คำกล่าวเปิดงาน "การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2550"


คำกล่าวเปิดงาน การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2550 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ ห้องประชุมคอนแวนชันเซ็นเตอร์ A (ชั้น 22) เซ็นทรัลเวิลด์

                                                                  คำกล่าวเปิด

                             ในพิธีเปิดงาน การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2550”

                                            (Thailand Research Expo 2007)

                                     ในวันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2550 เวลา 09.30 น.

                                  ณ ห้องประชุมคอนเวนชันเซ็นเตอร์ A (ชั้น 22)

                ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ณ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

ท่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี / ท่านประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ / กรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ / กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ / เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน

                ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธาน / ในพิธีเปิดงาน การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2550” (Thailand Research Expo 2007) ในวันนี้  ซึ่งเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว / เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 /โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริต่างๆ มานำเสนอในงานครั้งนี้ / ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นนักวิจัยที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์ /โดยทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในการศึกษาค้นคว้า / จนเกิดเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริต่างๆ มากมาย / เพื่อมุ่งแก้ปัญหาให้กับพสกนิกร / ซึ่งคนไทยควรได้เรียนรู้ที่จะดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทอย่างจริงจัง/ ด้วยความเพียรอันบริสุทธิ์

                การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2550” (Thailand Research Expo 2007) ครั้งนี้/ถือได้ว่าเป็นความพยายามที่ดีมากในการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ / และการกระตุ้นความสนใจในการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับงานวิจัย / ให้แก่ประชาชนคนไทยให้ขยายผลต่อไป /  โดยเฉพาะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับทราบว่า/ ผลงานวิจัยของไทยมีคุณภาพอย่างไร/  ตรงกับความต้องการของประชาชนในทางเศรษฐกิจและสังคมหรือไม่/ เพียงไร/  ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและความต้องการของตนเกี่ยวกับการวิจัย/ และสิ่งที่ควรมีการวิจัยต่อไปในอนาคต/ โดยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิจัยโดยตรง

                ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน/ การวิจัยนั้น ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ทรงคุณค่าสูงยิ่งต่อความเจริญรุ่งเรืองของสังคม/ เป็นงานสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษย์/ โดยเฉพาะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม/ เนื่องจากการวิจัยที่มีคุณภาพจะทำให้เกิดความรู้ใหม่/ หรือความคิดใหม่และแนวทางใหม่/  ซึ่งความรู้ใหม่นั้นจะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาให้เกิดผลสำเร็จ/  ทำให้การพัฒนาสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด/ เพื่อไปสู่เป้าหมายที่สังคมมีความปราถนาร่วมกัน/   ในประเทศที่พัฒนาแล้ว/ ยามที่เกิดวิกฤตการณ์หรือมีปัญหาน้อยใหญ่ขึ้นมา/ ขณะที่ทางแก้ไขปัญหายังไม่กระจ่างชัดเจน/ ผู้คนในสังคมจะมองหาความรู้ทั้งเก่าและใหม่/ที่มีฐานมาจากกระบวนการวิจัยที่มีคุณภาพ/  เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ความเป็นจริง/ และใช้ส่องหาแนวทางแก้ไขและหนทางออกจากปัญหาเหล่านั้น/  กล่าวได้ว่า  สังคมที่พัฒนาแล้วต่างเชื่อถือและรู้จักใช้งานวิจัยที่มีคุณภาพ/ มาเป็นแสงสว่างส่องนำให้เกิดปัญญา/  สังคมไทยของเราก็ควรจะมีลักษณะเช่นเดียวกันนี้ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

                สำหรับรัฐบาลนี้/ ให้ความสำคัญอย่างสูงยิ่งกับการผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพ/ และการสร้างระบบการวิจัยของประเทศที่เข้มแข็ง หลายท่านในที่นี้ล้วนเป็นผู้ที่คว่ำหวอดในวงการวิจัยมายาวนาน/  ท่านย่อมทราบเป็นอย่างดีว่า/ เรายังคงมีงานที่ต้องทำร่วมกันอีกมาก/ กว่าที่การวิจัยของไทยจะได้รับการพัฒนาจนถึงระดับที่น่าพอใจ/  ที่ผ่านมาได้มีการวิเคราะห์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า/ปัญหาหลักของระบบการวิจัยไทยอยู่ที่งบประมาณวิจัยน้อยเกินไป/  หรือการลงทุนจากภาครัฐต่ำเกินไป/ หลายๆท่านเห็นว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนนักวิจัยต่อประชากรรวมต่ำเกินไป/ บางท่านได้ชี้ว่า การวิจัยของไทยค่อนข้างเน้นความต้องการของผู้วิจัย/ มากกว่าประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้/บางท่านยังได้วิเคราะห์ว่า/ปัญหาหลักของระบบการวิจัยไทยอยู่ที่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการงานวิจัย/ ยิ่งไปกว่านั้น/ การบูรณาการงานวิจัยข้ามสาขาวิชาความรู้ที่สามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเบ็ดเสร็จยังมีอยู่น้อยเกินไป

                ท่านผู้เกียรติที่เคารพ/ ข้อสังเกตุของผู้รู้หลายท่านในวงการวิจัยที่กระผมได้กล่าวถึงมานี้/  อย่างน้อยที่สุดได้ชี้ให้เห็นถึงสิ่งสำคัญประการหนึ่งว่า/  ระบบการวิจัยของประเทศขณะนี้ยังคงมีปัญหาอยู่มากมาย/  จำต้องอาศัยความสามัคคีของทุกภาคส่วนในการร่วมกันคิดร่วมกันทำ/ เพื่อแก้ไขปรับปรุงให้ระบบการวิจัยของประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นเรื่อยๆ/ ดังนั้น กระผมจึงคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกหน่วยงานภายในระบบการวิจัยของประเทศ จะก้าวเข้ามาร่วมมือร่วมใจกัน/ ทำให้เกิดพลังสูงสุดของระบบ/ ในฐานะหุ้นส่วนความสำเร็จของกันและกัน โดยร่วมกันทำงานแบบเครือข่ายและแบบกัลยาณมิตรที่ปราถนาดีต่อกัน มีการเรียนรู้บทเรียนความสำเร็จของกันและกัน  โดยอาศัยจุดแข็งที่แตกต่างกันของแต่ละหน่วยงาน/ มาเชื่อมประสานและเสริมหนุนกันและกัน/ เพื่อให้ทั้งระบบการวิจัยของประเทศก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน/  มีความสำเร็จร่วมกัน/ และมีความภูมิใจร่วมกัน

                กระผมคิดว่าถึงเวลาแล้ว/ ที่เราควรจะได้เห็นระบบการวิจัยของประเทศที่มีลักษณะการทำงานระหว่างหน่วยงานแบบแนวราบ/ มากกว่าการทำงานแบบแนวตั้ง  ถึงเวลาที่เราจะมาร่วมกันคิดกันอย่างจริงจังเกี่ยวกับ การวิจัยระบบ ของระบบการวิจัยของประเทศ/  ทำอย่างไรเราจะสามารถส่งเสริมให้มี พลวัตรในการพัฒนาของระบบการวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง/ มากว่าการหยุดนิ่งอยู่กับวิธีการหนึ่งวิธีการเดียวที่อาจล้าสมัยไปได้ทุกวัน/  กระผมคิดว่าเราควรมาช่วยกัน จัดลำดับความสำคัญของงานที่เร่งด่วนและมีผลสะเทือนสูง/ ที่ทุกหน่วยงานในระบบการวิจัยของประเทศจะร่วมกันผลักดันให้บรรลุผลสำเร็จ/  แม้ว่าระบบการวิจัยของประเทศไทยจะยังมีขนาดเล็กมาก/ เมื่อเทียบกับหลายๆประเทศที่พัฒนาไปไกลแล้ว/ แต่หากเรารวมพลังกันทั้งหมดมาทำงานที่เราเห็นร่วมกันว่าสำคัญเร่งด่วน/  ก็น่าจะเกิดพละกำลังที่พียงพอให้งานนั้นสำเร็จได้โดยไม่ยากเกินไป   

                ท่านผู้เกียรติที่เคารพ/ ในขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้รับมอบหมายจากสภาวิจัยแห่งชาติ/ ให้เป็นเจ้าภาพในการระดมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน/ ปรึกษาหารือร่วมกันเกี่ยวกับการปฏิรูประบบการวิจัยของประเทศ/  เพื่อให้การวิจัยและระบบการวิจัยของประเทศมีความสอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและส่งเสริมการพัฒนาประเทศในอนาคต/  กระผมใคร่จะขอตั้งคำถามที่สำคัญว่า/ เป็นไปได้หรือไม่ ที่สภาวิจัยแห่งชาติจะไม่เป็นเพียง สภาของนักวิจัยเท่านั้น แต่ได้รับการยกระดับไปสู่การเป็น สภาวิจัยเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน กล่าวคือ เป็นการประชุมปรึกษาหารือที่ประกอบด้วยบุคคลจากทุกภาคส่วนที่ครอบคลุมผู้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของการวิจัยที่กว้างขวางมากกว่านักวิจัย/  และคงจะดีไม่น้อย/  หากสังคมไทยกับนักวิจัย/ จะมีความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิดกันมากขึ้นในอนาคต/   เมื่อนั้น สังคมก็จะสนับสนุนและส่งเสริมนักวิจัยและองค์กรวิจัยเป็นอย่างด

                สุดท้ายนี้ / กระผมใคร่ขอฝากข้อคิดประการหนึ่งกับท่านผู้มีเกียรติทุกท่านว่า/ การวิจัยที่จะมีประโยชน์สูงต่อมนุษยชาติ ควรเป็นการวิจัยที่มีความใฝ่ฝัน มีจินตนาการ และมีอุดมคติเป็นเครื่องกำกับ เป็นดังคบไฟที่ส่องนำและหล่อเลี้ยงให้เกิดพลังที่สร้างสรรค์ ทำให้สามารถแก้ไขในสิ่งเคยดูเหมือนว่าเป็นไปไม่ได้ ให้กลายเป็นจริงขึ้นมา ด้วยความรู้ใหม่ แนวทางใหม่ หรือวิธีการใหม่อันเกิดจากการวิจัย  

                กระผมของอ้างถึงคำพูดผู้นำของโลกท่านหนึ่งได้เคยกล่าวว่า  

                        “Others see things as they are and say why;  

                        I dream things that never were and say why not.”

                กระผมขอเชิญชวนนักวิจัยไทยทุกท่านได้ลองฝันถึงสิ่งที่ดีงามแก่สังคมของเรา แม้ยังไม่อาจปรากฏเป็นจริงได้ในสังคมไทย  ลองตั้งคำถามว่าทำไมจะเป็นไปไม่ได้ แล้วช่วยกันวิจัยค้นหาทางที่ทำให้เป็นจริงในที่สุด กระผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้ร่วมมือร่วมใจกัน / พัฒนางานวิจัยและระบบการวิจัยของประเทศให้มี การพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป / และให้เข้าถึงได้ในทุกกลุ่มและทุกระดับมากยิ่งขึ้น / เพื่อเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับสังคมและประเทศชาติต่อไป

                บัดนี้ ได้เวลาอันสมควรแล้ว / ผมขอเปิดงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ2550” (Thailand Research Expo 2007) / และขออวยพรให้การจัดงานครั้งนี้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ทุกประการ / ขอขอบคุณ
คำสำคัญ (Tags): #รองนายก
หมายเลขบันทึก: 127309เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2007 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท