เพราะคนกินทั้งพืชและสัตว์


สวัสดีครับ

บล็อกที่แล้วผมได้เกริ่นถึงหนังสือเรื่อง The omnivore's dilemma แต่ในบล็อกนั้นผมได้ตั้งขอสังเกตไว้ว่าการค้าเสรีอาจจะไม่เหมาะกับการเกษตร วันนี้มาคุยกันถึงหนังสือเล่มนี้กันจริงๆจังๆดีกว่านะครับ

หนังสือเล่มนี้นั้นได้รับรางวัลหลายอันมากไม่ว่าจะเป็น หนึ่งในสิบหนังสือที่ดีที่สุดของปีจาก The New York Times รางวัลเหรียญทองในหนังสือประเภทที่ไม่ใช่นวนิยาย (non-fiction) จาก California และอีกมากมายหลายรางวัล แสดงว่าหนังสือเล่มนี้ต้องมีดีไม่น้อยใช่ไหมครับ

หนังสือเล่มนี้นั้นว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับการกินครับ โดยเริ่มจากข้อสงสัยของผู้เขียน ซึ่งก็คือ Michael Pollan  ว่าทำไมคนอเมริกันนั้นถึงเปลี่ยนนิสัยการกินของตัวเองตามกูรูที่ด้านโภชนาการ เช่นแต่ก่อนก็บอกว่า ไขมัน นั้นไม่ดีทำให้อ้วน ต่อมา ก็มี Atkin's diet ซึ่งก็บอกว่า คาร์โบไฮเดรตนั้นไม่ดีทำให้อ้วน แล้วก็เกิดอาหารประเภท low carb low fat diet เกิดตำรามากมาย แต่แล้วทำไม๊ทำไมสัดส่วนคนอ้วนหรือคนที่เป็นเบาหวานในอเมริกานั้นมันก็มากมายกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งๆที่คนฝรั่งเศสก็กินชีสกันเป็นว่าเล่น แต่ทำไมคนฝรั่งเศสกับหุ่นดีกว่าคนอเมริกัน แล้วอะไรทำให้คนอเมริกันมีนิสัยการบริโภคแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

Pollan นั้นหาคำตอบโดยการเอาตัวเองไปผูกกับการได้มาของอาหาร และมื้ออาหารสามมื้อครับ ซึ่งแต่ละมื้อนั้นมีวิธีการได้มาของวัตถุดับในการทำอาหารที่แตกต่างกันไป

FAST FOOD

มื้อแรกนั้นคือ Fast food ครับ โดยที่มื้อแรกนี้ถือเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมอาหาร ที่เน้นแต่การผลิตๆๆๆๆ โดยที่ไม่สนใจถึงคุณภาพของผลข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ GMO เรื่องผลกระทบต่อระบบนิเวศน์วิทยาและสิ่งแวดล้อม เรื่องของคุณภาพชีวิตของคน และสัตว์ที่ถูกเลี้ยง เช่นหมู วัว และไก่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นี่แหละครับ ที่ถือเป็น hidden cost ที่รัฐบาลอเมริกานั้นได้ให้ความช่วยเหลือ (subsidize) แก่เกษตรกรตัวเอง แต่กลับตั้งกำแพงกีดกันด้านคุณภาพของสินค้าการเกษตรที่มาจากประเทศอื่นๆ

ORGANIC FOOD 

มื้อที่สองที่ Pollan พูดถึงนั้น เป็นมื้อที่ทำมาจากสินค้า Organic เท่านั้น ซึ่งตอนนี้สินค้าการเกษตรแบบ organic นั้นกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆในหมู่คนอเมริกัน อาจจะเป็นเพราะว่าความตื่นกลัวของสินค้าการเกษตรที่ปนเปื้อนการ GMO หรือไม่ก็อาจจะเป็นเพราะว่า ราคาที่สูงขึ้น ทำให้มุมมองของผู้บริโภคนั้นเชื่อว่าสินค้านั้นมีคุณภาพดีขึ้น

แต่จริงๆแล้วอาหาร organic ที่ขายตาม supermarket ในอเมริกานั้น ก็ไม่ได้แปลกประหลาดอะไรมากมายไปกว่าอาหารที่ไม่ได้รับการตีตราว่าเป็น organic food เหตุผลก็เพราะว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหารนี่แหละครับ เช่นพวก Cargill  ได้เข้ามามีส่วนในการกำหนดมาตรฐานการเป็น organic food (อันนี้ตามหนังสือเขาเล่ามานะครับ) เพื่อที่จะทำให้ตัวเองนั้น สามารถเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาด ทำให้อาหาร organic ที่ขายกันตาม supermarket นั้น เป็นเหมือนลูกครึ่ง ที่ครึ่งๆกลางๆ Pollan ยกตัวอย่างไก่ครับว่า ถ้าไก่ที่ไม่ได้รับการรับรองว่าเป็น organic food นั้น ก็จะอยู่แต่ในเล้า ไม่ได้รับแสงเดือนแสงตะวัน แต่ถ้าเป็นไก่ organic นั้น ตรงเล้าจะกว้างกว่าหน่อยเพราะต้องการเปิดโอกาสให้ไก่นั้น ไปรับแสงเดือนแสงตะวันได้ ตามมาตรฐานนะครับ แต่ว่า พวกบริษัทพวกนี้นั้นฉลาดกว่านั้นครับ เพราะได้ฝึกไก่โดยให้ไก่นั้นรอรับอาหารจากรางครับ พอไก่รอรับอาหารจากราง ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องไปเดินดูตะวันตรงระเบียงข้างๆเล้าใช่ไหมครับ และก็เพราะเหตุผลนี้แหละครับที่ทำให้ อาหารพวก organic ใน super market นั้นไม่ต่างอะไรมากกับอาหารพวกที่ไม่ใช่ organic food

แต่ Pollan เองไม่ได้หยุดที่พวก organic food ที่มาจากบริษัทยักษ์ใหญ่ครับ เพราะตัว Pollan เองนั้นได้เสนอตัวไปทำงานในฟาร์มเกษตรเล็กๆ ที่เรียกตัวเองว่า grass farmer หรือเกษตรกรปลูกหญ้า โดยที่ grass farmer นั้น จะทำฟาร์มโดยเน้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างพืช (ทั้งที่ปลูกและวัชพืชด้วยครับ) และสัตว์ เช่นทุ่งหญ้านั้น ตอนแรกให้วัวมากินครับ พอวัวนั้นถ่ายออกมา ก็เป็นปุ๋ยใช่ไหมครับ แล้วสักพักก็จะให้ไก่มากิน เพราะมูลไก่นั้นมีไนโตรเจนสูง เป็นปุ๋ยชั้นดีให้แก่พืช ที่จะปลูกต่อไป ดังนั้นการทำฟาร์มแบบนี้จะมีหลายแปลงครับ แต่ละแปลงก็จะมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป  วัวและไก่นั้นก็วนกินอาหารแต่ละแปลงไปเรื่อยๆ ก่อนที่ตัวเองนั้นจะถูกนำเข้าโรงฆ่าสัตว์ต่อไป ซึ่ง Pollan นั้นบอกว่านี่แหละครับอาหาร organic ที่แท้จริง ที่สัตว์นั้นอยู่แบบธรรมชาติไม่ได้อยู่แต่โรงเลี้ยงสัตว์และกินแต่อาหารสังเคราะห์ที่อาจจะไม่เหมาะกับกะเพาะของสัตว์เอง เนื่องจากว่าในอาหารสัตว์นั้นมีการผสมยาปฏิชีวนะลงไปเพื่อไม่ให้สัตว์นั้นป่วย ส่วนพืชนั้น ก็ไม่มียาฆ่าแมลงเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะโรคระบาดของแมลงนั้น (ตามความเชื่อของ grass farmer นะครับ) หมายความว่าระบบนิเวศน์ในฟาร์มไม่สมดุล แต่การเป็นเกษตรกรหญ้านั้นไม่ได้เป็นง่ายๆนะครับ เพราะ Pollan บอกว่า เกษตรกรหญ้านั้น เป็นพวกไอทีสุดๆ เพราะต้องรู้ว่าแปลงไหนอยู่ในสภาพอะไร จะนำวัวไปกินหญ้าที่ไหนต่อแล้วจะให้ไก่ไปกินตามเมื่อไร ก่อนที่จะปลูกพืชอะไร

FORAGED FOOD 

อาหารมื้อสุดท้ายที่ Pollan พูดถึงก็คือ อาหารที่เรียกได้ว่าดั้งเดิมสุดๆ คือไปล่าสัตว์ และเก็บผักผลไม้ตามป่าเพื่อมาทำอาหาร และนี่แหละครับคือที่มาของชื่อหนังสือ The onmivore's dilemma เพราะว่าสัตว์ที่กินทั้งพืชและสัตว์นั้นสามารถเลือกได้ว่าจะกินอะไร ก็ในเมื่อกินได้หมดนี่ครับ แต่บางทีบางอย่างมันก็กินเข้าไปแล้วตายได้ มันก็เกิดปัญหาขึ้นมาถูกไหมครับ ดังนั้นสัตว์ที่กินได้หมดทั้งพืชและสัตว์จึงจำเป็นจะต้องมีการรับรู้และจดจำอาหารให้ได้เป็นอย่างดีครับ จะได้รู้ว่ากินอะไรได้ อะไรไม่ได้ และวิธีการจดจำและรับรู้ว่าอาหารประเภทไหนนั้นกินได้หรือกินไม่ได้ ก็มีหลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการให้คนอื่นเสี่ยงตายก่อน หรือการลองชิมอาหารน้อยๆแล้วลองดูว่ามันกินได้ไหม หรือแบบปากต่อปากที่มันพร้อมกับขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมในการกินอาหารของแต่ละชาติ  

แต่แล้วทำไมคนอเมริกันถึงเปลี่ยนวิถีการบริโภคได้ง่ายๆ เหตุผลหลักๆก็คือเพราะอเมริกันชนนั้นไม่มีอาหารประจำชาติครับ ดังนั้นเมื่อไม่มีอาหารประจำชาติ พวกบริษัทใหญ่ๆในวงการอุตสาหกรรมอาหารก็สร้างนิสัยการกินให้กับคนอเมริกัน เพราะว่าอุตสาหกรรมอาหารนั้นเป็นแบบ supply driven ทำไมถึงเป็น supply driven ก็เพราะว่าคนนั้นกะเพาะจำกัดครับ แล้วปริมาณก็มีอยู่แค่นี้แหละ ดังนั้นถ้าจะทำให้คนกินเพิ่ม บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการก็เลยต้องสร้างนิสัยในการกินให้กับคนอเมริกาซะใหม่ นั้นก็คือแบบพวก ไวไวควิก หรือ FAST FOOD NATION ที่ทำให้อาหารนั้น กินได้เร็ว กินได้ง่าย กินได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมเหมือนกับอาหารตามชาติต่างๆ และก็เพราะว่าไม่มีอาหารประจำชาติอีกนั่นแหละครับ ที่ทำให้คนอเมริกันนั้นเปลี่ยนวิถีการบริโภคกันอย่างง่ายดาย เหมือนแกะขนมถุงใหม่กิน

ผมคาดหวังกับหนังสือเล่มนี้ไว้สูงครับ ดังนั้นจึงทำให้ผมไม่ได้ชื่นชมกับหนังสือมากนัก อาจจะเป็นเพราะว่าผมนั้นคาดหวังที่จะเข้าใจถึงจิตวิทยาในการกินของคนมากกว่าที่จะมานั่งตามข้อถกเถียงทางด้านปรัชญาของคนเขียน แต่หนังสือเล่มนี้ก็ได้เปิดโลกกว้างให้กับผมในแง่ของอุตสาหกรรมอาหารที่มีอะไรลึกลับซ่อนเร้นแอบแฝงแต่กลับมีผลกระทบอย่างมหาศาลกับเรา อาจจะเป็นเพราะว่าอาหารเป็นอะไรที่เราเห็นอยู่ติดอยู่ทุกวันหรือเปล่าจึงทำให้เรามักมองข้ามมันไปครับ แต่สำหรับผม ผมขอแค่มีอาหารอร่อยๆกิน ก็พอแล้วหล่ะครับ อย่างอื่นผมขอหลับตาข้างเดียวไปก่อนล่ะกัน :D

คำสำคัญ (Tags): #หนังสือ#อาหาร
หมายเลขบันทึก: 152322เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2007 03:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะคุณต้น

ตามมาป่วน เอ๊ยตามมาคุยด้วยเรื่องของการอยู่เบื้องหลังตราสินค้าของผู้บริโภคค่ะ

นึกขึ้นได้ว่าเมื่อไม่นานมานี้มีชื่อของผู้ประกอบการธุรกิจอาหารของญี่ปุ่นเกี่ยวพันกับเรื่องหลอกลวงบนฉลากอาหารน่ะค่ะ อย่างบ. Meat Hope ที่นำเอาเนื้อสัตว์ที่หมดอายุแล้วนำมาบรรจุหีบห่อวางขาย  หรือบ.ฮิไนโดริที่ใช้เนื้อไก่เลี้ยงในกรงทั่วไปมาบรรจุห่อและระบุในฉลากว่าเป็นไก่คุณภาพชั้นหนึ่งที่เลี้ยงในฟาร์มปล่อย ( คล้ายไก่ออร์แกนนิคที่คุณต้นกล่าวไว้มั้ยคะ ? )

ที่ช็อควงการนักบริโภคของแพงก็เห็นจะเป็นกรณีของเชน ภัตตาคารชื่อดังในกลุ่มคิทโช ทีถือว่า่เป็นภัตตาคารระดับบนที่มีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่น ..สาขาแห่งหนึ่งของเขาคือเซนบะคิทโชถูกตรวจพบว่าเนื้อหมักเต้าเจี้ยวที่ระบุบนฉลากว่าใช้เนื้อวัวทาจิมะ จาก จ.เฮียวโกะที่เป็นเนื้อชั้นเยี่ยม ..กลับถูกตรวจพบว่าเป็นเนื้อธรรมดา จากวัวที่เลี้ยงทั่วไปในเขตคิวชิว เนื้อไก่ก็เห็นแบบเดียวกันค่ะเอาเนื้อไก่บ้านธรรมดามาบอกว่าเป็นเนื้อไก่จิโดริที่ถือว่าคุณภาพดีที่สุดของ

แม้แต่ขนมของภัตตาคารสาขานี้ก็มีการแก้ไขวันที่หมดอายุ !

เล่ห์การค้าเหล่านี้ชวนคิดนะคะว่าในไทยมีหรือไม่ ? และกระบวนการตรวจสอบของเราทำได้ดีแค่ไหน ?

ขอบคุณค่ะสำหรับบันทึกที่ทำให้เบิร์ดคิดไปได้ไกล..ขอบคุณมากค่ะ

 

สวัสดีครับคุณเบิร์ด

ขอบพระคุณมากครับสำหรับคำถาม แต่คุณเบิร์ดอาจจะผิดหวังในคำตอบก็ได้นะครับ เพราะว่าถ้าจะให้ผมตอบจริงๆ ผมก็คงตอบได้แต่ว่า ผมไม่มีข้อมูลเพียงพอหรือหลักฐานยืนยันที่จะบอกได้ว่าสิ่งที่คุณเบิร์ดถามนั้นมีหรือไม่มี

แต่ถ้าเราอนุมานว่าคนนั้นมีทั้งดีและไม่ดี ก็คงจะมีบ้างกระมังครับที่มีการใช้เล่ห์การค้าประหลาดๆทำให้หาลูกค้าได้เพิ่มขึ้น

ผมไม่แน่ใจว่ากระบวนการตรวจสอบของประเทศไทยนั้นก้าวไกลแค่ไหน แต่ผมเดาว่ากระบวนการตรวจสอบเรื่องคุณภาพอาหาร น่าจะขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข หรือไม่ก็ อย ซึ่งคุณเบิร์ดน่าจะทราบดีกว่าผมนะครับ แต่ถ้ากระบวนการตรวจสอบคุณภาพอาหารนั้น เหมือนกับกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคเหมือนของกระทรวงพาณิชย์ เราก็อาจจะน้ำตาตกเล็กน้อยถึงปานกลางครับ 

เอาล่ะครับ ถ้าสมมติว่า ราชการช่วยอะไรประชาชนไม่ได้ เราจะทำอย่างไร มาถึงตรงนี้เราก็คงต้องใช้เสียงกับปากกาให้ดังที่สุดแล้วหล่ะครับ เพราะว่า ชื่อเสียงการค้านั้น แพร่เร็วที่สุดก็ด้วยวิธีการปากต่อปาก แล้วก็ถูกทำลายเร็วที่สุดก็ด้วยปากต่อปากอีกเหมือนกันครับ ดังนั้นโอกาสที่ร้านค้าจะหลอกลวงในยุคปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารค่อนข้างรวดเร็ว ทันใจ ฉับไว ถูกต้อง (ใช่ครับ ถูกต้องนั้นส่วนมากจะมาหลังสุดเสมอ) จึงยากมากครับ เพราะเขาต้องเสี่ยงกับการโดนประนาม หยามเหยียด ในโลกไซเบอร์สเปซ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าทำดี ก็ได้รับความชื่นชมจากโลกแห่งใยแก้วนำแสงเหมือนกัน  

จะมีอีกมาตรการหนึ่งที่ช่วยให้เราได้ของที่มีคุณภาพดีขึ้น นั่นก็คือการกำหนดให้ลูกค้านั้นสามารถคืนของที่เสื่อมคุณภาพ หรือไม่พอใจในคุณภาพได้ครับ อย่างร้านอาหารในประเทศที่เจริญแล้ว ถ้าเราพบเส้นผม หรือ สิ่งแปลกปลอมที่เราเชื่อว่าไม่ได้อยู่ในอาหารที่เราสั่งแน่นอน ทางร้านอาหารนั้น จะทำมาเปลี่ยนให้ใหม่ แถมอาหารจานนั้นก็จะไม่มีการคิดเงิน รวมไปถึงมื้อนั้นเลยด้วยครับ แต่เรื่องนี้นั้นกฏหมายไม่ได้กำหนดครับ แต่เป็นเรื่องของแรงจูงใจครับ (ผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องของมาตรฐานหรืออะไร เพราะว่า ปากต่อปากนั้นมีผลมากกว่าการโฆษณาครับ และร้านอาหารนั้นจำเป็นต้องพึ่งการชวนเชื่อแบบปากต่อปากมากที่สุดครับ)

ผมคิดว่าผมคงไม่ต้องออกตัวสำหรับคุณเบิร์ดแล้วล่ะครับว่า ถ้าเราสามารถสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม เราก็สามารถสร้างกระบวนการการตรวจสอบและมาตรฐานที่ดีได้ครับ และผมเชื่อนะครับว่า โลกของผู้บริโภคนั้น สามารถสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมได้ ส่วนราชการนั้น ก็คงต้องทำการเดินสุ่มตรวจต่อไปแหละครับ

ขอบพระคุณมากครับสำหรับคำถามดีๆ

ต้น 

สวัสดีค่ะคุณต้น P ไปอ่านหนังสือ

เรื่อง Supply Driven นั้น พี่คิดว่าไ่ม่ได้เกิดในวงการอาหารอย่างเดียวหรอกนะคะ คงมีอยู่ในหลายอุตสาหกรรมด้วยกัน ที่มีการโฆษณาจูงใจ ให้เปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำ.. แต่ในอุตสาหกรรมอาหารอาจจะเห็นได้ชัดเจน เพราะอาหารเป็นสิ่งที่เราต้องบริโภคกันทุกคน 

สำหรับอาหาร สิ่งที่ทำได้ก็คงต้องระมัดระวัง เลือกได้ก็เลือก เลือกไม่ได้ ก็คงต้องหลับตาข้างหนึ่งเหมือนที่คุณต้นบอกไว้น่ะค่ะ ^ ^ 

สวัสดีค่ะ

เห็นบทความนี้ตั้งแต่เช้าแล้ว เพิ่งจะมีโอกาสมาตอบค่ะ จริง ๆเมืองไทย ก็เริ่มจะรับอะไรคล้าย ๆ อเมริกาแล้ว โดยเฉพาะวัฒนธรรมการกินของเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ เปลี่ยนไปจริง ๆ ค่ะ  ทั้งJunk food  หรือ  Fast food มาก หรือก็ไปกินอาหารญี่ปุ่น และเกาหลี ตามกระแสที่เปลี่ยนไปจริงๆ   ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทย มีอาหารประจำชาติมากมายที่เป็นประโยชน์กับสุขภาพ  วิถีการบริโภคก็เปลี่ยน เน้น กินง่าย หาง่าย สบายๆ ไม่ลำบากค่ะ ธุรกิจ Delivery  จึงมีมากมาย โดยเน้น โฆษณาจับกลุ่มครอบครัวยุคใหม่ ที่ทำงานนอกบ้าน และเด็กวัยรุ่น

แม้แต่ผักที่เขียนว่าปลอดสารพิษที่วางขายตาม Supermarket  เบื้องหลัง ก็ผักธรรมดาไม่ได้ปลอดสารพิษอะไร  เพียงแต่นำมาล้าง แล้วผึ่งให้แห้ง แล้วแพคส่งห้างค่ะ  เห็นมากับตาค่ะ   ขอบคุณที่บันทึกนี้ทำให้ราณีได้รู้อะไรเยอะขึ้นค่ะ  

สวัสดีครับอาจารย์กมลวัลย์

คำว่า supply driven ที่ผมหมายถึงคือ demand นั้นจำกัดครับ โอกาสที่จะเพิ่ม demand นั้นยากมากครับ และเพราะว่าอุตสาหกรรมอาหารนั้น demand นั้นจำกัดจริงๆ เพราะเราคงไม่ต้องการอ้วนไปกว่านี้อีกแล้ว ทำให้โอกาสการเพิ่ม demand นั้นยากสุดๆ จะเพิ่มได้ก็จะมาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มครับอุตสาหกรรมอาหารจึงเป็นประเภท supply driven ครับ

ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆนั้น demand นั้นยังสามารถเพิ่มได้อย่างค่อนข้างไม่จำกัดเท่ากับอุตสาหกรรมอาหาร เช่นรองเท้า ที่บางคนนั้นมีมากกว่าหนึ่งคู่ หรือเสื้อผ้าที่มีคนใช้มากกว่าหนึ่งชุดครับ หรือรถยนตร์ที่วิ่งกันให้ขวักบนท้องถนนกรุงเทพครับ

เรื่องอาหารนั้น ผมขอไปตามความอร่อยครับ บางทีผมก็พร้อมหลับตาแถมหลับหูด้วยครับ ถ้ามันอร่อยเย้ายวนมากๆ ในบางโอกาสนะครับ :D

ขอบพระคุณครับอาจารย์ที่ได้กรุณาเข้ามาทักทายครับ

 

 

สวัสดีครับอาจารย์ Ranee

ขอบพระคุณมากครับสำหรับข้อคิดเห็น

โดยส่วนตัวนะครับผมคิดว่า วัฒนธรรมทางการกินของวัยรุ่นนั้นเปลี่ยนไปทั่วโลกครับ โดยส่วนตัวผมเองไม่ต่อต้านการเข้ามาของอาหารชาติต่างๆนะครับ เพราะผมคิดว่าการเข้ามาของอาหารชาติต่างๆนั้น ก็เหมือนกับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน และบ่อยครั้งเราอาจจะเห็นการประยุกต์ของอาหารแต่ละชาติได้ครับ เช่นมาม่าสปาเก็ตตี้ หรือก๋วยเตี๋ยวหมูสับ ที่น้ำซอสนั้นดูเหมือนซอสสปาเก็ตตี้สุดๆนะครับ (อันนี้ผมคิดเองนะครับ)

ผมเองก็ไม่ได้ตกใจที่เด็กไทยนั้นไปกินอาหารชาติอื่นๆมากกว่า เพราะเราอาจจะทราบกันดีอยู่แล้วก็ได้ว่า เด็กไทยนั้นกระแสนิยมค่อนข้างแรงพอสมควร แต่ผมก็ยังมองโลกในแง่ดีว่า อาหารที่เขาชอบ ถ้าให้เลือกมาสักสิบอย่าง โอกาสที่อาหารไทยจะติดอันดับอยู่ ก็คงมีอยู่มากพอสมควรครับ ผมคิดว่าคงมีเด็กไทยจำนวนน้อยที่จะไม่ชอบกินข้าวเหนียว ส้มตำ ไก่ย่าง หรือน้ำจิ้มซีฟู้ดรสเด็ด

แต่ที่ผมค่อนข้างกังวล กลับเป็นวัฒนธรรมในการกินข้าวร่วมกันเป็นครอบครัวครับ บางทีอาจจะเป็นเรื่องที่น่าตกใจและน่าแปลกใจพอสมควรที่ครอบครัวในปัจจุบันที่เล็กลงเรื่อยๆ กลับไม่สามารถทานข้าวพร้อมหน้ากันได้บ่อยๆ ผิดกับสมัยก่อนที่ครอบครัวถึงแม้จะใหญ่แต่ก็กินข้าวร่วมกันได้บ่อยกว่าปัจจุบัน ที่ผมค่อนข้างกังวล ก็เพราะว่า การทานข้าวร่วมกันนั้น มันเป็นการแลกเปลี่ยนกันถึงความอบอุ่น ความอาทร และความห่วงใยระหว่างคนในครอบครัวนะครับ และถ้าเราไม่มีตรงนี้ ก็คงไม่แปลกใช่ไหมครับว่า ทำไมเราจะเห็นภาพสะท้อนของอาหารแบบ delivery มากขึ้น

ขอบพระคุณครับอาจารย์ราณีที่ได้กรุณาเข้ามาครับ

 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท