จดหมายเปิดผนึก บัณฑิตอาสาความหมายที่เปลี่ยนไป


ผู้อื่นจึงไม่ได้มองเราอย่างแตกต่าง และเราเองก็พยายามทำให้ตัวเราไม่แตกต่าง นี่เป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่า ทำให้ บอ. ในอดีตนั้น ได้รับเกียรติสูงเด่นกว่า บอ. ในปัจจุบัน ภาพสะท้อนที่ชัดเจนคือ ประชาคมธรรมศาสตร์ ได้ลดการให้ความสำคัญของ บอ. ลงเรื่อย ๆ
16 กรกฎาคม 2549

พี่นาคะ จารุ ที่นับถือ
ผมเห็นว่าเรื่องที่เราสนทนากันในกระทู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับ บัณฑิตอาสาสมัคร นั้นเป็นเรื่องที่ควรสานต่อ และกล่อมเกลาให้เกิดขึ้นในชุมชน บอ. เรากล่าวกันว่า เราต้องการจะสร้างเครือข่าย พร้อมไปกับความเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับความเป็นบัณฑิตอาสาสมัคร และเราก็เห็นว่า เรื่อง ที่อยู่ที่ยืนของ บอ. น่าจะทำให้เราเห็นภาพบัณฑิตอาสาสมัครในลักษณะกลุ่มย่อย (sub group) ที่สามารถจะจัดกระทำเพื่อให้เกิดการรวมกันเป็นชุมชน เครือข่าย

นอกจากประเด็นข้างต้น ผมเห็นว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ซ้อนทับกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ความเป็นชนบทที่เสื่อมคลายลงไป ดังที่ บอ. รุ่นปัจจุบันได้ตั้งคำถาม ซึ่งเกี่ยวพันมาถึง ที่อยู่ที่ยืน ของ บอ. ด้วย และที่อยู่ที่ยืนนี้ ก็สัมพันธ์อย่างใกล้ชิด ระหว่าง สำนักบัณฑิตอาสาสมัครอันเป็นองค์กรที่เป็นทางการ กับ บอ.เก่า และ บอ.ใหม่ ดังนั้นเพื่อลดทอนความซับซ้อน ที่ซ้อนทับกันอยู่ผมใคร่ขอสนทนากับพี่ในเรื่อง อัตลักษณ์รวมหมู่ (Collective Identity) ของบัณฑิตอาสาสมัคร และเพื่อไม่ให้ประดักประเดิกในความเป็นวิชาการกับบทสนทนาระหว่างพี่น้อง ผมขอใช้คำว่า ตัวตนแทนคำว่าอัตลักษณ์ การที่เชิญชวนให้มาพูดถึงเรื่อง ตัวตนนี้ ก็ด้วยเข้าใจว่า สิ่งที่เราเรียกร้องกันนั้น เป็นเพราะเรากำลังถูกย่อยสลายตัวตน ที่เราสั่งสมมา ซึ่งเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับเครือข่าย การรวมกลุ่ม เพราะหากเราขาดความเป็นตัวตนของเราแล้ว เราก็จะไม่สามารถทำการใด ๆ ด้วยตัวของเราเองได้ (Autonomy) ซึ่งไม่เพียงเรื่องการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย แต่ยังเรื่อยไปถึงการกำหนดวิถีทางเดินของเราเองในฐานะชุมชนบัณฑิตอาสาสมัคร หากกลายเป็นเรื่องที่องค์กรซึ่งเป็นทางการเป็นผู้กำหนดแทน
จดหมายฉบับนี้ ผมต้องการจะกล่าวถึงคำถามใหม่ ที่ดูคล้ายกับคำถามที่ถามกันมาตลอด คือ บัณฑิตอาสาสมัครคือใคร ? ที่อยู่ที่ยืน อยู่ที่ไหน ? เพียงแต่ว่าผมถามตัวเองในอีกมุมหนึ่งคือ ตัวตนของบัณฑิตอาสาสมัครนั้นเป็นอย่างไร และใครเป็นคนกำหนด ด้วยผมเห็นว่า หากเราต้องการหาทางออกให้กับสิ่งที่เราไม่พึงใจนั้น เราควรตั้งคำถามให้ตรงกับคำตอบที่เราต้องการ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผมเห็นว่าคำถามนั้น สำคัญกว่าคำตอบเสียอีก และเมื่อเรามีคำถามตรงกันแล้ว เราค่อยมาหาคำตอบร่วมกัน เพราะคำตอบไม่จำเป็นต้องตรงกัน ดังนั้นสิ่งที่ผมกล่าวถึงต่อไปนี้จึงเป็น บทขยายความของคำถาม (ในรูปของคำตอบ) โดยยังไม่ได้กล่าวถึงคำตอบของคำถามนั้น ต่อเมื่อเราเห็นพ้องถึงคำถามกันเมื่อใด แล้วเราจึงค่อยมาหาคำตอบร่วมกัน   
ตัวตนในความหมายของผมนี้ คือ ความเหมือนในความต่างของเหล่าบัณฑิตอาสาสมัคร กับกลุ่มทางสังคมกลุ่มอื่น ความเหมือนคือ ความเหมือนกันของบัณฑิตอาสาสมัคร ส่วนความต่างคือความแตกต่างระหว่างบัณฑิตอาสาสมัคร กับกลุ่มอื่น (ผมยังคงเชื่อเรื่องโครงสร้าง และผมพยายามทำความชัดให้เกิดขึ้นกับตัวตน ซึ่งผมเห็นว่าเป็นโครงสร้างประเภทหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่ง) การก่อรูปกันขึ้นของ ตัวตน นั้นในสายตาของผมมี 3 มิติ ที่เกื้อหนุน เกี่ยวพัน กล่าวคือ
ความเหมือนในด้านกายภาพ (Dimension of Physical) ได้แก่ การ(อาสา) สมัครเข้ามาเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต ได้รับการขัดเกลาให้เป็นไปในทางเดียวกัน กล่าวคือ รู้จักเสียสละ สามารถอยู่ในที่แปลกแตกต่างไปจากที่ตัวเองคุ้นเคย รู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น อาจมากบ้างน้อยมาก แต่เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราได้รับการฝึกฝน ขัดเกลาในทางกายภาพ เหมือน ๆ กัน คือ การเรียนวิชาการ การเรียนภาคสนาม การทำสารนิพนธ์ การกินอยู่ หลับนอน ในสถานที่ฝึกอบรม ฯลฯ


การที่ก่อรูปตัวตนขึ้นโดยตัวเราเอง (Dimension of Ourselves) ตัวตนที่ก่อรูปขึ้นในลักษณะนี้เป็นการก่อรูปขึ้นจากการปฏิสัมพันธ์กันระหว่าง บอ. ด้วยกันเอง และระหว่าง บอ. กับคนอื่น ๆ ในสังคมที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับเขาในฐานะที่เราสวมรับบทบาท บอ. ไม่ว่าจะเป็น รุ่นพี่ รุ่นน้อง อาจารย์ พี่นักวิชาการ ชาวบ้าน ข้าราชการ เมื่อการก่อรูปขึ้นของตัวตนเป็นรูปเป็นร่างขึ้นก็สะท้อนออกมาในรูปของ ธรรมเนียม (tradition) ที่สะท้อนตัวตนอันนั้นโดยเราอาจรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ดังเช่น ธรรมเนียมการรับเพื่อนพ้อง งานผีเสื้อคืนรัง งานเปิดบ้าน ส.บอ. หรือแม้แต่พิธีทำบุญ (ไหว้ผี) ประจำปี และการไหว้ครู ในรายละเอียดของธรรมเนียมเหล่านี้ล้วนมีสาระสำคัญและการหน้าที่แฝงอยู่ การบายศรีสู่ขวัญ หรือการใช้คำว่า เพื่อนพ้องหรือ ผีเสื้อล้วนมีความหมาย ธรรมเนียมเมื่อปฏิบัติเป็นประจำก็กลายเป็นประเพณี และเมื่อถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งโดยยังคงเข้าใจความหมาย และยอมรับร่วมกัน ก็อาจเรียกได้ว่าเป็น วัฒนธรรม ที่มีธรรมเนียมย่อย ๆ อันมีแบบแผนการปฏิบัติที่แตกต่างทั้งในการหน้าที่ และทางกายภาพ จากกลุ่มอื่น ผมยังไม่เห็นว่า บอ. มีวัฒนธรรมที่เชื่อมแน่นที่กล่าวได้ว่า เป็นวัฒนธรรมของ บอ. แต่มีสิ่งหนึ่งที่เป็นธรรมเนียม ประเพณี ซึ่งเข้มข้น และเชื่อมแน่น ของเหล่า บอ. นั่นคือ ความเป็นพี่น้อง ที่คอยดูแล เกื้อหนุน ช่วยเหลือ ในการค้นหาความหมายของชีวิต และความหมายนี้ ก็เป็นความหมายที่เป็นไปในทางเดียวกันคือ เสียสละแก่คนที่ด้อยโอกาส โดยเฉพาะคนในชนบท ต้องยอมรับว่าสิ่งนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นจากเหล่า บอ. เอง แต่เป็นผลจากกระบวนการฝึก อบรม ของสำนักบัณฑิตอาสาสมัครด้วย ที่ผมเชื่อมั่นอย่างนี้ก็เพราะว่า เพลงที่มีความหมายยิ่งสำหรับ(รุ่น) ผมและอีกหลายรุ่นคือ เพลง รางวัลแด่คนช่างฝันบทกวี บทกลอน ข้อเขียน ของ บอ. ล้วนสะท้อนถึงจิตใจที่เสียสละและต้องการให้คนในสังคมไม่เอารัดเอาเปรียบกันจนเกินไปโดยเฉพาะความเห็นอกเห็นใจคนชนบทที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ บทสนทนาต่าง ๆ ก็ล้วนถามหาถึงสิ่งที่ตัวเองจะทำประโยชน์เพื่อคนอื่นได้อย่างไร มีหลายวาระที่ผมได้ยินได้ฟังว่า เมื่อกลับมาที่บ้าน ส.บอ. รังสิต แล้ว มีกำลังกาย กำลังใจ ที่จะฟันฝ่าต้านกระแสลมทุนนิยมที่โหมพัด ในสายตาของผม พี่น้อง แม้ไม่ได้คุยกันแต่เมื่อรับรู้รับทราบวัตรปฏิบัติที่งดงาม ก็ทำให้มีกำลังใจเพิ่มพูนขึ้นอย่างประหลาด ดังนั้น ตัวตนของ บอ. จึงสะท้อนในสองสิ่ง คือ หนึ่ง การค้นหาเส้นทางเดิน ความถนัด ความพึงใจของตนเอง (กับสอง คือการ) ที่จะทำประโยชน์ให้ผู้อื่นที่ด้อยกว่า และสิ่งที่ บอ. เราประพฤติปฏิบัติต่อกันก็คือ การส่งเสริม ให้กำลังใจ สนับสนุน ให้พวกเราได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น นี่คือตัวตน ที่ปรากฏชัดลึก และเป็นเช่นนี้เสมอมาที่ผมได้สัมผัสกับพี่น้อง บอ.
แน่นอนว่า บัณฑิตอาสาสมัคร จึงไม่ใช่หลักสูตรการศึกษา เพื่อรับประกาศนียบัตร หรือเพื่อฝึกคนไปประกอบอาชีพใดอาชีพหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นหลักสูตรที่ ฝึกคนให้รู้จักตนเอง รู้จักเสียสละ รู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น ดังนั้นหลายเรื่องที่องค์กรซึ่งเป็นทางการพยายามจะสร้างตัวตนให้กับหลักสูตรนี้ จึงกลายเป็นการทำลายตัวตนของ บอ. อันเป็นตัวตนเฉพาะ (specific identity) ให้กลายเป็น (general identity) ที่ไม่มีความแตกต่าง ทั้งที่เราควรภาคภูมิใจในความเป็นตัวตนที่เราสั่งสมมา โดยที่หลักสูตรการศึกษาอื่นทำไม่ได้ ไม่มี ครู ไม่มีพี่ ไม่มีเพื่อน ที่จะสอนและกล่อมเกลาให้เราทำเพื่อคนอื่น และมองความหมายของชีวิต อย่างดีงาม เช่นนี้ ซึ่งผมเห็นว่า หน่วยงานองค์กร ที่เราเข้าไปทำงานทุกแห่งต้องการคนเช่นนี้ มากกว่า ประกาศนียบัตร และทักษะความสามารถพิเศษ ที่หาได้ด้วยการนำเงินไปแลกกับใบประกาศ


ผมคงไม่ต้องกล่าวถึงว่า การทำลายตัวตนที่ว่านั้น ใคร ทำอะไร และอย่างไร สิ่งที่ผมอยากจะย้ำก็คือ องค์ประกอบของ บัณฑิตอาสาสมัครที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ก็คือ บัณฑิตอาสาสมัครเก่า บัณฑิตอาสาสมัครที่กำลังศึกษาอยู่ สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร และจิตวิญญาณที่เสียสละและการน้อมตนทำงานร่วมกับผู้อื่น ที่จะต้องธำรงค์รักษาความดี-งามดังกล่าวไว้ (ผมไม่อาจใช้คำว่าความจริงได้ เพราะผมไม่เชื่อเรื่องความจริง) และก็ไม่ได้หมายว่า สิ่งใด ๆ จะเปลี่ยนมิได้ แต่หลักการที่ยอมรับร่วมของสังคมว่าดี-งาม (ไม่เพียงแต่ของ บอ.) ไม่ควรจะเปลี่ยน หากแต่พึงเปลี่ยนในสิ่งที่เป็นเนื้อหารายละเอียด เพื่อยึดในความดี-งามดังกล่าวไว้ และก็ขอพูดเสียงดัง ๆ ตรงนี้ว่า การเปลี่ยนเนื้อหาบางอย่างที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน กำลังจะทำลายหลักการ อันเป็นตัวตนของ บัณฑิตอาสาสมัคร
ความเหมือนกันในตัวตนที่ผู้อื่นมองเรา (Dimension of Looking Grass Self) เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เกียรติภูมิของ บอ. นั้น อยู่ที่ความเสียสละตน และความคิดที่จะช่วยให้ผู้อื่นดีขึ้น และการที่เรามีความภาคภูมินี้ได้ ก็ด้วยการที่ผู้อื่นมองเรา และสะท้อนภาพนั้นเช่นกระจกเงา ให้เราเห็นตัวตนของเรา ตัวตนของ บอ. ส่วนหนึ่งจึงขึ้นอยู่กับว่าผู้อื่นมองเราอย่างไร โดยเฉพาะผู้ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องใกล้ชิดสัมพันธ์โดยตรง ซึ่งได้แก่ ชาวบ้านวันนี้เราอาจเรียกชาวบ้านได้ไม่เต็มปาก แต่เราอาจเรียกว่า ประชาชนได้เต็มปากมากกว่า การใช้คำสองคำนี้ สะท้อนถึงชั้นต่ำสูง ที่เปลี่ยนแปลงไป ผมจะไม่ขอถกเถียงเรื่องความเท่าเทียม (Social Equality) ในที่นี้ แต่ต้องการจะบอกว่า วันนี้ประชาชนในชนบท กับประชาชนที่เป็น บอ. มีตำแหน่งแห่งหนที่ยืน (Position) ไม่ต่างกันมากนัก เราไม่ได้เป็นผู้เสียสละ และผู้ให้ ที่มีสถานภาพ(Status) เหนือกว่าดังเช่นในอดีต เมื่อหลายสิบปีก่อน วันนี้ชนบทเปลี่ยนไป ถูกรวมเป็นมิติเดียวกันกับเมือง กล่าวคือ เปิดกว้างและแลกเปลี่ยนทรัพยากรจากเมืองอย่างพึ่งพาแนบแน่น การเข้าไปช่วยเหลือ แนะนำ ในฐานะบัณฑิตอาสาสมัครจึงถูกลดทอนความเข้มข้นลง (ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ แม้เราจะพูดกันเสมอว่า เราเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ ไม่ใช่ส่งคนเข้าไปพัฒนา แต่ในอดีตนั้นเราทำอะไรได้มากกว่านี้มากในแง่การพัฒนา) ทั้งในด้านบทบาทของ บอ. ที่ดูจะกลายเป็น ผู้รับมากกว่า ผู้ให้และลักษณะทางกายภาพที่แทบจะไม่ได้มีภาพสะท้อนของความ เสียสละดังเช่นในอดีต เพราะเมื่อเป็นผู้รับซะแล้ว ก็ไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าเสียสละ และยิ่งลักษณะทางกายภาพที่ชนบทนั้น แทบจะไม่ต่างจากเมือง มีสิ่งอำนวยความสะดวก การสื่อสาร ที่ไม่ด้อยไปกว่าเมืองเท่าใดนัก ทั้งที่เกิดจากการพัฒนาของรัฐ หรือการที่บอ. นำสิ่งอำนวยความสะดวกนั้นติดตัวเข้าไป ก็ยิ่งทำให้ความเสียสละดูจะมองหาไม่เห็นไม่ว่าแง่มุมใด การที่ผมบอกว่า บอ. ดูจะเป็นผู้รับ มากกว่าผู้ให้ ก็ด้วยการที่เราเข้าไปเรียนรู้จากเขา ไปรับเอาสิ่งที่เป็นความรู้ ความคิด อาศัยกินอยู่กับเขา เพื่อนำกลับมาเขียนสารนิพนธ์รับใบประกาศ ฯ โดยที่ทำอะไรตอบแทนเขาไม่ได้มากนัก ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนา งบประมาณ การให้ความรู้ ความคิด หรือแม้แต่การสะท้อนเรื่องราวของพวกเขาให้ผู้อื่นได้รับรู้ในรูปของสารนิพนธ์ เราจึงกลายเป็นผู้รับมากกว่าที่จะให้ สิ่งนี้จึงทำให้บทบาทของเราดูด้อยค่าลง ผมคิดว่า ผมสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า บอ.ปัจจุบันนั้น เสียสละน้อยกว่า บอ. ในอดีต (รวมถึงผมเมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นพี่ด้วย) ยิ่งเราไปเน้นรูปแบบของการศึกษาในระบบด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ ตัวตนของเราด้อยค่าลงไป ยิ่งไปกว่านั้นในยุค ทักษิณเป็นยุคที่การเมืองได้เข้าไปแทรกซึมลึกลงถึงรากหญ้า ข้าราชการ NGOs องค์กรหน่วยงานใด ๆ รวมทั้ง บอ. ด้วย ไม่ได้ช่วยอะไรให้ชาวบ้านได้มากกว่า ทักษิณเพราะ ชาวบ้าน” (ในบริบท ทักษิณกับชาวบ้าน) นั้นได้รับทั้งเงินล้าน (กองทุนหมู่บ้าน) และเงินแสน (งบ SML) รักษาพยาบาลด้วยบัตรทอง หาเงินง่าย จ่ายคล่อง แถมยังกำลังจะพ้นจากความยากจนอีกในเร็ววันอีกด้วย บอ. จึงเป็นเพียงเสี่ยงเสี้ยว ๆ เล็ก ๆ ที่ไปเอาความรู้จากชาวบ้านมากกว่าจะเป็นผู้ให้ ดังเช่น ในยุคที่ชนบทห่างไกลจากการเมือง เราจึงยิ่งไม่ต่างไปจากนักศึกษาชนบท หรือชนบทศึกษาที่เราเปิดสอนในหลักสูตรปริญญาโท นี่คือหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้ตัวตนของเราดูกลมกลืน และขาดความโดดเด่น ผู้อื่นจึงไม่ได้มองเราอย่างแตกต่าง และเราเองก็พยายามทำให้ตัวเราไม่แตกต่าง นี่เป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่า ทำให้ บอ. ในอดีตนั้น ได้รับเกียรติสูงเด่นกว่า บอ. ในปัจจุบัน ภาพสะท้อนที่ชัดเจนคือ ประชาคมธรรมศาสตร์ ได้ลดการให้ความสำคัญของ บอ. ลงเรื่อย ๆ

หมายเลขบันทึก: 154250เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2007 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรากลับมาอ่านมันอีกครั้งเพราะกำลังซ่องสุ่มกระทำการบางอย่างเพื่อประกอบการตัดสินใจกระทำการณ์นั่น เมื่อได้อ่านบทความนี้แล้ว ต้องจัดแบ่งความรู้สึกเป็นสองส่วน ว่าด้วยความรู้สึกก่อนอย่างอื่นยังคิดไม่ออก หนึ่ง ใจแป้วววว สอง ใจหึกเหิมพองโตเช่นเดิม บางครั้งการขบคิดเพื่อไปต่อเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่การหยุดอยู่และย้อนหลังไปดื่มด่ำความอิ่มเอิมเมื่อครั้งหนึ่งในชีวิตที่เรียกได้ว่ามีคุณค่าที่สุดช่วงหนึ่งก็เป็นเรื่องน่าถนุถนอมไว้

....บทความท่านมันกำลังโจมตีพลังภายในข้าพเจ้าอยู่..เอาไงต่อดี

ขอเชิญชวนพี่น้องบัณฑิตอาสาสมัคร

และกัลยาณมิตร มาร่วมกันก่อตั้งม.จิตอาสา

ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะขยายวงงานจิตอาสาให้เต็มแผ่นดินไท

ใช้ฐานประสบการณ์ องค์ความรู้ที่ได้จากบอ. มาต่อยอดพัฒนา เป็นมหา'ลัย จิตอาสาครับ

ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย

มหา'ลัยจิตอาสาแห่งแรกของประเทศไทย!!

http://www.moralproject.com/allnetwork/home/space.php?uid=12&do=blog&id=31

เรามาร่วมกันพลิกฟื้นแผ่นดินนี้ด้วยศาสตร์ของพระราชาเถิดครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท