สรุปผลการดำเนินงานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) (ตอนที่ 3)


                นอกจากนั้น  ยังมีร่างกฎหมายอีกหลายฉบับที่ค้างอยู่ในกระบวนการขั้นตอนต่างๆ  มีทั้งส่วนที่น่าจะเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาและฟื้นฟูจังหวัดชายแดนภาคใต้  เช่น  (ร่าง) พระราชบัญญัติฟื้นฟูชุมชนและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชายแดนภาคใต้  และ  (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต   และส่วนที่เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เช่น  (ร่าง) พระราชบัญญัติคนขอทาน,  (ร่าง) พระราชบัญญัติหอพัก,  (ร่าง) พระราชบัญญัติปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย   จึงหวังว่ารัฐบาลและรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบงานด้านสังคมในช่วงต่อไปจะได้พิจารณาด้วยความรอบคอบ

๒. การปรับโครงสร้างองค์กรและการพัฒนาศักยภาพบุคลากร

                เพื่อให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีโครงสร้าง  การแบ่งกลุ่มงาน  และการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นระบบสำหรับรองรับกฎหมายใหม่  สอดคล้องกับสภาพปัญหาสังคมทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต  ทั้งในระดับโลก  ระดับประเทศ  และระดับท้องถิ่น  ตลอดจนสอดคล้องกับข้อตกลง  อนุสัญญา  กติกา  และความร่วมมือระหว่างประเทศที่นับวันจะมีบทบาทมากขึ้น

                กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีความจำเป็นต้องเอาใจใส่ต่อการปรับโครงสร้างและพัฒนาศักยภาพบุคลากรอย่างจริงจัง   ซึ่งจะสามารถสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลสงเคราะห์  จัดสวัสดิการ  และพัฒนากลุ่มเป้าหมายเฉพาะ  เช่น  เด็ก  เยาวชน  สตรี  คนพิการ  ผู้ด้อยโอกาส  ผู้สูงอายุ  และกลุ่มชาติพันธุ์  ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                นอกจากนั้น   กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ยังต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนากลไกการศึกษา  เฝ้าระวังปัญหาและแจ้งเตือนภัยทางสังคม  รวมทั้งการพัฒนาหน่วยงานเพื่อรองรับบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจเพื่อสังคม  ภาคประชาสังคม  ระบบอาสาสมัคร  งานวิชาการ  และการรวบรวมข้อมูลอย่างเท่าทันเหตุการณ์อีกด้วย

                อย่างไรก็ตาม    ในช่วงระยะเวลาที่จำกัด   เราได้ดำเนินการไปได้ในระดับหนึ่งแล้ว 

จึงหวังว่าฝ่ายนโยบายและคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงจะได้พิจารณาสานต่อตามสมควรเช่นกัน

๓. การปฏิบัติงานตามภารกิจประจำของกระทรวง

                เพื่อให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีผลงานเชิงคุณภาพ  สร้างคุณค่าให้สังคมอย่างต่อเนื่อง  ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ช่วยแบ่งเบาภารกิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  โดยกำกับดูแลงานประจำของข้าราชการทั้งในระดับส่วนกลางและส่วนภูมิภาค  โดยให้ความสำคัญกับการเสนอแนะแนวความคิดใหม่  หรือนวัตกรรมการทำงานพัฒนาสังคม  การสร้างขวัญกำลังใจบุคลากร  การดำเนินการกระบวนการเพื่อให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สามารถธำรงไว้ซึ่งมาตรฐานการทำงานบนหลักจริยธรรม  จรรยาบรรณ  และธรรมาภิบาล  เพื่อศักดิ์ศรีของข้าราชการและเกียรติภูมิของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

                การแก้ปัญหาเร่งด่วนที่เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  อาทิ  กรณีโครงการบ้านเอื้ออาทร  กรณีแฟลตดินแดง  การไล่รื้อชุมชนสลัม  หวย  โควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลสำหรับผู้พิการ  แก็งค์ลักเด็ก  การกระทำรุนแรงในครอบครัวและในสังคม  การล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศ  สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก-เยาวชน  ปัญหาหอพัก  สื่อและอินเทอร์เน็ตลามก  ฯลฯ

                ทุกปัญหามีภาวะความขัดแย้ง  ความกดดัน  การเผชิญหน้า  แต่ด้วยวิธีการที่เราให้เกียรติ  รับฟัง  วิจัย  ค้นคว้า  วิเคราะห์  และค้นหาทางออกทางเลือกที่ดีที่สุดเป็นไปได้มากที่สุด  โดยมีหลักการ  และมีกระบวนการมีส่วนร่วมจริงจัง  ทำให้หลายปัญหาสามารถคลี่คลายและบรรเทาลงได้

๔. การขยายเครือข่ายองค์กรพันธมิตร

                ด้วยตระหนักว่าภาระงานด้านพัฒนาสังคมจะลุล่วงสมบูรณ์ทั่วถึง  มิใช่เพียงลำพังข้าราชการ  และทรัพยากรของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เท่านั้น  แต่ต้องด้วยการผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนในสังคมเป็นสำคัญ  ทั้งจากสถาบันทางสังคม  สถาบันวิชาชีพ  หน่วยงานภาครัฐ  ภาคเอกชน  ภาคชุมชน  ภาคประชาสังคม  และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

                คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมจังหวัด  คณะกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัด  และคณะทำงานเครือข่ายยุทธศาสตร์ตามประเด็นปัญหาต่างๆ  คือรูปธรรมที่เป็นองค์การเชิงเครือข่าย (Networking   Organization)   ที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาสนับสนุนงานและมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง  วิธีการ  ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับชาติในช่วงที่ผ่านมา

                นอกจากนั้น  ยังได้ผลักดันมาตรการสนับสนุนทางนโยบายและทางกฎหมาย  เช่น  มาตรการด้านภาษีที่เอื้อต่อการให้และอาสาช่วยเหลือสังคม  การออกระเบียบที่เอื้อต่อการให้ผู้ทำงานภาครัฐและเอกชนได้มีโอกาสทำงานเพื่อสังคม  การจัดกิจกรรมรณรงค์ระดับประเทศ  การพัฒนาระบบสวัสดิการท้องถิ่นโดยบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  การจัดตั้งเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคม  เครือข่ายประชาสังคมเพื่อการพัฒนา

                ทุนเชิงเครือข่ายและทุนทางสังคมของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เหล่านี้  ล้วนมีความหมายอย่างยิ่งต่อบทบาทของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในระยะยาว

๕. การหนุนเสริมภารกิจที่เป็นระเบียบวาระของประเทศ\

                ด้วยระลึกเสมอว่า  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีภาระหน้าที่ในการปกป้อง  คุ้มครอง  ดูแลสิทธิและศักดิ์ศรีแห่งมนุษย์  รวมทั้งสวัสดิภาพ  สวัสดิการ  ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมด้านต่างๆ ของประชาชนกลุ่มต่างๆ ในสังคม   ดังนั้น  เราจึงได้ให้ความสำคัญกับปัญหาที่เป็นวาระของประเทศ  อันได้แก่  สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้  การพัฒนาบรรยากาศและจิตสำนึกประชาธิปไตย  การลดปัญหาความรุนแรงและแตกแยกทางสังคม  การสร้างสังคมสันติยุติธรรม

                ในแต่ละเรื่องที่เป็นระเบียบวาระของประเทศดังกล่าว  เราได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นนวัตกรรมที่สร้างผลสะเทือนและผลกระทบที่แตกต่างจากการดำเนินงานของราชการทั่วไปอยู่ไม่น้อย  อาทิ  โครงการเยียวยาและฟื้นฟูผู้รับผลกระทบจากความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้,  โครงการเครือข่ายอาสาสมัครดูแลผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้,  โครงการส่งเสริมบทบาทปอเนาะเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเข้มแข็ง,  โครงการพัฒนาระบบกองทุนซะกาตดูแลเด็กกำพร้าในชุมชนมุสลิม,  โครงการผลิตละครโทรทัศน์เรื่องยาว รายากุนิง,  โครงการเวทีประชาธิปไตยชุมชนเพื่อความมั่นคงของมนุษย์ ๙๒๖ เวที,  โครงการคลินิกสันติยุติธรรม,  ศูนย์สนับสนุนการป้องกันและลดความรุนแรง  ฯลฯ

๕. การสื่อสารสาธารณะ

                การรายงานต่อสังคมผ่านสื่อสารสาธารณะและสื่อมวลชนถือเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  โดยมุ่งหวังให้สังคมรับรู้  เข้าใจ  สนับสนุน  และมีส่วนร่วมกับการทำงานเพื่อสังคมกับภาครัฐและรัฐบาล

                นอกจากการทำงานร่วมกับสื่อมวลชนเพื่อระดมและรับฟังความคิดเห็น  ความต้องการของสมาชิกสังคมกลุ่มต่างๆ อย่างกว้างขวาง  และการสื่อสารกับสังคมผ่านสื่อมวลชน  ทั้งวิทยุกระจายเสียง  โทรทัศน์  และสื่อสิ่งพิมพ์เป็นระยะ  อย่างสม่ำเสมอและสอดรับกับสถานการณ์ในวาระงานแล้ว  เรายังได้นำนโยบาย  แผนงาน  รวมทั้งประเด็นทางสังคมเข้าสู่เวทีสาธารณะผ่านสื่อมวลชน  เพื่อสร้างวัฒนธรรม  ประชาเสวนาร่วมค้นหาทางออกเพื่อสังคม  อีกด้วย

                อาทิ  จัดวาระพิเศษ สภาชาวบ้าน  ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์  อสมท.   ในประเด็นเด็ก  เยาวชน  สตรี  ผู้พิการ  และสวัสดิการสังคม  รวมทั้งรายการ ประชาเสวนาเพื่อประชาธิปไตยชุมชน ด้วย

                ร่วมมือกับเนชั่นแชนแนลผลิตชุดรายการโทรทัศน์  ๘ โจทย์สำคัญของแผ่นดิน  ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมกันตั้งโจทย์  แตกโจทย์  ตอบโจทย์  ซึ่งสามารถกระตุ้นพรรคการเมือง  นักการเมือง  และสังคมได้อย่างมากทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐

                ผลิตรายการโทรทัศน์ พบรัฐมนตรี  โดยเชิญรัฐมนตรีกระทรวงด้านสังคมทุกกระทรวงมาร่วมสื่อสารสู่สาธารณะผ่านไททีวีช่อง ๑  และ เคเบิลทีวีช่อง ๒๘ ทั่วประเทศ

                และด้วยตระหนักว่างานด้านสังคมมีความเป็นพลวัตรไม่หยุดนิ่ง  การทำงานที่ต่อเนื่องทั้งงานประจำ  งานนโยบาย  และงานนวัตกรรม  ในช่วง  ๑ ปีล้วนมีองค์ความรู้  และประสบการณ์ที่มีคุณค่าสะสมอยู่  เราจึงได้ผลิตเอกสารเพื่อบันทึกและเผยแพร่งานสำคัญเอาไว้เป็นข้อมูล  ความรู้  เพื่อประโยชน์ของผู้ปฏิบัติงาน  เพื่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และเพื่อสังคมต่อไป
หมายเลขบันทึก: 162481เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2008 13:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ตามมาชื่นชมผลงาน

เป็นการทำงานที่ต้องใช้เวลา แต่มีคุณค่าในการพัฒนาคนและสังคมไทยค่ะ

ขอเป็นกำลังใจในการทำงานเพื่อสังคมต่อไป และขอใช้แนวทางของท่านเป็นแบบอย่างในการทำงานเพื่อชุมชนต่อไปครับ

ขอชื่นชมการทำงาน และกระบวนการคิดค่ะ  ติดตามอ่านผลงาน 3 ตอน ได้เปิดโลกทัศน์ของตัวเอง ได้แนวคิดและกำลังใจในการทำงาน เพื่อประชาชนและสังคมต่อไปค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท