ทำบุญวันหมํรับใหญ่ของปักษ์ใต้(มีรูปให้ดูด้วยครับ)


http://www.geocities.com/provyala/month10.htm

ทำบุญสารทเดือนสิบ

ทำบุญสารทเดือนสิบ

                 เป็นประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่ชาวภาคใต้ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา แต่ครั้งโบราณจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากความเชื่อทางพุทธศาสนาว่าในปลายเดือนสิบ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้องซึ่งล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีบาปตกนรกอยู่ ซึ่งเรียกว่า "เปรต"

                จะได้รับการปล่อยตัวจากพญายม ให้ขึ้นมาพบลูกหลานและญาติพี่น้องของตนในเมืองมนุษย์ ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และให้กลับไปอยู่เมืองนรกดังเดิมในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10

                ชาวบ้าน จึงจัดให้มีการทำบุญเป็นประเพณีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ครั้งหนึ่งกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 อีกครั้งหนึ่ง (บางท้องถิ่นทำในวันแรม 14 ค่ำ) เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติพี่น้อง ตลอดจนบุคคลอื่น ๆ ที่ล่วงลับไปแล้วเป็นสำคัญเพียงแต่ว่าการทำบุญใน 2 วาระหลังเพราะถือว่ามีความสำคัญกว่าในวาระแรก
               การทำบุญสารทเดือนสิบ เป็นการแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมทางด้านจิตใจของผู้ปฏิบัติที่มี ต่อบุรพชน อันเป็นค่านิยมที่สำคัญยิ่งของชาวใต้ และของคนไทยทั่วไป

                  ชาวภาคใต้จึงรู้สึกว่า งานบุญนี้มีความสำคัญมาก เมื่อใกล้ถึงวันทำบุญเดือนสิบ ทุกครอบครัวต่างก็เตรียมข้าวของให้ พร้อมเพื่อการทำบุญ ผู้ที่จากภูมิลำเนาไปอยู่ที่อื่นทั้งใกล้และไกลก็จะเริ่มกลับสู่ถิ่นใต้บ้านเกิดเมือง นอนของตนเพื่อมาร่วมงานประเพณีโดยทั่วหน้ากัน

                 การทำบุญเดือนสิบ จึงเป็นงานประเพณีที่ก่อ ให้เกิดการชุมนุมของเครือญาติได้อีกทางหนึ่งด้วย ชาวภาคใต้บางคนบางพวกที่ไม่อาจกลับสู่ ภูมิลำเนาของตนได้ด้วยความจำเป็นบางประการ ก็พยายามหาโอกาสทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ บุรพชนในวาระทำบุญวันสารท และถ้าสามารถรวมกลุ่มกันได้ก็จะจัดประเพณีทำบุญนี้ขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่งในแหล่งที่ไปอาศัยอยู่นั้น

ชื่อประเพณี
       ประเพณีทำบุญนี้มีชื่อเรียกต่างกันออกไปเป็นหลายชื่อ โดยทั่วไปแล้วจะมีการกำหนดเรียก 4 ลักษณะ คือ

1. กำหนดเรียกตามเดือนที่ทำบุญประเพณี เนื่องจากประเพณีทำบุญนี้จัดให้มีขึ้นในเดือน 10 ตามคติความเชื่อดังกล่าวแล้ว ชาวบ้านจึงเรียกกันอย่างง่าย ๆ ว่า "ประเพณีทำบุญเดือนสิบ"

2. กำหนดเรียกตามประเพณี "สารท" ของอินเดียที่รับอิทธิพลเข้ามา คำว่า "สารท"พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายไว้ว่า "เกี่ยวกับหรือเกิดในฤดู ใบไม้ร่วง, เทศกาลทำบุญสิ้นเดือนสิบ" ในอินเดียคำว่า "สารท" เป็นชื่อที่ใช้เรียกฤดูใบไม้ร่วง และมีประเพณีอันเกี่ยวเนื่องด้วยฤดูสารทนี้ คือ เมื่อถึงฤดูสารทพืชพันธุ์ธัญญาหารที่ปลูกไว้ ให้ดอกผล ก็จะมีการเก็บเกี่ยวไปทำขนม เซ่น พลีบูชาผีปู่ย่า ตายายหรือเทพเจ้าที่ตนนับถือ และแสดงความยินดีกัน

                 ในสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์ทรงเห็นว่าการทำบุญในลักษณะเช่นนี้ เป็นการดี จึงทรงอนุญาตให้พุทธศาสนิกชนคงถือปฏิบัติเรื่อยมา จึงเป็นที่เชื่อกันว่า เราได้รับประเพณีนี้มาจากอินเดีย และบางคนยังคงเรียกประเพณีนี้ว่า "สารท" ด้วย และในบางครั้งก็มีการเรียกควบคู่กับ "เดือนสิบ" ด้วย เช่น "ประเพณีทำบุญวันสารท" หรือ "ประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบ"

3. กำหนดเรียกตามขั้นตอนปฏิบัติที่สำคัญของประเพณี ประเพณีนี้มีวิถีปฏิบัติหลายขั้นตอน ที่สำคัญ คือ การจัดหมรับ การยกหมรับ และการชิงเปรต บางคนจึงเรียกว่า "ประเพณียกหมรับ" หรือประเพณีชิงเปรต"

4. กำหนดเรียกตามความมุ่งหมายหลักของประเพณี ประเพณีนี้มีความมุ่งหมายหลักอยู่ที่ การอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเชื่อว่าไปเป็น "เปรต" อยู่ในนรกและได้รับ การปล่อยตัวให้ขึ้นมาเยี่ยมลูกหลานในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับสู่นรกในวันแรม 15 เดือน 10

               ลูกหลานจึงต้องทำบุญในวันเวลาดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นการ "รับ" และ "ส่ง" ตายาย ดังนั้นบางท้องถิ่นจึงเรียกประเพณีนี้ว่า "ประเพณีทำบุญตายาย" หรือ ประเพณี รับส่งตายาย

ความมุ่งหมายของการทำบุญสารทเดือนสิบ
        ประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบ มีเป้าหมายหลักอยู่ที่การอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ตลอดจนญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ด้วยช่วงเวลาปฏิบัติและวิถี ปฏิบัติของผู้ซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชน จึงทำให้ประเพณีนี้มีความมุ่งหมายอื่น ๆ เข้าประกอบด้วย ดังต่อไปนี้

1. เพื่อเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ญาติ พี่น้อง หรือบุคคลอื่น ที่ล่วงลับไปแล้ว

2. เป็นการทำบุญ แสดงความชื่นชมยินดี ในโอกาสที่ได้รับผลิตผลทางการเกษตร ในช่วงปลาย เดือน 10 ซึ่งตรงกับประเพณีสารท เป็นระยะที่พืชพันธุ์ต่าง ๆ กำลังให้ผลชาวบ้านจะนำพืชผล ทั้งในลักษณะที่ไม่แปรสภาพและแปรสภาพเป็นอาหารต่าง ๆ แล้วไปถวายพระสงฆ์ เพื่อความ เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

3. เพื่อเป็นการอำนวยประโยชน์ ในด้านปัจจัยอาหารแด่ภิกษุสงฆ์ ในช่วงฤดูฝนโดยนำพืชผลไม้ และอาหารแห้งไปถวายพระสงฆ์เพื่อเก็บไว้เป็นเสบียงในฤดูฝน ซึ่งจะเริ่มในตอนปลายเดือน 10 การจัดเสบียงอาหารนี้ จะจัดเป็นสำรับที่ชาวใต้เรียกว่า "หมรับ" แล้วถวายโดยวิธีให้พระภิกษุ จัดสลากเรียกว่า "สลากภัต" พระภิกษุจะให้ศิษย์เก็บหมรับรับไว้ เพื่อนำมาประเคนถวายเป็นมื้อๆ

4. เพื่อเป็นการแสดงความสนุกสนานรื่นเริงประจำปีร่วมกัน เพราะญาติมิตรที่อยู่ใกล้ไกลจะกลับ สู่ภูมิลำเนาค่อนข้างพร้อมหน้าพร้อมตากัน จึงมักมีการจัดงานรื่นเริงเฉลิมฉลองกันในลักษณะ ต่างๆ จังหวัดนครศรีธรรมราชมีการจัดงานรื่นเริงควบคู่กับประเพณีทำบุญเดือน 10 เป็นงาน ใหญ่โต เรียกว่า "งานเดือนสิบ" ซึ่งยังคงจัดมาจนถึงปัจจุบัน

วิธีปฏิบัติและพิธีกรรม
        ประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบ มี 2 ครั้ง คือ ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ครั้งหนึ่งกับ วันแรม 15 ค่ำ อีกครั้งหนึ่ง
       ในวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 ชาวบ้านโดยทั่วไปยังไม่ถือว่าเป็นวันสำคัญนัก การประกอบพิธี จึงเป็นอย่างง่าย ๆ เพียงจัดภัตตาหารไปทำบุญที่วัดเรียกวันนี้ว่า "วันรับตายาย" หรือ "วันหมรับเล็ก" ในวันแรม 13 ค่ำ แรม 14 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ถือเป็นช่วงสำคัญมาก เรียกว่า "วันหมรับใหญ่" มีขั้นตอนการปฏิบัติตนและประกอบพิธีกรรมโดยทั่วไป ดังนี้

1. การเตรียมการ มีการจัดข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไว้ให้ครบ ถ้วนเพื่อการจัดหมรับ ดังนั้นในวันแรม 13 ค่ำเดือน 10 จึงมีการซื้อขายกันมากเรียกว่า "วันจ่าย"

2. การจัดหมรับ ส่วนใหญ่จัดกันในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 แต่เดิมนิยมใช้กระบุงทรงเตี้ย ๆ สานด้วยตอกไม้ไผ่ขนาดเล็กใหญ่ตามต้องการ แต่มาระยะหลังใช้ภาชนะจัดตามสะดวก ของที่ใช้ ในการจัดหมรับ ได้แก่เครื่องปรุงรสอาหารที่จำเป็น, อาหารแห้ง, ของใช้ในชีวิตประจำวัน,ยาสามัญ ประจำบ้าน, ธูป, เทียน และหัวใจคือสำคัญของหมรับ คือ ขนม 5 อย่าง

                ซึ่งมีความหมายต่อการ อุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับ และถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของงานบุญสารท เดือน 10

ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพ สำหรับญาติผู้ล่วงลับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพตามคติ ทางพุทธศาสนา


ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทนแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม


ขนมกง (ขนมไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ

ขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทนเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย


ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทนสะบ้า สำหรับญาติผู้ตายจะได้ใช้เล่นสะบ้าในวันสงกรานต์

                  ผู้สูงอายุบางคนกล่าวว่า ขนมที่เป็นหัวใจของการจัดหมรับมี 6 อย่าง โดยเพิ่มลาลอยมัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนฟูกหมอนเข้าไปด้วยขนมต่าง ๆ เหล่านี้เป็นขนมที่สามารถเก็บไว้ได้นานไม่บูด เสียง่าย เหมาะที่จะเป็นเสบียงเลี้ยงสงฆ์ไปได้ตลอดฤดูฝน

                นอกจากนั้นยังมีเครื่องเล่นต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นของพื้นเมือง ซึ่งต้องพิจารณาให้ถูกกับนิสัยบุรพชนที่อุทิศให้ เช่น บุรพชนชอบดู ละคร, ชอบกัดปลา, ชอบเล่นไก่ชน ฯลฯ ก็จัดทำเป็นรูปตุ๊กตานั้น ๆ เชื่อว่าผู้จัดจะได้อานิสงส์มาก ยิ่งขึ้น

                 การจัดหมรับอาจจะจัดกันเฉพาะครอบครัว หรือจัดกันในหมู่ญาติพี่น้อง หรือรวมกัน เป็นกลุ่มระหว่างเพื่อนฝูงก็ได้
                ในจังหวัดยะลาไม่นิยมจัดหมรับ แต่จะมีบ้างในบางราย ซึ่งจัดเป็นหมรับขนาดเล็ก ดังนั้น ในวันแรม 14 ค่า หรือ แรม 15 ค่ำ จะเห็นพ่อค้า แม่ค้านำ "ขนม 5 อย่าง"มาวางขายอยู่ทั่วไป ซึ่งขนมเหล่านี้ ก็สั่งซื้อมาจากจังหวัดอื่น เช่น นครศรีธรรมราช สงขลา

                และเพื่อความสะดวก เขาจะใส่ถุงรวมกันเป็นชุด ๆ ชาวบ้านจะซื้อหา เตรียมไว้สำหรับเอาไปวัดในวันรุ่งขึ้น หรือซื้อหากัน ในช่วงเช้าวันแรม 15 ค่ำ ก็ได้ เมื่อถึงวัดชาวบ้านจะนำขนมเหล่านี้ไปวางรวมกันในภาชนะที่ ทางวัดเตรียมไว้เพื่อประกอบพิธีร่วมกัน
               ในการยกหมรับไปวัด จะมีการจัดภัตตาหารไปถวายพระด้วย จึงมักจะไปวัดกันในช่วงเช้า ก่อนพระฉันเพล ผู้ยกหมรับไปวัดจะแต่งกายสะอาด สวยงามเพราะถือว่าเป็นการทำบุญ ครั้งสำคัญ

                โดยเลือกวัดที่อยู่ใกล้บ้าน หรือวัดที่เคยเผาบรรพบุรุษหรือวัดที่บรรพบุรุษเคยนิยม ยกหมรับไปวัด อาจต่างครอบครัวต่างไป หรือจัดเป็นขบวนแห่ก็ได้ ถ้าเป็นหมรับใหญ่และมีการ ประกวดหมรับกันด้วย จะมีขบวนแห่ใหญ่โตเอิกเกริก ผู้ร่วมขบวนแห่แต่งตัวสวยงามตามลักษณะ ขบวน อาจมีการแต่งเป็นเปรตหรืออื่น ๆ ตามแต่ความคิดของผู้ร่วมขบวน

               4. การตั้งเปรต เมื่อยกหมรับและนำภัตตาหารไปถึงวัดแล้ว ก็เตรียมจัดสำรับ การจัดสำรับ ในวันสารททั้ง 2 ครั้ง (แรม 1 ค่ำ เดือน 10, แรม 15 ค่ำ เดือน 10) ก็มีข้าวปลาอาหาร และขนมเดือน 10 จัดเป็น 3 ชุด คือ
                  ชุดที่ 1 สำหรับถวายพระ เพื่อจะได้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปไห้บุรพชนหรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

                  ชุดที่ 2 สำหรับตั้งให้เปรตกันในวัด เป็นเปรตชั้นดี ที่สามารถเข้าวัดเข้าวาได้โดยสร้างร้าน ขึ้นสูงพอสมควรเรียกว่า "หลาเปรต" (หลา เป็นภาษาถิ่นใต้หมายถึงศาลา ดังนั้น "หลาเปรต" จึงหมายถึงศาลาที่ใช้สำหรับตั้งเปรต) แล้วนำอาหารไปไว้บนหลาเปรตนั้น

                  ชุดที่ 3 สำหรับตั้งให้เปรตกินนอกวัด เป็นเปรตที่มีบาปหนัก เข้าวัดเข้าวาไม่ได้โดยจะเอา ไปวางไว้นอกบริเวณวัดตามกำแพงหรือโคนต้นไม้ในการตั้งเปรตทั้งในวัดและนอกวัด จะต้องกล่าวคำเชิญเปรตและอธิษฐานให้เปรตได้ หลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ถ้าไม่เชิญเปรต เปรตจะไม่กล้ากินเหมือนหนึ่งเราจัดอาหารให้แขกหรือ ญาติที่มาเยี่ยม จัดวางไว้แล้วเราไม่เชิญแขกก็ไม่กล้ากิน เมื่อเชิญเสร็จแล้วควรจะยืนดูสักระยะหนึ่ง พอให้เปรตกินเสร็จ เปรตจะได้ชื่นใจว่าเรายื่นให้ด้วยความเต็มใจ และคอยเฝ้าปรนนิบัติไม่ละทิ้ง

             5. การชิงเปรต เมื่อจัดสำรับไปวางไว้บนหลาเปรตแล้ว บนหลาเปรตจะมีสายสิญจน์วงล้อม ไว้รอบ และต่อยาวไปจนถึงพระสงฆ์ ซึ่งนั่งอยู่ในวิหารเป็นที่ทำพิธีกรรม โดยสวดบังสุกุลอัฐิหรือ กระดาษเขียนชื่อของผู้ตาย ซึ่งบุตรหลานนำมารวมกันในพิธีต่อหน้าพระสงฆ์บุตรหลานจะ กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญไปยังเปรตชนที่เป็นบรรพบุรุษ

                        

                เมื่อเสร็จพิธีแล้ว เก็บสายสินจน์ ก็มี"การชิงเปรต" คือแย่งของที่ตั้งให้เปรตกินนั้น เชื่อว่า การแย่งขนมเปรตที่ผ่านการทำพิธีแล้วนี้จะได้กุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวยิ่งนัก และยังเชื่อกันต่อไปว่าขนมเหล่านี้ถ้านำไปหว่าน ในสวน ในนา จะทำให้พืชผลอุดมสมบูรณ์ เพิ่มผลผลิตสูง


                การชิงเปรตหรือแย่งของที่ตั้งให้เปรตกิน ถ้าไม่ชิงเปรตท่านว่าไม่ดี เพราะการชิงเปรตนั้นคือ การชิงกันกินของที่เปรตกินเหลือแล้ว เปรตจะสุขใจอย่างมากที่เห็นลูกหลานไม่คิดรังเกียจ กล้ากินเดนอาหารที่ท่านกินเหลือ และเปรตจะช่วยหาทางคุ้มครอง บางคนที่บุตรหลานเจ็บป่วย บนเปรตให้หายป่วย จะให้บุตรหลานได้ชิงเปรตในรอบปีนั้นก็มี

               บางท่านอธิบายว่า การชิงเปรต นั้นจะทำให้เปรตสนุกสนานด้วย เพราะนาน ๆ จะได้มาแย่งชิงเล่นสนุกกับลูกหลาน ดังนั้นหาก ใครไม่ร่วมชิงเปรตก็คล้ายกับว่ายังทำพิธีนี้ไม่

สมบูรณ์

               มีกิจกรรมที่ให้ความสนุกสนาน เช่น การปีนร้านเปรต ซึ่งเขาจะทำร้านเปรตไว้สูงด้วยเสาขนาดใหญ่ ๔ เสา แล้วใช้น้ำมันทาที่เสาจนลื่น จากนั้นก็ให้แข่งกันปีนเสาน้ำมันขึ้นไปเอาของบนร้านเปรตนั้น หรือการแย่งกำพรึกในการหว่านกำพรึก

           ซึ่งคุณไม้ร่มได้เขียนไว้ในวารสารทักษิณคดี เป็นคำกลอนถ่ายทอดความสนุกสนานไว้ ดังนี้ 

   ประเพณีชิงเปรตเทศกาล   เรียกว่าหว่าน"กำพรึก"คนคึกคัก
เด็กปักษ์ใต้ก่อนเก่าเขารู้จัก  เข้าสมัครขันแข่งแย่งกำพรึก
  กรรมการชูยกพร้าวนกขุ้ม  ทามันหมูเปียกชุ่มจนรู้สึก
แล้วโยนลูกลงไปใจระทึก  เด็กคักคึกวัดดวงเข้าช่วงชิง
  ลูกกำพรึกมันขลับจับไม่อยู่  น้ำมันหมูลื่นหลุดไม่หยุดนิ่ง
ฟัดเหวี่ยงกันขลักขลุกสนุกจริง  ใครได้ลูกก็วิ่งให้กรรมการ
  กรรมการเป่านกหวีดชี้สิทธิ์ขาด  มอบรางวัลหนึ่งบาทให้ลูกหลาน
อาบเหงื่อโคลนคลุกกายสบายบาน  เข้ารับเหรียญกล้าหาญที่แสนแพง
  แต่ยังมีเด็กชายอยู่นายหนึ่ง  ผู้รู้ซึ่งถึงทีที่แสวง
เขาปล่อยเพื่อนแย่งไปไม่เสียแรง ได้จังหวะก็แย่งได้ทุกที
กรรมการคนเก่าเป่านกหวีด  ลูกกำพรึกเซียวซีดมาถึงที่
เด็กคนเดิมอีกแล้วแววไม่ดี  เขารู้จักวิธีแย่งกำพรึก

               การชิงเปรตนี้ ชาวบ้านในชนบทยังคงปฏิบัติกันอยู่ แต่วัดที่อยู่ในตัวเมือง ส่วนใหญ่มีแต่เด็ก ๆ ที่เข้าแย่งชิงกันและมักจะรื้อค้นหาเงินที่ชาวบ้าน วางไว้ในสำรับเพื่อมอบให้เปรตไว้ใช้จ่าย ส่วนผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าแย่งชิงนั้นอาจจะคิดว่าเป็นการแย่ง กันกิน เป็นเรื่องน่าเกลียด จึงควรที่จะศึกษาและแปลเจตนาให้ถูกต้อง มิฉะนั้นประเพณีนี้ อาจจะต้องเลิกลาไปในที่สุด

มีรูปถ่ายการทำบุญเดือนสิบจากhttp://www.trangzone.com/webboard_show.php?ID=2025

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 
หมายเลขบันทึก: 136967เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2007 12:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 17:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

สวัสดีครับ

  • นึกถึงตอนเด็กๆแล้วสนุก
  • ยังมีทองโย่ง (เปรตจำลอง)คนเข้าไปอยู่ข้างใน หลอกเด็กๆกลัว
  • อยากกลับบ้าน
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับ

บันทึกของท่านได้บอกเล่าเรื่องราวรายละเอียดมากมายครับ

เมื่อครั้งผมไปประชุมชาวบ้านที่ท่าแซะ ชุมพร ก็เคยได้ร่วมงานนี้ และได้ชิงเปรตได้ขนมกินจนอิ่ม

ที่เขมรก็ถือคตินี้ครับ เรียกบุญประจุมเบิล ประกาศเป็นวันหยุดราชการตั้งสามวัน

พี่น้องชาวไทยเชื้อสายเขมรแถบอีสานใต้ของเราก็มีสารทเขมรครับ ขณะนั่งบันทึกนี้อยู่ที่สถานีขนส่งหมอชิต เต็มไปด้วยผู้คนชาวอีสานใต้เดินทางกลับบ้านครับ

ขอบคุณมากคะ เป็นการจัดงานที่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่าทางด้านจิตใจ จริง ๆ คะ

สวัสดีค่ะ

 คงต้องเข้ามาอ่าน อย่างละเอียดอีกครั้ง แต่ภาพสวยมาก ได้เรื่องราว บอกกล่าวได้ดีค่ะ ขอบคุณกับสิ่งที่ตั้งใจมาเผื่อแผ่กัน

ขอบคุณครับพี่บ่าวP

               เหมือนกันแหละครับ ปานี้เขาคงทำบุญกันอยู่ในโรงธรรม เด็ก ๆ ก็ไปเฝ้าแลร้านเปรต ยิ่งหวางนี้โรงเรียนปิดด้วยเด็กคงเต็มไปเหม็ดครับ

                                              สวัสดีครับ

ขอบคุณครับP

               ขอให้เดินทางปลอดภัยนะครับ ถึงอยู่ภาคไหน ๆ ก็เป็นคนไทยเหมือนกัน ท่าแซะหรือครับ ประตูเมืองใต้ครับ สนุกแน่ ๆ ถ้าได้ร่วมชิงเปรต

                                            สวัสดีครับ

ขอบคุณครับP

                 นี่แหละครับของจริงในวิถีชีวิตคนใต้ เห็นแล้วคิดถึงบ้านครับ

                                         สวัสดีครับ

                                               

ขอบคุณครับP

            คิดถึงบ้านครับ จึงได้ทำบันทึกนี้ เหมือนพี่เกษตรยะลา คนไกลบ้านเหมือนกันครับ

                                              สวัสดีครับ

วันนี้ผมก็ไปทำบุญส่งตา-ยายมาแล้วครับ ที่นี่

ขอบคุณครับP

               เมื่อวานฝนตกมาก พระก็ไม่มาเดินบาตร แต่ได้โทรศัพท์บอกน้องที่โคกโพธิ์ให้ทำบุญให้ด้วยแล้วโอนตังไปให้

                                            สวัสดีครับ

                   

โอย เห็นแล้วอยากกลับบ้านนะคะ ถึงแม้จะเป็นรูปเก่าๆของปีที่ผ่านๆมา ป่านี้ตายาย คงนั่งนับวันรอให้ลูกหลานกลับไปแล้วเนาะ ก็เหมือนลูกหลานนี่แล่ะ นับวันจังเลย แต่ปีนี้ยังไม่รู้เลย ว่าทำบุญเดือนสิบ(หนหลัง) ตรงกับวันที่เท่าไร จะได้วางแผนถูก ใครทราบบอกหน่อยจ๊ะ แบบว่าหนูมีปฏิธินที่ไม่มีรายละเอียดอะ แย่จัง

สวัสดีคุณสาวตรังเหอ

                ปีนี้ตามปฏิทินวันสารทไทย หรือวันรับตายายบ้านเรา คือวันจันทร์ที่ 29 กันยายน 2551 แรม 15 ค่ำ เดือน 10 ส่วนวันส่งตายายอีก 15 วันถัดมา ตรงกับวันอังคารที่ 14 ตุลาคม 2551 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ครับ...ขอให้สมปราถนาที่ตั้งใจไว้ทุกประการ อย่าเจ็บ อย่าจนนะครับ

                                                              โชคดีนะสาว

                                                                     

 

ภาพสวยจังเลยค่ะ กดLike 50 ครั้งจ้าา

ปีนี้เสียดายมั่กมากเลยค่ะที่สอบเสร็จไม่ทันกลับไปทำบุญสารทเดือนสิบ T.T

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท