ภาษาพาม่วน 5 พ่อใหญ่ของชาวอีสานคือใคร?


บางท้องที่อีสานจะเรียกพ่อใหญ่ แม่ใหญ่ว่า "พ่อตู้ แม่ตู้" หรือ "พ่อโซ่น แม่โซ่น" ก็มี เช่น เพลงคาราวาน ของวงคาราวานที่ว่า "ขบวนคนทุกข์ได้ลุกขึ้นสู้ พ่อตู้แม่ตู้พี่น้องทั้งหลาย..."

        คำว่า "พ่อใหญ่" กลายเป็นฉายาที่นำมาแสดงว่าคนอีสานนิยมชมชอบใครก็ยกให้ว่าเป็น "พ่อใหญ่" อย่างนั้นหรือ  เรื่องนี้ผมจำได้ว่าในหน้าการเมืองของหนังสือพิมพ์  เมื่อ 30 ปีก่อน ในการเลือกตั้งปี 2518 ยุคประชานิยมตามนโยบายเงินผัน  พบว่ามีการพาดหัวเรื่องว่า "คนอีสานทั้งภาคเรียก.......ว่าพ่อใหญ่" โดยสรุปว่าชาวอีสานยกย่องว่านักการเมืองชั้นครูท่านนั้น  เป็นพ่อใหญ่ของคนอีสาน  ในความหมายที่ว่าไม่ใช่พ่อธรรมดา  ดูจะให้เป็น "บิ๊ก ฟาเธอร์" หรือ "ซุปเปอร์  แดดดี้" ทำนองนั้น

         พอมาขณะนี้ก็เช่นกัน  ในสื่อมวลชนพบว่า มีทั้งที่กล่าวถึงพ่อใหญ่ ว่าหมายถึงใคร  และมีทั้งผู้ที่แสดงความสงสัยว่า ทำไมชาวอีสานถึงยอมรับให้ท่านนั้น ๆ เป็น "พ่อใหญ่"

          ผมขออนุญาตฟันธงแทนคนที่เข้าใจคำนี้ดีครับ  ว่าชาวอีสานเรียก ท่านที่พวกเรานึกถึงอยู่นี้ว่า "พ่อใหญ่" จริง ๆ  ทั้งนี้เพราะ

          พ่อใหญ่  หมายถึง  ตา  คุณตา พ่อของแม่  หรือการใช้เรียกคนแก่ที่มีอาวุโสวัยเท่าคุณตา  ส่วนยาย หรือคุณยาย ก็เรียก แม่ใหญ่

           ในการเรียกบุรุษที่ 3 ในเชิงให้เกียรติถึงไม่อายุมากเท่าวัยคุณตา  ก็สามารถเรียกว่าพ่อใหญ่ได้เป็นปกติ  เช่น พ่อใหญ่สรพงษ์ พ่อใหญ่เหลิม พ่อใหญ่ชวน คนฟังก็รู้ว่าเป็นการพูดสุภาพ (ลับหลัง) พ่อใหญ่เหล่านั้น  ยกเว้นเรื่องที่ว่าใครต้องการให้คนดูว่าตนเองยังหนุ่มฟ้อ  แต่พอมาโดนคนเรียกว่า พ่อใหญ่ ก็หมดทางไป...เหมือนกันครับ

            พ่อใหญ่ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ในความหมาย "บิ๊ก ฟาเธอร์" หรอกครับ เช่น คำพูดที่ว่า "พ่อใหญ่สีซอขอทานที่ บขส.  เป็นตาหลูโตนเนาะ" (คุณตาที่สีซอขอทานที่ บขส.  น่าสงสารนะ)

            การกล่าวถึงว่าใครเป็น "พ่อใหญ่" นี้เป็นคำสุภาพ และให้เกียรติกว่าคำว่า ตานั่น ตานี่ ครับ  คำพูดอีสานที่ดูจะเท่า ๆ กันนี้ น่าจะพูดว่า เฒ่านั้น เฒ่านี้...

            บางท้องที่อีสานจะเรียกพ่อใหญ่  แม่ใหญ่ว่า "พ่อตู้  แม่ตู้" หรือ "พ่อโซ่น  แม่โซ่น" ก็มี เช่น เพลงคาราวาน ของวงคาราวานที่ว่า "ขบวนคนทุกข์ได้ลุกขึ้นสู้  พ่อตู้แม่ตู้พี่น้องทั้งหลาย..."

            ผมเองก็แปลกใจอยู่สักหน่อย  ที่ขณะนี้ชาวอีสานรุ่นใหม่  โดยเฉพาะคนมีการศึกษาส่วนมากไม่นิยมให้บุตรหลานเรียกพ่อใหญ่  แม่ใหญ่ แต่ให้เรียก ตา  ยาย  หรือคุณตา  คุณยาย  (ทั้ง ๆ ที่ตัวเขาเองก็เคยเรียกว่าพ่อใหญ่ แม่ใหญ่ ของตนมาก่อน)

            ความหมายของพ่อใหญ่ก็มีอย่างนี้  ส่วนใครจะสร้างกระแสว่าเป็นพ่อใหญ่ของชาวอีสาน  เพื่ออะไรก็สุดแล้วแต่  เพราะชาวอีสานถึงจะยากดีมีจนอย่างไร  พอแก่มาก็จะถูกลูกหลานบ้านเมืองเรียกว่า พ่อใหญ่  แม่ใหญ่ อยู่ดี เพราะหมายถึงคุณตา คุณยาย ของเรานั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 139364เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2007 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)
สวัสดีครับ ผมเพิ่งเข้าใจลึกซึ้งวันนี้เอง คำว่า พ่อ แม่ มีใช้เยอะมาก แต่ความหมายก็แปลกแตกต่างกันไป ผมเคยไปทางเหนือ เขาเรียก ผู้ใหญ่บ้านว่าพ่อหลวง (อาจจะเป็นชาวเขา) แต่แถวภาคใต้ พ่อหลวงก็คือ หลวงพ่อ (พระ) นั่นเอง  แต่ช่วงหลังๆ ได้ยิน "พ่อหลวง" หมายถึง ในหลวง ด้วย ไม่แน่ใจว่า ภาษาถิ่นไหนแน่

สวัสดีครับคุณธวัชชัย ผมก็เคยได้อ่านมาว่า  พ่อหลวงเป็นคำที่ชาวไทยภูเขาที่พระองค์ทรงช่วยเหลือเรียก องค์ในหลวงของเรา โดยเรียก สมเด็จย่า ว่า แม่ฟ้าหลวง ต่อมาก็มีการใช้คำว่า พ่อหลวง หมายถึงพระองค์กันโดยทั่วไป น่าจะเพราะ  คำว่า หลวงหมายถึงพระองค์อยู่แล้ว  ภาษาอีสาน/ลาว หลวงแปลว่าใหญ่ ครับ...  หรือยังไงครับ  ไม่ได้อ้างอิงนะครับ  รู้สึกอย่างนี้...

  • แมนแล้วครับ ผอ.
  • การประดิษฐวาทกรรมเพื่อส่งเสรมิงานทางการเมือง
  • เนื้อในแท้แห่งความหมายคือชาวบ้านธรรมดาของเรานี่ล่ะ
  • แม่นบ่พ่อใหญ่

ครับผม  คุณออต...(ส่วนวรรคท้าย..บ่เฒ่าปานนั้น...ฮา..)

ขอบคุณครับ ผอ.ชาตรี เสงี่ยมวงศ์ วันนี้ได้รับความรู้ภาษาถิ่นอีสานหลายคำ โดยเฉพาะคำว่า พ่อโซ่น แม่โซ่น หมายถึง พ่อลุง แม่ป้า หรือเปล่าครับ ขอบคุณครับ

นมัสการ  และสวัสดี คณะนักศึกษา ม.ราชภัฏพระนคร  กลุ่มเม็กดำ นาดูน มหาสารคาม ครับ

         พ่อโซ่น  แม่โซ่น ก็คือ พ่อใหญ่  แม่ใหญ่ คุณตาคุณยาย นี่แหละครับ  ส่วนพี่ของพ่อแม่เรา ก็พ่อลุงแม่ป้า อยู่แล้วครับ

          ผมยังได้ยินมาว่าพ่อใหญ่  แม่ใหญ่ ทางอ.เลิงนกทา และอำเภอทางนั้น  เรียกพ่อโหว่ แม่โหว่ จะอย่างไรท่านที่อยู่พื้นที่ช่วยแบ่งปันความรู้หน่อยครับ  คงต้องรอลุงวอ ส่งข่าวมา

   ขอบคุณครับที่เอารูปมาไห้ครับ

  • สวัสดีครับท่าน ผอ.
  • พ่อใหญ่ แม่ใหญ่ ผมว่าเรียกแล้วอบอุ่นดีครับ รู้สึกใกล้ชิดกันมาก
  • ท่าน ผอ.อยู่ที่ อ.ซำสูง  ท่านรู้จักพี่ชายของกระผมรึเปล่าครับ   ผอ.พิชิต สอนคำแก้ว  คุ้น ๆ ว่าเมื่อก่อนแกเคยอยู่ที่ซำสูงแหละครับ
  • อิอิ  ฝากเบิ่งแยงแนเด้อครับ
  • 5555

สวัสดีครับครูชา

แวะมาเก็บความรู้ครับ เพิ่งรู้ความหมายที่แท้จริงวันนี้แหละครับ ว่าแต่ว่าครูชาเป็น พ่อใหญ่หรือยัง...อิอิ

  • lสวัสดีครับท่าน P บัณฑูร - ทองตัน 
  • ครูชาวัยยังไม่สมควรเรียกพ่อใหญ่ครับ  เว้นแต่หลานเรียกล่วงหน้าไว้ก่อน..พอได้ครับ
  • ส่วนถ้าลูกน้องเรียก (ลับหลัง)...  คงต้องหาหลักสูตรสักอย่างมาพัฒนาตนเอง นะครับท่านอัยการ..ฮา..

สวัสดีครับคุณ P นายสายลม อักษรสุนทรีย์

ผมคุ้นชื่อท่านผอ.พิชิต นะครับ ผมเพิ่งย้ายมาก กศน.หนองสองห้องขอนแก่น 2 ปี ครับ จะลองถามดู

พ่อใหญ่ แม่ใหญ่ ถ้าพวกเราช่วยกันเรียกอยู่จะน่ารักตลอดไป  ทั้งนี้ คำว่าคุณตา คุณยาย เราก็ใช้เรียกในมิติภาษากลางประจำอยู่แล้ว ครับผม

สวัสดีครับคุณ  คุณาวุฒิ  ผมเห็นกลอนลำส่องยาวที่บันทึกของคุณแล้ว เลยอยากให้มีภาพหมอลำจริง ๆ ไว้คู่กัน ครับ ขอบคุณมาก

คนไทยสมัยนี้ก็พัฒนา ไม่เรียกพ่อใหญ่แม่ใหญ่กัน ไปเรียกคุณตา คุณยาย เป็นคนในเมืองไป  แต่ไปตามชนบท ก็ยังได้ยินอยู่ พ่อใหญ่ แม่ใหญ่ ก็ฟังดูอบอุ่นดี แต่จะสุภาพ หรือเข้าท่า ตามสมัยว่า ตา กับยายหรือเปล่า เด็กรุ่นใหม่ ต่อไปจะเข้าใจพ่อใหญ่แม่ใหญ่ดีแค่ไหน แม้แต่ดิฉันก็รู้ว่า  ถ้าแก่แล้วจะเรียกพ่อใหญ่แม่ใหญ่ และพ่อใหญ่แม่ใหญ่ เป็นพ่อแม่ใคร วนไปวนมา เพราะคิดว่า เด็กสมัยใหม่ก็จะคิดง่ายอย่างนี้แหละ

และคำว่าหลวงที่อาจารย์แปลมา  เคยได้ยินผู้ชายเรียกกัน  บักหลวงเอ้ย  นี่คิดว่าเป็นคำชมหรือคำด่า

  • สวัสดีครับคุณP สุมาลี
  • ขอบคุณในความเห็นเรื่องพ่อใหญ่แม่ใหญ่เพิ่มเติมครับ
  • คนไทยเรา โดยเฉพาะคนอีสาน แต่เปิงโบราณมา  มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เรียกขานกันตามหน้าตาว่า น้อง/นาง/หล่า/คำ   พี่/อ้าย/เอื้อย  พ่อ แม่ ลุง น้า พ่อใหญ่ แม่ใหญ่ ดีมากอยู่แล้ว อันนี้ก็เป็นส่วนทำให้พวกเรามีจิตใจดี มีความอ่อนโยนชอบช่วยเหลือผู้อื่น...
  • ส่วนเรื่องที่พวกเรา เรียกกันว่า หลวง นั้น ก็คล้ายกับเหตุผลตามวรรคก่อน  ก็คือ หลวงแปลว่า ใหญ่ เช่น ดงหลวงกว้างใหญ่ คำไหนที่หมายถึง สิ่งดี เป็นใหญ่ เป็นมงคล กล่าวยกย่อง ชาวอีสานโบราณเราใช้เรียกคนอื่น เสมอ ถือเป็นคำสุภาพโดยเฉพาะพระจะใช้เรียกพระด้วยกัน เช่น คำว่า หลวง ท่าน เจ้า หมอ(ผู้ชำนาญ ผู้เก่งเรื่องต่าง ๆ) ซึ่งเป็นคำสุภาพและยกย่องเพื่อนรักกัน  ความหมายเท่ากับ เสี่ยว หรือบักเสี่ยว หรือ บักหลวง ส่วนคนไม่สนิทกันถือว่าไม่สุภาพ  บ้านเราถ้ารุ่นน้องพุดกับเราถือว่า   เปีย หรือ เว้ามับเหมอ ล่วงเกินรุ่นพี่ ครับผม
  • แม่แต่คำสรรพนามที่เราใช้พูดกัน ว่า ข่อย เจ้า ผมเข้าใจว่าเป็นคำพูดที่สุภาพที่สุด  เพราะเราใช้กับพ่อ แม่ หรือผู้ใหญ่กว่า ถ้าพูดกับเพื่อนกันก็ถือว่าให้เกียรติที่สุด  จากความหมายที่ว่า เจ้า แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ คนอีสานและลาวโบราณ เรียกเจ้าพญาเมืองตนเองว่า เจ้า จึงเรียกพ่อ แม่ บรรพบุรุษตนเอง และผู้วัยสูงกว่าว่า เจ้า ไปด้วย 
  • ส่วน ข่อย แปลว่า ผู้ยินดีช่วย ผู้อ่อนน้อมถ่อมตน เราก็นำมาใช้เรียกตนเอง คนไทยผู้อ่อนน้อม เรียกตนเองว่า ข้าน้อย  คนอีสานโบราณ/ลาวก็เรียกตนเองว่า ข่อยน้อย เช่นตอนที่คนแก่พูดกับ พระ จะลงท้ายว่า ข่อยน้อย ทุกครั้งไป
  • ผมขยายคำว่า หลวง มากไปหรือเปล่าครับ (เพิ่นถามน้อย โตตอบหลายโพดบ่นอ?)  ก็อยากให้พี่น้องภาคอื่นเข้าใจภาษาอีสานเฮาเพิ่มขึ้น..ครับผม.

เรียน คุณครูชาและทุกท่านครับ

เห็นด้วยและขอบคุณครูชาที่อธิบายคำว่า "พ่อใหญ่" ของคนอีสานไม่ได้หมายความว่า "บิ๊ก ฟาเธอร์" หรือผู้ยิ่งใหญ่ เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว หากมองในเชิงการเมือง (คำนี้มักใช้กับนักการเมืองท่านหนึ่ง) คนภาคอื่นอาจจะดูถูก (อย่างเข้าใจผิดๆ) หรือมองคนอีสานในเชิงลบ ด้วยความไม่ประสีประสาในด้านภาษาถิ่นนั้น ๆ เรื่องแบบนี้ผู้รู้ในท้องถิ่นจำเป็นต้องอธิบาย

ขอบคุณครับ

 

  • ขอบคุณ  คุณสนอง ครับ
  • ว่าแต่คุณสนอง  เป็นพ่อใหญ่ของหลาน ๆ หรือยังครับ

เรียน คุณครูชา

ผมยังไม่ถึงขั้นเป็น "พ่อใหญ่" ของหลานๆ ดอกครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท