กฎหมายเกี่ยวกับปลาตะพัด หรืออะโรวาน่า


กฎหมายกำหนดคำว่า "ปลาตะพัด หรืออะโรวาน่า ( Scleropages formosus )" เป็น สัตว์ป่าคุ้มครอง เมื่อตีความโดยเคร่งครัดตามหลักกฎหมายแล้วก็หมายถึง เฉพาะปลาตะพัด หรืออะโรวาน่า ที่อยู่ในสกุล "Scleropages" และชนิด "formosus" เท่านั้นที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งไม่รวมไปถึงปลาอะโรวาน่าชนิดอื่น ดังเช่น ปลาอะโรวาน่าออสเตรเลีย (Scleropages leichardi) ที่ถึงแม้ว่าจะอยู่ในสกุล "Scleropages" แต่ก็ไม่ใช่ชนิด "formosus" ดังนั้น ปลาอะโรวาน่าออสเตรเลียจึงไม่จัดว่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
ปลาที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ซึ่งตามภาษากฎหมาย เรียกปลาประเภทนี้ว่า สัตว์ป่าคุ้มครอง โดยมีด้วยกัน จำนวน 4 ชนิด ดังนี้
1. ปลาตะพัด หรืออะโรวาน่า ( Scleropages formosus )
2. ปลาเสือตอลายใหญ่ (Datnioides microlepis )
3. ปลาหมูอารีย์ ( Botia sidthimunki )
4. ปลาติดหินหรือปลาค้างคาว ( Oreoglanis siamensis )
     จะกล่าวถึงรายละเอียดถึงปลาทั้ง 4 ชนิดดังกล่าว ทั้งในด้านการสงวนคุ้มครองและการนำมาใช้ประโยชน์ ภายใต้การควบคุมของกฎหมาย โดยในฉบับนี้จะเริ่มต้นกล่าวถึงปลาตะพัด หรืออะโรวาน่า ( S. formosus ) เป็นลำดับแรก ซึ่งจะบอกถึงรายละเอียดทุกแง่มุมเลยทีเดียว และก่อนอื่นผมขอทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านก่อนว่า ต่อไปจะเรียกปลาตะพัด หรืออะโรวาน่า ( S. formosus ) ตัวนี้ว่า ปลาตะพัด เพื่อมิให้เกิดความสับสนกับปลาตะพัดชนิดอื่น
     สำหรับ ปลาตะพัดตัวนี้นอกจากจะขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองแล้ว ยังถูกขึ้นบัญชีตามอนุสัญญาไซเตสอีกด้วย บางท่านสงสัยว่าปลาตะพัดของไทยเป็นชนิดเดียวกับสายพันธุ์ต่างประเทศหรือไม่ ท่านผู้รู้บางท่านบอกว่า ปลาตะพัดของไทย เป็นตะพัดเขียว แต่ของต่างประเทศจะมีสีอื่น เช่น สีแดง สีทอง เป็นต้น น่าจะเป็นคนละชนิดกัน นอกจากนี้ การเรียกชื่อปลาก็มีหลายชื่อได้แก่ ตะพัด อะโรวาน่า มังกร ในวงการค้าก็มีการกำหนดชื่อทางการค้าตั้งหลายชื่อ เช่น ซุปเปอร์เรด(Super Red) ทองหางแดง(Red Tail Gloden) ทองคาดหลัง(Gross Back Gloden) แดงพริก(Chilli Red) แดงเลือด(Blood Red) ชิลลี่เรด ฯลฯ เนื่องจากเห็นว่าปลามีสีสรรแตกต่างกัน อีกทั้งนักเพาะพันธุ์ก็พยายามคัดสายพันธุ์ที่มีความแปลกใหม่ มีการแบ่งเกรดปลาออกเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจ ทำให้ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงการปลาตะพัดเกิดความเข้าใจสับสนในชนิดปลาว่าเป็นชนิดเดียวกันหรือเปล่า
    แต่สำหรับในทางวิชาการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ด้านปฏิบัติการควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมายยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติแล้ว ผมขอเรียนว่า ในหลักการกำหนดชื่อปลาในแต่ละชนิดนั้น เขามีหลักในการกำหนดชื่อที่เป็นสากล ที่นานาประเทศยอมรับกันทั่วโลก มีองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับการตั้งชื่อเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน มีการใช้ลักษณะที่แตกต่างกันของปลา เช่น จำนวนก้านครีบ จำนวนเกล็ดที่เส้นข้างตัวปลา จำนวนหนวด เป็นต้น เป็นตัวกำหนดในการจำแนกชนิด ลักษณะที่แตกต่างกันนี้ต้องมีความแน่นอนในตัวปลา แต่สีสรรของปลานั้นไม่มีความแน่นอน จึงไม่นำมาใช้เป็นหลักในการจำแนก แม้แต่สัตว์หรือพืชอื่นๆก็ใช้หลักอันนี้ รวมทั้งในสถาบันการศึกษาก็เปิดให้มีการเรียนการสอนกันทั่วโลก นั่นก็คือ วิชาอนุกรมวิธาน
ท่านผู้อ่านจะสังเกตเห็นว่าท้ายชื่อภาษาไทยจะมีชื่อที่เป็นภาษาอังกฤษอยู่ในวงเล็บ เราเรียกว่าชื่อวิทยาศาสตร์ ซึ่งการพิมพ์หรือเขียนที่ถูกต้อง จะต้องพิมพ์หรือเขียนไว้เป็นอักษรตัวเอน หากไม่พิมพ์หรือเขียนเป็นตัวเอนก็ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ โดยจะประกอบด้วยคำสองคำ คำหน้าเรียกว่าชื่อสกุล(Genus) คำท้ายเรียกว่าชื่อชนิด(Species) ดังตัวอย่างปลาตะพัด มีชื่อสกุลว่า "Scleropages" และชื่อชนิดว่า "formosus" ซึ่งชื่อวิทยาศาสตร์นี้ กรมประมงได้ใช้เป็นหลักในการวินิจฉัยว่าปลาชนิดใดเป็นปลาชนิดใดกันแน่ ในการติดต่อสื่อสารกับประเทศต่างๆทั่วโลก
     ดังนั้น ที่กฎหมายกำหนดคำว่า "ปลาตะพัด หรืออะโรวาน่า ( Scleropages formosus )" เป็น สัตว์ป่าคุ้มครอง เมื่อตีความโดยเคร่งครัดตามหลักกฎหมายแล้วก็หมายถึง เฉพาะปลาตะพัด หรืออะโรวาน่า ที่อยู่ในสกุล "Scleropages" และชนิด "formosus" เท่านั้นที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งไม่รวมไปถึงปลาอะโรวาน่าชนิดอื่น ดังเช่น ปลาอะโรวาน่าออสเตรเลีย (Scleropages leichardi) ที่ถึงแม้ว่าจะอยู่ในสกุล "Scleropages" แต่ก็ไม่ใช่ชนิด "formosus" ดังนั้น ปลาอะโรวาน่าออสเตรเลียจึงไม่จัดว่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
"ปลาตะพัด( S. formosus )" มีลักษณะที่แตกต่างจากปลาตะพัดชนิดอื่นอย่างไร
สิ่งที่นักอนุกรมวิธานปลาได้ใช้เป็นหลักในการจำแนกแยกแยะสำหรับ "ปลาตะพัดหรืออะโรวาน่า ( S. formosus )" ที่แตกต่างจากปลาตะพัดชนิดอื่น ที่ผมสามารถเขียนให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพความแตกต่างได้ชัดเจนก็คือ
ปลาตะพัดมีเกล็ดขนาดใหญ่กว่า และเกล็ดในแนวเส้นข้างตัว มีจำนวนไม่เกิน 24 เกล็ด มีครีบก้นยาว
ประมาณ 30 % ของความยาวลำตัว มักมีสีของลำตัวและครีบเรียบ อาจมีจุดประในบางตัว มีสีตั้งแต่เงินวาว เหลืองอ่อน ถึงส้มแดง หรือ ส้มทอง
     ชนิดที่คล้ายปลาตะพัดมากที่สุดได้แก่ ปลาตะพัดออสเตรเลีย (S. leichardi) และปลาตะพัดนิวกินี (S. jardini) ซึ่งมีเกล็ดขนาดเล็กกว่า และเกล็ดในแนวเส้นข้างตัว มีจำนวนมากกว่า 30 เกล็ด มีครีบก้นสั้นกว่า 25 % ของลำตัว มีจุดประสีเขียวจางหรือสีอื่นๆ บนลำตัว หัวและครีบ
    ส่วนปลาตะพัดอัฟริกัน (Heterotis niloticus) มีลำตัวค่อนข้างกลม ส่วนหัวเรียวกว่า ปากแคบกว่า ไม่มีหนวดที่ปลายคาง เกล็ดเล็ก ตัวมีสีเทาหรือคล้ำ
    สำหรับปลาตะพัดเงิน (Osteoglossus sp.) ของอเมริกาใต้ มีครีบก้นยาวเกินครึ่งหนึ่งของความยาวลำตัว ลำตัวเรียวไปด้านท้าย ครีบหางเล็ก ในตัวเล็กมักมีแถบสีคล้ำ คาดตามยาวของลำตัว
การนำปลาตะพัด หรืออะโรวาน่า ( S. formosus ) มาใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
กฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เป็นกฎหมายที่ให้การคุ้มครองปลาตะพัดที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ มิให้ถูกมนุษย์ไปจับ ไปล่าเอามาใช้ประโยชน์ เนื่องจากเกรงว่าจะสูญพันธุ์ไปเหมือนดังเช่น ในแหล่งธรรมชาติแถบจังหวัดในภาคตะวันออกของไทยที่ปัจจุบันนี้หาไม่พบแล้ว ในขณะเดียวกันกฎหมายก็เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เพาะพันธุ์ปลาตะพัดและสามารถนำปลาตะพัดที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆได้ โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญคือ ต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมประมง ไม่ว่าจะนำมาครอบครอง นำมาค้า นำมาเพาะพันธุ์ ต้องได้รับใบอนุญาตทั้งสิ้น เหตุที่ต้องมีใบอนุญาตก็เนื่องจากว่า เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ตรวจสอบได้ว่ามิได้ลักลอบนำปลาตะพัดมาจากการทำผิดกฎหมาย เช่น จากธรรมชาติ จากการลักลอบนำเข้า เป็นต้น
    ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากฎหมายฉบับนี้มิได้มุ่งแต่จะอนุรักษ์คุ้มครองอย่างเดียว แต่เปิดโอกาสให้นำมาใช้ประโยชน์ อย่างมีเงื่อนไขนั่นเอง
สำหรับกิจกรรมการนำมาใช้ประโยชน์ที่ต้องได้รับใบอนุญาต มีจำนวน 6 ประเภท ดังนี้
1. การเพาะพันธุ์
2. การครอบครอง
3. การค้า รวมทั้งมีหรือแสดงไว้เพื่อขายด้วย
4. การเคลื่อนย้ายเพื่อการค้า
5. การนำเข้า ส่งออกหรือนำผ่าน
6. การนำไปใช้ในกิจการสวนสัตว์สาธารณะ
     สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะได้รับโทษสูงสุดถึงจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษสูงสุดนั้นนับว่าเป็นโทษที่ค่อนข้างหนักพอสมควร แต่อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับการพิพากษาของศาลว่าจะลงโทษต่อผู้กระทำผิดเท่าใดจึงจะเหมะสมต่อการกระทำผิดนั้นๆ จะว่าไปแล้วก็คืออยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมนั่นเอง
     การเพาะพันธุ์ปลาตะพัด หรืออะโรวาน่า ( S. formosus )ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ถึงแม้ว่าปลาตะพัด จะเป็นปลาที่ตกอยู่ในภาวะใกล้จะสูญพันธุ์จากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ถูกจัดให้อยู่ในบัญชี1 อนุสัญญาไซเตสและเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าของไทย แต่ในด้านของการเพาะเลี้ยงปลาตะพัดของต่างประเทศได้แก่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ มีการพัฒนาก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เป็นที่ยอมรับของอนุสัญญาไซเตสว่าสามารถนำมาเพาะขยายพันธุ์ในเชิงธุรกิจได้ โดยให้การรับรองฟาร์มเพาะพันธุ์ของประเทศดังกล่าวให้สามารถส่งออกปลาตะพัดไปจำหน่ายได้ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาตะพัดฟาร์มใดที่อนุสัญญาไซเตสให้การรับรองเลยแม้แต่ฟาร์มเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าไทยก็มีการเพาะพันธุ์ปลาสวยงามหลายสิบชนิด สามารถส่งปลาสวยงามน้ำจืดออกมูลค่าปีละหลายพันล้านบาท เหตุใดเทคนิคการเพาะพันธุ์ปลาตะพัดจึงไปไม่ถึงไหน ทั้งๆที่ตลาดส่งออกปลาตะพัดก็มีมูลค่าปีละตั้งหลายพันล้านบาท คงน่าจะเย้ายวนใจนักเพาะพันธุ์ปลาอยู่น่
คุณสมบัติของผู้ที่จะดำเนินการเพาะพันธุ์ปลาตะพัดซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น ได้ถูกกำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่5 (พ.ศ.2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ไว้ดังนี้
1.       เป็นเจ้าของกิจการและมีทรัพย์สินหรือมีฐานะดีพอที่จะดำเนินกิจการได้
2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์
3. มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร
4. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ หรือไม่เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
5. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
6. ไม่อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใบอนุญาตหรือไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
7. ไม่เคยกระทำผิดบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 หรือ
2.       พระราชบัญญัติสงวนฯ พ.ศ. 2503 หรือกฎหมายว่าด้วยศุลกากร หรือกฎหมายว่าด้วยการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า ทั้งนี้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการนำเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่า
ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตเป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดซื้อ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการของนิติบุคคลนั้นต้องมีคุณสมบัติตามข้อ 2-7 ด้วย
     คุณสมบัติตามข้อ1-5 คงจะไม่เป็นปัญหาสำหรับนักเพาะพันธุ์ปลาทั้งหลายอยู่แล้ว แต่ในกรณีของข้อ6และข้อ7 นั้น ผมค่อนข้างจะกังวลใจอยู่พอสมควร เนื่องจาก นักเพาะเลี้ยงหรือผู้ค้าปลาสวยงามของไทยหลายท่านไม่ค่อยจะทราบรายละเอียด กฎเกณฑ์ของกฎหมายดังกล่าวเท่าใดนัก บางท่านได้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติอย่างละเอียดแล้ว อาจจะทำให้ผู้ที่มีความตั้งใจจะเพาะพันธุ์ปลาตะพัดบางท่านมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนได้
     อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่น่ากังวลใจกว่านั้น อยู่ที่ปลาตะพัดที่จะนำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ต่างหาก ซึ่งนอกจากจะมีราคาค่อนข้างแพงบรรลัยแล้ว กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวยังกำหนดให้ผู้ที่ขออนุญาตเพาะพันธุ์จะต้องแสดงหลักฐานการได้มาของปลาตะพัดโดยถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย ซึ่งการได้มาอย่างถูกต้องนั้นมีอยู่ 5-6 วิธีที่จะได้นำมาบอกกล่าวกับท่านผู้อ่านในฉบับหน้า

http://www.nicaonline.com/articles/site/view_article.asp?idarticle=107
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15317เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2006 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 16:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท