ข่าวน่าสนใจการพัฒนาการศึกษาตามอัธยาศัยให้รู้เท่าทัน


         วันนี้ได้รับ e mail จาก Google Apps ของ ท่านปลัดกระทรวงศึกษาธิการส่งสารมาให้ ซึ่งเกี่ยวกับการศึกษาตามอัธยาศัย จึงแจ้งให้ทราบกันทั่วกันว่าห้องสมุดวังจันทร์ฯเขากำลังล้ำหน้า มาดูกันว่าสาระเป็นอย่างไร 

ศธ.สร้างห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ต้นแบบใช้กระตุ้นการศึกษาตามอัธยาศัย          

          นางจรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้เป็นประธานเปิดห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์การเรียนรู้วังจันทร์เกษม เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นต้นแบบของห้องสมุดทั่วประเทศ ในการให้บริการการศึกษาตามอัธยาศัย  โดยได้กล่าวถึงความจำเป็นต้องสร้างห้องสมุดดีเยี่ยมที่เป็นต้นแบบห้องสมุดสมัยใหม่ว่า  เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอยู่ในระหว่างรอการลงพระปรมาภิไธย ดังนั้นปลัดกระทรวงศึกษาธิการจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานของกศน.จำนวน11ชุด เพื่อเร่งรัดการพัฒนางานของกศน.ให้สอดคล้องกับกฎหมายโดยเร็ว  และค้นพบว่า จุดอ่อนที่สุดของงานกศน.อยู่ที่การส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัยยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ   ทั้งนี้วัดได้จากการที่ประชาชนไม่กระตือรือร้นที่จะแสวงหาความรู้เพิ่มเติมหลังจบการศึกษาเดินพ้นจากรั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยไปแล้ว          อีกทั้งแหล่งเรียนรู้ที่ดี สะดวกรวดเร็วราคาถูกก็ไม่มี   ทำให้เยาวชนและประชาชนขาดโอกาสในการไล่ทันความรู้ใหม่ๆ  และยังพบว่าคนไทยยังไม่รู้หนังสืออีกร้อยละ 7 ของประชากรอายุ15ปีขึ้นไป                 การพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเองตามหลักของการศึกษาตามอัธยาศัยยุคใหม่   คือใช้การศึกษาตามอัธยาศัยเป็นเครื่องมือของการศึกษาตลอดชีวิต  การสร้างเยาวชนและประชาชนให้เข้าใจว่า การเรียนรู้ ไม่สายเกินไป  ไม่นานเกินวัย  ไม่ไกลเกินเอื้อมสามารถทำให้ เกิดการเรียนรู้จริงด้วยการสร้างบันไดการศึกษาตลอดชีวิต 12 ขั้น ได้แก่  1. พัฒนาตนเองสู่เป้าหมายของชีวิต  2. แสวงหาความรู้ใหม่อยู่เสมอ 3. จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ 4. สร้างแรงบันดาลใจ 5. ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง 6. เรียนรู้ที่จะเข้าใจโลกกว้างจากผู้อื่น 7. ไขว่คว้าหาโอกาสทองของชีวิต 8. เปิดโลกกว้างทางการศึกษา 9. ยกระดับคุณภาพชีวิต 10. ประยุกต์ประสบการณ์เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น 11. สานสัมพันธ์สู่สังคมสันติภาพ และ12. การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด              ทั้งนี้นางจรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการยังได้เสนอแนะห้องสมุดทั่วประเทศต้องปรับปรุงงานให้ทันสมัย โดยการเพิ่มคุณค่าทางวิชาการให้แก่ห้องสมุด    เนื่องจากเมื่อ25ปีที่แล้วมา ห้องสมุดคือสถานที่เก็บ กระดาษจำนวนนับล้านๆชิ้นให้อยู่ในที่ที่เหมาะสม  ดังนั้นกระบวนการทำงานของห้องสมุดที่ดีของยุคเก่า  จึงอยู่ที่การเก็บรักษาและรู้ว่าจะค้นหาได้ เมื่อต้องการใช้กระดาษข้อมูลเหล่านั้น     แต่วันนี้การจัดการและวัฒนธรรมของห้องสมุดยุคใหม่ต้องทำมากกว่าการเก็บและรู้ที่เก็บข้อมูล  ต้องเน้นความรวดเร็วและหลากหลายของการสืบค้นของผู้ใช้ข้อมูล บทบาทใหม่ของห้องสมุดทันสมัย  จึง ต้องพัฒนาตนเองดังนี้   1.จัดพื้นที่บริการการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ   2.  มีข้อมูลให้ค้นได้มากและหลากหลาย   3.บริการด้วยเท็คนิกโสตสัมผัสหลายวิธี   4.ให้คำแนะนำในการสืบค้นเข้าถึงข้อมูล   5.   เสนอทางเลือกในการเข้าถึงข้อมูลและการอนุญาตให้นำออกไป    6.  สะสมข้อมูลข่าวสารและจัดทำข้อมูลให้บริการทางคอมพิวเตอร์  และ  7.บริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และใช้คอมพิวเตอร์ช่วยงาน                 ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์การเรียนรู้วังจันทร์เกษม   จะให้บริการผ่านเว็บไซต์http://eLibrary.nfe.go.th   โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นออกเป็น 5 ส่วน   1. แนะนำให้รู้จักห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์การเรียนรู้วังจันทร์เกษม แนะนำเว็บเชื่อมโยงอื่นๆ รวมทั้งให้สมัครเป็นสมาชิก  2.แนะกิจกรรมชวนอ่าน ชวนทำกิจกรรม โดยจะแนะนำหนังสือใหม่ หนังสือที่เหมาะกับเด็กอนุบาลหรือวัยต่างๆ  หรือเรืองราวน่าสนใจเช่น   ทำอย่างไรให้พ่อแม่อ่านนิทานให้ลูกฟัง   3. ส่วนนวัตกรรมการเรียนรู้ จะมีสื่อออนไลน์ ข่าวสาร วารสาร ลานประดิษฐ์ แนะนำสาระดีเช่นการทำมาหากิน การรักษาสุขภาพ    4. ชุมนุมนักอ่าน จะเปิดให้สมาชิกมาร่วมสร้างเนื้อหา ร่วมเสนอแนะ มีบล็อกชุมชนคนรักการอ่าน และ  5.  ส่วนบริการสืบค้น จากห้องสมุดทั่วประเทศ และส่วนนี้ในช่วงเวลาต่อไปจะรุกขยายให้สมารถไปสืบค้นแหล่งเรียนรู้ชั้นยอดจากต่างประเทศ เช่น ห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดมหาวิทยาลัย  ห้องสมุดโรงเรียนที่มีคุณภาพของต่างประเทศ   โดยมีการคัดสรรและมีเนื้อหาที่เสนอแนะ  รวมทั้งจะมีการแปลสรุปย่อเป็นภาษาไทย เพื่อให้ผู้สนใจไปอ่านฉบับเต็มเป็นภาษาอังกฤษต้วยตนเองต่อไป   จึงขอเชิญชวนนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง เยาวชน และประชาชนเข้ามาทดลองใช้บริการ

 

หมายเลขบันทึก: 159867เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2008 22:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

วิสัยทัศน์ของท่านปลัดกระทรวง คิดว่าเป็นที่ถูกใจของชาวห้องสมุดมากทีเดียว ซึ่งห้องสมุดควรได้รับการพัฒนาในทุกด้าน เพื่อให้มีความพร้อมในการให้บริการประชาชน และสนองความต้องการของผู้ใช้บริการในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ห้องสมุดจะต้องก้าวให้ทัน อยากเห็นห้องสมุดประชาชนในประเทศไทยเป็นไปตามแนวคิดของท่านปลัดกระทรวง เมื่อเป็นเช่นนั้นได้ ประชาชนชาวไทยจะมีสถิติการอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น และกลายเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง ดิฉันขอสนับสนุนแนวคิดของท่านและจะขอเป็นกำลังในการขับเคลื่อนให้ห้องสมุดไปสู่ดั่งหวังร่วมกัน

พานทอง ในขณะนี้บุคลากรใหม่กำลังเรียนรู้งานคงอีกระยะครับ  จึงได้ดำเนินการ หากพัฒนาด้านเทคโนโลยีให้ดีคงจะพอสู้กับคนอื่น ๆ ได้

ดีใจมากๆๆ...ที่ผู้หลักผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของห้องสมุด ต่อไปนี้คงเห็นห้องสมุดประชาชนทุกแห่งมีการพัฒนาให้รุดหน้าทันสมัยตามวิสัยทัศน์ของท่านปลัดกระทรวงฯ ขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานในห้องสมุดประชาชนมีเกินร้อยและพร้อมทำงานเต็มที่.....คนไทยคงมีนิสัยรักการอ่านเพิ่มมากขึ้น....มีแหล่งเรียนรู้มากขึ้น...

รับทราบ จะดำเนินการให้ดีที่สุด

ได้ใช้บริการผ่านเว็บไซด์ http://eLibrary.nfe.go.th   แล้ว สมกับเป็นห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ต้นแบบจริง ๆ ค่ะ ห้องสมุดฯ พนัสนิคมยินดี และพร้อมเป็นกำลังในการพัฒนาห้องสมุด ตามแนวคิดของท่านปลัดกระทรวงฯ ให้ดีที่สุดค่ะ

ขอบคุณมากค่ะที่ท่านช่วยกันผลักดันห้องสมุดและพัฒนาให้ห้องสมุดมีความก้าวหน้า ได้ลองเข้าไปใช้ห้องสมุดอีเล็กทอนิกส์มาแล้วค่ะดีมาก ๆ ค่ะ......ห้องสมุดประชาชนอำเภอบ่อทองจะรีบพัฒนาเร็ว ๆ ค่ะ

มาช้าที่กว่าไม่ได้มาครับ พอดีวันนี้(19มค51) ผมกำลังค้นคว้างานวิจัย
บังเอิญไปเจอสิ่งที่เรารู้จักกันดีัคือคำว่า
"ห้องสมุดฯมีชีวิต" ก็เลยนำมาฝากกัน ส่วนเป็นอย่างไรลองโหลดไปอ่านดูครับ
http://chon.nfe.go.th/work/life.pdf

 ลองดูนะครับ


ศบอ.บางละมุง  กำลังเร่งดำเนินการเพื่อพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตสัปดาห์หน้าก็คงได้เห็นการเปลี่ยนแปลง

ขอบคุณบทความดีๆข่าวน่าสนใจการพัฒนาการศึกษาตามอัธยาศัยให้รู้เท่าทัน ดีใจมากครับกับทิศทางสู่การพัฒนาที่พวกเราชาวกศน.ร่วมกันสร้างสรรค์สู่สังคมให้กับกับกลุ่มเป้าหมายต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท