ขอโทษครับ ผมผิดเอง‏


นิ้วทั้งห้าของคนเรานั้นสั้นยาวไม่เท่ากันฉันใด คนทุกคนต่างก็มีศักยภาพทางสติปัญญาไม่เท่ากันฉันนั้น ก่อนที่เราจะดุใครหรือโกรธใคร ไม่ว่าจะเป็นลูกน้อง เพื่อน คนรัก หรือใครก็ตาม ควรถามตัวเองก่อนว่า เราใช้เขาให้สอดคล้องกับศักยภาพอันแท้จริงของเขาหรือไม่ เพียงไร (Put the right man on the right job)

วันวานมีลูกศิษย์คนหนึ่งโทรศัพท์ทางไกลมา
เท่าที่ฟังจากปลายสาย รู้ว่าเขากำลังทุกข์มาก
ประโยคแรกที่เขาขอร้องก็คือ ช่วยทำให้หายโกรธด้วย
 ....

เชื่อไหมว่า คนที่เป็นนายคน
ไม่น้อยกว่าห้าสิบคนในบริษัทแห่งหนึ่ง
สำเร็จการศึกษามาจากเมืองนอก บริหารธุรกิจนับร้อยล้าน
แต่ไม่สามารถบริหาร "อารมณ์โกรธ" ของตนเองได้

คนอย่างนี้ควรจะเรียกว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวดี

บอกให้เขาชูมือของตัวเองขึ้นมาแล้วลองพินิจดูว่า
นิ้วแต่ละนิ้วนั้นสั้นยาวเท่ากันหรือเปล่า

ถามเขาว่า ถ้าอยากให้นิ้วโป้งยาวกว่านิ้วกลาง
                  อยากให้นิ้วนางยาวเท่านิ้วชี้ เธอก็จะทุกข์ทันที

เขาถามว่าทำไม
ตอบไปว่า เพราะความอยากที่สวนทางกับธรรมชาติของความเป็นจริงเช่นนั้น
ไม่มีวันเป็นจริงขึ้นมาได้เลย
เมื่อความอยากเดินสวนทางกับความเป็นจริง มีหรือที่จะไม่ทุกข์

ต้นตอแห่งความโกรธของลูกศิษย์คนนั้น
มาจากการที่ลูกน้องของเขาคนหนึ่งทำงานชิ้นสำคัญไม่เสร็จตรงตามเวลาที่เขากำหนด
เมื่อลูกน้องมารายงานให้ทราบว่างานไม่เสร็จตามเป้าหมาย
จึงเกิดการ "เทศน์นอกธรรมาสน์" กันขึ้น

เมื่อต่างฝ่ายต่างก็แรงเข้าหากัน เพราะถือว่าต่างก็มีดีด้วยกันทั้งคู่ (อหังการ/ฉันแน่)
สุดท้ายลูกน้องคนนั้นซึ่งเป็นคนสำคัญของบริษัท  เป็นฝ่ายหมดความอดทนก่อน เขาจึงประกาศขอลาออก  และให้สัตย์สาบานว่าจะไม่มาเหยียบที่บริษัทนั้นอีก
ซ้ำยังท้าทายด้วยว่า ถ้าขาดเขาเสียคนหนึ่ง บริษัทจะไปไม่รอด

เพียงเท่านี้แหละ
ลูกศิษย์ซึ่งเป็นผู้บริหารโกรธจนตัวสั่นที่ถูกท้าทาย
แต่พอลูกน้องเดินลับสายตาออกไปแล้ว
ความเสียใจอย่างลึกซึ้งก็เคลื่อนตัวเข้ามาแทนที่ความโกรธ

คราวนี้ไม่โกรธลูกน้องแล้ว แต่เป็นการโกรธตัวเอง
ที่ไม่รู้จักหักห้ามใจตนจนทำให้คนของตัวเองซึ่งคบหาพึ่งพากันมานาน
ต้องมาเลิกร้างห่างเหินกันไปอย่างไม่ไยดี
ลองคิดดูสิว่า หากเป็นนายคน แล้วเสียลูกน้องมือดีไปแบบกู่ไม่กลับอีกแล้ว
จะโกรธตัวเองไหม จะเสียใจไหม

ไม่ใช่เพราะเสียดายเขา
แต่เสียใจที่เกิดความบาดหมางระหว่างกันขึ้นมาจนได้
 
เกิดมาเป็นคนกับเขาชาติหนึ่ง ไม่ควรโกรธหรือเป็นศัตรูกับใคร
และไม่ควรสร้างเงื่อนไขให้ใครต้องมาเป็นศัตรูกับเรา
คนจีนเขาสอนลูกหลานกันมานานหลายชั่วคนแล้วว่า
"มีมิตร ๕๐๐ คนยังน้อยไป มีศัตรู ๑ คนก็นับว่ามาเกินพอ "

คนเรากว่าจะคบกัน เรียนรู้กัน เชื่อใจกัน และร่วมมือร่วมใจกัน
ลงหลักปักฐานทำงานอะไรสักอย่างหนึ่งจนเติบโตมาด้วยกัน
ทั้งความสัมพันธ์และความสำเร็จทางธุรกิจ ต้องใช้เวลาเรียนรู้กันนานเหลือเกิน
แต่แล้ววันหนึ่งขณะที่ทุกอย่างกำลังไปได้ดีก็กลับมาแตกคอกันเอง
กลายเป็นน้ำแยกสายไผ่แยกกอ เพียงเพราะตกเป็นทาสของความโกรธชั่ววูบเดียว

เรื่องอย่างนี้เป็นใครก็ต้องเสียใจเป็นธรรมดา
ยิ่งเมื่อเวลาผ่านไปเราได้ค้นพบว่าตนเองเป็นฝ่ายผิด
ความเสียใจซึ่งมันควรจะจบไปแล้วในอดีต
ก็จะวกกลับมาทำร้ายเราซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่รู้กี่ครั้งกี่หน

นิ้วทั้งห้าของคนเรานั้นสั้นยาวไม่เท่ากันฉันใด
คนทุกคนต่างก็มีศักยภาพทางสติปัญญาไม่เท่ากันฉันนั้น
ก่อนที่เราจะดุใครหรือโกรธใคร ไม่ว่าจะเป็นลูกน้อง เพื่อน คนรัก
หรือใครก็ตาม  ควรถามตัวเองก่อนว่า
เราใช้เขาให้สอดคล้องกับศักยภาพอันแท้จริงของเขาหรือไม่ เพียงไร
(Put the right man on the right job)

หากเราคิดเช่นนี้ทุกครั้งก่อนที่จะดุหรือตำหนิคนอื่น
เราจะพบว่าแท้ที่จริงแล้ว คนที่ควรตำหนิมากที่สุดก็คือตัวของเรานั่นเอง

"ขอโทษครับ ผมผิดเอง"
 
คือคำตอบที่เขาใช้กับลูกน้องคนสำคัญของตัวเอง
และด้วยถ้อยคำง่าย ๆ เพียงไม่กี่คำนี้เอง
ฟ้าหลังฝนก็กลับมาสดใสเหมือนเดิม

คำว่า "ขอโทษครับ ผมผิดเอง"
มีปาฏิหาริย์มากถึงเพียงนี้เชียวหรือ
ตามหลักทางจิตวิทยา
มนุษย์ทุกคนล้วนอยากให้คนอื่นมองเห็นตนว่าเป็นคนสำคัญ
และต่างก็มี "ปม" ด้วยกันทั้งนั้น
มากบ้างน้อยบ้างตามแต่ภูมิหลังของใครของมัน
คนบางคนก็มีปมอยากเด่น บางคนก็มีปมด้อยที่อยากปกปิด
บางคนก็มีปมที่อยากชดเชยให้กับตัวเอง
แต่ปมทั้งหมดนั้น พระพุทธเจ้าของเราทรงใช้คำสั้น ๆ  เรียกมันว่า "ตัวกู"
และเรื่อง "ของกู" เท่านั้นเอง

โดยเฉพาะเรื่อง "ตัวกู" นั้นสำคัญยิ่งกว่า " ของกู" อีกหลายเท่าตัวทีเดียว
เพราะถ้าไม่มี "ตัวกู" ความรู้สึกว่า "ของกู" ก็ไม่เกิดตามมา
ที่ลูกน้องระดับ "มืออาชีพ"  รีบหายโกรธเจ้านายทันที
หลังจากที่ได้ยินคำว่า "ขอโทษครับ ผมผิดเอง " นั้น
ก็เป็นเพราะเขาซึ่งเป็นผู้ฟังอยู่รู้สึกว่า "ตัวกู" ของเขาไม่ผิด
ตัวกูของเจ้านายต่างหากที่ผิด

เมื่อผลักความรู้สึกผิดออกไปจากอกของตัวเองเสียได้
และมีคนมารับช่วงเป็นเจ้าของความผิดแทนตัวกูของเขา
ก็เป็นไทและพ้นจากความผิด

ส่วนการที่เจ้านายขอให้เขากลับมาร่วมงานกันอีกครั้งหนึ่งนั้น
ก็เป็นเพราะผู้ฟังรู้สึกว่าตัวกูของเขา
ได้รับการเชิดชูให้ลอยเด่นขึ้นมา
โดยผู้ที่ยกให้ลอยนั้นเป็นเจ้านายของเขาเสียด้วย เขาจึงยอม
 
เรื่องนี้ฟังดูก็เหมือนง่าย แต่ความจริงมันยากมากทีเดียว
ที่จะทำให้เป็นจริงในทางปฏิบัติ เพราะคงจะมีคนที่เป็นนายคนไม่กี่คนเท่านั้น
ที่ยอมลด "ตัวกู" ของตัวเอง
ให้อยู่ต่ำกว่า "ตัวกู" ของลูกน้อง
ตรงนี้แหละที่ครูถือว่าเป็นเคล็ดลับของการบริหารตัวกูละ
 
จงถือคติ
 ๑. อย่าดูหมิ่นตัวกูของใคร
 ๒. อย่าอวดตัวกูข่มใคร เพราะจะทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างตัวกูpit
 ๓. อย่าขโมยตัวกูของใครมาเป็นตัวกูของตัวเอง  (อันเดียวกับขโมยลิขสิทธิ์นั่นเอง)
 ๔. อย่ามีตัวกูแทรกอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก

.........จาก ธรรมะติดปีก ของ ว.วชิรเมธี

หมายเลขบันทึก: 162184เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2008 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 12:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท