ทางเข้าวัง...


ยายปัญญาอายุ 70 กว่าปี ล้มลงขณะกวาดลานบ้าน ลูกหลานช่วยกันส่งโรงพยาบาลไปตามเส้นทางสายนี้ โชคดีที่เป็นตอนกลางวันจึงหารถได้ไม่ยาก แต่ก็ยังไม่วายที่ต้องเผชิญพวกรีดเลือด

 

ทางเข้าวัง...(ปรากฏ)

พฤหัสที่ 4 กุมภาพันธ์ 2536

ผมไม่รู้ว่ากี่ศพที่สังเวยให้กับความยากลำบากของการเดินทางออกจากหมู่บ้านไปตามเส้นทางนี้ มันเป็นเส้นทางสายเดียวที่รถ ไทยแลนด์” (อีแต๋น) จะวิ่งเข้าออกในหมู่บ้านได้ ระยะทางจากหมู่บ้านไปถึงถนนใหญ่ลาดยางนั้นเพียง 4 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาชั่วโมงกว่าทีเดียว หนทางเต็มไปด้วยหินภูเขา หลุมบ่อ และทราย บางช่วงก็เป็นดินเลน มีเพียงช่วงที่ผ่านหมู่บ้านเท่านั้นที่พอมีลูกรังให้รู้ว่าทางราชการไม่ได้ปล่อยปะละเลย

ไม่ต้องพูดถึงหน้าฝนที่เส้นทางถูกตัดขาดใช้การไม่ได้ตลอดฤดูกาล วันนี้ซึ่งเป็นฤดูหนาวมันสามารถสัญจรได้สะดวก กระนั้นฝุ่นสีแดงก็คลุ้งไปทั่ว ยิ่งตอนรถสวนกันด้วยแล้ว มันกระจายไปจนแทบจะมองไม่เห็นทาง ลุงจอมหันมายิ้มให้ผมเมื่อฝุ่นจางลง ทางเข้าวังมันเป็นอย่างนี้แหละผมไม่รู้ว่าแกพูดประชดหรือปลงตก มันปักป้ายไว้ว่าจะมาลาดยาง แล้วมันก็ถอนป้ายออกไป ไอ้แค่ผ่านป่าสงวนแค่ 2 กิโล…” คืนนั้นเป็นคืนที่ผมนึกสาปแช่งความเลวร้ายที่โหมกระหน่ำใส่คนชนบท...

ยายปัญญาอายุ 70 กว่าปี ล้มลงขณะกวาดลานบ้าน ลูกหลานช่วยกันส่งโรงพยาบาลไปตามเส้นทางสายนี้ โชคดีที่เป็นตอนกลางวันจึงหารถได้ไม่ยาก แต่ก็ยังไม่วายที่ต้องเผชิญพวกรีดเลือด ที่เป่านกหวีดขอตรวจใบขับขี่และทะเบียนรถ ขณะรถติดไฟแดง ต้องเสียเวลาพูดคุยแสดงบัตรและวิงวอนของร้องให้กับผู้ที่เรียกตัวเองว่าผู้พิทักษ์สันติราษฎร์... อยู่นาน

หมอที่โรงพยาบาลให้ยายปัญญากลับบ้านได้เมื่อเห็นอาการดีขึ้น แกกลับมานอนที่บ้านได้วันเดียว ในตอนกลางดึกที่อากาศหนาวเหน็บอาการก็ทรุดหนัก แกหายใจแรงแข่งกับเสียงร้องไห้ของลูกหลานที่มานั่งดูใจ

ผมเป็นคนหนึ่งที่นั่งอยู่ที่นั้น นึกแปลกใจที่ทำไมไม่มีใครนำส่งโรงพยาบาล กระวนกระวายใจว่าจะช่วยได้อย่างไร อดทนอยู่นานเห็นว่าไม่มีใครในที่นั้นทำอะไรให้เหตุการณ์มันดีขึ้นจึงตัดสินใจบอกให้นำยายปัญญาส่งโรงพยาบาล ถ้าหารถไทยแลนด์ไม่ได้ ผมจะอาสายืมจักรยานยนต์และขี่ไปส่งให้ คำตอบที่ได้นั้นทำให้ผมต้องเก็บมาคิดอีกหลายวันว่า มันเป็นเพราะอะไร” ... ไม่มีใครในที่นั้นทำตามข้อเสนอของผมโดยบอกว่า กว่าจะถึงโรงพยาบาลก็ไม่รอดแล้ว เอาออกไปให้ทรมานเปล่า ๆ ” “แล้วเกิดไปตายใส่รถเขาหล่ะทุกคนดูจะปลงตกและเตรียมรอรับความสูญเสียที่จะปรากฏอยู่ต่อหน้า ผมพยายามอีกหลายครั้ง มีชาวบ้านสนับสนุนอยู่ไม่กี่คนในที่สุดผมก็พ่ายแพ้ด้วยความโมโหแล้วเสือกร้องไห้กันทำไมวะ ?” 

ภาพเส้นทางออกจากหมู่บ้านผุดขึ้นในความคิด ผมถามตัวเองว่า กี่ศพแล้วที่สังเวยให้กับความยากลำบากของการเดินทางออกจากหมู่บ้าน แล้วใครจะรับผิดชอบการตายของคนเหล่านั้น

เส้นทางที่กล่าวถึงเป็นเส้นทางที่เริ่มตั้งแต่ถนนสายเอเชีย และสิ้นสุดที่บ้านน้ำรอก ตำบลบ่อทอง อำเภอทองแสนขัน เดิมเป็นเส้นทางเดินเท้าของชาวบ้านจาก อำเภอตรอน ไปยังอำเภอทองแสนขัน ระหว่างทางมีศาลาอายุร้อยปีใช้เป็นที่พักระหว่างเดินทาง ข้าง ๆ ศาลามีบ่อน้ำที่เก่าแก่ไม่แพ้กัน

ทางราชการเห็นว่าเป็นเส้นทางที่ชาวบ้านใช้กันมากก็เลยเทลูกรังให้เป็นคำพูดของปลัดอาวุโสที่ผมเข้าไปสอบถาม

ปี 2527 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ประกาศพื้นที่ป่าสงวนได้รวมเอาเส้นทางสายนี้เข้าไปด้วยทั้งที่ชาวบ้านเดินกันมาเป็น 100ปี

ปี 2534 ความหวังชาวบ้านเริ่มเป็นจริง ผู้ใหญ่บ้านประกาศว่าเราจะได้เส้นทางลาดยางในอีกไม่นานนี้ สร้างความปิติให้กับชาวบ้านทุกคน ชื่อเสียงของผู้ใหญ่บ้านที่สามารถดึงโครงการมาลงได้ดังกระฉ่อนไปทั่ว ไม่เพียงแต่ในหมู่บ้านแต่ดังไปถึง ตำบลน้ำอ่างที่ได้อาศัยเส้นทางสายนี้สัญจรไปมาเช่นกัน

ปี 2535 ป้าย รพช. ปรากฏขึ้นตรงปากทาง ชาวบ้านโจษจันไปทั่วว่า เราจะได้เส้นทางลาดยางแล้วแต่เสียงนั้นก็ค่อย ๆ เงียบไป เมื่อไม่มีหน่วยงานใดมาทำการก่อสร้าง...

ไม่นานป้ายโครงการที่ปักอยู่ก็ถูกถอนออกไป สร้างความผิดหวังให้กับชาวบ้านทุกคน หลายคนพูดว่า ผู้ใหญ่เสียหน้า” “มันกลั่นแกล้งกัน” “อยากเอาเงินก็บอกมา รวมเงินขาวบ้านให้ก็ได้มัคทายกวัดพูดกับผม...

นับแต่วันแรกที่เข้ามาในหมู่บ้านจนถึงวันนี้ ผมก็ได้ยินเรื่องเส้นทางสายนี้อย่างไม่รู้จบ ทั้งคำบ่น ด่าสาปแช่ง ต่อว่าต่อขานทางราชการ หลายคนแวะเวียนมาขอความเห็นให้ช่วยแก้ปัญหา...

ผมได้แต่แสดงท่าทางเห็นใจและนึกเลยไปถึงภาพการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มี ส.ส. บางคนนั่งหลับ... ทุกข์ของชาวบ้านคือทุกข์ของแผ่นดิน...  

 

 

หมายเหตุ  ปี 2550

 

 

บ้านวังปรากฎ หมู่ 2 ตำบลป่าคาย อำเภอทองแสนขัน

จังหวัดอุตรดิตถ์ 

 

ยายปัญญาเป็นแม่ของผู้ใหญ่บ้านขณะนั้น แกสิ้นใจตายในคืนนั้นเอง

 

ต่อมาผมทราบว่า กรมโยธา ได้สร้างสะพานคอนกรีตข้ามคลองตรอน เป็นทางเข้าออกด้านท้ายหมู่บ้านในอดีต (แต่เป็นหน้าหมู่บ้านในปัจจุบัน) โดยเส้นทางสายนั้นก็ยังคงปล่อยไว้เช่นเดิม

 

 

ผมนำบันทึกนี้มาเผยแพร่ด้วยรู้สึกตลอดเวลาว่า สิ่งที่ผมเขียนในสารนิพนธ์ไม่เคยที่จะช่วยผลักดันใด ๆ ในสิ่งที่ชาวบ้านต้องการได้เลยแม้แต่น้อย หากข้อเขียนลักษณะนี้จะนำไปสู่การสะท้อนเสียงของผู้ทุกข์ยากให้ปรากฏต่อผู้มีอำนาจผ่านบัณฑิตอาสาสมัคร รุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อๆ ไป ผมก็จะเป็นสุขยิ่ง และยายปัญญาก็คงเป็นสุขเช่นกัน

 

 

หมายเลขบันทึก: 158855เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2008 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
นาริวรรณ เชื้อมั่น

อยากคุยกับคุณฉันเกิดที่นั้นแต่ตอนนี้ไม่ได้อยู่บ้านเหงาง่ะ

ยินดีที่ได้พบกันครับ เวลาผ่านไปหลายปีแล้วแต่ภาพความทรงจำที่นั่นยังชัดเจนเสมอมา

คุณนาริวรรณ ติดต่อผมได้ทาง email ครับ ไม่แน่ใจว่าเคยพบกันที่หมู่บ้านรึเปล่า

รักที่นั่นมากค่ะ ไม่มีที่ไหนอยู่แล้วสบายทั้งใจและกาย

เหมือนที่วังปรากฏอีกแล้ว.......

ตอนนี้พัฒนาไปเยอะแล้วค่ะ มีถนนคอนกรีตอำนวยความสะดวก

ว่างๆ ลองกลับไปที่นั่นดูนะคะ

ผมเป็นคนวังปรากฏโดยกำเนิดบ้านอยู่ข้างปั๊มน้ำมันตอนนี้ทำงานอยู่ที่นนทบุรี

ไม่ค่อยได้กลับบ้านปัจจุบันหมู่บ้านพัฒนาไปมากถนนทุกเส้นลาดยางหมดการเดินทางสะดวก

การสื่อสารก็สะดวก คนในหมู่บ้านนี้พูดภาษาลาวกลางเพราะมีเชื้อสายจากชาวเวียงจันทร์

มานั่งคิดถึงหมู่บ้านแล้ว ที่นั่นสวยมากนะครับ หน้าหมู่บ้านมีคลองตรอนไหลผ่าน ด้านหลังเป็นภูเขา ฤดูหนาวสวยงามดอกงิ้วบานเต็มป่าเห็นเป็นสีแดงสะพรั่ง ในนาก็มีน้ำไหลมาจากภูเขาที่โอบล้อมหมู่บ้านไว้ สงบเงียบ และหลีกเล้นจากความวุ่นวาย

ตอนเป็น บัณฑิตอาสาสมัครเดินข้ามคลองตรอนผ่านไปยังหมู่ 1 ก็ถึงถนนใหญ่แล้ว เข้าเมืองไปซื้ออาหารของแห้งมาเก็บไว้ทุกเดือน

ตอนนั้นหมู่บ้านนี้สวยงามเหมือนหมู่บ้านในนิทานเลย

กิ๊ม ลูก นายจเร อัคสุน

ผมเป็นเดก วังปรากฏ ชิตตี้คับ รัก ทุก คน คุยกันด้ายเด้อ 0892091461

ดีใจที่คนวังปรากฏได้ดีไม่ลืมบ้านเกิดกลับมามอบสิ่งดีๆให้เด็กๆและพัฒนาวัดวาอารามขอให้คนที่ความกตัญญูต่อบ้านเกิดอย่างพวกเขามีแต่ความสุขความเจริญตลอดไป

กลับมาบ้านได้3ปีแล้วดีกว่าอยู่ที่กทม.ซะอีกกลับมานะทำนาดีกว่าเป็นขี้ข้าเขาซะอีก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท