ตู้เย็นคนยาก...จากหลวงน้า


กราบนมัสการหลวงน้า และกราบสวัสดีทุกท่านครับ

        สบายดีนะครับผม พอดีวันนี้เจอความบังเอิญ กัณยาณมิตรถามผมว่า รู้จักวัดป่ายาง ต.ท่างิ้ว อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ไหม... เอ..ฟังแล้ว วัดป่ายาง นี่คุ้นๆ ว่าแม่เคยบอกว่า วัดป่ายาง แต่ไม่แน่ใจว่า ตำบล นี่ใช่หรือไม่ เพราะว่าหลวงน้าบวชอยู่ที่นั่นด้วย พอคุยไปคุยมา กัลยาณมิตรบอกว่า เป็นวัดที่เป็นศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ผมก็อ๋อเลย มีพระอยู่สองรูป และหลวงน้าชื่น (พระชื่น อาทโร) บวชอยู่ที่นั่นด้วยนะครับ เลยทำให้ได้เห็นภาพหลวงน้าในฉบับเป็นพระ เพราะตั้งแต่ท่านบวชเป็นพระนั้นผมไม่เคยได้ีโอกาสเจอเลย เพียงแต่ได้รับข่าวจากเพื่อนโส (บ้านสวนพอเพียง) และท่าน อ.พูลสวัสดิ์ (ลุงพูน) พบเจอหลวงน้าแล้วฝากข้อความถึงกันครับ

        ทราบว่าที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ได้เปิดเป็นศูนย์อบรมหลายๆ อย่าง เกี่ยวกับการเกษตรปลอดสารพิษ เกษตรกู้ชาติ  อยากให้ท่านติดตามอ่านในภาพต่อไปนี้ดีกว่าครับ นั่นคือ ตู้เย็นคนยาก...จากหลวงน้า....

http://gotoknow.org/file/mrschuai/pra-chuen.jpg

ดาวน์โหลด

        คิดว่าตู้เย็นคนยาก นี้ จะเกิดประโยชน์ กับหลายๆ ท่านนะครับ กราบขอบพระคุณหลวงน้าด้วยนะครับ ที่ได้ร่วมกันคิดและเดินแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และคิดถึงสุขภาพของประชาชนครับ

ข้อมูลเพิ่มเติม... http://www.oae.go.th/zone/zone8/Headnew/November2007.pdf 

ก่อนจากหลวงน้าฝาก ตู้เย็นคนยากแล้ว  ผมขอฝาก  ตู้เย็นธรรมชาติ ด้วยครับ ของหลวงน้าเก็บผักได้เป็นเดือน  ส่วนตู้เย็นธรรมชาตินี่ เก็บได้ตราบเท่าที่มีน้ำครับ

 ตู้เย็นแบบธรรมชาตินี้คือ

  • จะเก็บปลา ก็เก็บไว้ในบ่อเลี้ยงปลา ในสระน้ำ ห้วยหนองคลองบึง

  • จะเก็บผัก ก็เก็บไว้ในแปลง ดิน ดอน ทุ่งนา สวนครัว ....

  • จะเก็บเนื้อ ก็เลี้ยงเอาไว้ในบ้าน ไก่ เป็ด ไข่ ......

  • จะเก็บผลไม้ ก็สวนผลไม้ หรือต้นผลไม้ มะม่วง ชมพู่ มะละกอ ข้างสระน้ำที่เก็บปลา

  • จะเก็บข้าว ก็มีฉางข้าว กระสอบข้าว เก็บไว้ในนา แล้วเอามาเก็บไว้ในบ้าน

  • อ่านเพิ่มเติมได้ที่...

    KM ในครัว (4) : KM ในตู้เย็น เปิดแล้วเย็นกาย ดื่มแล้วเย็นใจ

ขอบคุณกัลยาณมิตร มากๆ นะครับ ที่นำสารส่งมาให้และช่างถามได้ตรงและบังเิอิญจริงๆ นะครับ และกราบขอบพระคุณ ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยด้านอาหาร สำหรับการตีพิมพ์เรื่องราวดีๆ ทางการเกษตรครับ

กราบขอบพระคุณหลวงน้า และทุกๆท่าน มากนะครับ ลองนำไปใช้กันดูนะครับ ธรรมชาติดีครับ

เม้ง 

หมายเลขบันทึก: 160386เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2008 08:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

สวัสดีครับทุกท่าน

        พอลองค้นๆ ดู ใช้คำว่า ตู้เย็นคนยาก เลยทำให้ไปเจออะไรที่น่าสนใจต่อครับ ดังต่อไปนี้ครับ

สวัสดีค่ะ...เมื่อไม่กี่วันก่อนได้มีโอกาสอ่านหนังสือ "เทคโนโลยีสำหรับชนบท" จัดทำโดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) เป็นหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ทั้งเทคนิควิธีการ ขั้นตอนในการประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ที่เราสามารถนำมาใช้ นำมาปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวันของเราอย่างง่าย ๆ แต่ละเรื่องล้วนแต่น่าสนใจ ซึ่งรวบรวมไว้ถึง 8 เล่ม...ฉบับนี้เลยเลือกเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับตู้เย็น ซึ่งเป็นตู้เย็นที่เราสามารถผลิตเองได้ โดยไม่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากเลยค่ะ

ตู้เย็นคนยาก
Friuts เรื่องราวที่มาที่ไปของเจ้าตู้เย็นคนยากนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองไทยนะคะ แต่เกิดขึ้นในทวีปแอฟริกา โดยครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งในจังหวัดจิกาวาในไนจีเรีย ชื่อคุณครูแอบบา การที่คุณครูได้คิดประดิษฐ์ตู้เย็นขึ้นมา เนื่องจากอากาศที่ร้อนจัดของไนจีเรีย เป็นเหตุทำให้พืชผัก ผลไม้สุกเร็ว จึงทำให้เด็กๆต้องขาดเรียนเพื่อไปช่วยผู้ปกครองขายพืชผัก ผลไม้ที่ตลาดอยู่บ่อย ๆ คุณครูเลยคิดค้นผลิตตู้เย็นนี้ขึ้นมา ตู้เย็นของคุณครูก็ไม่ได้ทำยากอะไรมากมาย เพียงใช้ตุ่ม 2 ใบ โดยนำตุ่มใบเล็กใส่ลงไปในตุ่มใบที่ใหญ่กว่า โดยใส่ทรายรองก้นระหว่างตุ่มใบเล็กและใบใหญ่ รวมไปถึงช่องว่างระหว่างตุ่มทั้ง 2 ใบเช่นกันเมื่อใส่ทรายลงไปแล้ว จากนั้นเทน้ำลงไปให้ทรายชุ่มน้ำ นำผัก ผลไม้ที่ต้องการเก็บไว้มาแช่ในตุ่มใบเล็กและนำผ้าชุบน้ำมาปิดฝาตุ่มไว้ เท่านี้ก็ได้ตู้เย็นคนยากมาใช้ในบ้านได้แล้วค่ะ...ที่สำคัญอย่าลืมเติมน้ำลงไปในทราย ให้ทรายชุ่มน้ำอยู่เสมอนะคะ

ตู้เย็นคนยากนี้สามารถเก็บรักษา ผัก ผลไม้ได้นานกว่าเดิม จากที่เคยเก็บได้แค่ 3 - 4 วัน ก็สามารถเก็บรักษาได้นานประมาณ 3 - 4 สัปดาห์เชียวนะคะ ที่สำคัญไม่ต้องเปลืองเชื้อเพลิงหรือว่าต้องเสียค่าไฟฟ้าแม้แต่บาทเดียว แถมตู้เย็นของคุณครูแอบบานี้ได้รับรางวัลนวัตกรรมโลว์เทค จากโรเล็กซ์ ซึ่งมอบให้กับสิ่งประดิษฐ์จากหลักวิทยาศาสตร์อย่างง่าย ๆ และราคาถูกที่สามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ตู้เย็นของคุณครูแอบบานี้ถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีแบบพอเพียงที่น่าจะนำมาเป็นต้นแบบและกระตุ้นให้เราร่วมกันคิด ร่วมกันทำ นำภูมิปัญญาไทยที่น่าสนใจมาพัฒนาปรับปรุงและเผยแพร่ต่อไปค่ะ
(ข้อมูลจาก: เทคโนโลยีสำหรับชนบท เล่มที่ 3 หน้า 6 - 8)

ตู้เย็นแบบประหยัด
ในปัจจุบันตู้เย็นที่ผลิตออกมาจำหน่ายในท้องตลาดนั้นมีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งบางครอบครัวไม่มีความสามารถพอที่จะซื้อมาใช้ภายในครอบครัวได้ ดังนั้นเลยนำเรื่องราวเกี่ยวกับตู้เย็นแบบประหยัดมาฝากอีกเรื่องค่ะ ตู้เย็นแบบประหยัดนี้สามารถเก็บรักษาอาหารให้สดและนานได้พอ ๆ กับตู้เย็นที่ขายตามท้องตลาด โดยสามารถทำได้อย่างง่าย ๆ และประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้มีดังนี้ค่ะ
        1. ตะกร้าที่สานด้วยไม้ไผ่ หวาย เลือกขนาดตามต้องการ 1 ใบ (ควรมีขนาดเล็กกว่าภาชนะบรรจุน้ำ)
        2. ฝาครอบตะกร้าสานจากไม้ไผ่ หวาย 1 ฝา
        3. ภาชนะที่ใช้บรรจุนำทำจากโลหะ ดินเผา หรือถังน้ำมันที่ใช้แล้ว ลึก 6 นิ้วขึ้นไป 1 ถัง
        4. ก้อนหิน หรือ อิฐ 6 ก้อน
        5. ผ้าดิบ หรือ ผ้าขนหนู 2 ผืน
        6. เข็ม ด้าย
วิธีการทำ
        1. นำผ้าดิบหรือผ้าขนหนูมาเย็บริมขอบรอบตะกร้าด้านนอก ปล่อยชายผ้าให้ห้อยลงมาโดยยาวกว่าตะกร้าประมาณ 5 นิ้ว นำผ้าอีกผืนเย็บริมขอบด้านในโดยมีความยาวเท่ากับตะกร้า
        2. นำก้อนหินวางไว้บนภาชนะบรรจุน้ำ แล้วเติมน้ำลงไปโดยให้ก้อนหินโผล่พ้นน้ำประมาณ 1 ซม.
        3. นำตะกร้าวางลงบนบนก้อนหิน วางให้สมดุลเพื่อไม่ให้ตะกร้าล้มและปล่อยชายผ้าด้านนอกให้จุ่มน้ำในภาชนะ

เมื่อนำอาหารมาแช่ในตู้เย็นควรจัดให้เป็นระเบียบ อย่าวางให้แน่นจนเกินไปและปิดฝาตะกร้าทุกครั้ง ควรหมั่นเติมน้ำในภาชนะ พยายามอย่าให้น้ำแห้งนะคะ และก่อนแช่อาหารควรพรมน้ำลงบนผ้าคลุมให้ชุ่มทั้ง 2 ด้าน ถ้าต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำความเย็นของตู้เย็นแบบประหยัดให้ทำงานได้ดีขึ้น ควรที่จะเก็บตู้เย็นไว้ในที่ร่มแสงแดดไม่สามารถส่องถึง และมีอาการถ่ายเท
(ข้อมูลจาก: เทคโนโลยีสำหรับชนบท เล่มที่ 7 หน้า 19 – 21)

เป็นไงคะ..กับเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับตู้เย็นที่นำมาฝากในฉบับนี้ ถ้าใครว่างก็ลองนำไปทดลองทำดูนะคะ ว่าจะได้ผลจริงหรือไม่ ถ้าใครที่ทดลองทำแล้ว ก็ส่งจดหมายมาเล่าให้ฟังบ้างนะคะ ว่าผลที่ได้ออกมาเป็นยังไง...ถ้าท่านใดที่มีเกร็ดความรู้ หรือว่าเรื่องราวที่น่าสนใจใดๆ สามารถส่งมาได้นะคะ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านท่านอื่น ๆ ต่อไปค่ะ

  นพกานต์ ศรีสุขวัฒนานันท์

จาก...http://www.ist.cmu.ac.th/riseat/nl/2003/02/think.php

เลยได้ทราบที่มามากขึ้น ว่าแหล่งจริงๆ จาก ไนจีเรีย

ึ่น่าจะมีการส่งผ่านภูมิปัญญาให้ปรับเหมาะสมกับพื้นที่ ท้องถิ่นครับ

ไนจีเรียจะใช้โอ่งยี่ห้อไหน เมืองไทยจะใช้โอ่งยี่ห้อไหนก็ทดลองกันนะครับ

เพื่อให้ได้คุณค่าและใช้ได้กันอย่างมีประสิทธิภาพครับ

ขอบพระคุณกูเกิ้ลครับ 

สวัสดีครับ

     หันเข้าหาธรรมขาติ ทุกอย่างจะปลอดภัยครับ

 

 

อีกชุดข้อมูลพร้อมภาพครับ...

ตู้เย็นคนยาก

ดร.พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ

 



    พื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีนั้นจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ในการพัฒนาประเทศอาจใช้ประโยชน์จาก เครื่องมือดังกล่าวได้ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะใด ขอให้มีความรู้จริงเป็นใช้ได้


    ครูสอนวิทยาศาสตร์คนหนึ่งในแอฟริกาเพิ่งได้รับรางวัล นวตกรรม โลว์เทค จากโรเล็กซ์ เป็นเงินรางวัลประมาณ 3 ล้านบาท กับสิ่งประดิษฐ์ที่ อาศัยหลักการง่าย ๆ ทางวิทยาศาสตร์ ราคาถูกและใช้งานได้จริง คุณครู แอบบา จากจังหวัดจิกาวาในไนจีเรีย รู้สึกเป็นทุกข์ใจมากที่นักเรียนของตน ต้องหยุดโรงเรียนไปช่วยพ่อแม่ขายผลิตผลจากพืชในตลาดอยู่บ่อย ๆ เพราะ ผักและผลไม้ในอากาศที่ร้อนจัดของไนจีเรียมักสุกไว และเน่าเสียหายได้ อย่างรวดเร็ว เมื่อตัดแล้วต้องรีบไปขาย คุณครูคนนี้เลยคิดตู้เย็นจากของที่มี อยู่ในธรรมชาติโดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์พื้นฐานขึ้นมา


    ตู้ เย็นของคุณครู คือตุ่มสองใบ ใบเล็กอยู่ข้างในใบใหญ่ โดยระหว่าง ตุ่มใบเล็กกับใบใหญ่มีทรายรองก้น และรองใส่ระหว่างช่องว่างตุ่มใหญ่กับตุ่ม เล็ก แล้วแกก็เอาน้ำเทลงไปให้ทรายชุ่มน้ำอยู่ แล้วเอาผ้าชุบน้ำปิดฝาตุ่มไว้ เท่านี้ก็จะได้ตู้เย็นคนยาก โดยปริมาตรภายในของตุ่มใบเล็กสามารถใช้เก็บอาหาร พืชผัก ผลไม้ได้เป็นเวลานานกว่าเดิม ผลไม้สดที่เคยเสียภายในเวลา 3-4 วัน ก็เก็บได้นานกว่า 4 สัปดาห์ มะเขือเทศก็จะสามารถเก็บได้นานกว่า 3 สัปดาห์ นักเรียนตัวเล็กของคุณครูก็ไม่ต้องหยุดเรียนไปช่วยพ่อแม่ขาย สินค้าเกษตร เพราะคุณพ่อคุณแม่มีตู้เย็นของตนเองทุกบ้าน โดยไม่ต้องเสีย ดุลการค้า ไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้า และมีโนฮาวพอที่จะผลิตขึ้นใช้เองได้จากของ ที่มีอยู่เองภายในหมู่บ้าน ในราคาที่ถูก ครัวเรือนมีกำลังจัดทำได้


    ระบบ ตุ่มเล็กในตุ่มใหญ่ หรือตู้เย็นคนยากของคุณครูแอบบานี้ นับ ว่าใช้ความเข้าใจพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เหมาะสมเป็น อย่างดี โดยที่ตุ่มดินเผาเป็นรูพรุนพอที่จะให้น้ำซึมผ่านได้บ้าง พอน้ำระเหย ออกจากผิวของตุ่มใหญ่ด้านนอก สภาพน้ำจากของเหลวเป็นไอน้ำจะนำเอา ความร้อนแฝงออกไป ทรายเปียกน้ำที่อยู่ระหว่างชั้นในของตุ่มใหญ่และชั้น นอกของตุ่มเล็ก ทำหน้าที่สองอย่างคือ เป็นตัวเก็บความเย็นและเป็นแหล่ง ที่ให้น้ำสู่ตุ่มนอกเพื่อให้น้ำระเหย ตู้เย็นชนิดนี้ใช้หลักฟิสิกส์ของความร้อน แฝงของการเปลี่ยนเฟสจากของเหลวเป็นไอ ใช้หลักการถ่ายเทความร้อน ของพื้นผิว และการรักษาเก็บกักความเย็นโดยเม็ดทราย ผิวระหว่างชั้นนอก และชั้นในจะทำหน้าที่เป็นผนังที่เย็นลงไปเป็นชั้น ๆ โดยเย็นสุดอยู่ในชั้นใน ของผนังชั้นในของตุ่มเล็ก ตราบใดที่ทรายระหว่างตุ่มทั้งสองมีความชื้นสูงพอ ที่จะให้น้ำซึมออกมาระเหยที่ผิวนอกตุ่มใหญ่ และใช้ผ้าเปียกปิดฝาตุ่มทั้งสอง ไว้แล้ว อุณหภูมิภายในตุ่มเล็กจะเป็นน้อง ๆ ตู้เย็นทีเดียว และสามารถใช้เก็บ อาหารได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในประเทศยากจนที่มีอากาศร้อน ทำให้พืช ผลเสียหายได้ง่าย ประเทศที่มีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ ตู้เย็นจะทำงานได้ดีกว่า ประเทศที่มีความชื้นสัมพัทธ์สูง แต่อย่างไรก็ตาม ความร้อนแฝงของน้ำที่ ระเหยออกจากผิวตุ่มภายนอกคือ BTU ของตู้เย็นคนยากนี้ เกือบจะโดยตรง ทีเดียว


    ภาย ในไม่กี่ปีข้างหน้าตุ่มเล็กในตุ่มใหญ่ของคุณ ครูแอบบาก็คงจะ แพร่หลายออกไปให้ประโยชน์แก่ประเทศยากจนด้อยพัฒนา โดยไม่ต้องกลัว ว่าจะถูกฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์เหมือนสิทธิบัตรหลาย ๆ อย่างที่คนในประเทศที่ พัฒนาแล้วคิดขึ้นและงกเป็นเงินเป็นทองไปเสียหมด


    พอ จะเห็นความสำคัญขององค์ความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งถ้าสามารถทำให้แพร่หลายออกไปได้ และสอนให้คนรู้จัก คิดหาเหตุผล หาวิธีแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของชาติบ้านเมืองแล้ว ตัวอย่าง เล็ก ๆ ของตุ่มในตุ่ม ตู้เย็นคนยากของคุณครูแอบบา อาจเรียกได้ว่าเป็น เทคโนโลยีแบบพอเพียงในเศรษฐกิจแบบพอเพียงที่น่านำมาเป็นต้นแบบสอน คนให้ “คิดเป็น ทำเป็น” อันจะทำให้เสริมสร้างสังคมโดยรวมได้ในอนาคต เพียงแต่ว่าต้องสร้างเสริมองค์ความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโน โลยีให้แพร่หลายออกไปอย่างจริงจังในสังคมเสียก่อน



 จาก...http://www.tistr.or.th/t/publication/page_area_show_bc.asp?i1=76&i2=2

 

เทคโนโลยี...จากประเทศด้อยพัฒนา หรือ กำลังพัฒนา ทำแล้ว ใจกว้าง เรียบง่าย แจกจ่ายให้ใช้ฟรี

แต่เทคโนโลยีจากประเทศที่พัฒนาแล้ว...ลิขสิทธิ์ รังแก ใจแคบ เสียจริงๆ หนอ

ทำไม หนอ คนจนใจกว้าง แต่คนรวยใจแคบ...(แม้จะมีข้อยกเว้นก็ตาม  ดูเหมือนว่าจิตใจคนจะแปลผกผันกับความมั่งมี หรือความมั่งมีจะแปลผันตรงกับความตระหนี่ขี้เหนียวหนอ...มนุษย์ผู้เป็นสัตว์ประเสริฐ เอย...)

  • ชอบจังเลย ดีจังเลยค่ะ...น้องเม้ง
  • ธรรมชาติ  มีอะไรที่ลงตัวเสมอค่ะ
  • ขอบคุณที่มีเรื่องราวที่ดี  นำมาให้ได้อ่าน

สวัสดีครับคุณลุงวอนาย วรชัย หลักคำ

        ใช่ครับ หันเข้าหาธรรมชาติ จะได้ธรรม มีใจเป็นธรรม แล้วได้หลักธรรมและทำได้ แต่ทุกวันนี้เราปล้นธรรมชาติ กันแย่แล้ว เผาป่าทีหนึ่งนี่ ปล้นทั้งป่าเลยครับ ไม่ว่าจะดินน้ำลมไฟอากาศ

        แต่พอทำลายธรรมชาติ ความรู้หดหาย เพราะทำลายธรรมชาติย่อมขาดความรู้ เพราะความรู้อยู่ในธรรมชาติ

ขอให้เรากลับลำกันได้ทันครับ 

สวัสดีครับพี่อ้อยสิริพร กุ่ยกระโทก

           เนอะพี่เนอะ ธรรมชาติ สร้างมาให้หมดแล้ว เราไปตัดวงจรห่วงโซ่ที่สมบูรณ์กันเอง ช่วยไม่ได้ครับ งานนี้ เราก็โง่และโดนหลอกมาเยอะครับ ตอนเป็นนักเรียนเกษตร ก็เหมือนโดนหลอกให้ใช้ปุ๋ยเคมีนั่นหล่ะครับ ยาฆ่าแมลงด้วยครับ นี่หล่ะหนา แม่บอกว่าผิดไม่ถูกจริงๆ ครับ ตอนนี้จะกลับลำมาฟืนฟูดิน ท่านครูบอกว่า มีหลายคนบ่นว่า ดินตายแล้ว แย่เลยครับ

        ขอบคุณพี่มากครับ

  • สวัดสีครับคุณ เม้ง
  • ขอบคุณมากครับ สำหรับความรู้ดีที่นำมา แจกจ่าย
  • เยี่ยม

สวัสดีครับคุณtikapus

        ลองเอาไปทำดูนะครับ ทำดูแล้วจะรู้จริงครับ ปรับใช้ตามแบบ น่าจะเหมาะกับประเทศเราครับ

    แข่งกัน --------->  แบ่งปัน

เปลี่ยน ข เป็น บ  (ให้มี บ.ใบไม้เยอะก็ต้องปลูกป่าเนอะครับ มีต้นไม้)

เปลี่ยน ก เป็น ป (ให้มี ป.ปลา คนไทยกินปลาเยอะ จะได้ฉลาด ด้วยครับ)

    ประเทศจะอยู่รอดได้ครับ 

คนไทยน่าจะหันมาศึกษาภูมิปัญญาชาวบ้านกันมากๆ เพราะจะช่วยประหยัด และปรับใช้ในชีวิตประจำวัน  ขอขอบคุณเรื่องโอ่งตู้เย็น น่าสนใจ และคิดว่าจะนำไปใช้ค่ะ

สวัสดีครับคุณนภาลัย

        ขอบคุณมากๆ นะครับ ทดลองนำไปใช้แล้วรายงานผลร่วมกันครับเผื่ออาจจะพัฒนาต่อยอดไปได้ ได้ข้อดีเพิ่มเติมแล้วนำมาสู่การพัฒนาไปอีกระดับหนึ่งก็ได้ครับ

 

สวัสดีครับท่านอาจารย์wwibul 

        จริงๆ ระดับชาวบ้านมีเทคโนโลยีระดับชาวบ้านที่ทำแล้วไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมีเยอะนะครับ เพียงแต่หากเข้าถึงแล้วนำมาบอกกล่าวกันต่อๆ เป็นการนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดร่วมกันได้ครับ

ขอบพระคุณทั้งสองท่านมากครับ 

ดีจังเลยค่ะน้องเม้ง

้ต้องบอกว่าไม่ใช่ตู้เย็นคนยากนะคะ เป็นตู้เย็นของคนฉลาดใช้ค่ะ 

ดีจังค่ะ เก็บไว้ใช้เผื่ออนาคตหนีขึ้นดอย อิอิ

สวัสดีครับพี่กมลวัลย์

        สบายดีนะครับผม นั่นนะซิครับ ชื่อเป็น ตู้เย็นคนยาก หากมีอุปกรณ์คงประหยัดไปได้เยอะเลยนะครับ นี่หากไปถึงขั้นการเก็บปลา เนื้อสัตว์ ได้ด้วย คงไม่ธรรมดานะครับ แต่อันนี้จะเป็นระดับผักผลไม้ครับ เพราะชื่อว่าอุณภูมิลงไปในระดับไม่เย็นถึงขั้นเป็นน้ำแข็งครับ หากประยุกต์ใช้ร่วม ก็น่าสนใจครับ ลองให้น้องๆ นศ. ไปคิดต่อยอดดูนะครับ

 

สวัสดีครับคุณครู ครูเอ

        ยินดีต้อนรับครับผม อิๆๆ หนีขึ้นดอย เข็นโอ่งขึ้นภูเขาก็น่าสนใจครับ ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงไม่เป็นไร แต่ขอให้โอ่งเข้าถึงก็มีตู้เย็นเลยเนอะครับ

แม่ค้าที่ตลาดน่าจะใช้วิธีการนี้ แบบเข็นผักไปขายก็น่าจะสบายครับ อีกที่ที่น่าสนใจคือ กอกล้วยครับ กอกล้วยจะมักเย็นสบาย หากประยุกต์และเชื่อมโยงบางอย่างได้ จะยอดไปเลยครับ

ขอบคุณทั้งสองท่านมากครับ 

สวัสดีครับ เม้ง

     อ่านบันทึกนี้ตั้งแต่เช้าแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสได้ร่วมสังสรรค์ ก็รู้จังหลวงน้าของเม้งในวันประชุมเครือข่ายมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ที่บ้านผู้ใหญ่สมศักดิ์ ต.สองสลึง อ.แกลง จ.ระยอง เมื่อหลายเดือนมาแล้ว วัดป่ายางเป็นศูนย์อบรมหนึ่งของเครือข่ายมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เช่นเดียวกับศูนย์ทุ่งสงที่ผมไปอบรม วัดป่ายางเท่าที่ทราบ เป็นยิ่งกว่าวัดเป็นที่พึ่งของชาวบ้านได้ เจ้าอาวาสและหลวงน้าของเม้งเป็นพระนักพัฒนาที่น่ายกย่องครับ

     ตู้เย็นคนยาก เข้าบรรยากาศกับบันทึกของผมที่เปลือยตู้เย็นธรรมชาติ รอบบ้านออกมา  เท่าที่ดูตู้เย็นคนยากนี่ทำได้ไม่ยาก แต่ของที่จะเอาไปใส่ในตู้เย็นคนยากนี่ซิ จะทำอย่างไรให้มี โดยที่ไม่ต้องซื้อมา แต่ให้เป็นของจากตู้เย็นธรรมชาติ และปลอดสารเคมี 

 

สวัสดีครับโสบ้านสวนพอเพียง

        ใช่แล้วครับโส ตู้เย็นธรรมชาติ คือสุดยอดแห่งการมีตู้เย็นแล้วครับ คือฝากไว้กับที่ที่ควรอยู่นั่นล่ะ ไปเปิดตู้เย็น หรือไปถอนธนาคารธรรมชาติ ตอนที่ต้องการครับ หากไม่ไปถอนบ่อยๆ ฝากๆไว้อย่างนั้น มีดอกเบี้ยให้เพียบอีกครับ แตกกิ่งก้านเพิ่มเติม ธนาคารธรรมชาตินั้น มีอยู่แล้ว แต่คนเราบางทีไปถอนเกินต้นทุนแถมติดลบเข้าไปอีกครับ 

        ธนาคารธรรมชาติ หรือตู้เย็นธรรมชาติ จึงเป็นการอยู่ร่วมแบบแบ่งปันพึ่งพา เกื้อกูล สำหรับการเคลื่อนย้ายหรือเก็บในส่วนที่ไม่มี ใช้ตู้เย็นคนยากช่วยเสริม ชีวิตพอเพียงก็เกิดครับ

        ผมเคยลองถามเพื่อนๆ เล่นๆ ว่า เงินเดือนเท่าไหร่ถึงจะพอเดือน แบบพอนะครับ พอแบบไม่อด... คำถามนี้ดูเหมือนจะไปละลาบละล้วงเรื่องส่วนตัวแต่ทำให้ีการประเมินเกิดขึ้น ว่าอืม...จริงๆ แล้วเราจะมีเงินแบบเพียงพอรายเดือนเท่าไหร่ เพราะว่า ตามกิเลสแล้วนั้น มีมากก็อาจจะจ่ายมาก ไม่วางแผน มีน้อยหากเคยติดจ่ายมากก็จะไม่พอ แต่หากปรับตัวได้ ก็ยอดครับ

        ตลาดที่ดีคือ ปลูกเองกินเองใช้เองทำเอง เหลือแบ่งปัน แลกเปลี่ยนครับ  เราจะอยู่ได้กันอย่างน่าทึ่งครับ

หากจะเป็นทุนนิยม  ก็ขอให้เป็นทุนนิยมแบบพอเพียงครับ ไม่ใช่ทุนนิยมใจแคบ

หากจะเป็นสังคมนิยม ก็จงอย่าเป็นสังคมนิยมแบบบ้าคลั่ง หัวดื้อ

เริ่มจากการให้ แล้วแบ่งปัน โลกจะมีสิ่งที่ดีๆ เหลือให้เราฝากธนาคารมากมาย ขนย้ายเพื่อเกื้อกูลตามแหล่งพื้นที่ได้

        โสเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างแรงจูงใจให้กับพี่น้องเกษตรกรได้ จบปริญญาก็คลุกดินได้ อยู่กับดิน กับน้ำ ตกน้ำไม่ไหล ตกดินไม่เจ็บครับ

ขอบคุณมากๆ นะครับ

  • ว้าว.....กำลังจะนำเด็กๆ เข้าค่ายลูกเสือพอดี 
  • ไอเดียบรรเจิดเลยจ้า  เด็กๆ อาจจะมีตู้เย็นไว้เก็บผักระหว่างเข้าค่ายนะคะเนี่ย 
  • ขอบคุณค่ะ

เป็นภูมิปัญญาที่ประยุกต์ใช้ได้ดีมากครับ น่าประทับใจจริงๆครับ

----------------------------

ขอบคุณมากๆครับ

สวัสดีครับพี่แอนLioness_ann และ เพื่อนเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

        ขอบคุณมากๆ นะครับ ลองนำกันไปประยุกต์กันให้เข้ากับพื้นที่และบอกต่อหาดีและมีประโยชน์ครับ หากเด็กๆได้รับรู้ก็จะเป็นการสร้างจินตนาการให้กับเด็กได้เป็นอย่างดีครับผม

ขอบคุณมากครับ 

กระผมขอความกรุณาขอข้อมูลเกี่ยวกับการขอสมัครอบรมศูนย์กสิกรรมธรรมชาติของผู้ใหญ่ สมศักดิ์ เพื่อเป็นแนวทางปฏบัติเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เยาวชนและผู้ที่สนใจในจ.กาญจนบุรี กระผมและชาวบ้านอยากร่วมโครงการนี้มากครับ

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

ปิยะบุตร ประสพสุขโชคมณี

ตู้เย็นแบบประหยัด

ในปัจจุบันตู้เย็นที่ผลิตออกมาจำหน่ายในท้องตลาดนั้นมีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งบางครอบครัวไม่มีความสามารถพอที่จะซื้อมาใช้ภายในครอบครัวได้ ดังนั้นเลยนำเรื่องราวเกี่ยวกับตู้เย็นแบบประหยัดมาฝากอีกเรื่องค่ะ ตู้เย็นแบบประหยัดนี้สามารถเก็บรักษาอาหารให้สดและนานได้พอ ๆ กับตู้เย็นที่ขายตามท้องตลาด โดยสามารถทำได้อย่างง่าย ๆ และประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้มีดังนี้ค่ะ

1. ตะกร้าที่สานด้วยไม้ไผ่ หวาย เลือกขนาดตามต้องการ 1 ใบ (ควรมีขนาดเล็กกว่าภาชนะบรรจุน้ำ)

2. ฝาครอบตะกร้าสานจากไม้ไผ่ หวาย 1 ฝา

3. ภาชนะที่ใช้บรรจุนำทำจากโลหะ ดินเผา หรือถังน้ำมันที่ใช้แล้ว ลึก 6 นิ้วขึ้นไป 1 ถัง

4. ก้อนหิน หรือ อิฐ 6 ก้อน

5. ผ้าดิบ หรือ ผ้าขนหนู 2 ผืน

6. เข็ม ด้าย

วิธีการทำ

1. นำผ้าดิบหรือผ้าขนหนูมาเย็บริมขอบรอบตะกร้าด้านนอก ปล่อยชายผ้าให้ห้อยลงมาโดยยาวกว่าตะกร้าประมาณ 5 นิ้ว นำผ้าอีกผืนเย็บริมขอบด้านในโดยมีความยาวเท่ากับตะกร้า

2. นำก้อนหินวางไว้บนภาชนะบรรจุน้ำ แล้วเติมน้ำลงไปโดยให้ก้อนหินโผล่พ้นน้ำประมาณ 1 ซม.

3. นำตะกร้าวางลงบนบนก้อนหิน วางให้สมดุลเพื่อไม่ให้ตะกร้าล้มและปล่อยชายผ้าด้านนอกให้จุ่มน้ำในภาชนะ

เมื่อนำอาหารมาแช่ในตู้เย็นควรจัดให้เป็นระเบียบ อย่าวางให้แน่นจนเกินไปและปิดฝาตะกร้าทุกครั้ง ควรหมั่นเติมน้ำในภาชนะ พยายามอย่าให้น้ำแห้งนะคะ และก่อนแช่อาหารควรพรมน้ำลงบนผ้าคลุมให้ชุ่มทั้ง 2 ด้าน ถ้าต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำความเย็นของตู้เย็นแบบประหยัดให้ทำงานได้ดีขึ้น ควรที่จะเก็บตู้เย็นไว้ในที่ร่มแสงแดดไม่สามารถส่องถึง และมีอาการถ่ายเท

ขอแค่เราคิด และมุ่งที่จะทำ ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้

แช่หมูได้มั้ยคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท