จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 28 (10 ก.ย. 50)


ละคร กฎหมายสภาองค์กรชุมชน ฉากที่ 2 (ต่อ) / ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ...... (ฉบับล่าสุด)/  ถาม-ตอบ สาระสำคัญของร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน

                ละคร กฎหมายสภาองค์กรชุมชน ในฉากที่ 2 นี้ คงต้องแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 มีบทบาทของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหลัก ส่วนตอนที่ 2 เป็นตอนที่เกี่ยวโยงกับบทบาทของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นสำคัญ

                ในตอนที่ 1 ของฉากที่ 2 นี้ หลังจากนี้ หลังจากที่กระทรวง พม. เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 50 แล้วตั้งคณะทำงานร่วมหลายฝ่ายขึ้นมายกร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน ฉบับใหม่ โดยพยายามปรับจากร่างของ สนช. ให้สอดคล้องกับความเห็นคิดที่ได้รับฟังมา จึงได้ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ... ฉบับล่าสุด ดังนี้

                                                                                บันทึกหลักการและเหตุผล

                                                                ประกอบร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน

                                                                                                พ.ศ. ....

                                                                             ………………………………

                                                                                              หลักการ

                                                              ให้มีกฎหมายว่าด้วยสภาองค์กรชุมชน

                                                                                                เหตุผล

                ด้วยชุมชนเป็นสังคมฐานรากที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมแตกต่างหลากหลายตามภูมินิเวศน์ การพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ชุมชนอ่อนแอ ประสบปัญหาความยากจน เกิดปัญหาสังคมมากขึ้น ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชุมชนถูกทำลายจนเสื่อมโทรม เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีสถานภาพ สามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมทั้ง มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ การสร้างระบอบประชาธิปไตย และระบบธรรมาภิบาล ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองสิทธิชุมชนและประชาชนให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นตามความหลากหลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่น จึงเห็นสมควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นต้องมีพระราชบัญญัตินี้

                                                                                                    ร่าง

                                                                                        พระราชบัญญัติ

                                                                                      สภาองค์กรชุมชน

                                                                                                  พ.ศ. ....

                                                                               …………………………

                                                                     ..................................................................

                                                                      ..................................................................

                                                                      ..................................................................

                ...........................................................................................................................................................

                โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยสภาองค์กรชุมชน     

                ...........................................................................................................................

..............................
                มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ....

                มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้

                ชุมชน หมายความว่า กลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกัน และมีการติดต่อสื่อสารระหว่างกันอย่างเป็นปกติและต่อเนื่อง โดยเหตุที่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน หรือมีอาชีพเดียวกันหรือประกอบกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน หรือมีวัฒนธรรม ความเชื่อ หรือความสนใจร่วมกัน

                องค์กรชุมชน หมายความว่า กลุ่มประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนที่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นองค์กรเพื่อดำเนินการร่วมกันในการพัฒนาชุมชน หรือในการช่วยเหลือหรือสนับสนุนกัน หรือทำกิจกรรมอันชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรมอันดีร่วมกัน โดยมีระบบการบริหารจัดการตามที่ตกลงกัน ทั้งนี้ ไม่ว่าประชาชนจะจัดตั้งกันขึ้นเอง หรือโดยการแนะนำหรือสนับสนุนของหน่วยงานของรัฐ เอกชน หรือองค์กรพัฒนาเอกชน

                ผู้แทนองค์กรชุมชน หมายความว่า ประธานกรรมการขององค์กรชุมชน หรือหัวหน้ากลุ่ม หรือผู้ดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นผู้นำขององค์กรชุมชนในทำนองเดียวกัน

                หมู่บ้าน หมายความว่า หมู่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะการปกครองท้องที่ และให้หมายความรวมถึงชุมชนที่จัดตั้งขึ้นตามประกาศของทางราชการ

                องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หมายความว่า องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล เขตในกรุงเทพมหานคร หรือเขตพื้นที่ที่กฎหมายเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น

                จังหวัด หมายความรวมถึง กรุงเทพมหานคร

                รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีที่รักษาการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้

                มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

                                                                                                หมวด ๑

                                                                                     สภาองค์กรชุมชน

                                                                                      ..............................

                มาตรา ๕  การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนให้พิจารณาถึงความพร้อมและเห็นสอดคล้องต้องกันของกลุ่มประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเพื่อดำเนินการตามภารกิจที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

                การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน ให้ผู้แทนองค์กรชุมชนที่ได้จดแจ้งการจัดตั้งไว้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นที่ทำการขององค์กรชุมชนนั้นก่อนวันประชุมปรึกษาหารือร่วมกันตามวรรคสาม 

                ในการประชุมจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน  ต้องมีผู้แทนขององค์กรชุมชนมาร่วมประชุมไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบขององค์กรทั้งหมดตามวรรคสอง จึงเป็นองค์ประชุม และต้องเห็นสอดคล้องต้องกันให้จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบของจำนวนองค์กรชุมชนทั้งหมดตามวรรคสอง

                เมื่อได้จัดตั้งแล้ว ให้จดแจ้งการจัดตั้งสภาองค์ชุมชนต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นที่ทำการของสภาองค์กรชุมชน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งนั้นรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อทราบ

                มาตรา ๖ เมื่อที่ประชุมปรึกษาหารือผู้แทนองค์กรชุมชนตามมาตรา ๕ เห็นสอดคล้องกันให้จัดตั้งสภาองค์กรชุมชน  ให้ที่ประชุมกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานสภาองค์กรชุมชนอย่างน้อย ดังนี้

                (1) องค์ประกอบ และจำนวนสมาชิกสภาองค์กรชุมชน

                (2) คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาองค์กรชุมชน โดยคำนึงถึงความหลากหลาย และการเปิดโอกาสให้ผู้แทนองค์กรชุมชนในหมู่บ้านมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง

                (3) ตำแหน่งหน้าที่ และบทบาทความรับผิดชอบในสภาองค์กรชุมชน

                (4) วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของสมาชิกสภาองค์กรชุมชน

                (5) การประชุมสมาชิกสภาองค์กรชุมชน

                (6) การยุบเลิกสภาองค์กรชุมชน

                โดยผู้แทนองค์กรชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบขององค์กรชุมชนที่จดแจ้งเห็นชอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดร่วมกัน

                หากหมู่บ้านหรือชุมชนใดได้มีการดำเนินงานในรูปแบบสภาองค์กรชุมชน และมีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับสภาองค์กรชุมชน  ให้สามารถดำเนินการต่อเนื่องต่อไปได้โดยได้รับการรับรองจากที่ประชุมของสมาชิกไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบขององค์กรชุมชน

                มาตรา ๗ ให้สภาองค์กรชุมชน มีภารกิจดังต่อไปนี้ 

                (๑) ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรชุมชนในเกิดความเข้มแข็งและสมาชิกองค์กรชุมชนรวมตลอดทั้งประชาชนทั่วไปในสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

                (๒) ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกองค์กรชุมชนอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของชุมชนและของชาติ 

                (๓) ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกองค์กรชุมชนร่วมกันจัดการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น รวมทั้งการร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน 

                (๔) เสนอแผนชุมชนต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

                (๕) เสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไข หรือความต้องการของประชาชนอันเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ  หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

                (๖) จัดให้มีเวทีการปรึกษาหารือกันของประชาชนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมของหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนที่มีผลหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐซึ่งเป็นผู้ดำเนินการหรือเป็นผู้อนุญาตให้ภาคเอกชนดำเนินการนำความเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย

                (๗) ประสานและร่วมมือกับสภาองค์กรชุมชนอื่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

                (๘) วางระเบียบและข้อบังคับในการดำเนินกิจการของสภาองค์กรชุมชน

                (๙) จัดทำรายงานการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชน รวมถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในด้านต่างๆ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ 

                (๑๐)  เสนอรายชื่อสมาชิกสภาองค์กรชุมชนให้เป็นผู้แทนไปร่วมประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชน 

                มาตรา ๘ ในการปฏิบัติภารกิจตามมาตรา ๗ สภาองค์กรชุมชนจะตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อปฏิบัติภารกิจแทนก็ได้  โดยคำนึงถึงความเหมาะสม คล่องตัว ประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และประหยัดในการดำเนินงาน

                ในการปฏิบัติภารกิจของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบ  ข้อบังคับ และภารกิจของสภาองค์กรชุมชน

                มาตรา ๙  การส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้ง การดำเนินงานและการพัฒนาสภาองค์กรชุมชน  ให้เป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันของสภาองค์กรชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

                                                                                                หมวด ๒

                                                       การประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชน

                                                                                  ...............................

                มาตรา ๑๐  ให้มีการประชุมสภาองค์กรชุมชนในระดับจังหวัดอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งเมื่อ

                (๑) สภาองค์กรชุมชนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของสภาองค์กรชุมชนทั้งหมดในจังหวัดเห็นควรให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาและเสนอแนะเรื่องใดเรื่องหนึ่งอันอยู่ในภารกิจของสภาองค์กรชุมชน

                (๒) ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นเป็นการสมควรที่จะรับฟังความคิดเห็นของสภาองค์กรชุมชน ในการจัดทำหรือแก้ไขแผนพัฒนาจังหวัด หรือความเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

                มาตรา ๑๑ ในการประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชน บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมมีสิทธิเข้าร่วมประชุม แสดงความคิดเห็น และลงมติ

                (๑) ผู้แทนของสภาองค์กรชุมชน

                (๒) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดซึ่งผู้แทนของสภาองค์กรชุมชนตาม (๑) คัดเลือกให้เชิญมาร่วมประชุมมีจำนวนไม่เกินหนึ่งในห้าของผู้แทนของสภาองค์กรชุมชนตาม (๑)

                หลักเกณฑ์การเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๒) ให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมของผู้แทนตาม (๑) 

คำสำคัญ (Tags): #รองนายก
หมายเลขบันทึก: 126812เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2007 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท