พันธุ์ไม้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย


พันธุ์ไม้ช่วยเหลือเกษตรกรประสบอุทกภัย

 

สำนักงานเกษตรจังหวัดอุทัยธานีจ่ายพันธุ์ไม้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย

ได้รับการสนับสนุนพันธุ์กล้าไม้จากศูนย์พันธุ์เพาะเลี้ยงหรือศูนย์เนื้อเยื่อจังหวัดสุพรรณบุรีโดยสนับสนุนพันธุ์ไม้ดังนี้ 

1.  มะละกอพันธุ์ปลักไม้ลาย  จำนวน     40,000    ต้น

2.  พริกขี้หนูพันธุ์ลูกผสม  จำนวน     50,000    ต้น

3.  มะเขือลูกผสม  จำนวน     50,000    ต้น

มะละกอพันธุ์ปลักไม้ลาย

มะละกอ เป็นผลไม้ที่สามารถรับประทานได้ทั้งผลสุกและผลดิบ เป็นที่ชื่นชอบกันโดยทั่วไป ปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทยเพราะประเทศไทยมีอากาศร้อนชื้น เหมาะกับการเจริญเติบโตของมะละกอ หากปลูกเป็นการค้าก็สามารถที่จะทำได้เป็นอย่างดี เนื่องจากว่าเมื่อปลูกไปแล้วประมาณ 5-6 เดือน ก็จะมีการติดผลค่อนข้างดกมาก  พันธุ์ของมะละกอที่ใช้ปลูกมีอยู่มากในประเทศเรา เช่น แขกดำสายพันธุ์ดำเนินสะดวก เป็นพันธุ์ที่มีลักษณะต้นเตี้ยให้ผลเร็ว ติดผลดก กลิ่นหอม ความหวานสูง แต่มีข้อเสียคือไม่ค่อยต้านทานโรคใบด่างของมะละกอ
มะละกอพันธุ์ปลักไม้ลาย มีลักษณะอย่างไร
ลักษณะประจำพันธุ์ เริ่มจาก
ใบ จะมีใบสีเขียวแยกออกเป็นแฉกๆนับได้ใบละ 11 แฉก กลางใบจะมีกระโดงอีก 1 ใบๆมีขนาดเล็ก
ก้านใบ  มีสีเขียวอ่อน ก้านตั้งชู ไม่โน้มลงด้านล่าง ความยาวของก้าน 60-80 เซนติเมตร
ลำต้น  จะมีฐานลำต้นที่ใหญ่ ไม่จำเป็นต้องใช้ไม้ค้ำเหมือนพันธุ์อื่นๆ ลักษณะลำต้นคล้ายทรงเจดีย์ และมีข้อลำต้นถี่
ราก  ของมะละกอพันธุ์นี้ มีขนาดใหญ่ออกรอบลำต้น ต่อยึดลำต้นได้ดี รากแขนงและรากฝอยออกได้ทั่วดี ทรงพุ่ม จึงหาอาหารเก่ง เจริญเติบโตได้ดี และมีความแข็งแรงมาก
สำหรับ ดอก ของมะละกอพันธุ์นี้ กลีบดอกจะมีสีนวล เกสรสีเหลืองอ่อน ดอกสมบูรณ์เพศจะมีรูปทรงกระบอกสวย
ส่วน ผล นั้นจะเห็นเป็นรูปทรงกระบอก ใน 1 ช่อ จะมีผลติดอยู่ 1-3 ผล คุณไพรรัชแนะนำให้ปลิดทิ้งไปให้เหลือเพียง 1 ผลเท่านั้น ต่อ 1 ช่อ โดยเลือกผลที่สมบูรณ์ที่สุดไว้ มะละกอพันธุ์ปลักไม้ลายเป็นพันธุ์ที่นิยมรับประทานผลสุก มีน้ำหนักต่อผลเฉลี่ย 0.8-2 กิโลกรัม ขนาดของผลใหญ่ปานกลาง ผลผลิต 1 ต้น ในช่วงเวลาเก็บเกี่ยว 10 เดือน มีปริมาณ 60-80 กิโลกรัม ลักษณะเนื้อผลมะละกอ หนา 2.5-3 เซนติเมตร เนื้อสีแดงอมส้ม ที่สำคัญไม่เละ และมีความหวานมาก
สามารถปลูกได้ 2 วิธีคือ
1. ปลูกในพื้นราบ ให้เรายกร่องแบบร่องผัก กลางร่องให้ทำหนุนแบบหลังเต่า แล้วนำมะละกอมาปลูกแนวสันกลางร่อง หลุมปลูกให้มีความลึกพอประมาณ หลังจากนั้นตามสูตรสำเร็จให้ใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักรองก้นหลุม คลุกเคล้าให้เข้ากับดิน เสร็จจึงนำต้นกล้ามาลงปลูก เวลากลบดินควรกลบให้เท่ากับระดับของถุงเพาะ ห้ามใช้ดินสุมโคนกล้าโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้ต้นกล้าตายได้
2. ปลูกพื้นร่องสวน สามารถปลูกได้ 2 วิธี คือ ถ้าร่องสวนแคบจะปลูกกลางร่องได้ 1 แถว ถ้าร่องสวนกว้างจะปลูกได้ 2 แถว สำหรับการลงปลูกด้วยต้นกล้าก็ทำแบบเดียวกับการปลูกในพื้นราบ แต่ข้อสำคัญที่สุดคือ การกลบดินควรให้เท่าระดับดินในถุงเพาะ และไม่ควรใช้ดินสุมโคนต้นกล้าโดยเด็ดขาด
หลังลงปลูกต้องมารู้จักการดูแลรักษา
การให้น้ำการให้น้ำแบบสปริงเกอร์ยังสามารถควบคุมปริมาณการให้น้ำจะได้ไม่ชื้นแฉะมากจนเกินไป ให้ดินมีความชุ่มชื้นพอดีๆ กันทั่วแปลง
สำหรับการบำรุงต้น ด้วยวิธีใส่ปุ๋ยนั้นจะเน้นในส่วนของปุ๋ยธรรมชาติเป็นหลัก โดยเฉพาะ ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก สามารถใส่ได้บ่อยครั้ง ประมาณเดือนละ 2-3 ครั้ง โดยหว่านรอบๆ โคนต้น ควรจำไว้เสมอว่า เมื่อใส่ปุ๋ยทุกครั้งแล้วให้รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ ถ้าไม่เช่นนั้นปุ๋ยก็จะไม่ละลายลงไปในดิน ถ้าไม่ลงไปในดินให้เราใส่ปุ๋ยลงไปเท่าไรก็ไม่ได้ผล หรือถ้าได้ก็จะได้ผลช้า ต้นมะละกออาจจะชะงักการเจริญเติบโตได้ นั่นเป็นผลพวงที่ต่อเนื่องกัน
การกำจัดวัชพืชเป็นสิ่งสำคัญมากเช่นกัน ในช่วงระยะแรกต้นกล้ายังเล็ก ควรที่จะใช้แรงงานคนในการถอนทิ้ง ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะใช้จอบ ถาก ใกล้ๆ โคนต้น เพราะจะทำให้ระบบรากเน่าเสียง่าย เมื่อต้นอายุได้ 2-3 เดือน ลำต้นมีความสูง 50-70 เซนติเมตร และมีทรงพุ่มกว้างประมาณ 1 เมตร ควรที่จะกำจัดวัชพืชออกให้หมด เพราะวัชพืชนี้จะเป็นตัวแย่งปุ๋ยและธาตุอาหารในดินของมะละกอหมด ถึงแม้ว่ามะละกอจะมีการเจริญเติบโตที่ใหญ่มากขึ้น ในการกำจัดวัชพืชนั้นก็ควรที่จะใช้แรงคนอยู่ดี ถ้าหากเราใช้จอบถากในต้นที่โต ก็อาจพลาด ไปถูกรากของต้นมะละกอ ทำให้รากของมะละกอเกิดแผล และเชื้อราจะเข้ามาทางรากได้ง่าย หรือมีอีกวิธีที่ทางคุณไพรรัชได้แนะนำเอาไว้คือ ก่อนที่จะลงปลูกให้เรานำพลาสติกดำมาคลุมไว้บนแปลงเพื่อป้องกันการเกิดวัชพืช แต่วิธีนี้ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็คุ้มค่าเช่นกัน
โรคและแมลงที่มารบกวน
มีโรคโคนเน่า รากเน่า เกิดจากเชื้อราในดิน ที่เข้ามาตามแผลที่เกิดจากราก และการให้น้ำมากจนเกินไป ท่วมขังทำให้เกิดโรคได้
โรคราแป้ง จะพบเห็นมากบนใบ และผลที่มีสีเขียว จะเกิดคราบฝุ่นของเชื้อรา เป็นขุยสีขาว
โรคใบด่าง อาการใบจะมีขนาดเล็ก สีซีด ต่อมาใบจะร่วง ยอดเหลืองซีด ก้านใบสั้น ใบด่างเหลืองสลับเขียว สาเหตุส่วนใหญ่เกิดมาจากแมลง เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไก่ฟ้า มาดูดกินน้ำเลี้ยง แมลงที่เป็นโรคเมื่อไปดูดต้นอื่นๆ ที่ยังไม่เป็นก็จะทำให้ติดลามกันไปทั้งหมด
โรคแอนแทรกโนส จะมีอาการเป็นจุดสีน้ำตาลลุกลามเป็นวงกลม เมื่อผลสุกจะมีความหวานน้อย เนื้อสุกจะลามมากขึ้น เป็นแผลกลมนุ่ม และเป็นวงซ้อนๆ กัน
สำหรับแมลงที่สำคัญ มีเพลี้ยอ่อน จะเป็นตัวถ่ายทอดโรคใบด่างเหลือง
เพลี้ยไฟ เป็นลักษณะแมลงกัดเขี่ย ดูดน้ำเลี้ยง ส่งผลทำให้ใบ เส้นกลางใบ และขอบใบแห้ง เป็นสีน้ำตาล ทำให้ผลกร้าน
ไรแดง ทำให้ใบเป็นฝ้าด่าง ดูใกล้ๆ จะพบสีคล้ำๆ เป็นจำนวนมาก นี่เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับมะละกอ ให้ผู้ปลูกควรสังเกตและระมัดระวังโรคและแมลงที่มักเกิดขึ้นกับมะละกอได้
วิธีเก็บผลผลิต
มะละกอพันธุ์ปลักไม้ลาย เมื่ออายุได้ 7 เดือน จะเริ่มให้ผลแก่ทยอยๆ กันไป โดยสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เรื่อยๆ มะละกอจะมีอายุยืนยาวมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา โดยทั่วไปนิยมเก็บเกี่ยวผลจนอายุประมาณ 2 ปี จึงปลูกใหม่ ผลผลิตจะได้ประมาณ 5-8 ตัน ต่อไร่
การเก็บผลมะละกอ หลังจากตัดขั้วออกแล้ว ให้ห่อหุ้มด้วยโฟมชนิดตาข่าย หรือจะเป็นกระดาษหนังสือพิมพ์ก็ได้ แล้วจึงบรรจุลงตะกร้า
พริกขี้หนู
พริกขี้หนูถือเป็นพืชที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน พริกขี้หนูไม่ได้เพียงช่วยชูรสอาหารให้เผ็ดร้อนเท่านั้นพริกขี้หนูยังมีสรรพคุณทางยาไม่แพ้พืชผักอื่นๆเหมือนกัน เม็ดพริกช่วยแก้ คลื่นไส้ อาเจียน แก้โรคบิด สามารถทำให้หลอดเลือดขยายตัวและเลือดไหลเวียนได้ดี นอกจากนี้คนที่เป็นโรคบิดถ้านำพริกขี้หนูสดสักเม็ดมาเคี้ยวเพียงเท่านี้อาการก็จะทุเลาลงได้

 

โดย....สะแกกรัง

 

หมายเลขบันทึก: 167689เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2008 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 15:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีครับ
  • ผมเคยแต่ได้ยินชื่อครับ มะละกอพันธุ์ปลักไม้ลาย ยังไม่เคยปลูก
  • ขอบคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท