“ตลาดบางลี่…อดีตตลาดสองฤดูที่โด่งดัง..ของเมืองสุพรรณ”(ตอนที่ ๓ ตอนจบ)


 

ตลาดบางลี่อดีตตลาดสองฤดูที่โด่งดัง..ของเมืองสุพรรณ

(ตอนที่ ๓ ตอนจบ) 

       ตลาดบางลี่ตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มแอ่งกระทะของอำเภอสองพี่น้อง ตั้งอยู่ริมคลองสองพี่น้อง ฝั่งทิศใต้ คลองสองพี่น้อง เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติแหล่งสำคัญที่ใช้อุปโภค บริโภค กันมาแต่โบราณ และยังเป็นเส้นทางคมนาคมหลักของชาวตลาดบางลี่และชาวสองพี่น้องในครั้งอดีต คลองนี้เริ่มต้นจากจุดที่แม่น้ำท่าว้าและแม่น้ำจระเข้สามพัน มาบรรจบกันที่บ้านวัดนก อำเภออู่ทอง เมื่อรวมเป็นแม่น้ำสายเดียวกันแล้ว ก็ไหลต่อไปเรียกว่า ลำน้ำท่าไชย ผ่านบ้านท่าไชย บ้านกาโว้ บ้านบางทราย บ้านบางพลับ บ้านบางลี่ ผ่านตำบลต่างๆของอำเภอสองพี่น้องหลายตำบลไปทางตะวันออก ไปบรรจบกับแม่น้ำสุพรรณที่วัดบางสาม

         คลองสองพี่น้อง นี้มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับตลาดบางลี่ดังที่กล่าวมาว่าใช้เป็นเส้นทางติดต่อค้าขายที่สำคัญมาแต่สมัยเมืองอู่ทองโบราณ จนถึงต้นรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นเส้นทางการติดต่อราชการและค้าขายของชาวบ้านในเขตอำเภออู่ทอง ตลอดจนชาวบ้านในจังหวัดกาญจนบุรี ที่ต้องเดินทางมายังตลาดบางลี่ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการค้าหลักของท้องถิ่นในสมัยนั้น นอกจากนี้คลองสองพี่น้องยังเป็นประตูของการเดินทางต่อไปยังจังหวัดอื่นตามลำน้ำท่าจีน แต่ในครั้งโบราณคลองสองพี่น้องที่เป็นทางติดต่อกับทางอู่ทองนั้นทำได้ในหน้าน้ำเท่านั้น ส่วนในหน้าแล้งลำคลองบางตอนจะแคบและตื้นเขินต้องเปลี่ยนมาใช้เกวียน ใช้ม้า แทนเรือ คือใช้เส้นทางทางบกแทน

       คุณสกุณา ฉันทดิลก เคยได้ยินเรื่องเล่าว่า สมัยก่อนเมื่อมีนักโทษจากอำเภออู่ทองที่จำเป็นต้องนำส่งศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ต้องนำเดินทางผ่านมาทางบางลี่ก่อน(สมัยนั้นไม่มีถนนมาลัยแมนเข้าตัวจังหวัดสุพรรณบุรีได้สะดวกเหมือนเดี๋ยวนี้) โดยผู้คุมขี่ม้าพานักโทษที่ถูกตีตรวนล่ามโซ่เดินเท้ามาเรื่อยๆ พักค้างคืนระหว่างทาง ๑ คืน จึงมาถึงตลาดบางลี่ตอนบ่ายของอีกวัน แล้วจึงนำนักโทษไปล่ามโซ่ไว้กับเสาเรือ ชื่อเรือศรีสองพี่น้อง(ผมเคยเห็นเรือแบบนี้ เป็นเรือสีแดงมี ๒ ชั้น ผมเรียกเรือท่าเตียน) ซึ่งเป็นเรือที่มีเส้นทางจากตลาดบางลี่ ถึง ท่าเตียน กรุงเทพฯ โดยเรือจะออกเดินทางในเวลาบ่ายสามโมง จากท่าเรือตลาดบางลี่ แล่นไปตามลำคลองสองพี่น้องทางทิศตะวันออก ผู้คุมจะพานักโทษไปขึ้นที่ท่าเรือตลาดบางสามซึ่งอยู่ตรงปากคลองสองพี่น้องบรรจบกับแม่น้ำท่าจีน(แม่น้ำสุพรรณ) เพื่อต่อเรือแดงหรือเรือบริษัทสุพรรณขนส่งจำกัด ไปยังตัวจังหวัดสุพรรณบุรี อีกต่อหนึ่ง รวมเวลาขนส่งนักโทษ ๓ วัน ๒ คืนเต็มๆ ลองคิดดูซิว่าผู้คุมจะหนักใจเพียงใด ยิ่งถ้านักโทษ เป็นลูกน้อง เสือใบ เสือดำ เสือมเหศวร(ทีกำลังดังเรื่องสร้างจตุคามรามเทพ)ด้วยแล้วผู้คุมคงร้อนๆหนาวๆไปตลอดเส้นทาง

       ผมคุยเพลินไปใหญ่แล้วกลับมาคุยเรื่องตลาดบางลี่กันต่อดีกว่าดังที่กล่าวมาข้างต้น ลักษณะทางกายภาพที่เหมาะสม ทำให้ตลาดบางลี่กลายเป็นศูนย์กลางการค้าของท้องถิ่น เป็นชุมทางที่สำคัญ เนื่องจากตั้งอยู่ริมคลองสองพี่น้อง ที่สามารถใช้เดินทางได้ทั้งปีทางด้านตะวันออกที่จะติดต่อกับกรุงเทพฯและตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนตอนบนที่ติดต่อทางอำเภออู่ทอง คลองจะแคบลงบางตอนและแห้งขอดในหน้าแล้ง ตลาดบางลี่จึงกลายเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างการเดินทางทางบกของบรรดาชาวบ้าน ในบ้านป่า บ้านดอน(ที่สูงๆน้ำท่วมไม่ถึง)ที่ใช้เกวียนเป็นพาหนะกับการเดินทางของชาวบ้าน ในบ้านทุ่ง บ้านท่า ริมน้ำ(ที่ลุ่มน้ำท่วมถึง)ที่ใช้เรือเป็นพาหนะ ได้นำสินค้าและผลผลิตต่างๆมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน

       สภาพของชุมชนตลาดบางลี่ในยุคก่อตั้งยังไม่ได้ก่อรูปเป็นตลาดอย่างชัดเจนและจำนวนบ้านเรือนยังไม่มากนัก นอกจากห้องแถวไม้ที่มีผู้ปลูกให้ชาวจีนที่ย้ายเข้ามาค้าขายเช่าอยู่อาศัยแล้ว ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็ปลูกบ้านไม้ เรียงรายอยู่ริมคลองสองพี่น้อง มีบางส่วนที่อาศัยอยู่ในเรือและแพริมน้ำด้วย พื้นที่การค้าจึงเริ่มขึ้นที่ริมคลองสองพี่น้องนี้เอง ในระยะต่อมาประชาชนได้อพยพย้ายเข้ามาอยู่เพิ่มมากขึ้น พื้นที่อยู่อาศัยจึงขยายขึ้นจากริมคลอง โดยมีบ้านเรือนส่วนหนึ่งมาอยู่ริมทางเกวียนบ้าง สภาพชุมชนขณะนั้นจึงเริ่มคึกคักขึ้น จากบรรดากองเกวียนที่มาจากพื้นที่ป่าดอน และจากขบวนเรือที่มาจากบ้านทุ่งบ้านท่า ริมน้ำ มาค้าขายสินค้ากันที่บางลี่

       คุณสกุณา ฉันทดิลก ได้ข้อมูลว่า ในปี พ.ศ.๒๔๖๔ (รัชกาลที่ ๖) ตลาดบางลี่เป็นตลาดไม้ไผ่ โดยบ้านเรือนในชุมชนจะเป็นร้านค้าไปในตัว บ้านเรือนปูด้วยไม้ไผ่ลำโตมีลักษณะเป็นบ้านสองชั้น หลังจากนั้นไม่กี่ปีเจ้าของที่ดินรายใหญ่ จึงปลูกห้องแถวให้เช่า ด้วยเหตุที่ตลาดบางลี่อยู่ในพื้นที่ลุ่มมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ๔-๖ เดือนในทุกปี ทำให้ลักษณะบ้านเรือนในชุมชนจึงมีความพิเศษกว่าชุมชนอื่น เป็นเรือนไม้สองชั้นเรียงติดต่อกันเป็นแถวยาวเว้นด้านหน้าบ้าน ทั้งชั้นล่างและชั้นบน เป็นระเบียงเปิดเชื่อมต่อกันทุกบ้านสำหรับใช้เป็นทางเดินต่อกัน ในหน้าแล้งหรือที่เรียกว่าหน้าแห้งก็ใช้พื้นที่ชั้นล่างเป็นพื้นที่ค้าขาย แต่เมื่อถึงหน้าน้ำหลากชาวตลาดบางลี่ก็จะขนข้าวของย้ายขึ้นไปทำการค้าขายกันบนชั้นสอง เมื่อน้ำท่วมน้ำท่วมตลาดจึงท่วมอยู่เฉพาะพื้นที่ชั้นล่างเท่านั้นส่วนชั้นบนก็เปิดค้าขายกันเป็นปกติ ในหน้าน้ำท่วมก็จะมีเรือพายเรือแจวจำนวนมากมาจอดเรียงราย ขาย ซื้อ ของแลกเปลี่ยนสินค้ากัน ดูเหมือนตลาดน้ำแบบตลาดน้ำดำเนินสะดวกทีเดียว 

       พูดถึงเรื่องหน้าแล้ง หน้าน้ำนี้ บ้านผมก็อยู่ในสภาพนี้ด้วย เพราะบ้านผมอยู่ใกล้ตัวอำเภอสองพี่น้องเก่า ถนนหลังบ้านของผมเป็นถนนจากอำเภอเก่าไปสู่ตลาดบางลี่ เป็นพื้นที่ลุ่ม หน้าน้ำประมาณเดือนตุลาคมถึงมกราคม ถนนหลังบ้านของผม จะเปลี่ยนเป็นลำคลองเล็กๆให้เรือที่ไม่ใหญ่มากแล่นไปตลาดบางลี่ พอหน้าแล้งก็จะกลับมาเป็นถนนให้รถ ให้เกวียน แล่น แต่เดี๋ยวนี้มีการถมถนนจนสูงพ้นน้ำ สภาพบ้านเมืองก็เปลี่ยนไปในสมัยก่อนชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มจะมีเรือประจำทุกบ้าน ใช้สำหรับการเดินทางระยะใกล้ๆส่วนการสัญจรภายในตลาดบางลี่ในหน้าน้ำท่วม ก็จะมีสะพานไม้ชั่วคราวที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้นใช้เป็นทางเดินข้ามระหว่างแถวของบ้านเรือน ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๗๘ มีการจัดตั้งเทศบาลตำบลสองพี่น้องขึ้น เทศบาลจึงมีหน้าที่สร้างสะพานในฤดูน้ำหลาก การที่ชาวตลาดบางลี่ต้องโยกย้ายข้าวของสินค้าขึ้นชั้นสองในฤดูน้ำหลากและขนกลับมาขายเหมือนเดิมในฤดูแล้ง อย่างนี้นี่เอง ทำให้ ดร.สุเมธ  ชุมสาย ณ อยุธยา เรียกชุมชนตลาดบางลี่ว่า ชุมชนสะเทินน้ำสะเทินบกแต่ผมเรียกว่าตลาดสองฤดูคือฤดูแห้งกับฤดูน้ำ หรือฤดูแล้งกับฤดูน้ำหลาก

       ลักษณะความเป็นอยู่ของชาวบ้านตลอดจนสภาพบ้านเรือนที่เป็นห้องแถวไม้สองชั้นยังคงรูปแบบเดิมต่อเนื่องมาจนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๖ (ก็คือเริ่มพ.ศ.๒๕๐๐ ขึ้นมาแล้ว) ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะยังมีฤดูน้ำหลาก น้ำแล้งเหมือนเดิม แต่ก็จะมีห้องแถวห้องเช่าให้อยู่อาศัยให้ค้าขาย เพิ่มมากขึ้น

       หลังปี พ.ศ.๒๕๒๐ เทศบาลตำบลสองพี่น้อง ได้ปรับปรุงยกระดับถนนในเขตเทศบาลให้สูงขึ้นโดยเฉลี่ย ๒ เมตรจากระดับพื้นที่ ในปี พ.ศ.๒๕๒๐ ก็ได้มีการถมถนนรอบตัวตลาด และถมถนนกลางตลาด ตลาดบางลี่จึงสูงขึ้นและน้ำไม่ท่วม ทางด้านถนนสายอื่นๆกรมทางหลวงก็ปรับปรุงถมถนนจนสูงพ้นน้ำเชื่อมต่อกับถนนที่เชื่อมต่อสู่ตลาดบางลี่ นับแต่นั้นมาตลาดบางลี่ก็ได้เปลี่ยนเส้นทางที่เคยใช้ทางน้ำเป็นหลักมาเป็นการคมนาคมทางบกในปัจจุบันและสภาพตลาดสองฤดูก็จบสิ้นลง 

        อย่างไรก็ตามตลาดบางลี่ก็ยังเป็นตลาดที่มีความเจริญรุ่งเรือง มีสินค้าที่น่าซื้อเช่นมีปลาที่สดจากท้องน้ำลำคลองมากมาย มีผักสดนานาชนิด และมีสินค้าพื้นเมืองราคาถูกอีกหลากหลายให้เลือกซื้อ มีท่ารถขนส่งไปกรุงเทพฯ เป็นทางผ่านขึ้นสู่ภาคเหนือที่สะดวกและประหยัดเวลา มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีธนาคารถึง ๖ แห่ง มีเทศบาลที่เข้าเกณฑ์เทศบาลเมือง

       เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๐ ผมเดินจะเข้าไปซื้อของ เห็นเขาปิดตลาดติดป้ายต้อนรับและมีการเฉลิมฉลองกันใหญ่โต ถามดูจึงรู้ว่า ท่านอดีตนายกบรรหาร ศิลปอาชา เดินทางมาทำพิธีเปิดป้ายรางวัล ตลาดสด น่าซื้อ ตลาด ๓ ดาว จากกระทรวงสาธารณสุข มีข่าวว่าชาวตลาดบางลี่กำลังจะทำให้เป็นตลาด ๕ ดาวในเร็ววันนี้

      ท่านเคยไปตลาดบางลี่หรือยัง...ว่างๆแวะไปจับจ่ายใช้สอยกันนะครับ 

คำสำคัญ (Tags): #ตลาดบางลี่
หมายเลขบันทึก: 130883เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2007 10:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2012 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

แสงแดดอ่อนแย้มรับอรุณยิ้ม
พื้นยอดหญ้าเอมอิ่มปริ่มน้ำค้าง
มวลเมฆขาวอาบอวลเนื้อนวลปราง
พรายสะพร่างเก็จพราวราวกลางวัน

ทุกวันคืนพ้นผ่านบันดาลพบ
ดั่งประสบวิมานผ่านความฝัน
ดวงดอกไม้ผลิรอล้อตะวัน
หลากสีสันผ่านฟ้าทะเลดาว

ผ่านเส้นสายพริ้มพรายในวันรุ่ง
แสงสีรุ้งทอทาบอาบเมฆขาว
เหมือนมอบร้อยใยรักพักสักคราว
หลายเรื่องราวเหนื่อยนักแวะพักล้า

ให้ธรรมชาติรักษาคราทนทุกข์
มาปลอบปลุกกล่อมขวัญสู้วันหน้า
แล้วสู้ต่ออย่าท้อต่อชะตา
ธรรมชาติรักษาใจหายสักวัน

สวัสดียามเช้าครับ

หวลคิดถึงอดีตเมื่อ30กว่าปีที่แล้วตอนที่ผมไปอยู่กับยายที่บ้านสองพี่น้องช่วงหน้าน้ำก็จะตรงกับหน้าหนาวพอดียังจำได้ พอถึงหน้าน้ำก็จะเห็นแต่น้ำเต็มไปหมดไม่ได้เห็นพื้นดินกันเลยเป็นเดือนๆสมัยนั้นปลาชุมมาก ตาดักข่ายทุกวันพอรุ่งเช้าตาก็จะเอาเรือไประข่ายได้ปลามาเยอะทุกวัน ส่วนยายก็จะนำปลาที่ตาหามาได้ไปทำกับข้าวบ้างตากแดดทำปลาเค็มบ้าง บางวันยายก็เอาปลามาทำต้มยำ ผมยังจำได้ดีตอนเช้าก่อนจะไปโรงเรียนผมและพวกพี่ๆจะต้องนั่งล้อมวงกินข้าวกันทุกวันยายยกต้มยำปลาชามเขื่องควันตลบอบอวนมาวางกลางวงท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นยามเช้า ยังจำได้ต้มยำปลาของยายอร่อยที่สุดในโลกเลย..ไม่ได้โม้ สมัยนั้นช่วงหน้าน้ำผมจะชอบมากอากาศดีสุดๆ สมัยนี้หายากครับ ใครที่เคยอยู่บ้านสองพี่น้องคงจะนึกออกถึงบรรยากาศที่ผมบรรยายให้ฟัง...อ้อลืมไป..ตาผมชื่อลิส่วนยายชื่อจอง อาจแย้มสรวล ใครที่เป็นคนที่นั่นคงรู้จักคนตระกูลนี้บ้าง

สวัสดีค่ะ คงต้องหาโอกาสไปเที่ยวแล้วค่ะ น่าสนใจ

ขอบคุณ คุณpompier มากครับพาไปจ่ายตลาด

ขอบคุณ คนพลัดถิ่น กลอนเพราะมากครับ

ขอบคุณ เล็กบ้านล่าง บ้านล่าง เป็นชื่อย่านบ้านย่า ครูพิสูจน์ครับ ดีใจครับที่คนบ้านเดียวกันแวะมาเยี่ยมเยือนกัน

ยินดี ต้อนรับ วันเพ็ญ ครับ ขอบคุณที่แวะมาเที่ยวในบันทึกนี้ครับ

ผมเป็นเด็กสุพรรณฯ ครับ แถวสี่แยกนางพิม , สมัยนายสวัสดิ์ มีเพียร เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด , จวนผู้ว่าฯ อยู่ฝั่งตรงข้ามกับร้านคุณตา(ร้านเสมาทอง) , สมัยเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้วพี่ชายรับราชการครูโรงเรียนสองพี่น้องเป็นคนจังหวัดสมุทรสงคราม บางยี่รงค์ มาได้ภรรยาคนบางซอ สองพี่น้อง สุพรรณบุรี ปัจจุบันเกษียณอายุแล้วแต่ก็ปักหลักเป็นคนบางซอไปแล้วโดยอาศัยอยู่ที่ตลาดเก่าบางซอขายของชำเล็กน้อยพร้อมเลี้ยงหลานไปด้วย , สมัยเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้วผมมางานแต่งงานของพี่ชายคนนี้ได้มานั่งเรือหางยาวที่ตลาดบางลี่ไปตามลำน้ำสองพี่น้อง จำได้ว่าสภาพพื้นที่เป็นน้ำนองเจิ่งเวิ้งว้างไปด้วยน้ำ คนขับเรือต้องเป็นคนพื้นที่ต้องรู้จักร่องน้ำ

เมื่อปีพ.ศ.2540 จนถึงปัจจุบันได้มีโอกาสกลับมารับราชการรับใช้บ้านเกิดสุพรรณบุรีในพื้นที่อำเภอสองพี่น้อง ตำบลบางเลน เนินพระปรางค์ ทุ่งคอก ดอนมะนาว บ่อสุพรรณ ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำ การจัดการลุ่มน้ำ ในพื้นที่ดังกล่าวด้วยความภาคภูมิใจในบ้านเกิดเมืองนอน ได้มีโอกาสรู้จักผู้นำในระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น มากมายหลายท่าน ได้ใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการทำงานเข้าช่วยเหลือพื้นที่อำเภอสองพี่น้องได้ในระดับที่น่าพอใจ ผมภูมิใจที่มีโอกาสได้กลับมารับใช้จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอสองพี่น้อง ถือเป็นการทดแทนคุณแผ่นดินจังหวัดที่ถือกำเนิดผมขึ้นมา ขอขอบพระคุณครับ

ขอบคุณ คุณผันที่มาช่วยพัฒนา สองพี่น้อง บ้านเราครับ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วไปเยี่ยมพี่ชายที่ตลาดบางซอ , พี่ชายในวัย 70 ปียังแข็งแรงดีเปิดร้านขายของชำที่ตลาดบางซอ เล่าให้ฟังว่ามาบรรจุเป็นครูที่อำเภอสองพี่น้อง(โรงเรียนสองพี่น้อง) เมื่อปีพ.ศ.2512 แต่งงานเมื่อปีพ.ศ.2514 , ในพื้นที่อำเภอสองพี่น้องตลาดบางซอถือเป็นอีกสถานที่หนึ่งน่าจะมีการฟื้นฟูอนุรักษ์ไว้ให้เหมือนชุมชนตลาดสองฤดูเฉกเช่นตลาดบางลี่

ผมเป้นเด็กบางลี่ โดยกำเนิดครับ โตมากับลำคลองข้างตลาด สวะเยอะมากสนุกดี ตอนนี้แม่ผมอยู่ที่นั่น ผมกลับไปบ่อยๆ

แม่ไม่อยากมาอยู่บ้านผมที่นนทบุรี แม่อยากเดินออกไปซื้อกับข้าว ที่แกเคยซื้อเพราะบ้านผมอยู่ใกล้ตลาด บอกได้คำเดียวว่า

อาหารทุกอย่างในตลาดบางลี่อร่อยมาก แม่ค้าพ่อค้าทุกท่าน มีฝีมือการทำอาหารสุดยอด ถ้าใครชอบแกงบ้านๆ อาหารบ้านๆ

ทุกอย่างเชิญครับ ก่อนเข้าตัวเมืองสุพรรณ แวะมาเส้นนี้ก่อนก้อได้ แวะทานข้าวหรือซื้อไปทานไม่ผิดหวังแน่นอนครับ

บ้านผมอยู่หลังวัดดงตาลผูกพันกับตลาดบางลี่มากเพราะเป็นเด็กวัดมา 15 ปีไฟใหม่ตลาดมากก็ 2 ครั้งแล้ว (หลวงพ่อโหน่งช่วยด้วย )มาปีนี้น้ำท่วมอีกน้องสาวขายขนมไทยอยู่ในตลาดขอบคุณนายกวิโรจน์ขอบคุณท่านบรรหารทื่จัดการเรื่องน้ำอย่างชำนาญ ผมเด็กเก่ารร.บางลี่วิทยา ม.ศ 1 รุ่นสุดท้ายลุยน้ำเรียนที่คลองบางใหญ่ก่อนย้ายไปหน้าโรงบาลอยู่กับน้ำสบายดีครับแต่อย่าให้นานเครียดครับ

ตอนนี้มีครอบครัวอยู่ปทุมฯอยู่มา 23 ปีครับแต่รักบ้านเกิดพาตรอบครัวกลับบ้านเดือนละครั้ง

คิดถึงบางลี่ครับ

เป็ด บางลี่

สิริพร จันทร์โอกุล

ตอนนี้ตลาดบางลี่ไฟไหม้อยู่กำลังจะดับแล้ว

ไม่ต้องเป็นห่วง

บ้านเราอยู่ท้ายวัดดงตาล สมัยตอนเป็นเด็กย่าพาเดินไปตลาดบางลี่เกือบทุกวันย่าเราพาไปกินก๋วยเตี๋ยวแห้ง ขากลับซื้อขนมครกมาฝากปู่ พอเรียนจบก็มาทำงานที่ จ.กาญจนบุรี   นานมากแล้วที่ไม่ได้ไปตลาดบางลี่ ถ้าได้กลับบ้านเราจะไปตลาดบางลี่เป็นที่แรกพาย่าไปด้วย ตอนเด็กย่าพาเราไป  ถึงตอนนี้เราคงจะต้องพาย่าไปบ้าง

สวัสดีค่ะ หนูเป็นสิทธิ์โรงเรียนบางลี่วิทยา อยากให้พัฒนาตลาดบางลี่ เป็นที่เที่ยวเหมือนตลาด 100 ปีสามชุก เรากลับเอาความเป็นตลาดบางลี่ แบบสมัยดั้งเดิมมาเป็นจุดเด่นของตลาด เพื่อชักจูงและเป็นจุดสนใจ เชื่อว่าทุกคนต้องอยากมาสักครั้งอย่างแน่นอน

อยู่ทางนี่หนูก็ช่วย ประชาสัมพันธ์ให้เพื่อนๆ ที่ทำงานได้รู้เกี่ยวตลาดบางลี่ของเราค่ะ

มีร้านขายข้าวสารชื่อดังของตลาดบางลี่ชื่อร้าน ทงพาณิชย์ ที่ร้านนี้มีข้าวสารให้เลือกซื้อกันมากมาย ราคาก็เป็นกันเอง และมีบริการที่ดีเยี่ยม มาบางลี่แล้วก็แวะมาซื้อหากันนะครับ

ผมก้อเป็นเด็กบางลี่คนหนึ่งอดีตเรียนที่โรงเรียนพานิชอุทิศหลังตลาดบางลี่มีความประทับใจในบรรยากาศตอนที่เป็นเด็กแม้ในปัจจุบันนี้เมื่อมีเทศกาลที่ตลาดบางลี่ผมก้อจะกลับมาเที่ยวที่บางลี่กราบนมัสการหลวงพ่อโหน่งที่วัดคลองมะดันแวะทานอาหารบ้านญาติที่ตลาดบางลี่ ซื้อของฝากกลับบ้านทั้งที่ตลาดบางลี่และวัดไผ่โรงวัวประทับใจมากจริง ๆ คนบางลี่เป็นคนที่มีน้ำใจเอื้ออาทรต่อผู้มาเยือนเสมอ

คลาดบางลี่เคยไปแย้ว ของน่ากินนะ แม่ค้าเยอะ ของอร่อยก้มี เช่น ขนมหวาน เฉาก้วย ลอดช่อง เจ้หม่วยเกี่ย เจ้าเก่า ขายตรง ข้างไก่สดเจ้ดำ เคยซื้อมาคร้งหนึ่ง อร่อยดีนะ อยากไปอีกอ่ะ

ผมเคยไปนะตอนเรียน มัธยม ราวๆ พศ 2516 เป็นตลาดสองชั้น หน้าแล้งขายชั้นล่าง หน้าน้ำขายชั้นบน นานมากเลย


สมัยก่อนการถ่ายภาพเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับชาวบ้าน เสียดายมากกับภาพคืนวันเก่าๆ ผมเติบโตมากับการย้ายขึ้น ย้ายลงมาตลอด ตอนนีัผมแทบจะจำภาพเหล่านั้นไม่ได้เลย ทุกวันนี้ผู้คนกลัวน้ำท่วม แต่เชื่อใหมผมกลับถวิลหามัน อยากให้ตลาดบางลี่เป็นแบบเก่าก่อน มีน้ำท่วมทุกปี ต้องย้ายของขึ้นบ้านหนีน้ำเหมือนเมื่อก่อน ทั้งตลาดเชื่อมต่อกันด้วยสะพานที่สร้างขึ้นกว้างเพียงเมตรเศษๆ ยามเดินสวนกันยังต้องเบี่ยงตัวหลบให้กันเลยล่ะครับ น้ำสมัยนั้นใสมากๆ ขาดน้ำลึกประมาณ 2 เมตรกว่าๆ คุณยังสามารถมองเห็นเหรียญบาทที่จมอยู่ในน้ำเลยครับ

สมัยก่อนการถ่ายภาพเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับชาวบ้าน เสียดายมากกับภาพคืนวันเก่าๆ ผมเติบโตมากับการย้ายขึ้น ย้ายลงมาตลอด ตอนนีัผมแทบจะจำภาพเหล่านั้นไม่ได้เลย ทุกวันนี้ผู้คนกลัวน้ำท่วม แต่เชื่อใหมผมกลับถวิลหามัน อยากให้ตลาดบางลี่เป็นแบบเก่าก่อน มีน้ำท่วมทุกปี ต้องย้ายของขึ้นบ้านหนีน้ำเหมือนเมื่อก่อน ทั้งตลาดเชื่อมต่อกันด้วยสะพานที่สร้างขึ้นกว้างเพียงเมตรเศษๆ ยามเดินสวนกันยังต้องเบี่ยงตัวหลบให้กันเลยล่ะครับ น้ำสมัยนั้นใสมากๆ ขาดน้ำลึกประมาณ 2 เมตรกว่าๆ คุณยังสามารถมองเห็นเหรียญบาทที่จมอยู่ในน้ำเลยครับ

สมัยก่อนการถ่ายภาพเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับชาวบ้าน เสียดายมากกับภาพคืนวันเก่าๆ ผมเติบโตมากับการย้ายขึ้น ย้ายลงมาตลอด ตอนนีัผมแทบจะจำภาพเหล่านั้นไม่ได้เลย ทุกวันนี้ผู้คนกลัวน้ำท่วม แต่เชื่อใหมผมกลับถวิลหามัน อยากให้ตลาดบางลี่เป็นแบบเก่าก่อน มีน้ำท่วมทุกปี ต้องย้ายของขึ้นบ้านหนีน้ำเหมือนเมื่อก่อน ทั้งตลาดเชื่อมต่อกันด้วยสะพานที่สร้างขึ้นกว้างเพียงเมตรเศษๆ ยามเดินสวนกันยังต้องเบี่ยงตัวหลบให้กันเลยล่ะครับ น้ำสมัยนั้นใสมากๆ ขาดน้ำลึกประมาณ 2 เมตรกว่าๆ คุณยังสามารถมองเห็นเหรียญบาทที่จมอยู่ในน้ำเลยครับ

สมัยก่อนการถ่ายภาพเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับชาวบ้าน เสียดายมากกับภาพคืนวันเก่าๆ ผมเติบโตมากับการย้ายขึ้น ย้ายลงมาตลอด ตอนนีัผมแทบจะจำภาพเหล่านั้นไม่ได้เลย ทุกวันนี้ผู้คนกลัวน้ำท่วม แต่เชื่อใหมผมกลับถวิลหามัน อยากให้ตลาดบางลี่เป็นแบบเก่าก่อน มีน้ำท่วมทุกปี ต้องย้ายของขึ้นบ้านหนีน้ำเหมือนเมื่อก่อน ทั้งตลาดเชื่อมต่อกันด้วยสะพานที่สร้างขึ้นกว้างเพียงเมตรเศษๆ ยามเดินสวนกันยังต้องเบี่ยงตัวหลบให้กันเลยล่ะครับ น้ำสมัยนั้นใสมากๆ ขาดน้ำลึกประมาณ 2 เมตรกว่าๆ คุณยังสามารถมองเห็นเหรียญบาทที่จมอยู่ในน้ำเลยครับ

สมัยก่อนการถ่ายภาพเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับชาวบ้าน เสียดายมากกับภาพคืนวันเก่าๆ ผมเติบโตมากับการย้ายขึ้น ย้ายลงมาตลอด ตอนนีัผมแทบจะจำภาพเหล่านั้นไม่ได้เลย ทุกวันนี้ผู้คนกลัวน้ำท่วม แต่เชื่อใหมผมกลับถวิลหามัน อยากให้ตลาดบางลี่เป็นแบบเก่าก่อน มีน้ำท่วมทุกปี ต้องย้ายของขึ้นบ้านหนีน้ำเหมือนเมื่อก่อน ทั้งตลาดเชื่อมต่อกันด้วยสะพานที่สร้างขึ้นกว้างเพียงเมตรเศษๆ ยามเดินสวนกันยังต้องเบี่ยงตัวหลบให้กันเลยล่ะครับ น้ำสมัยนั้นใสมากๆ ขาดน้ำลึกประมาณ 2 เมตรกว่าๆ คุณยังสามารถมองเห็นเหรียญบาทที่จมอยู่ในน้ำเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท