๑๑. สีเสื้อ สีแมว เสียงพิณ ฮิลลารี และโอบามา...กับวิถีพัฒนาสุขภาวะสังคมและชุมชน


"....การวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคมเพื่อสร้างความรู้ให้เข้าใจสภาวการณ์ อยู่ร่วมกันและปรึกษาหารือกันอย่างใช้เหตุผลและสร้างทฤษฎีชั่วคราวให้เหมาะสมไปตามความจำเป็น พร้อมไปกับบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงไปด้วย จะช่วยสร้างพัฒนาการของสังคม และบริหารจัดการสังคมในภาวะเลื่อนไหล..." (ความคิดในการบันทึกเมื่อปี ๒๕๕๑ : ผู้เขียน)

เธอทั้งหลายจงจรไป เพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชนเถิด  : พุทธวจนะ  

จงถือกิจเพื่อประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวมเป็นที่หนึ่ง ของตนและพวกพ้องเป็นที่สอง" : พระบรมราชชนก      

           รอบสองปีที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่สังคมไทยทั้งภาคราชการ เอกชน และสื่อมวลชน ต่างร่วมกันรณรงค์แสดงความจงรักภักดีน้อมเกล้าถวายในหลวงอย่างแพร่หลายมากก็คือ การสวมเสื้อเหลือง ซึ่งต่อมา เมื่อในหลวงทรงฉลองพระองค์สีชมพู ผู้คนก็เริ่มมีการใส่เสื้อสีชมพู จากนั้น ก็ทรงมีการฉลองพระองค์หลากหลายเป็นสีเขียว สีม่วง สีฟ้าคราม สีน้ำเงิน และสีแสดแดง เหมือนกับเป็นกลุ่มสีในสีรุ้งกินน้ำซึ่งมีอยู่เจ็ดสี คือ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง หรืออีกนัยหนึ่งนั้น จัดเป็นสีมงคลประจำวัน 7 วันในหนึ่งสัปดาห์

    ต่อมาในเย็นวันที่ 4 ธันวาคม 2550  ซึ่งได้พระราชทานพระราชดำรัสต่อผู้หลักผู้ใหญ่และหมู่พสกนิกรที่ทุกคนรอคอยเหมือนกับทุกปี ก็ได้ทรงมีพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับสีของเสื้อฉลองพระองค์โดยนัยว่าทรงฉลองพระองค์หลากหลายสีเพราะทำให้ไม่จำเจ มีชีวิตชีวา อีกทั้งได้ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริว่า สำหรับหมู่พสกนิกรแล้ว การถวายความจงรักภักดิ์ดีนั้น ไม่ต้องติดอยู่ที่เสื้อสีเหลืองหรือสีใดก็ได้ สาระสำคัญอยู่ที่จิตใจ เจตนา และการปฏิบัติ

 

              ทำให้นึกถึงวิธีคิดอีกหลายอย่าง ที่เป็นประเด็นเกี่ยวกับวิถีการพัฒนาสังคมต่างๆ โดยเฉพาะ วาทะของ เติ้ง เสี่ยวผิง และ หลักมัชฉิมาปฏิปทา ของเจ้าชายสิทธทัตถะที่ได้หลักปฏิบัติจากการเล่นพิณสามสายของเหล่าเทวดา เมื่อเกือบสามพันปีล่วง

               กระทั่งถึงสิ่งที่อเมริกันชนและคนทั่วโลกกำลังตื่นเต้นกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีว่า ไม่ว่าคู่แข่งขันคนใดจะชนะระหว่าง โอบามา ซึ่งจะทำให้อเมริกาได้ผู้นำเป็นคนผิวสี และ นางฮิลลารี ซึ่งจะทำให้อเมริกาได้ผู้นำเป็นสตรีคนแรก  ต่างก็จะนำอเมริกาก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปอีกก้าวหนึ่ง 

     ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เป็นวิธีคิดที่อยู่ภายใต้เรื่องที่สังคมมักเกิดข้อโต้แย้งกันอยู่เสมอว่า  เป้าหมาย กับวิธีการ / ผลที่ได้กับรูปแบบและกระบวนการ  / คุณค่าทางวัตถุ กับคุณค่าทางจิตใจ อะไรสำคัญกว่ากัน  ?  ซึ่งเป็นการตั้งคำถามแบบต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเป็นการเลือกข้างแบบ Either - or ซึ่งเรามักคุ้นเคยกันดี และเป็นกระแสหลักในวิถีคิดของทั่วโลกที่ผู้คนเป็นจำนวนมากเชื่อว่าเป็นรากเหง้าของความรุนแรงต่างๆซึ่งต้องมุ่งหาวิธีคิดอย่างใหม่ตลอดมา

 

 

               วาทะของเติ้ง เสี่ยวผิง คือ :  แมวสีอะไรก็ได้ ขอให้จับหนูเป็น

               บางคนก็บอกว่า วาทะนี้ว่าด้วยเรื่องเป้าหมายและผลที่ได้รับ โดยหมายถึง วิถีสังคมจีนจะเป็นคอมมิวนิสต์ถูกต้องตามทฤษฎีและอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์เผงเลยหรือไม่ หรือจะปรับไปตามแนวสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือว่าปนเปกับเสรีนิยม  ทุนนิยม  ประชานิยม   เผด็จการ  เหล่านี้ ก็ไม่ต้องไปสนใจหรอก เพราะมันเป็นเพียงเครื่องมือและวิธีการทางสังคม ขอให้ดูที่เป้าหมายและสิ่งที่สังคมแต่ละยุคสมัยพึงได้รับดีกว่า ทำนองว่า ให้ความสำคัญต่อสาระของการบรรลุเป้าหมายและผลที่ได้รับ มากกว่ายึดมั่นถือมั่นที่วิธีการและรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเพียงเปลือกนอก

                แต่บางคนก็บอกว่า จริงๆแล้ว วาทะของเติ้งเสี่ยวผิงไม่ได้มุ่งเน้นว่า เป้าหมายและผลที่ได้ สำคัญกว่าวิธีการ แต่หมายถึงวิธีคิดแบบที่ หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ทรงนิพนธ์เรื่อง ผิวขาวผิวเหลือง เปิดประเด็นแก่นักคิดในสังคมไทย คือ เป็นเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมและสีผิวต่างหาก คือ จะผิวสี(กลุ่มประเทศเอเชีย)  ผิวเหลือง (ญี่ปุ่น) ผิวขาว (อเมริกาและยุโรป) หรือจะแผกต่างกันอย่างไรก็ตาม ทว่า หากทำให้ปวงชนชาวจีนได้ประโยชน์แล้ว ก็เป็นเพื่อนกันได้ทั้งสิ้น 

                ส่วนหลัก มัชฉิมาปฏิปทา ก็คือหลักว่าด้วย อัตตกิลมถานุโยค คือ การทำทุกขกรกิริยา เบียดเบียน กดดันตนเอง หรือวิถีปฏิบัติ  ที่สุดขั้วไปในทางเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น  โดยวางความเชื่ออย่างตั้งมั่นว่า ทำอะไรตามที่ต้องการไม่ได้ก็จะไม่ล้มเลิกไปทำอย่างอื่น  การจะได้สิ่งดีที่สุดและบรรลุสิ่งดีสูงสุด ต้องเกิดจากการทรมานตนหรือเข้มงวดอย่างถึงที่สุด  ก็เหมือนกับสายพิณ ที่ขึงตึงเกินไปซึ่งทำให้ทั้งเล่นไม่เพราะ เล่นลำบาก และขาดลงในที่สุด

               อีกทางหนึ่ง คือ หลักที่ว่าด้วย  กามสุขัลลิกานุโยค คือวิถีซึ่งสุดขั้วไปในทางรามือแก่ตนเอง มุ่งหนทางได้ความสุข เลือกเอาแต่เรื่องที่คิดว่าดีสำหรับตน สะดวก สบาย บำรุงตนเองให้ดีจึงจะสามารถบรรลุความสำเร็จที่ดีที่สุด  ก็เหมือนกับสายพิณที่หย่อนยาน ซึ่งก็เล่นไม่ได้ หรือพาให้ไปไม่ถึงจุดหมายที่ควรจะเป็นอีกเช่นกัน 

     สายพิณที่ขึงตึง เปรียบเสมือนจุดหมายและเป้าหมาย (Goals) ส่วนสายพิณที่หย่อน ผ่อนสบาย เปรียบเสมือน สภาวะและผลที่ได้รับ (Out Come) ซึ่งทำให้ติดความสะดวก สบาย และเพลิดเพลินใจ ไม่ยกระดับการพัฒนาตนเองให้มากเท่าที่ควร

 

               การเล่นพิณด้วยการขึ้นสายที่พอดี ก่อเกิดเสียงดนตรีที่ไพเราะ ทำให้พุทธองค์ได้หลักทบทวนวิถีปฏิบัติเพื่อบรรลุสิ่งอันเป็นความมุ่งมั่นของตน โดยไม่สุดขั้วไปในทางทั้งสอง  ทว่า กลับมุ่งเข้าสู่มรรควิถีและวิธีการแห่งปัญญา หรือ มรรควิธีแห่งการปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม ตรงเข้าสู่จุดหมาย ซึ่งเป็นวิถีแห่งมรรค (เช่น ว่าด้วยมรรคแปด) หรือภาษาทางวิชาการเรียกว่า แนวทางที่เน้นวิธีวิทยา แนวคิด  ระเบียบวิธี  และความรู้เพื่อการปฏิบัติ (Methodology and Method ) นั่นเอง

               (อย่างไรก็ตาม ในหลักทางพุทธธรรมนั้น  มรรควิถีและวิธีการ เป็นเพียง Means หรือองค์ประกอบที่มีความเป็น "ระหว่าง" เชื่อมโยง  เป้าหมาย กับ ผลที่จะได้รับ ซึ่งในทางพุทธศาสนานั้น เน้นความบริสุทธิ์ทั้งเจตนาและการปฏิบัติเป็นที่ตั้ง  ทั้งเบื้องต้น  ท่ามกลาง และเบื้องปลาย  ครอบคลุมทั้งสามมิติเหล่านั้น จึงเป็นแนวทางที่เรียกว่ามีพลังแห่งบริสุทธิคุณ )               

                  ในที่สุด ก็ค้นพบสิ่งที่เป็นนวัตกรรมการพัฒนามนุษย์ให้แก่โลกซึ่งดำเนินมากว่า 2550 ปีแล้ว คือ หลักพุทธธรรมและการจัดการสังคมในวิถีพุทธศาสนา ซึ่งมุ่งเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างสุขภาวะและความสงบเย็นของโลก โดยสร้างพลังจากการเปลี่ยนผ่านภาวะภายในของมนุษย์  เปลี่ยนอุปทานและอวิชชา  ให้เป็นวิชชา  เปลี่ยนผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ 

               และที่สำคัญคือเปลี่ยนความหวาดกลัว  การขึ้นต่อการกราบไหว้วิงวอนรอรับไถ่เดียว   การรอฤกษ์ยาม  และการบูชายัญต่อสิ่งภายนอก  ให้มนุษย์มุ่งสู่การใช้สติปัญญาการปฏิบัติ  พัฒนาความเป็นมนุษย์และความเชื่อมั่นตนเองว่า มนุษย์สามารถบรรลุอิสรภาพและพ้นทุกข์ร่วมกันได้ด้วยวิถีแห่งสติปัญญา

               เราอาจจะเห็นว่า การตั้งคำถามว่า อะไรถูกต้องและดีกว่า ระหว่างสิ่งที่เป็น เป้าหมายและผลที่ได้  กับ เครื่องมือและวิธีการ เป็นเรื่องที่สังคมมักนำมาพิจารณากันอยู่เสมอ ทั้งในยุคโบราณกระทั่งผ่านเข้าสู่ยุคหลังสมัยใหม่ในปัจจุบัน

              ในทางสังคมศาสตร์ และทฤษฎีการพัฒนาสังคมนั้น จัดเรื่องนี้ว่าเป็นข้อถกเถียงและโต้แย้งเชิงวิธีคิดกันอยู่ตลอดมาในประวัติศาสตร์พัฒนาการสังคมต่างๆ เป็นหลายพันปีแล้ว  ดังนั้น  หากดูที่การพัฒนาทางวัตถุ กายภาพ ความเปลี่ยนแปลงทางวิทยาการและเทคโนโลยี  ก็ดูเหมือนว่าโลกได้ไปไกลมาก  ทว่า วิธีคิดและภาวะด้านใน นอกจากหยุดนิ่งไม่ไปไหนแล้ว ก็กลับจะล้าหลังกว่าเดิมเสียอีก

              แม้แต่สหรัฐอเมริกาเองซึ่งเหมือนกับว่าเป็นผู้นำทางอารยธรรมของโลกยุคใหม่   ซึ่ง ณ เวลานี้กำลังก้าวข้ามการตอบคำถามแบบสีของเสื้อ  สีแมว  และเสียงพิณอย่างนี้เช่นกัน  โดยกำลังจะได้ผู้นำสูงสุดซึ่งอาจจะเป็นคนผิวสี (โอบามา ตัวแทนผิวสี) หรือไม่ก็เป็นเพศหญิง (นางฮิลลารี ตัวแทนผู้นำหญิง) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ก็บ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างยิ่งของอเมริกา หรือหลายคนอาจบอกว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยถือว่าอเมริกาเป็นผู้นำของโลก

             สำหรับผู้เขียนแล้ว ในเรื่องนี้  ต้องถือว่าอเมริกาล้าหลังกว่าอีกหลายประเทศ  เป็นต้นว่า  ประเทศอินเดีย (เคยมี นางอินทิรา คานที เป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง)  ปากีสถาน (มี นางเบนาซี บุตโต เป็นผู้นำจากการเลือกตั้ง)  และกลุ่มประเทศที่พัฒนาทีหลังอีกหลายประเทศ ซึ่งมีผู้นำที่เป็นสตรีมาก่อนแล้วเสียอีก 

             ดังนั้น  ที่ทั่วโลกกำลังตื่นเต้นนั้น หากไม่มีอคติต่อตนเองว่าล้าหลังแล้ว  อเมริกาจะล้าหลังกว่าตนเสียอีก  แสดงว่า ระบบการเมืองและผู้นำ ซึ่งจัดว่าเป็นวิธีการและเครื่องมือทางสังคม  แม้จะดีกว่าดังกรณีอินเดียและปากีสถาน  แต่สังคมที่มีพัฒนาการดีกว่าตรงนั้น  ก็ยังต้องการเป้าหมายและภาวะการพัฒนาที่ดีกว่าทางด้านอื่นอีก  ดังนั้น  เพียงเรื่องเดียวกันนี้  จึงหาใช่ตัวบ่งชี้ที่เป็นจริงทั่วไป  โดยเฉพาะในสภาวสการณ์และความจำเป็นของสังคมที่ต่างกัน

            ขณะเดียวกัน จะเห็นว่ากรณีอเมริกานั้น แม้นหลายด้านจะดีกว่าอีกหลายประเทศในโลกมากก็ตาม ก็ใช่ว่าเครื่องมือและวิธีการทางสังคมจะดีกว่าเสมอไป ดังนั้น เมื่อมองพร้อมๆกันแล้ว ก็จะเห็นถึงความยุติธรรมของธรรมชาติและการร่วมทุกข์สุขเดียวกันทั้งของสังคมโลกและท้องถิ่น ซึ่งมีปัญหาและความจำเป็นพอกัน เพียงแต่เงื่อนไขต่างกันเท่านั้น

           อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมมักขัดแย้งกัน แล้วก็มักจะตั้งคำถามย่ำอยู่กับที่  ทั้งที่หากพิจารณาให้ทั่วแล้ว ต้องจัดว่าเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาไปตามกาละเทศะและบริบทของยุคสมัย จะให้แตกหัก ยุติเด็ดขาด มีคำตอบสำเร็จรูป เบ็ดเสร็จและตายตัวในทุกสถานการณ์ ดังวิถีความรู้และวิธีคิดโดยทั่วไป ก็คงจะยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวการณ์ปัจจุบัน

           อย่างไรก็ตาม ย้อนไปนิดหนึ่ง ในพระราชดำรัสของในหลวงตอนหนึ่ง ทรงตรัสว่า ความจริงแล้ว เสื้อสีแสดแดงเป็นสีการกิณีของพระองค์ท่าน ทว่า ก็ทรงนำมาสวมใส่เป็นฉลองพระองค์ด้วย เพราะเป็นสีประจำวันพระราชสมภพของแม่และพี่สาว ซึ่งหมายถึงสมเด็จย่าและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

           ทรงถือหลักปฏิบัติต่อสิ่งสำคัญและมีความหมายต่อพระบรมราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ มากกว่าต่อส่วนพระองค์เอง 

          ตรงนี้  ทำให้ต้องนึกถึงพระบรมราโชวาทของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม กรมหลวงสงขลานครินทร์ พระบรมราชชนก หรือพระบรมราชบิดาของในหลวง ที่ว่า ขอให้ถือกิจอันมุ่งสู่ประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวมมาเป็นที่หนึ่ง ของตนเองและพวกพ้องเป็นที่สอง

 

 หลายคนอาจถือเป็นปรัชญาในการทำงาน ส่วนการหาแนวคิดเพื่อการพัฒนาและสร้างสุขภาวะของสังคม ก็อาจถือว่านี่เป็นวิธีคิดสำหรับเป็นหลักดำเนินชีวิตและประกอบการงานในแนววัฒนธรรมชุมชนนิยมและมุ่งเน้นภาวะผู้นำแบบจิตนิยมประวัติศาสตร์ 

 

 ให้ความสำคัญต่อภาวะผู้นำเป็นกลุ่มและส่งเสริมบทบาทของปัจเจกในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน ทว่า เน้นด้านที่เป็นจิตใจ  คุณค่าทางจิตวิญญาณ  คุณธรรมเพื่อส่วนรวม  ความมีจิตอาสา  ความมีจิตสาธารณะ  ความมีความสมดุลระหว่างส่วนตัวของปัจเจกและส่วนรวม

 

          ในการวิจัยและพัฒนา  เราจึงอาจพัฒนาแนวคิดและเห็นความจำเป็นที่ยังขาดอยู่สำหรับพัฒนาระเบียบวิธีเพื่อบูรณาการการสร้างความรู้และเชื่อมโยงแนวคิดกับการปฏิบัติให้สะท้อนซึ่งกันและกัน  ดังนี้

                 (๑)   ต้องให้ความสำคัญทั้งต่อประเด็นเกี่ยวกับเป้าหมาย ความต้องการ ผลที่ได้รับ วิธีการ รูปแบบ วิถีการคิดและวิธีการปฏิบัติ โดยใช้ผู้คนและสังคมส่วนรวมเป็นตัวตั้ง  รวมไปจนถึงความพอดีระหว่างความเป็นปัจเจกและส่วนรวม

                 (๒)   การวิเคราะห์เชิงเนื้อหาและการวิเคราะห์บริบทมีความสำคัญต่อการใช้และสร้างความรู้สำหรับการปฏิบัติเชิงสังคม

                 (๓)  สังคมโลกและสังคมท้องถิ่น โน้มไปสู่ภาวะหลังสมัยใหม่ระดับโครงสร้างและระบบสังคม ทั้งระดับจุลภาคและมหภาค  การวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคมเพื่อสร้างความรู้ให้เข้าใจสภาวการณ์  อยู่ร่วมกันและปรึกษาหารือกันอย่างใช้เหตุผลและสร้างทฤษฎีชั่วคราวให้เหมาะสมไปตามความจำเป็น พร้อมไปกับบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงไปด้วย  จะช่วยสร้างพัฒนาการของสังคม และบริหารจัดการสังคมในภาวะเลื่อนไหล ซึ่งเป็นการบริหารจัดการอีกแบบหนึ่งคือ การบริหารความเปลี่ยนแปลงในทุกขอบเขตอย่างเป็นพลวัตร  

                (๔)  การสื่อสารเรียนรู้ทางสังคมมีข้อจำกัด ในขณะที่บริบททางความคิดและความหมายเชื่อมโยงถึงกัน  ก่อเกิดบริบทใหม่ของการอยู่ร่วมกันมากขึ้น  ศาสตร์ที่มีความเป็นบูรณาการทุกแขนง  อาจมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเพิ่มขึ้น 

 

หมายเลขบันทึก: 160385เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2008 08:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2012 12:04 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

อ่านบันทึกนี้แล้วได้ข้อคิดหลายประเด็น ทั้งในเรื่องการพิจารณาตัวเอง ซึ่งสงสัยว่าเป็นสายพิณที่หย่อน และแนวคิดเรื่องการทำงานวิจัยและพัฒนา

ในเรื่องของการทำงาน ตัวเองให้ความสำคัญกับกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์เสมอ บอกเพื่อนร่วมงานหลาย ๆ คนว่า เน้น Process มากกว่า Product โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานประเภทการจัดกิจกรรมให้เด็ก และการทำงานกับชุมชน หรือแม้ในงานสายสื่อที่เน้น Product แต่ตัวเองก็จะพยายามให้ความสำคัญกับ Process บางทีก็ทำให้ดูแตกต่างและอาจดูเรื่องมากสำหรับคนอื่น

สรุปเอาเองว่า ให้ความสำคัญกับ "ระหว่างทาง" มากกว่า "จุดหมาย"

สำหรับบันทึกนี้ของอาจารย์..บอกได้คำเดียวค่ะว่า ล้ำลึก ๆ ..

ข้าน้อยขอคารวะ..^__^..

  • ลึกซึ้ง-ลึกซึ้ง คุณใบไม้ย้อนแสง
  • เมื่อเดือนก่อน ได้นั่งนำเสวนากับวินทร์  เรียววารินทร์ ให้นักศึกษาและชาวมหิดลฟังในงานมหิดลบุ๊คแฟร์ วินทร์พูดถึงหนังสือชุดสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน ฟังดูแล้วก็รู้สึกว่าเป็นแนวทางที่เน้นวิถีการปฏิบัติและการให้ความสำคัญกับสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทางเช่นกัน 
  • ผมลองตามศึกษาให้พอที่ตัวเองจะเข้าใจ ก็พบว่าเป็นแก่นเดียวกันของหลักคิดเรื่องอิทัปปัจยตา  การเน้นความเป็นปัจจุบันขณะและหลักแห่งการเน้นกระทำเชิงเหตุปัจจัยแห่งผล  ลึกซึ้งและมีหลายมิติ มากกว่าเวลาเราพูดถึงคำว่า กระบวนการ แบบทั่วๆไปมากเลย
  • ผมชอบฟังเวลาในหลวงพระราชทานพระบรมราโชวาทในวาระต่างๆ ทรงพระราชดำรัสด้วยภาษา จังหวะ และวิถีทรรศนะที่งดงามเหมือนงานวรรณกรรมชั้นยอด มักทรงพระราชดำรัสแบบเขียนถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือได้เลย เลยเป็นแง่มุมที่นำมาคิดไว้อบรมตนเองและนำมาแบ่งปันกันครับ
  • ท่านพุทธทาสก็มีหลักในการทำงานวรรณกรรมเพื่อเผยแผ่ธรรม ที่เวลาฟังแล้วก็ได้อรรถรสอย่างนี้เหมือนกัน ท่านพูดเพื่อเขียนหนังสือ  ในหลักโยนิโสมนสิการ  เรียนการแสดงความด้วยการพูดอย่างนี้ว่า วิภัชชวาท

สัวสดีปีใหม่ครับครูปู ขอบคุณและขอให้มีความสุข ร่าเริงแจ่มใส จะคิดและริเริ่มสิ่งใด ก็มีความสำเร็จ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ตลอดปี 2552 เลยนะครับ

สถานการณ์ของสังคมไทย ณ วันนี้ ทำให้ผมต้องกลับมานั่งอ่านบันทึกนี้อีก .......................

  • ผลการเลือกตั้งอเมริกา โอบามา ได้เป็นประธานาธิบดี เป็นผู้นำชาติมหาอำนาจของโลกอย่างอเมริกาคนแรก ที่เป็นคนผิวสี
  • โอบามานำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นหลายอย่าง แต่หลังจากนั้นอเมริกาก็เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และพัฒนาเป็นวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน สถานการณ์คล้ายรอบทศวรรษ 2540 ของสังคมไทย ซึ่งปรับแนวคิดและเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่สำคัญหลายด้าน แต่ก็ประสบกับวิกฤติต้มยำกุ้ง จนกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกเช่นกัน
  • วิธีคิดแบบเป็นขั้วและแคบ สะท้อนสู่พัฒนาการทางด้านต่างๆ และส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อสังคมไทย โดยเฉพาะพัฒนาการทางด้านการเมืองและการมีส่วนร่วมของสังคม
  • การเผชิญหน้าของรัฐบาล กับฝ่ายสนับสนุนของอดีตรัฐบาลที่เป็นฝ่ายสูญเสียอำนาจซึ่งใช้สีแดง เป็นสัญลักษณ์สร้างแนวร่วมและระดมพลังมวลชน ทำให้การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ASEAN Summit ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ที่พัทยา ต้องล้มเลิก ส่งผลต่อการพัฒนาเวทีความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ให้ชงักไปอย่างไม่มีกำหนด
  • การเคลื่อนไหว เกิดขั้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นวันปีใหม่ทางจันทรคติของสังคมไทย ถือเป็นวันครอบครัวและให้ความหมายต่อสถาบันผู้สูงอายุ มีการเผารถเมล์ ยึดอาคารสถานที่ ใช้ความรุนแรง ประชาชนแถวนางเลิ้งเสียชีวิต 2 ราย
  • สถานการณ์ยุติเมื่อผู้นำการเคลื่อนไหวมอบตัว และประกาศสลายการชุมนุมด้วยตนเอง  รัฐบาลประกาศวันหยุดต่อเนื่องหลังเทศกาลสงกรานต์ต่อไปอีกสองวัน ในวันที่ 16-17 เมษายน 2552

มารับความรู้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

ดอกคูณก็สวย ดอกเฟื่องฟ้าก็สวย อีกทั้งเป็นไม้มงคลอีกต่างหาก เขาปลูกและดูแลกันดีมากเลยนะครับเนี่ย ขอบพระคุณและสวัสดีปีใหม่ด้วยเช่นกันครับคุณครูต้อย

  • นางฮิลลารี คลินตัน แม้แพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ก็รับเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ของรัฐบาลประธานาธิบดีโอบามา
  • เดือนกรกฏาคม 2552 ฮิลลารี คลินตัน ในฐานะ รมว.กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ร่วมประชุมในฐานะกลุ่มประเทศคู่เจรจา ของการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียนที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
  • เดือนสิงหาคม 2552 นางอาคีโน อดีตผู้นำหญิงของฟิลิปปินส์ถึงแก่อสัญกรรม นางอาคีโนเป็นผู้นำสตรีของกลุ่มประเทศในทวีปเอเชียที่โดดเด่นของโลก และเป็นสัญลักษณ์ที่กระตุ้นให้ทั่วโลกมุ่งการต่อสู้ด้วยวิธีอหิงสา

ฯพณฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

  • ๒๕๕๔ พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีโดยใช้เวลา ๙๐ กว่าวันในการเข้าสู่วงการการเมือง รับการเลือกตั้ง และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
  • เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย
  • เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สองของประเทศไทยที่เป็นพลเรือนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดยคนแรกคือ ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย
  • เป็นนายกรัฐมนตรีพลเรือนคนแรกที่จบจากมหาวิทยาลัยจากภูมิภาค โดยจบปริญญาโทรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงเรียนช่างศิลป์ เตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งขึ้นในภูมิภาคเป็นแห่งแรกของไทยตามแนวคิดของรัฐบาล ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ แต่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีส่วนในการสร้างผู้นำของประเทศได้เป็นแห่งที่สอง และเป็นสาขารัฐศาสตร์ แห่งแรกที่ได้สร้างผู้นำฝ่ายบริหารของประเทศ

 

ชอบสุนทรพจน์ของโอบามา ที่กล่าวหลังจากรู้ผลอย่างไม่เป็นทางการของการชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีรอบที่ ๒ ของสหรัฐอเมริกา ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ เขากล่าวในขณะที่ ลัดดา แทมมี่ ดัคเวิร์ธ สตรีลูกครึ่งไทยอเมริกัน อดีตทหารหญิงขับเครื่องบินรบและเป็นผู้พิการจากการถูกยิงในสงคราม ขาและแขนขาด ก็ได้รับเลือกตั้งเป็น สส เขต ๘ ของมลรัฐอิลลินอยล์ ......

".......ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หรือมาจากไหน หรือหน้าตาเป็นอย่างไร หรือคุณรักที่แห่งใด และไม่ว่าคุณจะเป็นคนผิวดำหรือผิวขาว ฮิสปานิกหรือเอเชีย หรือคนพื้นเมืองอเมริกัน  เด็กหรือชรา รวยหรือจน ปกติหรือพิการ รักร่วมเพศหรือชายจริงหญิงแท้ คุณสามารถเป็นได้ทุกอย่างในอเมริกา หากเราทุกคนมีความพยายาม......."   

                                                                                                (จากมติชนออนไลน์ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท