มาตราที่น่าสนใจในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


นักศึกษากฎหมายสาขาระหว่างประเทศควรศึกษาสาระและหลักการของร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับสนธิสัญญาหรือหลักการสำคัญต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา
       จากการศึกษาสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฉบับรับฟังความคิดเห็น ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (26 เมษายน 2550) ในเรื่องของการเพิ่มประเภทสิทธิและเสรีภาพให้มากขึ้นกว่าเดิม มากกว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีมาตราที่น่าสนใจคือ

       1. มาตรา 4 ฉบับใหม่ กำหนดว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาพของบุคคล ทั้งที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญนี้ ตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ย่อมได้รับการคุ้มครอง" 

           มาตรา 4 ฉบับเดิม กำหนดว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง"

           เหตุผลของร่าง รธน. ฉบับใหม่ คือ เพิ่มความคุ้มครองให้ชัดเจนขึ้นว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพของบุคคลได้รับความคุ้มครองทั้งตามรัฐธรรมนูญนี้ ประเพณีการปกครองของประเทศและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศมีอยู่ โดยคุ้มครองรวมไปถึงความเสมอภาคของบุคคลด้วย ซึ่งเป็นข้อความเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549

       2. มาตรา 54 ฉบับใหม่ กำหนดว่า "บุคคลที่ไร้ที่อยู่อาศัยและไม่มีรายได้เพียงพอย่อมมีสิทธิได้รับคามช่วยเหลือจากรัฐ"

           รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ไม่มีกำหนดไว้

           เหตุผลของร่าง รธน.ฉบับใหม่ คือ เพิ่มสิทธิของบุคคลในการได้รับความคุ้มครองการไม่มีที่อยู่อาศัย โดยรัฐจะต้องช่วยเหลือดูแลให้สามารถมีที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ

       3. มาตรา 186 ฉบับใหม่ กำหนดว่า "พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำสนธิสัญญาสันติภาพ สนธิสัญญาสงบศึก และสนธิสัญญาอื่น กับนานาประเทศ หรือ องค์การระหว่างประเทศ

            สนธิสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย มีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามสนธิสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ จะต้องออกพระราชบัญญํติเพื่อให้การเป็นไปตามสนธิสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างร้ายแรงต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

            ก่อนการดำเนินการเพื่อทำสนธิสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับสนธิสัญญานั้น

            เมื่อลงนามในสนธิสัญญาใดแล้ว คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของสนธิสัญญานั้น และในกรณีที่การปฏิบัติตามสนธิสัญญาก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม"

            ฉบับเดิม มาตรา 224 วรรคสอง กำหนดว่า "หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญาต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา"

            เหตุผล คือ เพิ่มความในวรรคสามและวรรคสี่ โดยกำหนดขึ้นเพื่อให้รัฐต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชนในเรื่องเกี่ยวกับสนธิสัญญาและจัดให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นในสนธิสัญญาที่รัฐจะเข้าทำกับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งรัฐต้องชี้แจงต่อรัฐสภาให้ทราบด้วยเพื่อที่รัฐจะได้นำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจก่อนเข้าทำสนธิสัญญา ตลอดจนต้องจัดให้ประชาชนเข้าตรวจสอบและขอดูรายละเอียดของสนธิสัญญาได้และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามสนธิสัญญาอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรมด้วย เพื่อเป็นหลักประกันมิให้รัฐทำสนธิสัญญาที่มีผลกระทบต่อประเทศหรือทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

       4. มาตรา 248(1)(2) ฉบับใหม่ ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฟ้องศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองได้ ในกรณีที่กฎหมาย กฎ คำสั่ง หรือการกระทำใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้เสียหายแทนประชาชนเพื่อฟ้องศาลได้ในกรณ๊ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน

       จะเห็นได้ว่า มาตราที่กล่าวมาข้างต้นจะขยายความหมายให้ครอบคลุมและมีความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเรามีความเกี่ยวพันกับต่างประเทศมากขึ้น จึงต้องพัฒนากฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติต่างๆ ให้ทันยุค ทันสมัย และไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติ เพื่อให้ก้าวทันกับเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

       สำหรับหลักการของร่าง รธน.ฉบับใหม่ มาตรา 186 ผู้เขียนเคยไปประชุมมาบ้าง ลองมาดูความเป็นมาของการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในมาตราดังกล่าว

http://gotoknow.org/blog/pimpasai/87441

หมายเลขบันทึก: 118339เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2007 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท