BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

สัปปะรด มะลิ ยาหนัด และสั่งแซ่


สัปปะรด มะลิ ยาหนัด และสั่งแซ่

คงจะไม่มีใครที่ไม่รู้จัก สัปปะรด ส่วนคำที่ตามหลังมานั้น เป็นคำท้องถิ่นปักษ์ใต้ที่ใช้เรียกสัปปะรด...

เคยอ่านมาจากไหนก็จำไม่ได้ ท่านว่า สัปปะรด นี้ เดิมมาจากสันสกฤตว่า สัปตรส ซึ่งคำนี้ตรงกับคำบาลีว่า สัตตรส นั่นเอง

  • สัปตะ (สัตตะ) + รส = สัปตรส

สัปตะ (สัตตะ) แปลว่า เจ็ด

รส คำไทยนิยมใช้ทับศัพท์ แต่ถ้าจะแปลออกศัพท์ก็จะได้ (วิสัยแห่งอารมณ์) เป็นที่ยินดี

ดังนั้น สัปตรส (สัตตรส) จึงแปลว่า รสเจ็ดประการ... หรือถ้าจะแปลออกศัพท์ก็จะได้ว่า (วิสัยแห่งอารมณ์) เป็นที่ยินดีเจ็ดประการ

รสเจ็ดประการนี้ ท่านว่ามีอยู่ในผลไม้ชนิดนี้ เช่น หวาน เปรี้ยว จืด ... เป็นต้น (ผู้อ่านเพิ่มให้ครบเจ็ดรสตามใจนึกก็แล้วกัน)

เมื่อถือเอาตามนัยที่ท่านว่าไว้ สัปปะรด ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า สัปตรส ก็คือ ผลไม้ที่มีรสชาดเจ็ดประการ โดยประการฉะนี้

....................

สัปปะรด เป็นคำที่มีใช้อยู่ในภาษากลาง ส่วนภาษาปักษ์ใต้เดิม มักจะเรียกผลไม้ที่นับรสชาดได้เจ็ดประการนี้ว่า มะลิ หรือ โลกมะลิ (ลูกมะลิ) ...

และแค่ โลกมะลิ อย่างเดียวยังไม่พอ พื้นเมืองปักษ์ใต้ยังจำแนกออกไปเป็น โลกยาหนัด และ โลกสั่งแซ่ เพิ่มขึ้นอีก

มะลิ ก็คือสัปปะรดบ้านลูกโตๆ มีเนื้อแก้วใสๆ (รู้สึกว่าภาคกลางจะเรียกว่า ฉ่ำๆ ) ขนาดของลูกโตๆ ก็ประมาณแตงโมโตๆ

ยาหนัด ก็คือสัปปะรดกึ่งบ้านกึ่งป่า ลูกเล็กลงมา เนื้อขุ่นๆ เหลืองๆ และไม่ใสเป็นแก้วอย่างมะลิ... ยาหนัดนี้ ขนาดโตๆ ก็ประมาณผลส้มโอทั่วไป มีทั้งที่ชาวบ้านปลูกเป็นสวน และมีทั้งขึ้นเองตามธรรมชาติ

สั่งแซ่ ก็คือสัปปะรดป่าเต็มขั้น ผลเล็กกว่ายาหนัด ขนาดโตที่สุดก็ไม่น่าจะเกินกำหมัดของคนทั่วไปนัก ส่วนเนื้อและรสชาดก็เหมือนๆ กับยาหนัด เพียงแต่ไม่มีการปลูกเป็นสวน นอกจาก (ในอดีต) บางบ้านอาจนำมาปลูกเป็นแนวเพื่อเป็นรั้วบ้านเท่านั้น แต่บางครั้งมีผลก็สามารถนำมาปอกกินได้เช่นเดียวกัน... 

อนึ่ง ปัจจุบัน มะลิ และ ยาหนัด ก็ยังมีการปลูกเป็นสวนและมีจำหน่ายอยู่ทั่วไปในปักษ์ใต้... แต่ สั่งแซ่ เด็กรุ่นใหม่โดยมาก มักจะไม่รู้จักศัพท์นี้

.............

อีกอย่า่งหนึ่ง มะลิ คำนี้ในภาษากลางหมายถึงดอกไม้ขาวๆ เล็กๆ มีกลิ่นหอม ซึ่งปักษ์ใต้เดิมเรียกว่า ดอกเมะ (เมะ หรือ เหมะ  อ่านควบกล้ำ จะไม่อ่านว่า เห-มะ) แต่เด็กรุ่นใหม่มักจะเรียกว่า ดอกมะลิ เหมือนภาคกลาง.......... 

และเฉพาะคำว่า ยาหนัด ผู้เขียนเคยไปเที่ยวภาคอีสานและภาคเหนือ ก็ทราบว่าใช้เรียกสัปปะรดเช่นเดียวกัน แต่เสียงเพี้ยนไปอีกเล็กน้อย กล่าวคือ ภาคเหนือจะเรียกว่า มะหนัด หรือ ขะหนัด ... ส่วนภาคอีสานจะเรียกว่า บักหนัด

ใครพอรู้เรื่องนี้ก็เล่าต่อบ้าง เพื่อจะได้เพิ่มเนื้อหาให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น...

หมายเลขบันทึก: 156640เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2007 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2012 08:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

..นมัสการครับ..มีคำเปรียบเทียบอาหารที่รสไม่ดีว่า..ไม่เป็นสับปะรด..(ใต้ว่า..ไม่เป็นสับ-รด)..ถ้าจะให้เติมความเห็นให้แตกออกไป..ลาง(บาง)ที..อาจจะเป็นวิธีกินที่ต้อง สับ ปอก และรด(ด้วยน้ำเกลือ )จึงจะอร่อย..ฮิๆๆ..ส่วนที่ว่า มะลิ คงจะเป็นด้วยกลิ่นที่ยามสุกจะหอมจนหยบไม่ได้..แต่มักเป็นคำเรียกของชาวเมืองลุง..ต้นดอกมะลิ เรียน ดอกเหมะ หรือ เหมละ ซึ่ง จะไปพ้องกับ ต้นเหมละที่มีดอกชมพูแดงและลูกสุกกินแล้วปากดำ และลูกปลาเล็กๆตากแห้งที่ทอดแล้วโรยน้ำตาลเรียกว่า ลูกเหมละเจี๋ยน..เนาะ..

P

ลุงรักชาติราชบุรี

 

  • 5 5 5

คุณโยมเข้าใจคำว่า เหมะ  หรือ เหม่่ (ออกเสียเพี้ยนๆ ทำนองนี้แหละ) อย่างชัดเจน

  • ดอกมะลิ (ดอกใช้ทำเป็นมาลัย)
  • ต้มไม้ชนิดหนึ่ง มีดอกชมพูแดงและลูกสุกกินแล้วปากดำ
  • ปลาเล็กๆ ชนิดหนึ่ง ตากแห้งทอดกินดี

อาตมาก็รู้จักทุกศัพท์

...........

อีกนัยหนึ่ง คำนี้อาจเป็นคำกิริยา แปลว่า การส่งเสียงดังอึกทึก  ได้เช่นเดียวกัน เช่น สำนวนว่า...

  • เข้ามานั่งเฉยๆ อย่าเหม่...เดียวครูตี..

เจริญพร

 

 

..เสียงอึงมี่..น่าจะตรงกับ..เสียงเหม่..ซึ่ง..ไม่ใช่หมิ่นเหม่..ถ้าส่งเสียงดัง..ใต้บางที่มักว่า..อย่าฉาว..น่าจะมาจากฉาวโฉ่..ซึ่งเป็นความหมายที่บอกที่มาหรือจุดกำเหนิดชัดเจน..ส่วนเหม่..มักเป็นเสียงดังรวมๆทั่วไป..ดังนั้นหากมีเด็กหลายคนส่งเสียงดัง..ผู้ใหญ่ควรเอ็ดว่า..อย่าเหม่..แต่ถ้าเป็นคนเดียว..น่าจะเอ็ดว่า..อย่าฉาว..อันนี้ไม่ทราบถูกมั้ย?..กราบนมัสการขอรับ..

P

ลุงรักชาติราชบุรี

 

  • 5 5   5    5 . .  .    .

ข้อนั่น ! เป็นความเห็นส่วนตัวของคุณโยมในฐานะผู้เชี่ยวชาญ...

แม้้จะปักษ์ใต้เหมือนกัน แต่ละท้องถิ่นก็ใช้ต่างกัน เพี้ยนกันไป   ซึ่งยากจะยืนยันหรือคัดค้านว่าถูกหรือผิดได้...

เจริญพร


นมสัการพระคุณเจ้า

  • สัปปะรด พอพูดถึงเรื่อง สัปดาห์ เคยอ่านเจอว่า ม.ร.ว.คึกฤธิ์ ปราโมช บอกว่าใครอ่าน สัปดาห์ (สับ-ปะ-ดา)เป็นคน สับ-ปะ-ดน เท็จจริงประการใดครับ และ ควรอ่านว่า สับ-ดา-หรือ ควรอ่านว่า สับ-ปะดา ครับ

P

กวินทรากร

 

ตามความเห็นส่วนตัว อ่าน (หรือเขียน) อย่างไรจึงจะถูก ก็ต้องไปถามราชบัณฑิตฯ ... นั่นคือ ภาษาเป็นทางการ...

ส่วนที่ ไม่เป็นทางการ จะอ่านหรือเขียนอย่างไรก็ได้ ถ้า ผู้รับสาร (ผู้อ่านหรือผู้ฟัง) เข้าใจตามที่ ผู้ส่งสาร (ผู้เขียนหรือผู้พูด) มุ่งหมาย ก็ถือว่าสำเร็จแล้ว...

 

........

นอกประเด็น...

สัปปะรด บางมติก็บอกว่า มาจาก สัพพะ + รส = มีรสทุกอย่าง

..............

อนึ่ง....

  • สัปตะ (สัตตะ) + อหะ = สัปดาห์

สัปตะ เป็นสันสกฤต ( บาลีว่า สัตตะ ) แปลว่า เจ็ด

อหะ เป็นได้ทั้งบาลีและสันสกฤต แปลว่า วัน

ดังนั้น สัปดาห์ จึงแปลว่า เจ็ดวัน

...........

ทำไม ! ไม่ใช้คำไทยง่ายๆ ก็ไม่รู้ เบื่อจริงๆ....

 

เจริญพร

ขออนุญาตนำลิงค์ไปที่ เพจอาหารการกินถิ่นใต้นะคะ ขอบคุณค่ะ

ทำไมคนใต้เรียกสับปะรดว่า “ยานัด” 🍍🍍เลยอยากแบ่งปันให้ทราบว่า “Yanas” มาจากภาษามาเลย์ที่แปลว่า สับปะรด เอเชียอาคเนย์เรานำเข้าสับปะรดมาจากอเมริกาใต้ผ่านมะนิลาของฟิลิปปินส์อีกที เรียกว่า añanas (อญานาส)​ หรือ ñanas (ญานาส)​ ก็ได้ เป็นภาษา tupi ของชนพื้นเมืองในอเมริกาใต้ ที่แปลงจาก ñanas (ญานาส)​ เป็น yanas (ยานาส)​ อาจเป็นเพราะตัว ñ (เอญเญ่) ในภาษาสเปนออกเสียงเหมือนตัว Y จนกร่อนเสียงเป็น “ยานัด” ในภาษาใต้ในที่สุด อย่าสับสนกับ ยานัตถุ์ ในภาษาบาลีนะครับ แปลว่า จมูก เป็นยาผงใช้สูบ อันที่จริงสับปะรดเกี่ยวข้องกับจมูกตรงที่มีสรรพคุณแก้โรคไซนัสได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท