ผักพื้นบ้าน แพทย์แผนไทย


   
 
http://www.thaimedi.com/data_herb/herb13.html  
   
 

 

มหัศจรรย์ผักพื้นบ้าน

กำเนิดของผักพื้นบ้าน

ผักพื้นบ้านคือพรรณพืชพื้นบ้านในท้องถิ่น ชาวบ้านนำมาบริโภคเป็นอาหารและยา รวมทั้งทำเครื่องมือใช้สอยต่างๆมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ในยุคหาของป่าล่าสัตว์นั้น ผักเป็นส่วนประกอบอาหารถึงร้อยละ 80 ผักมีคุณค่าทางอาหารสูงโดยเฉพาะวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ผักพื้นบ้านในประเทศไทยมีทั้งที่มีถิ่นกำเนิดในไทยและที่นำมาจากต่างประเทศ ผักไทยเดิมนั้นมีถึง 255 ชนิด

แหล่งที่มาของผักพื้นบ้าน

    • จากเทือกเขา ป่าดง ป่าละเมาะ เช่น ยอดสะเดา ลูกสมอ หน่อไม้ มะรุม

    • จากไร่และสวนมีทั้งที่ขึ้นเองตามธรรมชาติและปลูกแซมตามไร่ เช่น สะตอ เหมียง ฟักทอง ถั่วต่างๆ

    • จากทุ่งนา หนอง คลอง บึง เช่น โสน ผักแว่น บอน บัวสาย

    • จากสวนครัว ริมรั้ว เช่น สะระแหน่ ข่า กระถิน ตำลึง

ประโยชน์ด้านการใช้สอย สีผสมอาหารและย้อมผ้าจากผักพื้นบ้าน

สามารถผลิตภาชนะและสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น นำใบตองมาห่อขนม ตอกจากไม้ไผ่ หวายมาสานกระบุง ตะกร้า ทำน้ำยาสระผมและบำรุงเส้นผมจากผลมะกรูด ฝักส้มป่อย ลูกมะเฟือง ใบหมี่ ใบรางจืด มะขาม เป็นต้น สีธรรมชาติจากพืชผักต่างๆผสมอาหาร เช่น สีเขียวจากใบเตย สีเหลืองจากเหง้าใต้ดินของขมิ้น , ดอกแก่คำฝอย สีม่วงจากดอกอัญชัน สีแดงจากกลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบแดง สีชมพูเข้มจากแก่นฝาง

สีย้อมผ้าจากถั่วแปบ, หูกวาง, ตำลึง, เปลือกเพกา ให้สีเขียว แก่นขนุน, หัวขมิ้นให้สีเหลือง แก่นไม้ฝาง, เปลือกตะแบกให้สีม่วง ลูกคำแสด, เปลือกประดู่ให้สีแดง- ส้ม และต้นคราม, ใบฮ่อม, เปลือกฉำฉาให้สีคราม- ฟ้า

แนวทางการบริโภคผักพื้นบ้านตามฤดูกาล

ผักพื้นบ้านได้รับการจำแนกคุณสมบัติตามรสยา มีจุดเด่นของธาตุตามสัดส่วนของธาตุทั้ง 4 และตามทฤษฎีร้อน- เย็น (Hot-Cold Theory) ซึ่งจำแนกอาหารเป็น ร้อน- เย็น ตามคุณลักษณะที่อาหารส่งผลต่อสุขภาพ อาหารหรือผักร้อน มีฤทธิ์กระตุ้น รับประทานแล้วทำให้ร่างกายรู้สึกร้อน เช่น พริก โหระพา กระเพรา ข่า ขิง ส่วนอาหารหรือผักเย็นมีฤทธิ์ยับยั้ง รับประทานแล้วรู้สึกเย็น เช่น มะระ แตง กระเจี๊ยบแดง ผักกระเฉด บอนน้ำ ผักบุ้ง เป็นต้น ดังนั้นเมื่ออากาศร้อนควรรับประทานผักที่มีคุณสมบัติเย็น ถ้าอากาศเย็นควรรับประทานผักที่มีคุณสมบัติร้อน กล่าวคือ

ฤดูร้อน ( กุมภาพันธ์- พฤษภาคม) เจ็บป่วยด้วยธาตุไฟ ควรรับประทานผักพื้นบ้าน รสขม เย็น จืด

และเปรี้ยว เช่น ผักหนาม ขี้เหล็ก มะขาม ตำลึง ผักเขียด เป็นต้น

ฤดูฝน ( มิถุนายน- กันยายน) เจ็บป่วยด้วยธาตุลม ควรรับประทานผักพื้นบ้าน รสสุขุม เผ็ดร้อน

เช่น กระเจี๊ยบแดง หอมแดง แมงลัก พริกขี้หนู ขิง เป็นต้น

ฤดูหนาว ( ตุลาคม- มกราคม) เจ็บป่วยด้วยธาตุน้ำ ควรรับประทานผักพื้นบ้าน รสขม ร้อน และเปรี้ยว

เช่น สะเดา มะขาม มะนาว เพกา แมงลัก ชะมวง ผักชีล้อม ผักไผ่ กระชาย ข่าอ่อน

พริกไทย ผักแพว เป็นต้น

แนวทางการบริโภคผักตามธาตุเจ้าเรือน ( แบบทฤษฎีธาตุ)

มีหลักเกณฑ์ว่าธาตุ 4 เป็นองค์ประกอบของร่างกาย ธาตุที่เป็นต้นเหตุแห่งความแปรปรวนของร่างกาย คือ ตรีธาตุ ได้แก่ ธาตุไฟ ( ปิตตะ) ลม ( วาตะ) น้ำ( เสมหะ) แต่ละคนจะมีธาตุหนึ่งเด่นออกมา ซึ่งสังเกตจากบุคลิกภาพและพฤติกรรมของบุคคลนั้น เมื่อทราบว่าธาตุใดเด่นก็เลือกรับประทานอาหารให้สอดคล้องกับธาตุในร่างกาย

ผักที่มีรสขม เย็น จืด เหมาะสำหรับบุคคลที่มี ธาตุไฟเด่น เช่นแตงโม บวบ สะเดา มะระขี้นก มะเขือพวง มะแว้ง ตำลึง

ผักที่มีรสเผ็ดร้อน เหมาะสำหรับบุคคลที่มี ธาตุลมเด่น เช่น กระชาย ขิง ตะไคร้ โหระพา กะเพรา

ผักที่รสเปรี้ยว เหมาะสำหรับบุคคลที่มี ธาตุน้ำเด่น มะเขือเทศ มะกรูด มะนาว ส้ม

ผักที่มีรสฝาด หวาน มัน เค็ม เหมาะสำหรับบุคคลที่มี ธาตุดินเด่น เช่น ถั่วพู ผักกระเฉด เผือก

มะละกอ หัวปลีกล้วย

แนวทางบริโภคผักพื้นบ้านตามภูมิประเทศที่อยู่อาศัย

อิทธิพลของการเกิดในพื้นที่ภูมิประเทศที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันมีผลต่อสุขภาพ และการเลือกรับประทานผักตามรสดังนี้

เกิดในที่สูง (ประเทศร้อน) มักเจ็บป่วยด้วยธาตุไฟ ควรเลือกรับประทานผักพื้นบ้านรสจืด เย็นสุขุม

เกิดในที่เป็นน้ำ กรวด และทราย (ประเทศอบอุ่น) มักเจ็บป่วยด้วยธาตุน้ำ ควรเลือกรับประทานผักพื้นบ้าน รสเปรี้ยว ขม

เกิดในที่เป็นน้ำฝนเปียกตม (ประเทศเย็น) มักเจ็บป่วยด้วยธาตุลม ควรเลือกรับประทานผักพื้นบ้านรสเผ็ดร้อน

เกิดในที่เป็นน้ำเค็มเปียกตม (ประเทศหนาว) มักเจ็บป่วยด้วยธาตุดินควรเลือกรับประทานผักพื้นบ้านรสฝาด หวาน มัน และเค็ม

แนวทางบริโภคผักพื้นบ้าน ตามลักษณะสีผิวกายและโลหิต

คนผิวขาว โลหิตมีรสหวาน ควรเลือกรับประทานผักพื้นบ้านรส เผ็ด ร้อน ขม

คนผิวขาวเหลิอง โลหิตมีรสเปรี้ยว ควรเลือกรับประทานผักพื้นบ้าน รสเค็ม

คนผิวดำแดง โลหิตมีรสเค็ม ควรเลือกรับประทานผักพื้นบ้านได้ทุกรสยกเว้นรสเค็ม

คนผิวดำ โลหิตมีรสเค็มจัดและเย็นจัด ควรเลือกรับประทานผักพื้นบ้านรสหวาน

แนวทางการบริโภคผักพื้นบ้านตามอายุ

บุคคลแต่ละคนที่เกิดมาแต่ละวันจะมีซางแตกต่างกันและแต่ละซางจะมีจุดอ่อนแตกต่างกัน ดังนั้นเมื่ออายุเปลี่ยนไปตามวัย ควรรับประทานผักที่มีรสสมุนไพร ดังนี้ (ตามทฤษฏีการแพทย์แผนไทย)

ปฐมวัย (อายุแรกเกิดถึงอายุ 16 ปี) เป็นช่วงอายุให้เกิดโรคธาตุไฟ ควรรับประทานผักพื้นบ้านรสขมและเปรี้ยว

มัชฉิมวัย (อายุมากกว่า 32 ปีขึ้นไป) เป็นช่วงอายุให้เกิดโรคทางธาตุลม ควรรับประทานผักพื้นบ้านรสเผ็ดร้อน และรสสุขุม (รสไม่ร้อนไม่เย็น)

ปัจฉิมวัย (อายุมากกว่า 32 ปีขึ้นไป) เป็นช่วงอายุให้เกิดโรคทางธาตุลม ควรรับประทานผักพื้นบ้านรสเผ็ดร้อน และรสสุขุม (รสไม่ร้อนไม่เย็น)

แนวทางการบริโภคผักพื้นบ้านตามกาลเวลา

อิทธิพลของกาลเวลาและสุริยจักรวาล ได้แก่อำนาจพลังแห่งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ทำให้เกิดโรคอันเนื่องจากการแปรปรวนของธาตุต่างๆ แตกต่างกัน

เวลา 06 : 00 – 10:00 น. และ 18:00 – 22:00 น. มีอิทธิพลของธาตุน้ำ ควรรับประทานผักพื้นบ้านรสเปรี้ยว ขม

เวลา 10 : 00 – 1 4:00 น. และ 22:00 – 02:00 น. มีอิทธิพลของธาตุไฟ มีอาการไข้ แสบท้อง ปวดท้อง ควรรับประทานผักพื้นบ้านรสจืด เย็น สุขุม

เวลา 14 : 00 – 1 8:00 น. และ 02:00 – 06:00 น. มีอิทธิพลของธาตุลม มีอาการวิงเวียน ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย ลมในยามบ่าย ควรรับประทานผักพื้นบ้านรสเผ็ด ร้อน

ผักพื้นบ้าน อาหารต้านโรคร้าย

ไขมันในเลือดสูง ความดันเลือดสูง โรคหัวใจและเบาหวาน เป็นโรคความเสื่อมของร่างกายกลุ่มหนึ่งที่คุกคามสุขภาพของคนไทย และนับวันจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น อันมีที่มาจากสารเสียที่เรียกว่า “ อนุมูลอิสระ” ที่เกิดจากการเผาไหม้หรือกระบวนการออกซิเดชั่น ร่างกายรับเข้าไปหลายทาง เช่น ควันพิษจากบุหรี่ ควันจากรถยนต์ จากโรงงาน สารเคมีในอาหารประเภทปิ้ง ย่าง ทอด รวมถึงความเครียด เป็นต้น

ผักพื้นบ้านมีคุณสมบัติหลายประการที่เหมาะทั้งการป้องกัน และช่วยรักษาโรคความเสื่อมของร่างกายทั้งกลุ่มได้ เพราะมีคุณสมบัติที่โดดเด่นดังนี้

อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ สีที่เขียวและรสที่ฝาดของผักพื้นบ้านจะมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก มีทั้งวิตามินเอ เบต้า-แคโรทีนและวิตามินซี

ผักที่มีเบต้า-แคโรทีนสูง เช่น ยอดแค ใบกะเพราะ ใบขี้เหล็ก ผักเซียงดา ผักติ้ว ผักกระเฉด แครอท

ผักที่มีวิตามินเอสูง เช่น ใบยอ ใบย่านาง ใบชะพลู ยอดและใบตำลึง ผักกูด ผักแพว ผักชีลาว ผักแว่น ใบบัวบก ใบเหมียง ใบกระเจี๊ยบ

ผักที่มีวิตามินซีสูง เช่น ดอกขี้เหล็ก ใบเหมียง ผักหวาน ผักเซียงดา ใบยอ ผักแพว ผักไผ่ ผักชีลาว ผักติ้ว

สารผักและสารสมุนไพร วงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการค้นพบสารกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า “ สารผัก” (phytonutrient) เป็นสารที่ไม่ได้ทำหน้าที่แบบอาหาร 5 หมู่ แต่เข้าไปทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นสารกระตุ้นภูมิต้านทาน เป็นสารป้องกันไม่ให้เซลล์กลายพันธุ์เป็นมะเร็ง สารต่างๆ เหล่านี้มีนับพันๆ ชนิด เช่น คาโรทีนนอยด์ ฟลาโวนอยด์ โปรแวนไทรไซยานิดิน คาเตซินเทอร์ปีน เป็นต้น

เหล่านี้คือสารผักที่มีอยู่ในฝักพื้นบ้าน ซึ่งถ้ากินในลักษณะของอาหารประจำวัน โดยรวม ๆ แล้วสามารถควบคุมโรคกลุ่มนี้ เช่น

กินมะเขือพวง มะระขี้นก สะเดา ลูกฉิ่ง กินกับน้ำพริกวันละประมาณ 200 กรัม ช่วยควบคุมไขมันในเลือด

กินกระเทียม วันละ 10-15 กลีบ โดยกินสดกับยำ แกล้มกับน้ำพริก ช่วยควบคุมไขมันในเลือดชนิดไตกลีเซอไรด์สูง จะคุมได้ง่ายกว่า

ยอดสะเดา จิ้มน้ำพริกเป็นประจำคุมเบาหวาน

กินกระชาย ยอดกระเจี๊ยบ ตะไคร้ พลูคาว เป็นประจำ ช่วยขับปัสสาวะ ลดความดัน

กินผักพื้นบ้านเป็นยารักษาโรค โดยกินเป็นประจำ ในปริมาณที่แน่นอน เช่น กินมะระขี้นกทุกเช้า โดยเอามะระขี้นกสดแช่ให้เย็นจัดๆ มาคั้นน้ำดื่มวันและ 2-3 ลูก (เอาเม็ดออก) บีบมะนาวเล็กน้อย ช่วยคุมน้ำตาลในเลือด มะระจีนก็ทำได้เช่นเดียวกันแต่ต้องได้ปริมาณน้ำมะระ 1 แก้ว

ใบบัวบกสดๆ คั้นน้ำวันละ 1 กำมือ กินทุกวัน ลดความดันในเลือดโดยอาจผสมคื่นฉ่ายด้วยก็ได้

แตงกวา คั้นเอาแต่น้ำ (ถ้ามีโรคเก๊าต์ด้วยเอาเม็ดออกก่อน) ดื่มวันละแก้วช่วยคุมน้ำตาลในเลือด

กระเทียม ชนิดสีชมพู ใช้ 30 – 40 กรัม (หัว) โขลกผสมน้ำผึ้ง 3 ช้อนโต๊ะ กินครั้งละ 1 ช้อนชา หลังอาหรวันละ 2 ครั้งเช้าเย็น ช่วยรักษาความดันเลือดสูง มะขามป้อม ใช้ผลไม่จำกัดจำนวน สกัดเป็นเป็นน้ำมะขามป้อมสด ลดโคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และ LDL โคเลสเตอรอล

แหล่งของสารเส้นใย เส้นใยมีบทบาททำให้อิ่มง่าย ด้วยคามอิ่มที่เท่ากัน ถ้ากินเส้นใยมาก แคลอรี่ที่รับเข้าร่างกายจะน้อยกว่า จึงป้องกันและรักษาเบาหวานได้ เส้นใยยังช่วยดูดซับไขมันส่วนเกิน จึงช่วยป้องกันรักษาเบาหวาน ไขมันสูง ทั้งช่วยป้องกันรักษาเบาหวาน ไขมันสูง ทั้งช่วยรักษาความดันเลือดสูงและโรคหัวใจ

ผักพื้นบ้านที่มีเส้นใยมาก ได้แก่ มะเขือพวง มะระขี้นก สะเดา ยอดมะกอก พริกขี้หนู ใบเหมียง ใบขี้เหล็ก ลูกฉิ่ง ดอกแค ใบชะพลู ขนุนอ่อน ใบบัวบก หน่อไม้ ยอดแค กุ่ม กระเทียม ใบกะเพรา ใบยอ ชะอม ใบโหระพา ใบแมงลัก ผักบุ้งไทย ผักกระเฉด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคไขมันเลือดสูง ความดันเลือดสูง โรคหัวใจ เบาหวาน ต้องการการรักษาด้วยการแพทย์แบบองค์รวม ซึ่งประกอบด้วยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การฝึกจิต จึงจะได้ผลดี แต่ผักพื้นบ้านถือเป็นหัวใจของอาหารพื้นถิ่นของไทยที่จะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทยให้มีสุขภาพดีขึ้นมาได้อย่างทั่วด้าน

ตารางสารผักพื้นบ้านที่รักษาโรคไขมันเลือดสูง ความดันเลือดสูง โรคหัวใจ และเบาหวาน

 

สารผัก,สารสมุนไพร

ผักพื้นบ้าน

รักษาโรค

 

Proanthrocyanidin (OPC) สารต้านอนุมูลอิสระตัวเก่ง (Super antioxidant)

มะขามป้อม สมอไทย สมอพิเภก เม็ดมะขาม เม็ดลำใย เม็ดทุเรียน ผักรสฝาด เช่น มะกอก ผักติ้ว ลูกฉิ่ง

ความดันสูง โรคหัวใจ ไขมันเลือดสูง

 

Bioflavonoid, Quercetin สารต้านอนุมูลอิสระคู่กับวิตามินซี

ผักใบสีเขียวเข้ม แดงเข้มทุกชนิด เช่น ขี้เหล็ก ใบเหมียง ผักหวาน ผักเซียงดา ใบยอ ผักแพว ผักไผ่ ผักชีลาว

ไขมันเลือดสูง ความดันเลือดสูง โรคหัวใจ

 

Allicin

กระเทียม

ลดไขมันในเลือด

 

Fumeric, Curcumin ต้านอนุมูลอิสระ

ขมิ้น

ป้องกันความเสื่อมของหลอดเลือด

 

Asiatic acid, Madecassic acid

ใบบัวบก

ลดความดัน

 

สารที่ได้จากการสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากเถา ผลดิบ ใบ

ตำลึง

ลดน้ำตาลในเลือด

 

สารคล้ายอินซูลิน

แตงกวา

ลดน้ำตาลในเลือด

 

สารขับปัสสาวะ

กระชาย, ยอดกระเจี๊ยบ, ตะไคร้, พลูคาว

ลดความดันเลือด

 

-

มะเขือ

ลดความดันเลือด

 

-

มะเขือทอง

ลดความดันเลือด

 

-

มะระขี้นก มะระจีน ยอดสะเดา

ลดน้ำตาลในเลือด

 

 

ผักพื้นบ้านต้านโรคมะเร็ง

องค์การอนามัยโลกและสถาบันทางวิทยาศาสตร์สุขภาพทั่วไปสรุปว่า ร้อยละ 60 ของความเสี่ยงโรคมะเร็งเกิดจาก “ อาหาร” หากได้ศึกษาหาความรู้ตรงนี้สักนิด ปรับพฤติกรรมการบริโภคสักหน่อยโรคร้ายภัยมะเร็งคงจะห่างไกลเราได้

อาหารต้านมะเร็ง

อาหารจากพืช ได้แก่ พืช ผัก ผลไม้ ธัญพืช เครื่องเทศ เห็ด ชา เป็นแหล่งให้สารอาหารต้านมะเร็งที่สำคัญ สารเหล่านั้น ได้แก่

ใยอาหาร มีบทบาทสำคัญในการจับสารก่อมะเร็งตกค้างในร่างกาย ทำให้ความเป็นพิษมีความเจือจางลงและพาออกจากร่างกายได้ง่าย เมื่อร่างกายไม่ต้องสัมผัสกับสารก่อมะเร็งเป็นเวลานาน ย่อมลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิดไปโดยปริยาย

วิตามินเอ ซี อี และเบต้า-แคโรทีน หน้าที่ต้านมะเร็งที่สำคัญ คือ เป็นสารแอนตี้ออกซิแดนท์จับกับตัวก่อโรคคืออนุมูลอิสระที่ก่อเหตุทำลายเซลล์เหนี่ยวนำให้เกิดโรคภัยต่างๆ รวมทั้งมะเร็ง

แร่ธาตุสำคัญ ลดความเสี่ยงมะเร็ง ได้แก่ เซเลเนียมลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งปอด กระเพาะอาหาร ตับ ไธรอยด์

สารสำคัญต้านมะเร็งอื่นในพืช ได้แก่ สารกลุ่มอัลเลี่ยมในหอม กระเทียม ลดความเสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหาร สารไอโซฟลาโวนกับมะเร็งเต้านม สารลีฟีนอลกับมะเร็งปอด และมะเร็งหลอดอาหาร สารกลูโคซิโนเลทและอินโดล ลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก ไธรอยด์ เต้านมและมะเร็งอื่นๆ หลายชนิด เป็นต้น

อาหารจากพืชลดความเสี่ยงมะเร็งชนิดต่างๆ

ผัก ผลไม้ มีใยอาหารมาก วิตามินหลายชนิด แร่ธาตุและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เช่น แคโรทีนอยด์ ลดความเสี่ยงมะเร็งในช่องปาก กล่องเสียง หลอดอาหาร ปอด กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก ตับอ่อน เต้านม กระเพาะปัสสาวะ อาจลดความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก รังไข่ โพรงมดลูก ไธรอยด์ ตับ ต่อมลูกหมากโตได้ด้วย

เมล็ดธัญพืช ได้แก่ เมล็ดข้าวสาลี ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต ข้าวไรย์ ประกอบด้วยแป้ง 70 % ใยอาหาร โปรตีน วิตามินบี อี ธาตุเหล็กและสารอาหารอื่นที่สำคัญทางชีวภาพ ธัญพืชที่ไม่ขัดสีลดความเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะอาหาร และลำไส้ใหญ่ได้

เครื่องเทศ เครื่องเทศมีสารสำคัญ คือ แคโรทีนอยด์ วิตามินซี และสารสำคัญต้านมะเร็งหลายชนิด

กระเทียม อาจลดความเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะอาหาร

ขมิ้น มีสารเคอคิวมินเป็นสารสำคัญต้านมะเร็ง พบว่าต้านการกลายพันธุ์ ต้านการเกิดมะเร็งและต้านการทำลาย DNA ได้

ขิง พบว่าน้ำมันขิงมีคุณสมบัติต้านมะเร็ง ลดการจัดทำลาย DNA ของสารก่อมะเร็ง

พริกไทย ใช้ทั้งในรูปเขียว ดำ และขาว ในการปรุงแต่งอาหาร การวิจัยพบว่าต้านมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้

พริก มีสารสำคัญ คือ แคบไซซิน เป็นเครื่องเทศที่ต้องระมัดระวังการใช้ เพราะการวิจัยมีทั้งก่อมะเร็งและต้านมะเร็ง การใช้ปริมาณพอเหมาะไม่เผ็ดเกิน น่าจะเป็นข้อชี้แนะได้

เห็ด ไม่ใช่พืชแต่เป็นรา มนุษย์บริโภคเป็นอาหารคล้ายผักและใช้เป็นยามานานนับพันปี โดยเฉพาะประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน เห็ดที่บริโภคเป็นอาหาร เช่น เห็ดหอม มีสารเลนติแนนที่เชื่อว่าเป็นสารต้านมะเร็งและเห็ดหลินจือที่บริโภคเป็นยาอยู่ในคัมภีร์จีน ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ มีสารสำคัญ เบต้ากลูแคน ซึ่งมีคุณสมบัติต้านมะเร็ง เห็ดหลินจือและเห็ดหอมสามารถเพาะพันธุ์ได้ในประเทศไทย

ผักพื้นบ้านต้านโรคมะเร็ง

เมื่อ “ ผัก” ได้รับการยกย่องและรับรองในความมหัศจรรย์ว่าเป็นปัจจัยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง จึงไม่น่าจะผิดกติกาแต่อย่างไรหากเราจะเชิดชู “ ผักพื้นบ้าน” ว่าเป็นอาหารต้านมะเร็ง ด้วยคุณสมบัติที่ตรงตามตำราอาหารต้านมะเร็งทุกประการคือ

    • มีใยอาหาร เช่น ขนุนอ่อน ผักบุ้ง พริกขี้หนู พลูคาว ข้าวกล้อง

    • มีวิตามินเอ ซี อี เช่น ลูกเหรียง ดอกโสน ใบย่านาง มะละกอ มะรุม

    • มีเบต้า-แคโรทีน เช่น ยอดสะเดา มะม่วง ฟักทอง ผักแต้ว มะเขือเทศ

    • มีแร่ธาตุเซเลเนียม แคลเซียม เช่น กระเทียม มะเขือพวง ผักหวานป่า

    • มีสารชีวภาพต้านมะเร็ง เช่น มะนาว หอมแดง ถั่วเหลือง ชะเอม กะเพรา โหระพา

    • มีไขมันน้อยหรือไม่มีเลย ได้แก่ ผักพื้นบ้านทุกชนิด

ตำรับอาหารที่มีผักพื้นบ้านเป็นองค์ประกอบมีคุณค่าต้านโรคมะเร็งได้แน่ แต่ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการล้างทำความสะอาดให้ปราศจากสิ่งสกปรก ฝุ่น ดิน และสารกำจัดวัชพืช แต่โดยทั่วไปถ้าเป็นผักพื้นบ้านแท้ๆ ผู้ปลูกมักไม่ค่อยใช้สารกำจัดวัชพืช ป้องกันไว้ก่อนด้วยการล้างน้ำมากๆ การปรุงอาหารด้วยความร้อนทำให้วิตามินบางชนิดสูญหายไป ข้อแนะนำคือ ผ่านการหุงต้มในระยะเวลาอันสั้นหรือเสริมคุณค่าวิตามินให้ครบด้วยการดื่มน้ำผลไม้สด ทานผักสด ผลไม้สดด้วย

 

ภาค

รายการอาหาร

ตัวอย่างผักพื้นบ้านที่ใช้

สารอาหารต้านมะเร็ง

ภาคเหนือ

แกงแคไก่

 

น้ำพริกอ่อง

ชะอม ตำลึง มะเขือเปราะ กระเทียม

มะเขือพวง ใบชะพลู ผักเผ็ด มะเขือเทศ มะระขี้นก พริก ผักขี้หูด ใบบัวบก

ใยอาหาร

 

วิตามินเอ ซี อี เบต้าแคโรทีน เซเลเนียม แคลเซียม สารชีวภาพ ต้านมะเร็ง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ส้มตำ

 

แกงหน่อไม้ใบย่านาง

มะละกอ มะนาว มะเขือเทศ พริก กระเทียม

ผักบุ้ง กะหล่ำปลี หน่อไม้ ใบย่านาง ชะอม ตะไคร้ แมงลัก ฟักทอง กระชาย

ใยอาหาร

 

วิตามินเอ ซี อี เบต้าแคโรทีน เซเลเนียม แคลเซียม สารชีวภาพ ต้านมะเร็ง

ภาคกลาง

ยำถั่วพู

 

น้ำพริกลงเรือ

ถั่วพู หอม กระเทียม มะนาว พริก มะดัน

มะอึก มะเขือเปราะ ถั่วพู ยอดกระถิน กะหล่ำปลี ขมิ้นขาว ดอกแค ดอกโสน

ใยอาหาร

 

วิตามินเอ ซี อี เบต้าแคโรทีน เซเลเนียม แคลเซียม สารชีวภาพ ต้านมะเร็ง

ภาคตะวันออก

แกงป่า

 

ผักกระวาน

พริกไทยอ่อน ใบมะกรูด หอม กระเทียม

พริก ขิง กะเพรา ข่า ตะไคร้ หัว กระวาน ลูกผักชี ยี่หร่า มะเขือพวง

ใยอาหาร

 

วิตามินเอ ซี อี เบต้าแคโรทีน เซเลเนียม แคลเซียม สารชีวภาพ ต้านมะเร็ง

ภาคใต้

ขนมจีนน้ำยาปักษ์ใต้

ข้าวยำ

ใบขมิ้น ใบมะกรูด กระถิน บัวบก ใบพาโหม ถั่วงอก ตะไคร้ หอมแดง มะนาว ถั่วพู สะตอ ลูกเหรียง ยอดมะกอก ยอดเลียบ ยอดชะมวง ขมิ้น

ใยอาหาร

วิตามินเอ ซี อี เบต้าแคโรทีน เซเลเนียม แคลเซียม สารชีวภาพ ต้านมะเร็ง

ผักพื้นบ้านไทยสี่ภาค

ผักพื้นบ้านสี่ภาค นอกจากจะมีคุณค่าทางโภชนาการสูงแล้ว ส่วนใหญ่ยังมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร เนื่องจากมีรสยาประกอบอยู่ด้วย และการแพทย์แผนไทยให้ความสำคัญกับรสอาหารผักพื้นบ้าน 4 ภาค สามารถจำแนกรสสมุนไพรได้ดังนี้

การจำแนกรสสมุนไพรของผักพื้นบ้านสี่ภาค

สมุนไพรคือ ทรัพยากรธรรมชาติที่ได้จากส่วนของพืช สัตว์ หรือแร่ธาตุ ซึ่งยังมิได้แปรสภาพ หรือผสมปรุง ผักพื้นบ้านจึงถือว่าเป็นสมุนไพรก็ว่าได้ เพราะส่วนใหญ่มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร มีรสยาประกอบด้วย และการแพทย์แผนไทยให้ความสำคัญกับรสอาหารผักพื้นบ้านสี่ภาค สามารถจำแนกรสสมุนไพรได้ดังนี้

รสฝาด มีสรรพคุณแก้ในการสมานแผล แก้ท้องร่วง บิด บำรุงธาตุ หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้มีอาการฝืดคอ ท้องอืด ท้องผูก ผักพื้นบ้านที่มีรสฝาด เช่น ยอดจิก ยอดมะม่วงหิมพานต์ ผลมะตูมอ่อน มะเดื่ออุทุมพร ยอดฝรั่ง ยอดเสม็ด เนียงอ่อน ผักกระโดน ยอดฝรั่ง กล้วยดิบ ฯลฯ เป็นต้น

รสหวาน มีสรรพคุณ ซึมซาบไปตามเนื้อ ทำให้ชุ่มชื้น บำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย ถ้ารับประทานมากเกินไปจะแสลงกับโรคเบาหวาน เสมหะเฟื่อง แสลงบาดแผล ทำให้แผลชื้น ทำให้ธาตุลมกำเริบ ง่วงนอน เกียจคร้าน ผักพื้นบ้านที่มีรสหวาน เช่น เห็ด บุก ผักหวานป่า หน่อไม้ ผลฟักข้าว ดอกลีลาว เต่ารั้ง ผักขี้หูด ยอดพร้าว ยอดเต่าร้าง ผักเหมียง ผักหวานบ้าน กะหล่ำปลี ผักพาย ผักปลัง บวบ แตง แค ย่านาง เป็นต้น

รสขม มีสรรพคุณช่วยแก้โลหิตเป็นพิษ ดีพิการ เพ้อคลั่ง หากรับประทานมากไปทำให้กำลังตก อ่อนเพลีย ผักพื้นบ้านที่มีรสขม เช่น มะแว้งเครือ มะเขือขื่น ฝักเพกา กุ่ม สะเดา มะระขี้นก ยอดหวาย ยอดกะพ้อ ดอกขี้เหล็ก ผักเพลี้ยฟาน ยอดมะเฟือง ผักแปม ยอดทับทิม ยอดฟักข้าว ผักฮ้วนหมู ผักโยม ยักคะนองม้า ใบยอและลูกยอ

รสเมาเบื่อ มีสรรพคุณช่วยแก้พิษ ฆ่าพยาธิผิวหนัง

รสเผ็ดร้อน มีสรรพคุณแก้โรคกองลม ลมจุกเสียด ปวดท้อง ลมแน่น ลมป่วง ขับผายลม บำรุงธาตุ หากรับประทานมากเกินไป ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียและเผ็ดร้อน ผักพื้นบ้านที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น พริก พริกไทย ดีปลี โหระพา ยี่หร่า กระเพรา สะระแหน่ ใบแมงลัก กระเทียม ดอกกระทือ ดอกกระเจียวแดง ผักหูเสือ ผักคราดหัวแหวน ใบชะพลู ขิง ข่า ขมิ้น กระพังโหม ผักแพว ผักแขยง เอื้อง ใบจันทน์ พลูคาว ผักชีฝรั่ง ผักไผ่ เป็นต้น

รสเค็ม มีสรรพคุณช่วยซึมซาบไปตามผิวหนัง ประดง ชา คัน หากรับประทานมากไปทำให้มีอาการกระหายน้ำ ร้อนใน ผักพื้นบ้านที่มีรสเค็ม เช่น ผักชะคราม ขลู่ (อมเปรี้ยว)

รสหอมเย็นบางครั้งเรียกรสสุขุม มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ทำให้ใจคอสดชื่น บำรุงครรภ์ รักษาแก้เสมหะโลหิต แก้อ่อนเพลีย เช่น เตยหอม บัว ผักบุ้งไทย สันตะวา โสน ดอกขจร เป็นต้น

รสเปรี้ยว มีสรรพคุณแก้เสมหะพิการ กัดฟอกเสมหะ กระตุ้นน้ำลาย เจริญอาหาร ฟอกโลหิต ระบาย หากรับประทานมากไปทำให้ท้องอืด แสลงแผล ร้อนใน ผักพื้นบ้านที่มีรสเปรี้ยว เช่น ยอดมะขามอ่อน มะนาว มะเฟือง ยอดชะมวง มะดัน มะอึก ส้มกบ ส้มมุด (ดิบ) ส้มกุ้ง ส้มลม ยอดแต้ว ออบแอบ ส้มเสี้ยว ยอดมะกอก ผักเสี้ยนดอง ผักหนามดอง ยอดส้มป่อย มะเขือส้ม มะขามอ่อน มะกรูด มะเฟือง ยอดกระเจี๊ยบแดง ผักเฮือด ลูกมะยม เป็นต้น

รสมัน มีสรรพคุณแก้เส้นเอ็นพิการ ปวดเสียว ขัดยอก กระตุก บำรุงไขข้อ บำรุงเอ็น เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงเยื่อกระดูก ผักพื้นบ้านที่มีรสมัน เช่น สะตอ เนียง หมุย ทัมมัง กระพังโหม ผักกาดนกเขา บัวบก อมร เหรียง ขนุนอ่อน ถั่วพู ฟักทอง กระถิน มัน ยอดผักติ้ว ชะอม หัวปลี ผักผำ มัน กลอย ผักลืมชู้ จิก มันปู รากบัวหลวง ถั่วพื้นเมือง ผักกะเฉด เป็นต้น

ผักพื้นบ้านภาคกลาง

ในการปรุงอาหารของภาคกลาง นิยมใช้เครื่องเทศ หรือสมุนไพรมาปรุงแต่งกลิ่นรสของอาหาร มีการใช้เครื่องเทศ หรือสมุนไพรบางอย่างมาเป็นตัวช่วยในการประกอบอาหาร เช่น อาหารที่มีรสเผ็ดจัด มักจะใช้เครื่องเทศ หรือสมุนไพรบางอย่างช่วยไม่ให้เกิดท้องเสีย หรือโรคกระเพาะ เครื่องเทศหรือสมุนไพรที่ใช้ได้แก่ พริกแห้ง หัวหอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ กระชาย ใบมะกรูด ผิวมะกรูด เม็ดผักชี ยี่หร่า ใบโหระพา ใบกะเพรา ใบแมงลัก พริกไทย ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ ลูกกระวาน กานพลู อบเชย ใบกระวาน ผงกะหรี่ และขมิ้น เป็นต้น

ส่วนผักพื้นบ้านภาคกลางที่นิยมใช้ปรุงอาหาร เช่น ใบยอ ตำลึง ดอกแค ช้าพลู แตงกวา มะเขือพวง แมงลัก พริกไทย บวบ ถั่วพู สะเดา กระเทียม มะขาม เป็นต้น ตัวอย่างผักพื้นบ้านภาคกลาง ได้แก่

กระถิน รับประทานยอดและใบอ่อนจิ้มน้ำพริก หรือกินร่วมกับส้มตำ สรรพคุณแก้ท้องร่วง สมานแผล ห้ามเลือด ฝักและเปลือกเป็นยาฝาดสมาน เมล็ดเป็นยาถ่ายพยาธิ

กระเจี๊ยบแดง รับประทานลูกอ่อน ยอดอ่อน กลีบรองดอก กลีบเลี้ยง สรรพคุณใบ รสเปรี้ยว แก้ไอ กัดเสมหะ กลีบรองดอกและกลีบเลี้ยง รสเปรี้ยว นำมาต้มทำน้ำกระเจี๊ยบ ดื่มแก้ร้อนใน กระหายน้ำ

กุ่มบก รับประทานยอดอ่อน ใบอ่อน ใบสดตำทารักษากลากเกลื้อน โรคผิวหนัง เปลือกต้นต้มกินแก้ลม แก้ปวดท้อง ดอกเป็นยาเจริญอาหาร แก้ไข้ เจ็บคอ

กุ่มน้ำ ใบ มีรสขม แก้ไข้ตัวร้อน ขับเหงื่อ เจริญอาหาร เปลือกต้น ต้มดื่มขับลม ระงับพิษทางผิวหนัง

ขจร รับประทานยอดอ่อน ดอกทั้งตูมและบาน ลูกอ่อน สรรพคุณ ราก ผสมยาหยอดรักษาตา มีสรรพคุณทำให้อาเจียน ถอนพิษเบื่อเมา ดับพิษ

ขี้เหล็ก ยอดอ่อนและดอกอ่อนนำมาแกง สรรพคุณ ใบแก้ระดูขาว แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ ดอกช่วยระบาย คลายเครียด ช่วยให้นอนหลับ แก้หืด แก้รังแค

แค นำยอดอ่อน ใบอ่อน ฝักอ่อนและดอกลวกจิ้มน้ำพริก แกงส้ม สรรพคุณ ยอดและใบอ่อน ดอก ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้ไข้หัวลม

ชะอม ยอดและใบอ่อน ลวกจิ้มน้ำพริก สรรพคุณ ราก แก้ท้องเฟ้อ ขับลม ยอดและใบอ่อน ช่วยลดความร้อนในร่างกาย

ตำลึง ยอด ใบ และผลอ่อน นำมาลวกจิ้มน้ำพริก หรือแกงจืด สรรพคุณ ใบ รสเย็น ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้แสบคัน แก้โรคตา ทั้งต้นแก้โรคผิวหนัง ลดน้ำตาลในเลือด

บัวบก ใบและเถา แกล้มกับอาหารหลายอย่าง สรรพคุณ ใบแก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า บำรุงหัวใจ ขับปัสสาวะ รักษาแผล ทำเครื่องดื่มแก้ช้ำใน ลดการกระหายน้ำ

บัวสาย ใช้ก้านดอกมาผัด แกง หรือกินสด สรรพคุณ รสจืด ช่วยบรรเทาความร้อนในร่างกาย

ผักกะเฉด รับประทานยอดและลำต้นอ่อน สรรพคุณรสมันเย็น ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ถอนพิษยาเบื่อเมา

ผักขม ยอดและใบอ่อนนำมาลวกจิ้มหรือแกง ใบสดรักษาแผลพุพอง รากช่วยดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ขับปัสสาวะ แก้คัน แก้เสมหะ

ผักบุ้งไทย กินเป็นผักสดหรือลวกจิ้มน้ำพริก กินกับอาหารอื่น สรรพคุณรสจืด ช่วยขับพิษ ถอนพิษเบื่อเมา

ผักปลัง ยอด ใบและดอกอ่อน ลวกจิ้มน้ำพริก แกงส้ม แกงแค สรรพคุณ ก้านแก้พิษฝี แก้ขัดเบา แก้ท้องผูก ใบ ขับปัสสาวะ ลดไข้

ผักแว่น กินเป็นผักสดกับน้ำพริก ส้มตำ ลาบ สรรพคุณมีรสมันจืด ช่วยบรรเทาความร้อนในร่างกาย

ฟักข้าว ลวกหรือต้มให้สุกจิ้มน้ำพริก หรือแกง สรรพคุณ รากรสเย็นและรสเบื่อเล็กน้อย ใช้ถอนพิษ ดับพิษไข้ทั้งปวง

มะเขือพวง ใช้กินสดหรือต้มจิ้มน้ำพริก ใส่แกง ผล แก้ไอ ขับเสมหะ

มะระขี้นก ยอดและใบอ่อนจิ้มน้ำพริก ผลผัดกับไข่ สรรพคุณ ช่วยเจริญอาหาร ระบายท้อง แก้โรคลมเข้าข้อ หัวเข่าบวม บำรุงน้ำดี แก้โรคตับ ม้าม ขับพยาธิในท้อง น้ำคั้นผลมะระช่วยแก้ปากเปื่อย ปากเป็นขุย ช่วยลดน้ำตาลในเลือ

คำสำคัญ (Tags): #ผักพื้นบ้าน
หมายเลขบันทึก: 121927เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2007 10:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท