ความจริงของข้าว..กับเรื่องราวของชาวนาไทย


เมื่อคุณเข้าใจความหมายของคำว่าแก้วที่เติมน้ำไม่รู้จักเต็มฉันใด...คุณก็จะเข้าใจว่าทำไม ความรู้ของชาวนา จึงไม่มีคำว่าเพียงพอ เมื่อคุณเข้าใจความหมายของคำว่าแก้วที่เติมน้ำไม่รู้จักเต็มฉันใด...คุณก็จะเข้าใจว่าทำไม ความรู้ของชาวนา จึงไม่มีคำว่าเพียงพอ

 เนื้องานสำคัญอย่างหนึ่ง ที่มูลนิธิข้าวขวัญ ได้พยายามอย่างมาก ในการช่วยพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยเน้นหลักไปที่ "ข้าว" ก็คือ การพยายามคิดค้นและพัฒนาองค์ความรู้ ทางด้านเทคนิคต่างๆที่เหมาะสมกับชาวนา ที่มีจุดยืนของหัวใจอันแน่วแน่ว่า เราตั้งมั่นในการเดินไปบนเส้นทางที่จะพลิกฟื้นผืนแผ่นดินร่วมกัน จนก่อเกิดองค์ความรู้มากมายที่ เราและชาวนา เป็นพลังสำคัญในการทดลองเพื่อพิสูจน์ความจริง ข้อที่ว่า เราจะไม่เชื่อใครโดยง่าย ถ้าไม่ได้ทดลองพิสูจน์มัน ด้วยตัวของเราเอง  เราจะไม่ลุ่มหลง หรือติดไปในบ่วงกับดักของวงจรอุบาทว์ที่ทำให้เราต้องตกเป็นทาสทางความคิด เราจะไม่ยึดติดกับความคิดของตัวเองที่ว่า เราดีแล้ว เราเก่งแล้ว เราเจ๋งที่สุด ไม่มีใครเก่งเกินเรา เพราะเราเชื่อมั่นเสมอว่า พลังสำคัญที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน คือพลังที่เกิดจากการแบ่งปันขุมความรู้ที่มีอยู่ ให้แก่คนใฝ่รู้โดยทั่วไป 

            และนี่คือที่มา ของการเริ่มต้น รวบรวมขุมพลังเพื่อการแบ่งปันแบบสร้างสรรค์ ครั้งยิ่งใหญ่ แด่คุณ..ผู้ที่เป็นแก้วซึ่งเติมน้ำไม่เคยเต็ม                                                             

            ขุมความรู้ ก้อนที่ 1 ความจริงเรื่องข้าวกับเรื่องราวของชาวนาไทย

           ข้าวเป็นพืชที่คนไทยบริโภคเป็นอาหารหลักประจำวัน คนในสังคมไทยมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับข้าวตั้งแต่เกิดจนตาย จนอาจกล่าวได้ว่าข้าวเป็นพืชที่มีความสำคัญกับสังคมไทยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม มาช้านาน ข้าวที่บริโภคกันภายในประเทศเกือบทั้งหมดมาจากการเพาะปลูกของชาวนาไทย และแม้ว่าประเทศจะได้พัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีไปมาก แต่การทำนาปลูกข้าวยังถือว่ามีความสำคัญในการผลิตภาคการเกษตรเป็นอันดับต้นๆ
            การทำนาปลูกข้าวของชาวนาจากอดีตจนถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเทคโนโลยีการทำนาไปจากเดิม จากเทคโนโลยีการทำนาแบบพื้นบ้านได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการทำนาด้วยเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่  เน้นการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีเกษตรจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตและวิถีชีวิตของชาวนา ดังเช่นกรณีของการพัฒนาพันธุ์ข้าวสมัยใหม่ เพื่อให้ตอบสนองต่อระบบการตลาด การพัฒนาพันธุ์ข้าวจึงเน้นผลผลิตต่อไร่สูงสุดและสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี    ทำให้ชาวนาต้องใช้ปุ๋ยในปริมาณสูงขึ้น ขณะที่ราคาปุ๋ยเคมีก็เพิ่มขึ้นสูงทุกปี  อีกทั้งพันธุ์ข้าวสมัยใหม่ที่พัฒนาขึ้นก็มักจะมีความอ่อนแอต่อโรค ชาวนาในระบบเกษตรสมัยใหม่ก็มักจะจัดการปัญหาด้วยการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชควบคู่กันไป ส่งผลต่อสุขภาพและค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือการพัฒนาพันธุ์ข้าวตามระบบเกษตรสมัยใหม่ ที่แม้จะได้ข้าวพันธุ์ดี แต่ก็ได้ทำให้ต้นทุนเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวของชาวนาเพิ่มขึ้น เพราะมีส่วนส่งเสริมให้ชาวนาหันไปซื้อพันธุ์ข้าวปลูกแทนการเก็บพันธุ์ไว้ใช้เองที่เคยทำมาแต่เดิม  เหล่านี้ล้วนแต่ทำให้ต้นทุนการผลิตของชาวนาสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
            การพัฒนาพันธุ์ข้าวในลักษณะนี้จึงมุ่งตอบสนองต่อความต้องการของตลาด และระบบที่เป็นเกษตรเคมี มากกว่าให้ตอบสนองต่อความต้องการของชาวนา ยิ่งไปกว่านั้นในปัจจุบันการทำธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว ภาคเอกชนบริษัทธุรกิจเมล็ดพันธุ์กำลังเข้ามามีบทบาทในการทำตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่มุ่งจะผูกขาดเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์และทำกำไรจากการขายเมล็ดพันธุ์รวมทั้งปัจจัยการผลิตอื่นๆ ในลักษณะครบวงจร  ทำให้ชาวนามีทางเลือกที่จำกัดในการผลิต และนับวันจะทำให้ชาวนาพึ่งตนเองได้น้อยลง
            ความสำคัญของการเรียนรู้เรื่องเทคนิคการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ให้ชาวนามีส่วนร่วม จึงเป็นงานที่มีความท้าทายต่อชาวนาทุกคนที่มีความสนใจ เพราะเป้าหมายของการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าวก็เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูความรู้ของชาวนา และพัฒนาความรู้ เทคนิคต่างๆ ในการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มาจากชาวนาเอง ให้ตอบสนองต่อระบบการผลิตของชาวนาได้อย่างเหมาะสม  สามารถลดต้นทุนการทำนา ชาวนามีทางเลือกในการพึ่งตนเองจากอาชีพการทำนา     มีวีถีชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถเป็นชาวนาได้อย่างมีศักดิ์ศรี
         
มารู้จักข้าวที่เราปลูกกันสักนิด
            ข้าวเป็นพืชจำพวกเดียวกันกับหญ้าสามารถขึ้นได้ดีทั้งในพื้นที่น้ำท่วมขังและพื้นที่ดอน เป็นพืชที่ปลูกกันมายาวนานในเขตภูมิภาคเอเชียรวมทั้งประเทศไทย ข้าวที่ปลูกกันทั่วโลกจำแนกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ  คือ ข้าวปลูก และข้าวป่า   ข้าวปลูกเป็นข้าวที่มนุษย์ใช้สำหรับเพาะปลูก ส่วนข้าวป่าเป็นข้าวที่เกิดขึ้นและมีอยู่เองตามธรรมชาติ  สันนิษฐานว่าบรรพบุรุษของข้าวป่าและข้าวปลูกน่าจะมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน  กลุ่มของข้าวปลูกยังจำแนกย่อยได้อีก คือ ข้าวเอเชีย และข้าวแอฟริกา สำหรับข้าวเอเชียจำแนกย่อยได้อีก 3 กลุ่มคือ
          กลุ่ม 1 ข้าวจาปอนนิกา เป็นข้าวเมล็ดสั้น ขึ้นได้ดีในเขตอบอุ่น ตัวอย่างเช่น ข้าวที่ปลูกในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศอื่นๆ ในเขตอบอุ่น
          กลุ่ม 2 ข้าวอินดิกา เป็นข้าวที่มีลักษณะเมล็ดยาว ขึ้นได้ดีในเขตร้อน ตัวอย่างเช่นข้าวที่ปลุกในประเทศไทย ลาว พม่า และประเทศอื่นๆ ในเขตร้อน
           กลุ่ม 3 ข้าวจาวานิกา เป็นข้าวที่มีลักษณะเมล็ดใหญ่ ป้อม ต้นสูง     เป็นข้าวที่พบปลูกกันเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย

           ข้อมูลเบื้องต้นนี้ อาจไม่ใหม่สำหรับใครที่รู้มาก่อนแล้ว แต่ยังคงมีคุณค่าเสมอ ถ้าเราจะนำสิ่งที่รู้ไปบอกต่อ แต่ยัง ยังไม่หมดแค่นี้ ก็เพียงแต่เกรงว่าคนอ่านจะตาลาย ฉันจะพยายามร่ายเป็นก้อนๆ เอาให้เห็นกันชัดๆว่า ข้าวที่เราบริโภคอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทำไม ต้องให้ความสำคัญกันนัก แต่ที่แน่ๆ จะมีชาวนาสักกี่คนในโลกใบนี้ ที่จะเคยสังเกตรายละเอียดของข้าว หรือรู้จักข้าวอย่างแท้จริง กระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนชาวนา เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไมได้ เพราะถ้าจะปรับเปลี่ยนแนวคิดหรือรูปแบบการผลิตเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริงแล้ว ชาวนาสายพันธุ์ใหม่เหล่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าถึงธรรมชาติของข้าวให้ได้มากที่สุด  เส้นทางสู่ขุมความรู้ว่าด้วยเรื่องข้าว

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13596เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2006 11:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท