เรียนรู้ตลอดชีวิต


เรียนรู้

ผู้รู้ แจง ! สมองคนเรา...เรียนรู้ได้ไม่จำกัด


ยิ่งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ยิ่งมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นเท่านั้น 

ความเชื่อที่ว่าสมองคนเราเรียนรู้ได้ดีที่สุดถึงแค่อายุเดียว พอผ่านวัยเด็กไปแล้วสมองก็ทำงานลดระดับลงเรื่อยๆ พอเข้าวัยชรา สมองก็เสื่อมสภาพ ทำอะไรไม่ค่อยได้ คิดอะไรไม่ค่อยออก เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ก็ไม่ได้  เห็นจะไม่ถูกต้องเสียแล้ว เพราะมีข้อมูลใหม่น่าสนใจที่ระบุชัดว่าแท้จริงแล้วสมองเรียนรู้ได้ไม่จำกัด

  ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ตีพิมพ์อยู่ในนิตยสารบันทึกคุณแม่  และเป็นที่น่าสนใจว่าผู้คนสมัยนี้สนใจในการพัฒนาด้านสมองและอัจฉริยภาพกันมากขึ้น และสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้รู้ว่าพวกเขาเหล่านั้นยังมีความคิดอยู่มาก เพราะหลายคนมักมีคำถามกับผู้เชี่ยวชาญว่า  ดิฉัน/ผม ทำงานหนักมากช่วงนี้คิดอะไรไม่ค่อยออก คิดว่าสมองคงค่อยเสื่อมแล้วล่ะ มีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง อยู่เสมอนั่นเอง นอกจากความเข้าใจเกี่ยวกับสมองของตัวเองผิดแล้วส่วนใหญ่ก็ยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับสมองของลูกผิดอีกด้วย เพราะเรามักได้รับรู้เรื่องหน้าต่างการเรียนรู้หรือ Window of Opportunities กันเป็นประจำว่า ถ้าไม่สอนเด็กเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก่อนอายุเท่านั้นเท่านี้แล้ว เด็กจะไม่มีโอกาสเรียนรู้เรื่องนั้นๆ ได้เลยจนวันตาย เช่น ถ้าไม่เรียนภาษาที่สองก่อนอายุสิบสองปี แล้วเด็กจะไม่มีวันได้สำเนียงอย่างเจ้าของภาษาไปตลอดชีวิต…. ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องหน้าต่างการเรียนรู้นี้ เป็นเรื่องที่มีส่วนถูกต้องอยู่บ้าง แต่สมองของเราไม่ได้แบ่งแยกเป็นดำกับขาวขนาดนั้น เรื่องไหนที่เราพลาดการเรียนรู้ไปในวัยหนึ่ง เราก็สามารถที่จะยังเรียนรู้เรื่องนั้นได้เป็นอย่างดี เพียงแต่ว่า มันอาจเรียนยากขึ้น ก็เท่านั้นเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ผู้ใหญ่หลายท่านที่ไม่มีโอกาสได้เรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็กๆ และเมื่อโตขึ้น ก็สามารถสอบชิงทุนไปเรียนต่างประเทศได้ ก็ต้องมานั่งเรียนภาษากันใหม่แทบจะทั้งหมดบางท่านต้องเรียนอังกฤษ บางท่านเป็นภาษาญี่ปุ่น หรือฝรั่งเศสก็เห็นเรียนกันได้ในระดับใช้การได้ดีทีเดียว ได้ปริญญาโท ปริญญาเอกในประเทศนั้นๆ ติดมือกลับมากันเป็นแถว ซึ่งเมื่อสอบถามดูก็พบว่า การเรียนในตอนเป็นผู้ใหญ่นั้น ยากกว่าเรียนตอนเด็กๆ แน่นอน เพราะกระบวนการรับข้อมูลของเราไม่อ่อนนุ่มยืดหยุ่นเท่าของเด็ก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะยากเย็นจนเกินไป  หรือในกรณีการเรียนเต้น เช่น บัลเลย์ ซึ่งจะมีความเชื่อกันมานานว่า ควรเรียนตั้งแต่เด็กๆ จึงจะดีที่สุด ซึ่งการเรียนในเรื่องเหล่านี้ เป็นประโยชน์มากต่อท่าทางและบุคลิกภาพในวัยผู้ใหญ่ ช่วยให้เราไปเรียนเต้นในด้านอื่นได้ดี เดินเหินสง่า หลังตรง แต่เมื่อได้รับรู้ถึงผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ ที่มาเริ่มเรียนเต้นเอาตอนโตๆ แล้ว ก็ต้องทึ่ง เช่น คุณจรินทร์ ยุทธศาสตร์โกศล ที่มาเริ่มเรียนบัลเลย์เอาตอนอายุประมาณห้าสิบปี จนเต้นได้เก่งมากเท่ากับนักบัลเลย์มืออาชีพ มีงานแสดงทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ เป็นที่นับถือเลยทีเดียว เช่นนี้ก็เกิดขึ้นได้ ที่อธิบายมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะบอกว่า สมองของเรานั้นมีความยืดหยุ่นหรือ Brain Plasticity อยู่สูงมาก ถ้าดูจากศัพท์ภาษาอังกฤษแล้ว คำว่าพลาสติก คือ ยืดได้ ขยายได้ เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาจริงๆ แล้ว สมองของคนเราน่าทึ่งกว่าที่ไว้คิดมหาศาล ก็เพราะคำว่าพลาสติกนี่เองอย่างที่ใครๆ เชื่อกันว่า สมองหยุดการเรียนรู้ในวัยใดวัยหนึ่ง คำพูดนี้ ผู้เชี่ยวชายด้านสมองต้องขอออกมาค้านกันแบบหัวชนฝาเลยทีเดียว เพราะว่ามีงานวิจัยบอกออกมาชัดเจนมากว่า สมองของคนเรามีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นประจำแทบจะทุกวันเลยก็ว่าได้ เพราะสมองของเราเป็นอวัยวะที่พร้อมเปลี่ยนแปลงตัวเองตามสภาวะแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา ชนิดทุกห้วงลมหายใจของเราเลยเชียว การที่สมองพร้อมเปลี่ยนแปลงตลอดนี้ ไม่ใช่เรื่องปกติของชาติพันธุ์หนึ่งๆ แต่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มนุษย์อย่างพวกเรา ซึ่งถ้ามองในเชิงของโลกแล้ว ก็เป็นแค่สิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งไม่ต่างจากนกกระสา หรือเสือดาว แต่มันกลับทำให้เราครองโลกได้อย่างทุกวันนี้ ลองนึกดูซิว่า มนุษย์มีศักยภาพในการเรียนรู้และปรับตัวมากมายขนาดไหน เปรียบเทียบกัน ถ้าเราเอานกเขตร้อนไปปล่อยในขั้วโลกเหนือ รับรองว่านกตัวนั้นต้องตายภายในเวลาไม่นานนัก แต่ถ้าลองเอาคนสักคนหนึ่งไปปล่อย รับรองว่าคนๆ นั้นจะต้องหาทุกวิถีทางที่จะเอาชีวิตรอดให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการไปล่าสัตว์เอามากิน แล่ขนสัตว์ขั้วโลกเหนือหนาๆ มาห่มตัว มาทำเป็นรองเท้า รวมไปถึงการสร้างที่อยู่อาศัยที่ช่วยสร้างความอบอุ่นให้ตัวเราสูงที่สุด ว่าไปแล้ว ทักษะในการเอาชีวิตรอดในสถานการณ์แปลกใหม่ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์เราแพร่ขยายไปจนทั่วดาวเคราะห์โลกดวงนี้ ตั้งแต่เส้นศูนย์สูตรไปจนจรดขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ อย่างไม่เคยมีสัตว์โลกชนิดไหนทำได้ขนาดนี้เลย สมองมนุษย์ถูกสร้างมาให้เรียนรู้และปรับสภาพสมองตลอดชีวิต ไม่มีวันไหนเลยที่สมองจะหยุดการเปลี่ยนแปลงปรับตัว และยิ่งสมองเปลี่ยนแปลงบ่อย ยิ่งทำให้การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ง่ายขึ้น การสร้างเส้นใยสมองใหม่ๆ ง่ายมากแปลได้ง่ายๆ ว่า ยิ่งเราเรียนรู้มากเท่าไร เรายิ่งเรียนรู้ได้มากขึ้นอีกเท่านั้น เพราะสมองไม่เหมือนเงินซึ่งยิ่งใช้ยิ่งหมดไป แต่เส้นใยสมองยิ่งใช้มากยิ่งมีมากขึ้น ไม่จำกัด สิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นๆ อย่างชัดเจน ก็คือความยืดหยุ่นของสมองเรานี่เอง แม้ในโลกปัจจุบัน ที่เราเลิกอาศัยอยู่ในถ้ำไปนานหลายพันปีแล้ว แต่สมองของเราก็ยังทำงานใกล้เคียงเดิมทุกประการ ในเวลาที่เราอยู่รอบถ้ำ สิ่งที่จำเป็นต่อการรอดชีวิตที่สุด ก็คือการประเมินสถานการณ์รอบตัวด้วยความรวดเร็วแม่นยำ และการปรับพฤติกรรมตัวเราให้สอดคล้องกับสถานการณ์นั้น ในยุคปัจจุบันที่เราอยู่อาศัยเป็นสังคมเมืองมานานแล้ว แต่ในเชิงสมองถือว่ายังไม่นานเลย ดังนั้น เราจึงยังเป็นเจ้าของสมองยุคเก่าอยู่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ในยุคนี้ เราต้องเข้าโรงเรียน ต้องหิ้วคอมพิวเตอร์ไปทำงาน ติดต่อลูกค้าต่างประเทศ จัดเตรียมผลิตภัณฑ์ให้ส่งตรงเวลา และอื่นๆ อีกมากมายที่เราไม่จำเป็นต้องทำเลยเวลาอยู่ในถ้ำ แต่สมองของเรายังคงถูกสั่งการให้ประเมินสภาพแวดล้อมอย่างรวดเร็วแม่นยำตามเดิม นี่เองจึงเป็นที่มาของคำว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะในความเป็นจริงแล้ว สมองมนุษย์ถูกสร้างมาให้เรียนรู้และปรับสภาพสมองตลอดชีวิต ไม่มีวันไหนเลยที่สมองจะหยุดการเปลี่ยนแปลง  พูดง่ายๆ ว่ายิ่งเราเรียนรู้มากเท่าไร เรายิ่งเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้นอีกเท่านั้น เพราะสมองไม่เหมือนเงิน ซึ่งยิ่งใช้ยิ่งมีมากขึ้น ไม่จำกัด กลับมาที่คำถามยอดฮิตที่ว่า คนอายุมากขึ้น สมองทำงานลดประสิทธิภาพลงหรือเปล่านั้น ตอบได้เลยว่า ไม่มีทางแน่นอน ถ้าเราฝึกใช้สมองของเราเป็นประจำ คิดอะไรใหม่ๆ เรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ อยู่เรื่อย เท่ากับเราช่วยชะลออายุสมองให้เป็นเด็กได้ตลอดกาล เพราะสมองคนแก่ที่ชอบเรียนรู้กระตือรือร้นนั้นมีลักษณะคล้ายสมองเด็ก แต่สมองเด็กวัยรุ่นที่นอนดึก ดื่มเหล้าและใช้ชีวิตด้วยความเครียดกลับมีลักษณะคล้ายสมองคนแก่อย่างไม่น่าเชื่อ  อายุสมองจึงอยู่ที่เราใช้การเขาอย่างไร มากกว่าอายุที่แปรเปลี่ยนไปตามปฏิทิน เมื่อกลับมาดูสมองของลูกในวัยเล็ก ซึ่งเป็นช่วงที่การเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายและเป็นธรรมชาติที่สุดนั้น เรายิ่งต้องระมัดระวังคัดสรรแต่สิ่งที่เป็นคุณให้เขา เพราะสมองเด็กก็เหมือนบัญชีธนาคาร เราฝากอะไรไว้ อีกสิบปีให้หลัง เราก็ได้รับคืนพร้อมดอกเบี้ยทบต้นเลยทีเดียว ดังนั้นหมั่นดูแลวัตถุดิบที่เราฝากกับธนาคารเคลื่อนที่นี้ไว้ให้ดี เพราะเวลาสิบปีนั้นจะว่าไปก็สั้นนิดเดียว และอย่าลืมใส่วัตถุดิบใหม่ๆ ดีๆ ให้กับสมองของเราและคนรอบข้างด้วย โดยไม่มีช่องว่างอะไรระหว่างวัย (ของสมอง)  และให้คิดเสมอว่า สมองที่ดีที่สุด คือ สมองที่เรียนรู้และปรับตัวได้รวดเร็วนั่นเอง                 ที่มาเรียบเรียง/ภาพโดย : สุเมตตา  อุราโรจน์ Team  Content www.thaihealth.or.th ข้อมูลจาก : นิตยสารบันทึกคุณแม่
หมายเลขบันทึก: 126087เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2007 16:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 02:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ดีใจด้วยที่มีblogเป็นของตนเองแล้ว
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท