จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 28 (10 ก.ย. 50) ต่อ


                มาตรา ๑๒  ให้ที่ประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชน ดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

                (๑)ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างสภาองค์กรชุมชนเพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

                (๒) เสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไขและการพัฒนาจังหวัดต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด 

                (๓) เสนอแนะต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัดเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางแก้ไข หรือความต้องการของประชาชนในเรื่องการจัดทำบริการสาธารณะและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม ของหน่วยงานของรัฐในระดับจังหวัด  หรือขององค์การบริหารส่วนจังหวัด 

                (๔) เสนอข้อคิดเห็นในเรื่องที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดปรึกษา

                (๕)แต่งตั้งผู้แทนที่ประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชน เพื่อไปร่วมประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน

                มาตรา ๑๓ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจให้การอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตามเห็นสมควร

                                                                                                หมวด ๓

                                                                การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน

                                                                                  ...............................

                มาตรา ๑๔ ในปีหนึ่งให้มีการจัดประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนอย่างน้อยหนึ่งครั้ง โดยให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ

                มาตรา ๑๕ ในการประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมมีสิทธิเข้าร่วมประชุม แสดงความคิดเห็น และลงมติ

                (๑) ผู้แทนของที่ประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตามที่ได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา ๑๒ 

                (๒) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้แทนของที่ประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตาม (๑) เสนอให้เชิญมาร่วมประชุมมีจำนวนไม่เกินหนึ่งในห้าของผู้แทนตาม (๑)

                หลักเกณฑ์การเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๒) ให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมของผู้แทนตาม (๑) 

                มาตรา ๑๖ ให้ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน ดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

                (๑) กำหนดมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งและการพัฒนาสภาองค์กรชุมชน ในระดับให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้เพื่อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปประกอบการพิจารณา

                (๒) ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และกฎหมาย  รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม 

                (๓) สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไข เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ

                (๔) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย 

                มาตรา ๑๗ ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนให้การอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปตามควรแก่กรณี และจะอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดประชุมของสภาองค์กรชุมชนและการประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนด้วยก็ได้

                                                                                                หมวด ๔

                                                                การส่งเสริมกิจการของสภาองค์กรชุมชน

                                                                                 ...............................

                มาตรา ๑๘  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๓ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งและพัฒนากิจการของสภาองค์กรชุมชน  และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

                (๑) ประสานและดำเนินการให้มีการจัดตั้งและดำเนินการของสภาองค์กรชุมชน รวมทั้งเผยแพร่และประชาสัมพันธ์กิจการเกี่ยวกับสภาองค์กรชุมชน และผลการประชุมของการประชุมระดับจังหวัดและระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน

                (๒) รวบรวมข้อมูล ศึกษา วิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับงานของสภาองค์กรชุมชน

                (๓) ประสานและร่วมมือกับราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคเอกชนและองค์กรภาคประชาสังคม ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

                (๔) จัดทำทะเบียนกลางเกี่ยวกับสภาองค์กรชุมชน

                () จัดให้มีระบบการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติจัดตั้งและดำเนินการของสภาองค์กรชุมชนและผลการประชุมในทุกระดับแล้วเสนอรายงานต่อที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับชาติ และรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

                () ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับชาติหรือรัฐมนตรีมอบหมาย

                มาตรา ๑๙ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมกิจการของสภาองค์กรชุมชน ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัตินี้   นายกรัฐมนตรีโดยการเสนอแนะของที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนอาจออกระเบียบว่าด้วยการส่งเสริมสภาองค์กรชุมชน เพื่อกำหนดแนวทางการส่งเสริมกิจการของสภาองค์กรชุมชน และอาจจัดให้มีคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ได้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 ............................................

         นายกรัฐมนตรี

(ร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. .. ฉบับปรุงปรุงเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๐)

                ต่อมา เมื่อวันอังคารที่ 4 ก.ย. 50 ท่านรองนายกฯขอให้ผมนำเรื่องร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน เข้าหารือในช่วงประชุม ครม. นอกรอบ (ก่อนประชุมตามวาระปกติ และไม่มีข้าราชการร่วมประชุมด้วย)

                ในการนี้ กะทรวง พม. ได้ทำ ถาม-ตอบ สาระสำคัญของ ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย ดังนี้ครับ

                                                            ถาม ตอบ

                                                สาระสำคัญของสภาองค์กรชุมชน

1. สภาองค์กรชุมชนคืออะไร?

                สภาองค์กรชุมชน หมายถึง เวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาชุมชนของคนในชุมชนท้องถิ่น โดยคนในชุมชนท้องถิ่น และเพื่อคนในชุมชนท้องถิ่น เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังกล่าวประกอบด้วย ตัวแทนของสถาบันในชุมชนท้องถิ่น เช่น วัด โรงเรียน สถานีอนามัย เป็นต้น ตัวแทนของกลุ่มองค์กรชุมชนต่างๆ เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มโรงสี กลุ่มอนุรักษ์ป่า และกลุ่มกิจกรรมพัฒนาอื่นๆ ที่มีอยู่ในแต่ละชุมชน โดยมีผู้นำชุมชนที่ไม่เป็นทางการ เช่น ผู้รู้ภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน  และผู้นำทางการได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในชุมชนท้องถิ่น เข้ามาร่วมใช้เวทีพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่นร่วมกัน เป็นระบบการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่อดีตแล้ว ตัวอย่างของจัดการตนเองในรูปแบบของสภาองค์กรชุมชน เช่น สภาผู้นำตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช สภาผู้นำของตำบลเสียว กิ่งอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ สภาซูรอของชุมชนมุสลิม เป็นต้น

2. หลักการสำคัญของสภาองค์กรชุมชนคืออะไร

                (1) จุดมุ่งหมายของ สภาองค์กรชุมชนเป็นกระบวนการเสริมสร้างองค์กรชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งที่ให้องค์กรชุมชนมีสถานภาพที่ชัดเจนในการดำเนินงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ร่วมกับ สถาบันต่าง ๆ ในท้องถิ่น

                (2) การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน ให้เป็นไปตามความพร้อมของชุมชนท้องถิ่น ตามธรรมชาติสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญาของชุมชน และความเห็นพ้องต้องกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง

                (3) ภารกิจหน้าที่ของสภาองค์กรชุมชน เน้นการดำเนินงานตามภารกิจหน้าที่ด้านการพัฒนาและการจัดกระบวนการเรียนรู้ ที่ชุมชนสามารถดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญ และ ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย

                (4) กระบวนการทำงานสำคัญของสภาองค์กรชุมชน เน้นการสร้างประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือและการเมืองสมานฉันท์ที่สร้างการมีส่วนร่วม ความร่วมมือผนึกกำลัง และการเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิกองค์กรชุม กับ สถาบันต่าง ๆ ในท้องถิ่น เช่น บ้าน วัด โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ ส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

                (5) ให้ความสำคัญกับสภาองค์กรชุมชนในระดับพื้นที่ และส่งเสริมการเชื่อมโยงสภาองค์กรชุมชน ในระดับจังหวัดและระดับชาติ

3. มี พรบ. สภาองค์กรชุมชน แล้วเกิดประโยชน์อย่างไร

                (1) ทำให้ชุมชนท้องถิ่น มีเวทีกลางของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ที่เปิดพื้นที่ให้กลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ  คนที่มีความตั้งใจทำสิ่งดี ๆ เพื่อชุมชน หรือคนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยน เพื่อหาทางแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ เพื่อชุมชนท้องถิ่น ร่วมกัน

                (2) ทำให้เกิดความร่วมมือ และลดปัญหาความขัดแย้ง การแบ่งฝ่ายในชุมชน เพราะสภาองค์กรชุมชนเป็นกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับการปรึกษาหารือของทุกฝ่ายร่วมกัน ไม่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกไป รวมทั้งการแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมป์ ของผู้อิทธิพลเนื่องจากกระบวนการตัดสินใจใช้มาจากข้อมูล และความเห็นพ้องต้องกันของคนส่วนใหญ่

                (3) ทำให้ชุมชนเกิดการจัดการความรู้เกี่ยวกับการจัดการตนเองของชุมชนที่เกิดจากการปฏิบัติจริง และเกิดการขยายผลออกไปสู่วงกว้างอย่างเป็นกระบวนการ นั่นหมายถึงรูปแบบ ทิศทาง การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจะเปลี่ยนจากการรอคอยให้คนอื่นทำให้ มาเป็นคนในชุมชนท้องถิ่นเป็นคนคิดริเริ่ม และดำเนินการกันเองเป็นหลัก เป็นรูปแบบการพัฒนาที่ยึดเอาชุมชนเป็นแกนกลาง ชุมชนชาวบ้านมีบทบาทสำคัญแต่ยังคงร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

                (4) ทำให้เกิดประชาธิปไตยชุมชนที่เข้มแข็ง เพราะสภาองค์กรชุมชนมีกระบวนการประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือทำให้คน กลุ่มคน เข้ามาร่วมกันทำโดยผ่านระบบตัวแทนน้อยที่สุด

4. ภารกิจหน้าที่ของสภาองค์กรชุมชนคืออะไร ซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือไม่

                (1) สภาองค์กรชุมชนมีภารกิจที่สำคัญ คือ การสร้างความเข้มแข็งของสมาชิกและองค์กรชุมชนในตำบลให้สามารถพึ่งพาตนเองได้  มีหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลอนุรักษ์ วัฒนธรรมภูมิปัญญา ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้ข้อคิดเห็น กับโครงการต่างที่อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีของคนในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาระหน้าที่ที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

                และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาองค์กรชุมชนมีหน้าที่ให้ข้อมูล การเสนอปัญหา ความต้องการ ตลอดจนแนวทางการพัฒนา แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำไปพิจารณา  โดยไม่มีอำนาจที่จะไปดำเนินการใด ๆ ที่ซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในอีกด้านหนึ่งเท่ากับสภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกที่เกื้อหนุนต่อการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น

5 สภาองค์กรชุมชนเป็นหน่วยงานราชการหรือไม่ และถ้ามี พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน จะทำให้ชุมชนเสียความเป็นอิสระตามธรรมชาติได้หรือไม่ 

                สภาองค์กรชุมชนไม่เป็นหน่วยราชการเพราะกฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องมีสภาองค์กรชุมชน และไม่ได้กำหนดรายละเอียดของสภาองค์กรชุมชนว่าจะต้องเป็นอย่างไร  เพียงแต่ส่งเสริมการมี และให้สถานภาพกับองค์กรชุมชนที่เกิดจากการรวมตัวกันของคนในท้องถิ่นด้วยจิตอาสา ด้วยความเคารพนับถือกัน ด้วยความสมัครใจ ไม่มีการให้คุณให้โทษ มารวมกันตามกำหนดนัดเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจก็แยกย้ายกันไป การจัดประชุมสภาองค์กรชุมชนอาจใช้สถานที่ของวัด โรงเรียน หรือที่ที่เหมาะสมตามสภาพของแต่ละชุมชนท้องถิ่น จึงไม่มีสำนักงาน ไม่มีสายบังคับบัญชาเชิงอำนาจเหมือนระบบราชการ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าสภาองค์กรชุมชนไม่ใช่การตั้งหน่วยราชการใหม่เพื่อลงไปดำเนินงานในพื้นที่ แต่เป็นการรวมกัน และวางระบบการบริหารจัดการกันเองของคนในชุมชนท้องถิ่น โดยมีหน่วยงานราชการและหน่วยงานภายนอกเข้าไปหนุนเสริมมากกว่า 

                ดังนั้นการมีสภาองค์ชุมชนจึงไม่ไปทำให้ชุมชนต้องสูญเสียความเป็นธรรมชาติและความเป็นอิสระแต่อย่างไร ซึ่งถ้าหากชุมชนท้องถิ่นใดที่มีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับสภาองค์กรชุมชนอยู่แล้ว ก็สามารถจะดำเนินการต่อไปได้ โดยไม่ต้องตั้งสภาองค์กรชุมชนขึ้นมาใหม่

6. สภาองค์กรชุมชนจะก่อให้เกิดความขัดแข้งแตกแยกขึ้นในพื้นที่หรือไม่ 

                สภาองค์กรชุมชน มีบทบาทและหน้าที่หนุนเสริมกลไกการทำงานที่มีอยู่แล้วให้สมบูรณ์มากขึ้น จึงไม่มีความซ้ำซ้อน ไม่มีการแย่งชิงบทบาทหน้าที่ แต่มีกระบวนการทำงานที่เน้นความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มิได้ทำงานแบบแยกส่วนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาฯ เป็นกลไกแห่งความร่วมมือและการใช้ปัญญามิใช่กลไกแห่งอำนาจและผลประโยชน์ เป็นการทำงานแบบจิตอาสา ตรงกันข้ามจะมีส่วนช่วยทำให้ความขัดแย้งแตกแยกในชุมชน (ที่เกิดจากการเลือกตั้งแบบการแข่งขัน และสาเหตุอื่น ๆ ) ลดลงเสียด้วยซ้ำ

7. ถ้าไม่มีสภาองค์กรชุมชน  ชุมชนจะยังคงสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นได้หรือไม่

                การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ได้กำหนดเป็นเป้าหมายการทำงานร่วมกัน และ มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากไม่มี พรบ. สภาองค์กรชุมชน ก็ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ตามสภาพ แต่อาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร จะมีแนวโน้มของการพัฒนาที่คนภายนอกมีความสำคัญมากกว่าคนภายใน และปัญหาต่าง ๆ ของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจะยังคงอยู่ รวมถึงปัญหาความอ่อนแอของชุมชน การจัดงบประมาณซ้ำซ้อนสิ้นเปลือง การเกิดความขัดแย้งแตกแยกในชุมชน การเกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน การประพฤติมิชอบทุจริตคอรัปชั่น และอื่นๆ

                แต่ถ้าหากมี พรบ. สภาองค์กรชุมชน จะทำให้องค์กรชุมชนมีสถานภาพที่ชัดเจนและมีบทบาท เป็นแกนหลัก เกิดการปรับเปลี่ยนบทบาทในการทำงานพัฒนาใหม่ โดยให้ความสำคัญกับบทบาทของชาวบ้าน ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องที่แท้จริงจำนวนมากขึ้น การแก้ไขปัญหาจึงมีความแตกต่างหลากหลายกันไปตามสภาพของแต่ละชุมชนท้องถิ่น และจะทำให้เกิดการเรียนรู้ขององค์กรชุมชนอย่างกว้างขวาง อันนำไปสู่การขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพบนฐานของความรู้เกิดจากปฏิบัติการจริง ซึ่งในปัจจุบันมีกรณีตัวอย่างรูปธรรมความร่วมมือกันพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่เกิดผลดีอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง (ซึ่งใช้เวลาในการพัฒนามายาวนาน)  การมีกฎหมายจะช่วยให้เกิดการขยายไปสู่พื้นที่ที่กำลังเริ่มทำมีความมั่นใจและขยายได้เร็วขึ้น ทันต่อกระแสภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ให้การร่วมกันพัฒนาจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นขยายกว้างขวางขึ้น

คำสำคัญ (Tags): #รองนายก
หมายเลขบันทึก: 126815เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2007 14:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท