห็นพระจันทร์ เห็นดอกไม้สวรรค์ ก็ดูจะเป็นการปรักปรำท่านเจ้าคุณฯ ผู้ประพันธ์เพลงลาวคำหอมว่า เป็นคนเกียจคร้านชอบนอนกลางวัน ไม่ปฏิบัติราชการ ผู้ประพันธ์เพลง เป็นถึง พระยาประสานดุริยศัพท์ คงจะต้องมีภารกิจที่จะต้องทำมากมาย เป็นแน่แท้ เพลงลาวคำหอมท่อนที่ว่า "โอ้อกคิดถึง คิดถึงคะนึงนอนวัน" จึงควรหมายถึง การนอนคิดถึงนางผู้เป็นที่รัก โดยนอนนิ่งสนิทไม่ขยับไปไหน ทั้งยังสามารถนอนได้ทั้งในเวลากลางวัน และในเวลากลางคืน อีกด้วย สำหรับส่วนความเชื่อเรื่อง ดอกไม้สวรรค์ นี้มีปรากฎอยู่ในโคลงโลกนิติ ความว่า



อย่าเอื้อมเด็ดดอกฟ้า       มาถนอม
สูงสุดมือมักตรอม            อกไข้
เด็ดแต่ดอกพยอม           ยามยาก ชมนา
สูงก็สอยด้วยไม้             อาจเอื้อมเอาถึง



โคลงโลกนิติ บทนี้ สอนให้รู้จักประมาณตน การใฝ่ฝัน หรือปรารถนาในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (หมายปองดอกฟ้า) ย่อมจะต้องพบกับความผิดหวังเจ็บปวด (อกไข้/เป็นไข้ใจ : กินยาอะไรถึงจะหายหนอ) ซึ่งตรงกับสำนวน ดอกฟ้ากับหมาวัด หรือ กระต่ายหมายจันทร์ นั่นเอง



พอพูดถึงเรื่องกระต่ายหมายจันทร์ ผู้เขียนนึกถึงตำนานศรีปราชญ์ แม้นว่านักวิชาการบางท่านจะเชื่อว่าศรีปราชญ์ไม่มีตัวตนจริงและไม่ได้แต่ง(โคลง) กำสรวลศรีปราชญ์ ทว่า โคลงปฏิพากษ์ ที่ ศรีปราชญ์ แต่งโต้กับ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ มีปรากฎ เด่นชัดอยู่ (ซึ่งอาจมิใช่ศรีปราชญ์แต่ง) ความว่า


(ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ บริภาษศรีปราชญ์)

หะหาย!! กระต่ายเต้น        ชมจันทร์
มันบ่เจียมตัวมัน                ต่ำต้อย
นกยูงหากกระสัน              ถึงเมฆ
มันบ่เจียมตัวน้อย              ต่ำเตี้ยเดียรฉาน


หะเห้ย..ไอ้กระต่ายหมายจันทร์
ไม่เจียมตัวว่าต่ำต้อย
ไอ้นกยูง อยากเหยียบเมฆ
ไอ้สัตว์เดียรฉาน ไม่เจียมตัว


(ศรีปราชญ์ ตอบ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์)

หะหาย!! กระต่ายเต้น        ชมแข
สูงส่งสุดตาแล                  สู่ฟ้า
ฤดูฤดีแด                        สัตว์สู่ กันนา
อย่าว่าเราเจ้าข้า              อยู่พื้นดินเดียว


หะเห้ย!! ถึงกระต่าย จะหมายจันทร์
อันอยู่สูงสุดสายตา บนฟากฟ้า
แต่เป็นเพราะว่ามันถึงฤดู ของสัตว์อย่างกระต่ายที่จะมีฤดี ผสมพันธ์(สมสู่)กัน กระมังหนา
อย่ามา แกล้งบริภาษกันเลย อยู่บนพื้นดินเดียวกัน ไม่มีใครอยู่บนฟ้าดอก ...ฉะนั้นมีสิทธิ์ผสมพันธุ์กันได้??? ฮา....

โคลงบทนี้ล่ะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ศรีปราชญ์ถูกเนรเทศไปเมืองนครศรีธรรมราช ในที่สุด จุดจบศรีปราชญ์เป็นเช่นใดท่านผู้อ่านคงจะพอทราบ...


ด้วยเหตุนี้โบราณราชกวี ท่านจึงสอนไว้ในโคลงโลกนิติว่า เมื่อถึง ยามยาก(จน) ก็ให้ เด็ดแต่ ดอกพยอม (หญิงที่มีฐานะเท่าเทียมกัน) มาเชยชม เพราะถึงแม้นว่า ดอกพยอมนี้ จะอยู่สูงก็ยังอาจจะหาไม้ยาวๆ สอยเอาได้ (เอ ถ้าเรายังอยากที่จะเด็ดดอกฟ้า เช่นนั้นเราควรที่จะตั้งหน้าตั้งตาทำบุญทำกุศล เพื่อว่าจะได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เช่นนี้แล้วจึงจะสามารถเด็ดดอกปาริชาต และดอกอสาพตี มาเชยชมได้ ดีจริงๆ ฮา..แต่ต้องรอชาติหน้า..ตายแล้วเกิดใหม่?? ไม่สิ สวรรค์อยู่ในอกนรกอยู่ใจ )

 

สรุปสาระที่ได้จากเพลงลาวคำหอม

1.เพลงลาวคำหอม กล่าวอ้างอิงถึงดอกไม้สวรรค์ว่าอยู่สวรรค์ชั้น ดุสิต แต่ในข้อเท็จจริง ดอกไม้สวรรค์ควรอยู่ในชั้น ดาวดึงส์ ดอกไม้สรรค์นั้นได้แก่ ดอกปาริชาต และดอกอสาพตี ซึ่งในบริบทของเพลงลาวคำหอมเรียกดอกไม้สวรรค์นั้นว่า ดอกมณฑาทอง 

2. เพลงลาวคำหอมนี้ทำให้เราได้ อุทธาหรณ์ที่ว่า อย่าเด็กดอกไม้ในสวนเพราะจะถูกตำรวจับ เอ้ย  (ผิดจุดๆ) การหมายปองดอกฟ้า จะทำให้เป็นไข้ใจ สำหรับชุดความคิดที่ปรากฎในเพลงลาวคำหอมนี้ คงได้รับอิทธิพลมาจากโคลงโลกนิติบทดังกล่าว หรือไม่ก็เป็นประสบการณ์ตรง (Direct Experience) ของท่านเจ้าคุณเอง...

3. คำว่า นอนวัน หมายถึงนอนนิ่งสนิทอยู่กับที่  ว่าแล้วก็ไป นอนวัน คิดถึงดอกไม้สวรรค์ คิดถึงจันทร์แจ่มฟ้า บ้างดีกว่า...เรา...เห้อ...

4. คิดเอาเอง....ดูสิ

บรรณานุกรม

มานิต มานิตเจริญ, พจนานุกรมไทย.--พิมพ์ครั้งที่ 9.--กรุงเทพฯ : บำรุงสาส์น, 2528.


สิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์

(1) oknation, "ดนตรีไทย (Thai Classical Music Club)" [ http://www.oknation.net/blog/tcmc/2007/03/27/entry-5 ].23 March 2008.

(2) rdi.ku.ac.th, "นิทรรศการ "บนเส้นทางงานวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2549"" [ http://www.rdi.ku.ac.th/kasetfair49/Award/aw_04/aw_04.htm ].15 August 2008.

(3) qsbg, "Queen Sirikit Botanic Garden >> Ministry of Natural Resources and Environment" [ http://www.qsbg.org/IMAGES/Plans/February/ery_str.jpg ].24 March 2008.

(4) phranippan, "สวรรค์ รูปพรหม อรูปพรหม" [ http://www.phranippan.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=521113 ].23 March 2008.

 (5) rirs3.royin, "พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒" [ http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp ].23 March 2008.

(6) flickr, "Photo Sharing!" [ http://www.flickr.com/photos/68305246@N00/44500138/
].24 March 2008.

(7) baanmaha, "ประเพณีแห่มาลัย อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร - บ้านมหา การศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรม ท้องถิ่น" [ http://www.baanmaha.com/community/showthread.php?t=8452 ].23 March 2008.

(8) guru.sanook, "แปลภาษาไทย-อังกฤษ " [ http://www.phranippan.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=5211http://guru.sanook.com/dictionary/dict_te/%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99/ ].23 March 2008. 

คำสำคัญ (Tags): #ลาวคำหอม
หมายเลขบันทึก: 172401เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2008 21:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

แวะมาฟังเพลงค่ะ สบายใจดีจัง ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ

-ลาวคำหอม...ถึงคำลาวหอม....ภาษาลาว..

สวัสดีครับอาจารย์ ทัศนีย์ ขอบคุณครับที่แวะมาเยี่ยมชม

สวัสดีครับอาจารย์ พรรณา แลกเปลี่ยนทรรศนะไว้ได้นะครับ แฮ่ะ ไม่ค่อยสันทัดภาษาถิ่นครับ

มาเยี่ยม ...

อ่านถึงดอกไม้ปาริชาต

นึกถึงดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยทักษิณ ก็ดอกที่ว่านี้เอง...

สวัสดีค่ะ

คำว่า นอนวัน หมายถึงนอนนิ่งสนิทอยู่กับที่

* มั่นใจนะคะว่าจะนอนวัน...

นั่นมันนอนตายแล้วนี่ครับ 5555

สวัสดีครับอาจารย์ พรรณา 555

สวัสดีครับอาจารย์อุทัย พิมพ์ตก ต้องลบ..แย่จัง ขอบคุณสำหรับความรู้เรื่องต้นไม้ประจำสถาบันครับ

นามสกุลผมอ่ะครับ คำหอม

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท