สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๖. ประวัติศาสตร์กับการศึกษาวรรณคดีไทย (๕)


1.2 ความหมายของประวัติศาสตร์และวรรณคดี
         เนื่องจากผมได้รับเชิญให้มาบรรยายเรื่อง “ประวัติศาสตร์กับการศึกษาวรรณคดีไทย” ผมเห็นสมควรที่จะทำความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันกับท่านทั้งหลายเสียก่อนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวรรณคดี ในระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบัน ประวัติศาสตร์อยู่บนเส้นทางวิบากไม่น้อยไปกว่าวรรณคดี เพราะความเข้าใจผิดของนักการศึกษาและผู้ใหญ่รุ่นก่อนๆ ซึ่งเรียนประวัติศาสตร์มาผิดวิธี ครูวัดความรู้ของนักเรียนด้วยการท่องจำเหตุการณ์ การแสดงความรักชาติ และการหาศัตรูให้แก่ชาติ การพัฒนาภูมิปัญญามนุษย์ไม่ควรมุ่งเน้นไปที่การทำให้คนมีคุณค่าเป็นเพียงเครื่องบันทึกเสียง แต่ต้องมุ่งเน้นให้มนุษย์มีอำนาจแห่งการคิดวิเคราะห์ หรือ ที่ฝรั่งเรียกว่า thinking faculty นักประวัติศาสตร์ไม่ได้ร่ำเรียนวิชาไปเพื่อเป็นพ่อค้าแม่ค้าข้อมูล แต่เป็นปัญญาชนให้แก่บ้านเมืองและสังคม คือ ไม่เพียงเป็นผู้รู้มาก เหตุเพราะอ่านมาก หากยังต้องอธิบายให้คนอื่นได้รู้ความหมายและนัยของสารสนเทศจากแง่มุมที่คนทั่วไปนึกไม่ถึง เพราะฉะนั้น นักประวัติศาสตร์จึงเสมือนผู้มามือเปล่า มาเพื่อหาข้อมูลและพร้อมที่จะตีความข้อมูลใดๆ ที่จะทำให้เข้าใจมนุษย์     ในขณะที่ประวัติศาสตร์เป็นงานเขียนที่จะบอกจากข้อมูลต่างๆ ที่วิเคราะห์แล้วว่ามนุษย์ผ่านประสบการณ์อะไรมาบ้างในอดีต วรรณคดีมีบทบาทในอีกทางหนึ่ง นั่นคือ เป็นบันทึกร่วมสมัยที่บอกเล่าประสบการณ์อารมณ์ ความรู้สึกสมหวังและผิดหวังของคนในสังคมใดสังคมหนึ่ง     เพราะฉะนั้น การทำความเข้าใจวรรณคดีจึงมีเงื่อนไขเรื่องเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง การศึกษาวรรณคดีสักเรื่องหนึ่งจึงเป็นการเรียนรู้โลกทรรศน์ของคนต่างยุคต่างสมัย เราต้องไม่เข้าหาวรรณคดีต่างยุคต่างสมัยด้วยค่านิยมและคติความเชื่อของคนในปัจจุบัน เช่น เอาความคิดเรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างสตรีและบุรุษเพศไปประณามวรรณกรรมแบบฉบับเช่น ลิลิตพระลอ  หรือ กฤษณาสอนน้องคำฉันท์

         เราพูดถึงวรรณคดีเป็นเรื่องปกติในปัจจุบัน แต่ผมยังสงสัยว่า จะมีใครสนใจถึงกับรู้ว่า คำ ว่า วรรณคดีเป็นคำ ที่บัญญัติขึ้นใหม่เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งวรรณคดีสโมสรขึ้น เพื่อส่งเสริมผลงานสร้างสรรค์ทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง การศึกษาวรรณกรรมของชาตินี้เป็นแนวคิดตะวันตก และคำว่า วรรณคดี ก็แปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า literature    พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ได้ทรงนิพนธ์อธิบายความหมายของคำว่า วรรณคดีไว้ในหนังสือวิทยาวรรณกรรม ว่า   “วรรณคดีในความหมายกว้างก็หมายถึงเรื่องของหนังสือที่แต่งขึ้น จะเป็นหนังสือชนิดใดก็ตาม แต่ความหมายแคบ ก็หมายเฉพาะถึงเรื่องหนังสือที่แต่งขึ้นโดยนิยมกันว่า เป็นศิลปกรรม”1 ความหมายที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปฯ ทรงอธิบายนั้นตรงกับความหมายสองประการในภาษาอังกฤษ      แต่ในภาษาไทย ภายหลังตั้งวรรณคดีสโมสรและมีการพิจารณายกย่องผลงานที่เป็นแบบฉบับแล้ว วรรณคดีได้ถูกนำมาใช้  หมายถึงผลงานการประพันธ์ที่มีคุณค่าทางศิลปะ เร้าอารมณ์ร่วม และร้อยเรียงคำได้ดี เช่น วรรณคดีสองเรื่องแรกที่ได้รับการยกย่องคือ มัทนะพาธา ในฐานะงานร้อยกรอง และ พระราชพิธี 12 เดือน ในฐานะงานร้อยแก้วพัฒนาการของการบัญญัติคำ literature นี้      เป็นเรื่องน่าสังเกตว่าวิธีการแบบไทยเราเป็นอย่างไรก็ได้ ตามแต่จะใช้กัน ผมเห็นว่า ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อบัญญัติคำว่า วรรณคดี ขึ้นใช้แทนคำ literature ซึ่งมีความหมายโดยรวมแล้ว ก็น่าจะยอมรับกันอย่างนั้น แต่หากจะเจาะจงลงไปถึงความหมายประการแรก ก็ควรใช้ วรรณกรรม คือ ผลงานเขียนทั่วไปที่เป็นการพรรณนาในเรื่องต่างๆ รวมทั้งตำราวิชาการต่างๆ เพราะคำว่าวรรณกรรม สร้างขึ้นจาก วรรณ (อักษร) ผสม กรรม (กระทำ) แปลว่า การสร้างขึ้นด้วยอักษร ในขณะที่คำว่า วรรณศิลป์ ควรใช้ในความหมายที่สอง   ซึ่งเจาะจงว่า งานประพันธ์เรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นงานที่มีคุณค่าทางศิลปะแห่งการร้อยเรียงอักษรในระดับสูงในการถ่ายทอดความคิด เนื้อหาและอารมณ์ของสังคมและของผู้ประพันธ์ อย่างไรก็ตาม วรรณคดีในที่นี้หมายถึงวรรณกรรมแบบฉบับที่มีคุณลักษณะต่อไปนี้ คือ เนื้อหาดี แฝงด้วยปรัชญาหรือคติความเชื่อที่สมควรนำมาอภิปราย มีพลังแห่งการถ่ายทอดและต้องส่งผลกระทบต่อสังคมสูง ผู้เขียนใช้เกณฑ์เหล่านี้เพื่อแยกวรรณคดีจากวรรณกรรมท้องถิ่น
---------------
1 กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ, วิทยาวรรณกรรม,
(กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2506) หน้า 2

วิจารณ์ พานิช
๑๘ ต.ค. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 141968เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2007 09:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 10:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท