ลงหลังเสืออย่างไร ไม่ให้เสือกัด


ความเรียง บทส่งท้ายการลงจากอำนาจของท่านผู้นำ จากภาพสะท้อนทางการเมือง ผ่านมุมมองงานวรรณกรรมชิ้นเอกของโลก ด้วยงานเขียนของ ภวาณี ภัฎฎาจารย์ Bhabani Bhattacharya ในงานประพันธ์ชื่อ He who rides a tiger หรือในภาคภาษาไทยที่ว่า คนขี่เสือ เพื่อเป็นของกำนัลรับขวัญวันเกษียณอายุราชการ

ลงหลังเสืออย่างไร ไม่ให้เสือกัด

 

ลงหลังเสืออย่างไร ไม่ให้เสือกัด

คงจะเป็นการบังอาจเกินกำลัง หากจะเขียนความเรียงแนะนำ ชนชั้นเสนาธิการทางทหาร และขุนพลซึ่งผ่านศึกสมรภูมิมาอย่างโชกโชน

มิจำกัดด้วยสมรภูมิแห่งชีวิต สมรภูมิสงคราม และสมรภูมิแห่งการเมือง

 

เพียงแต่วันนี้

ถือเป็นการนำวรรณกรรมเรื่องเอกของโลก มาสู่การแลกเปลี่ยน

อธิบายและเล่าสู่กันฟังในเชิงปัญญา 

เพื่อสะท้อนสู่มุมมองว่า

เหตุและกลวิธีใด ที่จะทำให้มนุษย์ธรรมดาเช่นเราและท่านทั้งหลาย

ได้รับรู้ถึงหนทางแห่งการเอาตัวรอด

ในยามมิอาจปฏิเสธบทบาทอันจำนน และ จำใจ

เมื่อยามต้องทนทุกข์ทนยาก กระทั่งบังอาจกระโดดขึ้นหลังเสือ เพียงเพราะมิอาจถอยหลังถอยชีวิตไปมากกว่านี้ จนพบว่า หนทางเดียวที่จะมีลมหายใจ และ ความภาคภูมิใจในชีวิตได้ ต้องกระโดดขึ้นหลังเสือ เพื่อควบคุมบัญชา หรือกระทั่งขับขี่ไป จนกว่าจะหมดวาระซึ่งจำต้องลง

คาดว่าก่อนที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลง ในวันที่ 19 กันยายน 2549

ท่านผู้นำทางทหารทั้งหลาย โดยเฉพาะที่ผ่านโรงเรียนเสนาธิการทหาร คงได้มีโอกาสอ่านและยินยล ผ่านหูผ่านตา งานวรรณกรรมเรื่องเอกอุที่ชื่อ คนขี่เสือ กันมาบ้าง

ผลงานวรรณกรรม คนขี่เสือ

ภายใต้การสร้างสรรค์ ของ Bhabani Bhattacharya

ในนามแปลภาษาไทย ว่า ภวาณี ภัฎฎาจารย์ 

 

งานเขียนชื่อ  He who rides a tiger ได้รับการระบุว่า ตีพิมพ์ในปี 1954 โดยมีนักประพันธ์ยิ่งใหญ่ของไทย 2 ท่าน ได้แปลความไว้แตกต่างกันในแต่ละรายละเอียดของถ้อยความงามทางภาษา

ทั้ง จิตร ภูมิศักดิ์ และ ทวีป วรดิลก

 

โดยใช้ชื่องานแปลและงานประพันธ์ชิ้นนี้ ได้อย่างลงตัวรวบรัดลงตัว และเห็นพ้องต้องกัน ที่ชื่อ

คนขี่เสือ

 

 

เรื่องราวและเนื้อหา ในการล่อหลอกเย้ยหยัน ประชดประชัน ต่อสังคมอยุติธรรมของชายชาววรรณะศูทร ในชนชั้น กมาร ของอินเดียประเทศ ซึ่งต่ำต้อยเรี่ยดิน จนแทบจะไม่เหลือเกียรติยศใด ให้ได้ชื่นชมในแต่ลมหายใจ กลับต้องถูกเย้ยหยันและกระทำด้วยความเจ็บปวดซ้ำเติม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

กระทั่งวันหนึ่ง

เหตุการณ์อันเย้ยหยันต่อพระเจ้า ผู้คน สังคม ศรัทธาและความเชื่อ จึงเกิดขึ้น

เมื่อ กาโล ผู้พ่อซึ่งเป็นช่างตีเหล็ก สามารถชำระแค้นแห่งการดูถูกและทำร้ายทางชนชั้นให้แก่ จันทรเลขา บุตรสาว ผู้อยู่ชนชั้น กมาร ให้รอดพ้นจากความเจ็บช้ำ

 

หลังจากเป็นผู้ค้นพบ หรือ นับได้ว่าได้รับบัญชาจากพระเจ้า

ให้ค้นพบ พระศิวะ

องค์พระศิวะซึ่งพุดขึ้นจากดิน

ภายใต้กำลังแห่งการสักการของ กาโล

ความต่ำต้อยของคนวรรณะศูทร จึงได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่ ยิ่งใหญ่เทียบเท่าพราหมณ์ทั้งหลาย ด้วยเพราะเป็นผู้ค้นพบองค์พระเจ้า จากผืนดิน

 

นามวรรณกรรมอันเย้ยหยัน และ เรื่องราวอันเจ็บแสบ

ดำเนินไปเสมือนเย้ยหยันชีวิตคนอ่าน ให้ต้องทบทวนและเตือนตนอยู่ทุกขณะ ว่าที่เรากราบไหว้เคารพบูชา ที่เรานับถือ ที่เราน้อยสักการ หรือกระทั่งยึดเป็นหลักแห่งชีวิตนั้น เป็น สูงสุดแห่งธรรมชาติ และสูงสุดแห่งศรัทธาอันควร ที่มนุษย์พึ่งยึดมั่นหรือไม่

ก็เพราะรู้ทั้งรู้ ว่าองค์พระศิวะ ซึ่งพุดจากดินด้วยอำนาจของถั่วงอกนั้น

เจ็บแสบใจเพียงใด

การเฉลยปริศนาแห่งชีวิต กลับเจ็บแสบมากกว่า

 

เมื่ออำนาจ ศรัทธา ความเคารพ ความมั่งคั่ง หลั่งไหลมามิขาดสาย หนทางแห่งการลงจากหลังเสือ ด้วยเพราะรู้ถึงเหตุแห่งการได้มาของอำนาจที่ตนได้รับนั้น มาจากความฉ้อฉล

กลเกมของการลงจากอำนาจจึงต้องเริ่มต้น

และต้องจบลง

ด้วยการลงจากหลังเสือ

แต่จะลงจากหลังเสือเช่นไร

นั่นคือบทท้ายแห่งวรรณกรรมเย้ยหยันอันเจ็บแสบ

 

ภายใต้เนื้อความแห่งชิ้นงานวรรณกรรมยิ่งใหญ่เรื่องนี้ มีการวิพากษ์ว่า หนทางแห่งการกระทำของ กาโล เปรียบเสมือน การฆ่าเสือให้ตายไป ก่อนที่เขาจะก้าวลง ทำร้ายทำลาย และล้างหนทางแห่งความเป็นเสือ อันจะแว้งกัดยามเมื่อก้าวลงให้หมดสิ้น

แต่ในชีวิตจริง และความจริงที่เราเห็น

เราคงต้องยอมรับว่า

น้อยครั้งในประวัติศาสตร์ของโลก

ที่จะมีผู้ลงอย่างนุ่มนวล ไม่ตายและไม่เจ็บตัวจมเขี้ยวเสือ

 

ประวัติศาสตร์ของการลงจากหลังเสือ ล้วนบันทึกหนทางลงของอำนาจไว้อย่างโหดร้ายนัก น้อยครั้งที่ผู้ซึ่งกล้าหาญกระโดดขึ้นขี่นั้น จะลงมาได้อย่างยิ่งใหญ่สง่างาม และไม่ถูกทำร้ายแว้งกัด

เพราะแทบทั้งมวลทั้งสิ้น

เมื่อลงหลังเสือ

ล้วนถูกกัดจมเขี้ยวตายไปมากต่อมาก

แค่ลำพังกระโดดขึ้นขี่ ก็ยากลำบากพออยู่แล้ว

น่ากลัวและน่าหวาดหวั่นต่อการกระโดดสู่อำนาจ

 

แต่การลงกลับน่ากลัว โหดร้าย และหดหู่มากกว่าหลายเท่านัก

เกมแห่งอำนาจนั้น ล้วนเป็นเกมแห่งความประหลาด

เมื่อก่อนขึ้น ต่างรู้ดีถึงภยันตรายมากมายของอำนาจ

แต่ยามเมื่ออยู่กับความหอมหวลของอำนาจ กลับมิอาจต้านทานมนต์ดำอันรัญจวนใจ อยากอยู่ต่อ อยากอยู่ยืด อยากอยู่ให้ยาวนาน เท่าที่สุดที่เงื่อนไขจะพึ่งกระทำได้

แม้ตายคาอำนาจได้ ก็จะกระทำ

 

แต่ในความเป็นจริงของโลก และกลแห่งแรงโน้มถ่วงของอำนาจ เมื่อสมบัติมีน้อยชิ้น คุณค่ามหาศาลค่างามเทียมแผ่นดิน จึงหอมหวลต่อแรงปรารถนาของผู้คนในหล้า จำต้องพลัดให้ผู้อื่นได้ชื่นชม ก่อนที่จะถูกผู้อื่นบังคับ หรือมิฉะนั้นก็จะถูกกระทำให้ต้องยอมจำนนต่อการก้าวลง

ดังนั้น การเลือกตัดสินใจลงเอง

ก่อนที่จะมีผู้เลือกหนทางลงให้นั้น

ล้วนเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

วันนี้ มิมีของฝากใด จะยิ่งใหญ่

ในวาระโอกาสแห่งอำนาจครบรอบ 1 ขวบปีแห่งอำนาจ

และการพุดขึ้นของศรัทธาจากแผ่นดิน

และก่อนที่จะครบสิ้นเดือนกันยายน

จึงมีเพียงวรรณกรรมชิ้นเอกของโลก

เพื่อนำมาฝากกำนัล แด่ ท่านผู้นำ

ด้วยเชื่อมั่นว่า

จะเป็นของกำนัลทางปัญญาอันยิ่งใหญ่เพียงพอ

ต่อการก้าวลงจากหลังเสือ

หมายเลขบันทึก: 140231เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2007 02:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท