เพลงอีแซวไปขับขาน ในงานเกษียณอายุของผู้บริหารระดับสูง ธ.ก.ส.


กลับมาถึงโรงเรียน รอท่านผู้ปกครองมารับนักเรียนจนครบทุกคน

 

เพลงอีแซวไปขับขาน

ที่บึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ

การประชุมสัญจร

ผู้บริหาร ธ.ก.ส.(ระดับประเทศ)  

        เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2550 เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณ โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 ได้รับการติดต่อจาก ท่านผู้จัดการฝ่ายกิจการ สาขา 7  ธ.ก.ส. คุณเล็ก อุตรพงษ์ โดยมีท่านผู้จัดการ ธ.ก.ส. สาขาดอนเจดีย์ คุณประชา  ธไนศวรรย์ เป็นผู้ประสานงาน ติดต่อผ่านท่านผู้อำนวยการโรงเรียน ให้ผมนำคณะนักแสดงไปร่วมงาน การประชุมสัญจรของคณะ กรรมการระดับผู้บริหาร ของ ธ.ก.ส. ในงานนี้มีท่านธีระพงษ์  ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารใหญ่ (ระดับสูง) เป็นประธานในการประชุม โดยใช้ห้องประชุม อาคารที่พักเรือนต้นไม้ บึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ  อำเภอเดิมบางนางบวช เป็นสถานที่จัดงาน 

        ผู้ประสานงานของ ธ.ก.ส. ทั้งสาขา 7 และสาขาดอนเจดีย์ ให้การดูแลพวกเราเป็นอย่างดีนับตั้งแต่วันที่มาติดต่อ  มีตอนหนึ่งท่านผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขา 7 ท่านปรารภกับผมว่า ผมอยากจะมาขอดูเด็ก ๆ เขาซ้อมการแสดงสักครั้งหนึ่ง ผมตอบตกลงและนัดหมายให้ท่านมาดูซ้อมในวันจันทร์ที่  27 สิงหาคม 2550 ปรากฏว่าเอาเข้าจริงเด็กไม่พร้อม ผู้แสดงมาไม่ครบ จึงนัดหมายเลื่อนไปเป็นวันที่ 29 สิงหาคม 2550 เวลา 16.00 น. พอได้เวลาท่านก็มากันเป็นคณะมีหลายคน ดูเหมือนว่าจะ  6 คน ได้ครับ 

        เด็ก ๆ เขามีความสุขมากในวันนั้น เมื่อนักแสดงเดินทางมาถึงห้องฝึกซัอม ทำความเคารพ สวัสดีท่าน ผอ. ท่าน ผจก.ธ.ก.ส. มารออยู่แล้วพร้อมด้วยของฝากเด็ก ๆ  2 ถุงใหญ่มาก (ขอขอบพระคุณจริง ๆ) ผมมีเวลาได้พูดคุยกับท่านผู้อำนวยการฝ่าย ของ ธ.ก.ส. ไม่นาน เด็ก ๆ ก็เริ่มฝึกซ้อมโดยทำเหมือนการแสดงจริงทุกอย่าง  งานนี้ท่านมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลาและสถานที่ ดังนั้น ผมกับท่านผู้อำนวยการ ธ.ก.ส. สาขา 7 จึงตกลงกัน ดังนี้

        1) นำนักแสดงไปจำนวน 12 คน เป็นผู้ร้อง 9 คน ให้จังหวะ 3 คน (ผมร้องด้วย) 

        2) เวลาในการแสดง 35-40 นาที และท่านบอกให้ร้องเรื่องเกี่ยวกับงานให้ด้วย  

        ตรงนี้แหละครับที่สำคัญที่สุดของงาน เพราะเรื่องเกี่ยวกับงานในวันที่แสดง มี 2 สถานการณ์ สถานการณ์แรก เป็นการประชุมสัญจรของคณะผู้บริหารธนาคาร (ธ.ก.ส. ระดับสูง)  และสถานการณ์ที่ 2 คือ เป็นการเลี้ยงวันเกษียณอายุ การทำงานของผู้บริหาร ระดับสูง 2 ท่านคือ คุณจินดา  กาญจน์กีรติ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. (ส่วนกลาง) และคุณจตุรงค์ ทองยี่สุ่น ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. (ส่วนกลาง) ด้วย ทำให้ผู้แสดงต้องทำหน้าที่ 2 บทบาท ผมเลยแบ่งเบาภาระให้ลูกศิษย์  เป็นอันว่า เด็ก ๆ 9 คนรับหน้าที่ร้องเรื่องการประชุมสัญจร ผมในฐานะครูผู้ฝึกร้อง(ด้นสด) เรื่องเลี้ยงเกษียณอายุการทำงานให้กับ 2 ท่าน เสียเอง 

        เมื่อเด็ก ๆ ฝึกซ้อมจนจบบทการแสดง ตามเวลาที่กำหนด 40 นาที คุณเล็ก อุตรพงษ์ ผู้ติดต่อ แสดงความเห็นต่อการรับชมการแสดงว่า แสดงได้ดีมาก เกินกว่าที่คาดคิดเอาไว้ ในวันศุกร์ที่ 31 ขอให้หนู ๆ ทุกคนทำให้เต็มที่นะ แล้วท่านก็ลาพวกเรากลับไป  เด็ก ๆ หยุดพักการฝึกซ้อมดื่มน้ำ และรับประทานของว่างที่ ผจก. ธ.ก.ส. นำเอามาฝาก อิ่มกันไปตาม ๆ กัน  

        วันที่ 31 สิงหาคม 2550 เวลา 16.00 น. รถยนต์ตู้ และรถแวน ของ ธ.ก.ส. 2 คันมารับนักแสดงที่โรงเรียน ในวันนี้ผมมีแขกมาดูงานด้วย มาจากจังหวัดระยอง มีอาจารย์ 2-3 ท่านมาชมการสอนเพลงพื้นบ้านด้วยคอมพิวเตอร์ของผม แต่มีเวลาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันไม่นาน ผมต้องพานักเรียนไปแสดงเพลงอีแซวที่บึงฉวาก จึงมอบเอกสารไปให้ท่านอาจารย์และขอคุยกันทางเว็บ และอีเมลต่อ เด็ก ๆ ขึ้นรถครบ 12 คน รวมผมด้วย 13 คน วันนี้นั่งสบายรถว่าง ไม่ต้องเบียดกันมาก พวกเราเดินทางไปถึงสถานที่แสดง ห้องประชุม บึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ เวลาประมาณ 16.45 น.ได้รับการต้อนรับจากท่านผู้มาติดต่ออย่างดีมาก (ท่านให้ความกรุณาเด็ก ๆ) ให้น้อง ๆ นำอาหารเย็นมาให้เด็ก ๆ และผมรับประทานในห้องรับรองอย่างดี พวกเราทั้งอิ่มและอร่อยด้วยความสุขใจ 

        เวลา 17.30 น. นักแสดงทั้งหมดแบ่งออกเป็น  2 กลุ่ม ชาย 5 คนและหญิง 7 คน แต่งหน้า ทำผม ทาแป้ง ทาปาก เขียนคิ้ว แต่งชุดการแสดง (สวมเสื้อสี นุ่งผ้านุ่งโจงกระเบนแบบเก่า) ด้วยตนเอง เตรียมความพร้อมเครื่องให้จังหวะ (กลองไฟฟ้า ฉิ่ง กรับ และกลองเสริม) เวลาทำการแสดงจริงเลยไปจากกำหนดการเล็กน้อย เมื่อถึงเวลาประมาณ 18.45 น. คณะกรรมการ ธ.ก.ส. โดยเฉพาะท่านผู้บริหารระดับสูง จากกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเดินทางมาถึง คณะกรรมการให้การต้อนรับ เชิญท่านเข้าไปนั่งที่โต๊ะรับประทานอาหาร 

        พิธีกรกล่าวถึงภาพรวม ๆ ของจังหวัดสุพรรณบุรีและสถานที่จัดงานคือ บึงฉวากฯแห่งนี้ ต่อจากนั้นก็เข้าสูพิธีการกล่าวรายงานแจ้งวัตถุประสงค์ของงานรวมทั้งนำเสนอผลงานของธ.ก.ส. ด้วยระบบ  VTR ประมาณ 15 นาที มาถึงการแนะนำชุดการแสดงของพิธีกรชาย-หญิง ประกาศเกียรติคุณและเชิญนักแสดงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ นำเสนอผลงานบนเวที ที่มีขนาดกะทัดรัด ประมาณ 2 X 4 เมตร ประดับไฟแสงสี ต้นไม้สวยงาม และมีฉากหลังที่เป็นภาพสถานที่สำคัญของเมืองสุพรรณฯ เข้ากับบรรยากาศได้อย่างลงตัว

         หทัยกาญจน์ เมืองมูล กับ รัตนา  ผัดแสน 2 นักร้องนำของวง ทำหน้าที่เริ่มต้นการแสดงโดย

         1.  ขับเสภาเคารพครูเพลง ตามด้วยเพลงแหล่บูชาครู (ไม่มีไหว้ครู เพราะเวลาจำกัด)

         2.  ธีระพงษ์ พูลเกิดและภาธิณี นาคกลิ่นกุลออกไปร้องเพลงฝากตัว-ฝากใจ

         3.  หทัยกาญจน์กับรัตนาร้องบทเทิดพระเกียรติ  80 พรรษาในหลวง (เสียงปรบมือดัง)

         4.  นักแสดงหยุดการร้อง ทำความเคารพและพูดกับท่านผู้ชม กล่าวถึงวงเพลงและงานที่มาแสดง โดยเจตสรินทร์กับยุพาภรณ์

         5.  เป็นการนำเสนอเรื่องราวของการประชุมสัญจร วัตถุประสงค์ และชื่อผู้เข้าร่วมประชุม

         6.  เด็ก ๆ หยุดพูดเพื่อปูเรื่องราวไปสู่บทเพลงสนุกๆ ชื่อ สังคมไทยเปลี่ยนไปจากเก่า

         7.  จบบทเล่นสนุก ผมออกไปทำความเคารพท่านผู้ชม และจับตอนต่อเนื่องจากเด็กๆ ไปเลย ผมใช้เวลาเจรจาสนุกๆ ชวนหัวกับอิม-ยุ้ย-แมน  2 นาที (ก็เรียกเสียงฮาได้)

         จากนั้นผมร้องเรื่องเกษียณอายุของผู้บริหารระดับสูง 2 ท่าน โดยจับใจความเฉพาะที่สำคัญ ๆ ด้นกลอนสดเพลงอีแซว ประวัติ ภูมิลำเนา ตำแหน่งงาน และผลงาน ลงท้ายด้วยความรักอาลัยที่ทิ้งเอาไว้ให้ผู้ร่วมงาน (พี่พรรณี ทองยี่สุ่น มอบรางวัลให้ที่หน้าเวที) และผมร้องต่อไปด้วยเนื้อหาเดิมแต่เป็นของอีกท่านหนึ่ง เมื่อร้องจบ ได้รับกำลังใจด้วยเสียงปรบมือ (พี่จินดา กาญจน์กีรติ นำซองมาให้)

        8.  หทัยกาญจน์-รัตนา เจรจาและร้องเพลงลา-อาลัย ท่านผู้บริหาร ธนาคาร (ธ.ก.ส.) นั่งชมด้วยความตั้งใจ ผมสังเกตไปที่ผู้ชมท่านนั่งนิ่ง ฟังเด็ก ๆ ร้องจนจบบทลา (ปรบมือ) เด็ก ๆ เขาร้องต่อด้วยบทลา จังหวะฮาวาย จบบทลาสุดท้ายเสียงปรบมือดังทั้งห้องประชุม 

         พิธีกร 2 ท่าน (ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ศรีประจันต์) กล่าวชื่นชมนักแสดงและให้กำลังใจผม ขอให้ทำวงเพลงพื้นบ้านต่อไป บนเวทีมีการสัมภาษณ์ผู้แสดงกันนานกว่า 15 นาทีโดยพิธีกร 2 ท่าน เรียกเสียงฮาและเสียงปรบมือได้ตลอด (เวลาแสดง กำหนดไว้ 35-40 นาที แต่เวลาแสดงจริงน่าจะเกินกว่า 1 ชั่วโมงเสียด้วยซ้ำ) ต่อจากนั้นเด็ก ๆ รับของที่ระลึกและรับน้ำใจจากท่านผู้ใหญ่ในงาน (เป็นความกรูณาที่มีต่อเยาวชนอย่างสูง) ผมได้แต่ยกมือไหว้ กราบขอบพระคุณ และขออภัยในสิ่งที่ผิดพลาด (ถ้ามี)  ทุกท่านที่ชมต่างให้คำหวานแก่เด็ก ๆ นักแสดง ชื่นชมแบบผู้ใหญ่ที่มีเมตตา ภาพแห่งความทรงจำคงเป็นเหมือนกับทุกงานที่ผ่าน ๆ มานับร้อยนับพันครั้งที่ผมยืนอยู่บนเวทีกับเด็ก ๆ (หากการแสดงใช้เวลาเกินกว่า 1 ชั่วโมง)  

         ความวิตก ความกังวลของผมหายไปหมดแล้ว การแสดงจบลงโดยเด็ก ๆ นักแสดงของผมทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ผู้ประสานงานติดต่อพึงพอใจ  เด็ก ๆ ผู้แสดงมีความสุข  ผมและเด็ก ๆ 12 คน กล่าวคำลาผู้ประสานงานติดต่อ และท่านผู้บริหารที่อยู่ด้านนอกเพื่อเดินทางกลับ ในระหว่างนั้นไฟฟ้าที่ห้องทานเลี้ยงดับวูบลง มีเสียงเรือแล่นมาจอด เสียงพลุดังมีแสงไฟสว่างไสวสวยงาม เป็นไฮไลท์สุดท้ายของงาน

         บนเวทีมีความสนุกสนานด้วยการร้องเพลงของนักร้อง ชาว ธ.ก.ส. ผมกลับมาถึงโรงเรียนเวลา 21.45 น. รอท่านผู้ปกครองมารับเด็ก ๆ จนครบทุกคน ผมกลับถึงบ้าน 22.50 น. (ผ่านไปอีกครั้งหนึ่งแล้ว ภาระงานที่สำคัญ)

(ชำเลือง  มณีวงษ์ / ครูผู้ฝึกสอน ควบคุมเพลงพื้นบ้าน โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1)

 

หมายเลขบันทึก: 124167เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2007 00:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท