พรานเห็ด


เห็ดโคน

พรานเห็ด

วิโรจน์ แก้วเรือง

ดนัย นาคประเสริฐ

           เห็ดโคน (Termitomyces spp.) มีหลายชนิดลักษณะอาจแตกต่างกันบ้าง เช่น บางชนิด มีก้านดอกตรง บางชนิดมีก้านดอกเป็นกระเปาะ เห็ดโคนชื่อนี้สันนิษฐานว่าเห็ดโคนเป็นเห็ดที่เกิดอยู่ใน   รังปลวกใต้ผิวดิน เส้นใยเห็ดซึ่งเป็นเชื้อราจะรวมตัวกันเหมือนรากต้นไม้ หรือรากค้ำยันของโกงกาง ขนาดเท่าก้านไม้ขีดก่อนที่จะเกิดเป็นก้านดอกเห็ดที่มีขนาดใหญ่เหมือนโคนต้นไม้ บางครั้งชาวบ้านเรียกเห็ดชนิดนี้ว่า เห็ดปลวก เพราะเห็ดชนิดนี้ต้องพึ่งพาอาศัยปลวกในการอยู่ หรือสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในรังปลวก ส่วนเส้นใยเห็ดซึ่งเชื้อราจะย่อยเศษซากพืชให้ปลวก โดยปลวกจะสร้างเป็นรังปลวกหรือสวนเห็ดหรือจาวปลวก โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งโพรงที่อยู่ใต้ดินจะสังเกตเห็นจาวปลวกที่รากของเห็ดโคน เนื่องจากเห็ดโคนเป็นเห็ดที่มีรสชาติอร่อย เนื้อแน่น มีกลิ่นหอม อีกทั้งยังไม่สามารถนำมาเพาะเป็นการค้าได้ ต้องอาศัยเก็บจากธรรมชาติ จึงทำให้ผู้บริโภคที่ติดใจรสชาติของเห็ดชนิดนี้ยอมควักกระเป๋าซื้อเห็ดโคน แม้ในบางปีจะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 200 บาท  แพงกว่าเนื้อหมู และเนื้อวัวเสียอีก           

     เห็ดโคนจะขึ้นเป็นฤดูกาล ตามป่าเบญจพรรณทั่วไปของประเทศไทยทั่วทุกภาค  นอกจากนี้ยังพบเห็ดโคนรอบๆหมู่บ้าน ไร่อ้อย ใต้ต้นไม้ใหญ่ และสวนผลไม้ แต่เห็ดโคนที่มีชื่อเสียงเรื่องรสชาติ ต้องเป็นเห็ดโคนของ จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดตาก แต่เท่าที่ผู้เขียนได้มีโอกาสลิ้มรสเห็ดโคนมาตั้งแต่เด็กจากป่าธรรมชาติของหลายๆจังหวัด ก็ยังแยกความแตกต่างในเรื่องรสชาติไม่ได้ชัด เพียงแต่รู้สึกว่ารับประทานเมื่อไรก็อร่อยเมื่อนั้น 

     พรานเห็ด การตามล่าหาความอร่อยจากป่านั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ลองติดตามพรานเห็ดเขาออกตามล่าหาเห็ดโคนกันดีกว่า เรามีพรานเห็ดที่นำคณะผู้เขียนไปลุยป่าอยู่ 2 ท่าน ท่านหนึ่งได้รับการ  ยกย่องเป็นอาจารย์คือ คุณสมเกียรติ เจริญสิงห์ อายุ 44 ปี ชาวอำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชรที่อพยพมาอยู่ที่ตำบลประดาง กิ่งอำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก มากกว่า 20 ปีแล้ว อีกท่านหนึ่งเป็นลูกศิษย์ของคุณสมเกียรติ คือ คุณสาคร มณีรัตน์ อายุ 39 ปี หนุ่มจากอำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล หลังจบปริญญาตรี ด้านเกษตรศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้(มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในปัจจุบัน) ก็มาหางานทำที่จังหวัดตาก ปัจจุบันเป็นนักวิชาการอยู่ที่สถานีทดลองหม่อนไหมตาก กิ่งอำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก สำหรับคุณสมเกียรตินั้นมีประสบการณ์ในการหาเห็ดโคนมาแล้ว 20 ปี(พ.ศ. 2524-ปัจจุบัน) เคยหาเห็ดโคนมาแล้วได้ถึง 30 กิโลกรัมในครั้งเดียว(ตั้งแต่เวลา 01.00-08.00นาฬิกา)

      แต่ละปีเก็บเห็ดโคนได้ไม่ต่ำกว่า 300 กิโลกรัม ถ้าไม่เรียกว่าพรานเห็ดก็คงจะผิดไปแล้ว คราวนี้มาดูประวัติคุณสาคร กันบ้างแม้ว่าจะเป็นลูกศิษย์คุณสมเกียรติ และเริ่มเรียนรู้การหาเห็ดโคนเมื่อปี 2534 นี้ มีประสบการณ์เพียง 10 ปี แต่เป็นผู้ใฝ่รู้ จนมีแผนที่ในการเก็บเห็ดในพื้นที่ทุกตารางนิ้วก็ว่าได้  เคยทำสถิติเก็บเห็ดได้ถึง 40 กิโลกรัม ภายใน 12 ชั่วโมง(ตั้งแต่ 4ทุ่ม-4โมงเช้าของวันใหม่) ลบสถิติของอาจารย์ไปแล้ว แต่เนื่องจากเห็ดโคนออกเป็นฤดูกาลเพียง 2-3 เดือนต่อปี เท่านั้นพรานเห็ดทั้งสองจึงยึดเป็นอาชีพรองหรืองานอดิเรกเท่านั้น ถึงจะเป็นงานอดิเรก แต่ถ้าคิดมูลค่า โดยไม่ต้องลงทุนเป็นเงินตรา จากหยาดเหงื่อและความอุตสาหะ เขาสามารถจะมีรายได้ปีละ 30,000-60,000 บาทขึ้นอยู่กับราคาของเห็ดชนิดนี้ที่ขึ้นลงตามปริมาณของเห็ดในแต่ละช่วงและในแต่ละปี เฉลี่ยแล้วมีราคา 100-200 บาท/กิโลกรัม           

     ลายแทงขุมสมบัติ ป่าเห็ดโคนที่เราไปลุยกันวันนี้ เป็นป่าเห็ดเมืองตาก ที่คุณสมเกียรติ และคุณสาคร เล่าว่ามีอยู่ 4 แหล่งใหญ่ได้แก่ 1.บ้านเด่นไม้ซุง ตำบลยกกระบัตร อำเภอสามเงา 2.บ้านหนองตาเรือ ตำบลวังหิน อำเภอเมือง 3. บ้านโป่งแดง ตำบลวังประจบ อำเภอบ้านตาก และแหล่งสุดท้ายคือ บ้านประแดง กิ่งอำเภอวังเจ้า ซึ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในสถานีทดลองหม่อนไหมตาก และเป็นแหล่งเห็ดที่มีรสชาติที่ดีที่สุดของจังหวัดตาก ชาวบ้านเรียกป่าแห่งนี้ เขาไม้แก้ว ที่วันนี้เราจะออกล่าหาเห็ดโคนด้วยกัน เขาไม้แก้วเป็นป่าเบญจพรรณ มีพื้นที่ประมาณ 800ไร่ เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของคนจนหรือแหล่งอาหารของชาวบ้าน วังเจ้า สบยม ประดาง ทุ่งกง รวมทั้งชาวบ้านเขตจังหวัดกำแพงเพชร ก็เคยเหมารถยนต์มาหาเห็ดกันที่นี่บ่อยๆ เห็ดโคนจะขึ้นซ้ำที่ในพื้นที่เดิมเป็นส่วนใหญ่ จากประสบการณ์พรานเห็ดทั้งสองจึงมีแผนที่หรือลายแทงแสดงจุดที่เห็ดขึ้นเป็นประจำเรียกว่าหมู่แต่ละหมู่จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น หมู่อีแตน เป็นต้น แต่ละชื่อก็จะมีที่มาเช่น หมู่อีแตน หมู่อีเตือน เป็นต้น แต่ละชื่อก็มีที่มา เช่น หมู่อีแตน ชื่อนี้เกิดจากจุดนี้แตนมาทำรัง และต่อยคนหาเห็ดประจำ หมู่อีเตือน ชื่อนี้มาจากสาเหตุที่ว่า ถ้าเห็ดทุกหมู่จะออกตามมาทั้งหมด ภายใน 1 สัปดาห์ แต่ลายแทงของพรานเห็ดจะถูกเก็บเป็นความลับ จะถ่ายทอดให้คนใกล้ชิดเท่านั้น มิฉะนั้นแหล่งอาหารของตน อาจกลายเป็นแหล่งอาหารของคนอื่น เนื่องจากมีผู้ออกหาเห็ดโคนเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกๆปีเพราะเห็ดมีรสชาติและราคาที่เย้ายวนใจนั่นเอง

          การหาเห็ดโคน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆในการหาเห็ดโคนให้เจอ และได้ดอกเห็ดที่กำลังเจริญเติบโตพอดีนายพรานเห็ดกล่าว การจะเป็นพรานเห็ดที่ดีต้องเป็นคนช่างสังเกตเก็บขัอมูล รู้จักสภาพแวดล้อมของการเกิดเห็ดจากแหล่งเห็ดใหญ่ๆทั้ง 4 แห่งของจังหวัดตาก โดยปกติ เห็ดที่บ้านเด่นซุงจะออกก่อน ในราวปลายเดือนสิงหาคม หลังจากนั้น 1-3 สัปดาห์เห็ดที่บ้านโปร่งแดง และบ้านหนองตาเรือจะเริ่มออกราวต้นเดือนถึงกลางเดือนกันยายน จากนั้นราวปลายเดือน เห็ดที่เขาไม้แก้วก็จะเริ่มออก พูดง่ายๆเห็ดจะออกก่อนในพื้นที่ทางเหนือแล้วไล่ลงมาทางทิศใต้ เมือเห็ดจากแหล่งแรกเริ่มออกแล้ว พรานเห็ดก็จะออกตรวจพื้นที่ที่เห็ดเคยออกว่ามีรอยแตกของดิน ที่หัวเห็ดหรือหมวกเห็ดดันดินขึ้นมาหรือยัง  ดินที่ป่าไม้แก้วนี้จะเป็นดินร่วนค่อนข้างเหนียว ถ้าอากาศช่วงนี้อบอ้าว ฝนตกฟ้าร้องจะเป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่ง ชาวบ้านบอกว่า นางฟ้าร้องเตือนหรือขู่หัวเห็ดให้โผล่ขึ้นมา เมื่อภาวะเช่นนี้เกิดขึ้น ดินจะชุ่มชื้น อากาศร้อนกระทบเย็นเห็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการกระตุ้นให้เกิดดอกเห็ดอาจจะสังเกตได้จากตัวปลวกในแหล่งนั้น ซึ่งมีน้ำตาลแดงหรือสีตาลแก่ ออกหาอาหารได้แก่ เศษไม้ผุเข้าไปเก็บไว้ในรังที่เป็นโพรงที่ใต้ผิวดิน ซึ่งเป็นพื้นราบเสมอพื้นที่ผิวดินส่วนอื่นๆ หรือเนินดินเตี้ยๆ แต่อาจพบจอมปลวกที่เป็นทรงสูงคล้ายเจดีย์อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ถ้าไม่ใช่คนช่างสังเกตหรือมีประสบการณ์จะไม่ทราบเลยว่ามีรังปลวกอยู่ใต้ดิน พรานเห็ดได้ใช้มีดทุบดินบริเวณนั้นให้เราฟัง เสียงจะเหมือนเสียงเคาะลูกมะพร้าว เสียงจะไม่แน่นเหมือนพื้นดินที่ไม่มีโพรงปลวกอยู่ใต้ดิน เมื่อปลวกหาอาหารเข้ารังได้ประมาณ 4-5 วัน จาวปลวกสีน้ำตาลใบแห้ง จะเปลี่ยนเป็นสีขาวเพราะเส้นใยเชื้อเห็ดเจริญออกมาใหม่ อีกประมาณ 7 วันดินจะแตกเห็นหัวเห็ดโผล่ขึ้นมาแต่ถ้าฝนตกจะเป็นการเร่งให้เกิดดอกเห็ดเร็วขึ้น จาก 7วันจะเหลือประมาณ 3-4 วันพรานเห็ดยังเล่าต่อไปว่าในฤดูที่เห็ดโคนออกถ้าฝนตกไม่มากนักในช่วงหัวค่ำ อากาศร้อนอบอ้าว เช้ามืดของวันรุ่งขึ้นราวตี 4ตี5นับเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะออกไปหาเห็ด รับรองไม่พลาด ที่จะเห็นดอกเห็ดเริ่มโผล่ขึ้นมาระดับผิวดิน อ้อ! แล้วที่สำคัญ การหาเห็ดโคนในเวลากลางคืน มักได้เห็ดมากกว่ากลางวันเพราะเราจะเห็นดอกเห็ดง่ายกว่า อันเนื่องมาจากแสงไฟฉายที่ส่องไปกระทบดอกเห็ดแล้วสะท้อนแสงกลับมานั่นเอง           

     ปริมาณเห็ดในป่าเขาไม้แก้ว บริเวณนี้จะมีเห็ดโคนมากกว่า 300หมู่ปริมาณเห็ดที่ออกปีละมากกว่า800 กิโลกรัม แต่ละหมู่จะมีเห็ดออกประมาณ 0.5-10.0กิโลกรัม แต่ละปีเห็ดจะออกในหมู่เดิม 1-4 ครั้งแต่ละครั้งออกห่างกัน 2-4 สัปดาห์ แต่ถ้าฝนไม่ตกหน้าดินแข็ง อาจไม่มีเห็ดออกเลยแม้จุดนั้นจะเคยมีเห็ดขึ้นก็ตาม แต่ถ้าปีใดมีฝนตกในเดือนสิงหาคม ตุลาคม ประมาณ 120 มิลลิเมตรต่อเดือนหรือมากกว่าเห็ดก็จะขึ้นมาก อย่างไรก็ดี จะมีเห็ดโคนออกนอกฤดูกาลอีกครั้งหนึ่งเรียกว่า เห็ดหัวฝนมักเกิดขึ้นในเดือน เมษายน-พฤษภาคม หลังฝนตกหนัก ครั้งแรกของปี มักออกเพียงปีละครั้ง เห็ดหัวฝนจะมีกลิ่นหอมกว่าเห็ดประจำปี นอกจากนี้ในป่าเขาไม้แก้วยังมีเห็ดชนิดอื่นๆอีกหลายชนิด เช่น เห็ดไข่เหลือง และเห็ดไข่ห่าน เห็ดลม เห็ดขานาง เห็ดมันปู และเห็ดหอบ (เห็ดเผาะ) นับว่าป่าแห่งนี้เป็นแหล่งอาหารประเภทเห็ดของชาวบ้านตลอดปี            ลักษณะสีของเห็ดโคน หมวกเห็ดมีหลายสีได้แก่         

     1.สีขาว เป็นเห็ดหัวฝน ก้าน หมวกและครีบดอกมีสีขาวทั้งหมด มีรสชาติและกลิ่นหอมกว่า เห็ดในฤดูกาล           

     2.สีน้ำตาลหรือสีดำ เป็นเห็ดที่ขึ้นในฤดูกาล  ช่วงปลายเดือนกันยายน- พฤศจิกายน สีจะเข้มมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม เช่น ดินมีสีดำมากหรือสภาพร่มเงามากหมวกเห็ดจะมีสีดำหรือสีน้ำตาลเข้มแต่ถ้าเป็นป่าโปร่งแสงสว่างส่องถึงได้มาก หมวกเห็ดจะมีสีจางกว่า เห็ดไหมล่ะครับ! แม้แต่เห็ดยังรู้จักพรางตัวให้เข้ากับธรรมชาติ ไม่อยากให้คนเก็บไปกินได้ง่ายๆ         

     กลิ่นเห็ดโคน เห็ดโคนเป็นเห็ดที่มีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นของดอกมะลิอ่อนๆในรัศมี 50 เมตร ถ้าดอกเห็ดบานพรานเห็ดจะทราบทันที ว่านี่แหละเห็ดออกแล้ว ยิ่งดอกเห็ดใกล้โรย (หลังดอกบานได้ 1สัปดาห์) กลิ่นจะฉุนรุนแรงขึ้น ถ้าไม่มีใครเก็บไป ดอกเห็ดจะแห้งหรือเน่าเสียไปเองตามธรรมชาติ           

      การพรางเห็ด เป็นกลยุทธ์ที่แยบคายของผู้หาเห็ดเป็นเคล็ดลับเฉพาะบุคคล นำมาใช้ในกรณีที่มีผู้หาเห็ดเป็นจำนวนมาก มีหลายรูปแบบ พรานเห็ดได้เล่าให้ฟังพอสังเขปดังนี้

           1.คลุมด้วยใบไม้ เมื่อเห็นหัวเห็ดโผล่ระดับผิวดิน(จะมีรอยแตก ของผิวดินเป็นแผ่น หรือทางยาว) ต้องทำเครื่องหมายให้รู้เฉพาะตัวเอง หรือบุคคลที่เราต้องการให้รู้เท่านั้น และต้องหาเศษใบไม้แห้งมาคลุม รอยแตกไว้ ต้องเป็นใบไม้ในบริเวณหมู่เห็ดเท่านั้นมาคลุมหรืออาจใช้ดินที่มีสีเหมือนกับดินบริเวณนั้นมากลบไว้บางๆเพื่ออำพรางไม่ให้คนที่ตามหาเห็ดเหมือนกันเห็นเป็นเด็ดขาด           

      2.แทงถม ถ้าไปเจอเห็ดที่เจริญได้ที่กำลังเก็บ หรือเห็ดบานที่ต้องเก็บ หมู่เดียวปริมาณมากๆ แล้วมีคนหาเห็ดตามมาพบเช่นกัน มักตัองแบ่งให้กันหรือเขาอาจจะขอแบ่ง แต่ถ้าเราไม่อยากแบ่ง ก็มีวิธีการที่ทำแล้วดูไม่น่าเกลียด (เท่าไร) คือ แทงดอกเห็ดจากที่หนึ่งไปไว้อีกที่หนึ่งที่เห็ดก็ขึ้นเช่นกัน ทำให้ดูเหมือนเป็นเห็ดที่เราแซะขึ้นมาทั้งหมด เมื่อเขาผ่านไปแล้ว ค่อยมาแทงเห็ดบริเวณนั้นขึ้นมา อย่างนี้เรียกว่า แทงถม           

      3.ถ่ายเทียม ในยามฉุกเฉินจะแทงถมก็ไม่ทัน บางครั้งต้องใช้ไม้ตาย ยอมลงทุน ถอดกางเกงนั่งยองๆโชว์ก้นเพื่อให้คนรู้ว่า กำลัง.....ใครก็ตามมาหาเห็ด เจอไม้นี้เข้าไปก็เดินหนีลูกเดียว หลังจากนั้นก็แทงเห็ดดอกสวยต่อด้วยความสบายใจ           

      การเก็บเห็ดโคน เราเก็บเห็ดระยะไหนดี จึงจะได้ดอกเห็ดที่มีคุณภาพ และมีน้ำหนักมาก คนหาเห็ดมือใหม่มักจะไม่ทราบ เห็ดดอกที่โผล่ระดับผิวดิน หรือแค่เห็นหัวเห็ดดำๆ ก็เก็บเห็ดแล้ว ซึ่งเป็นเห็ดที่ยังเล็กเกินไปจะได้ดอกเห็ดที่คุณภาพต่ำไม่มีกลิ่นหอมและมีน้ำหนักน้อย หรือที่เราเรียกว่า เห็ดยังไม่ลืมตาดังนั้นการเก็บเห็ดโคนในระยะที่เหมาะสม ต้องเก็บหลังจากหัวเห็ดโผล่ เป็นสีดำระดับผิวดิน ประมาณ 6-12 ชั่วโมง ดอกเห็ดหรือขอบหมวกเห็ดโผล่พ้นผิวดินแล้วเริ่มมองเห็นก้านดอกเล็กน้อย เป็นช่วงที่ดอกเห็นมีน้ำหนักมาก เก็บขายได้ราคา ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้บาน น้ำหนักก็จะลดลง และดอกอาจมีดินและทรายปนเปื้อน เก็บขายก็จะได้ราคาลดลง 20-30% ทีเดียว เช่นดอกตูมราคากิโลกรัมละ 100 บาท จะเหลือเพียง 70-80บาทเท่านั้น การเก็บเห็ดก็ต้องมีวิธีการ โดยใช้มีดปลายแหลม หรือไม้ปากฉลาม แทงลงในดินลึก 3-5 นิ้วห่างจากโคนดอกเห็ดประมาณ 1นิ้ว และแซะตัดปลายโคนเห็ดขึ้นมาอย่างเบาๆ จะมีดินติดที่โคนเห็ดมาด้วยเล็กน้อย ไม่ควรขุดหรือแซะจนถึงจาวเห็ด เพราะจะเป็นอันตรายต่อสวนเห็ดได้ ถ้าเกิดเหตุเช่นนั้นต้องกลบดินเข้าไปในจาวเห็ดให้เหมือนเดิม มิฉะนั้นในปีต่อไปอาจไม่มีเห็ดให้เก็บอีก แต่ถ้าดอกเห็ดบานแล้วควรตัดปลายก้านเห็ดเสมอผิวดิน และต้องระวังไม่เข้าไปเหยียบย่ำบริเวณที่เห็ดออกดอก จนดินแน่น หรือทำให้ดินพังลงไป ทำให้เกิดความเสียหายกับสวนเห็ดทำให้อดลิ้มรสอร่อยของเห็ดโคนในปีถัดไปได้เช่นกัน           

      อุปกรณ์ในการเก็บเห็ด มีมือใหม่หัดหาเห็ด ใช้ช้อนเป็นอุปกรณ์ในการแทงเห็ด น่าจะเรียกว่าแคะเห็ดมากกว่าเพราะใช้อุปกรณ์ผิดประเภท ก็เลยได้เห็ดน้อยกว่าเพื่อนๆ ดังนั้นการหาเห็ดโคนนั้นต้องเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม ดังนี้ 1.กางเกงกับเสื้อแขนยาว

2.รองเท้าบูทหรือผ้าใบ 3.หมวกไหมพรม 4.ไฟฉายแบบแบตเตอรี่สวมหัว 5.ไฟฉายแบบกระบอก 6.มีดปลายแหลมหรือไม้ปากฉลาม 7.ย่ามกับถุงพลาสติกหรือตะกร้า หรือถุงปุ๋ย 8.ยากันยุง 9.น้ำดื่ม 10.อาหาร สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นเพราะในป่ามีทั้งต้นไม้ที่มีหนามตั้งแต่ระดับศีรษะถึงระดับดิน ต้องใส่เสื้อกางเกง และหมวก ที่ปกปิดร่างกายให้มิดชิด ไฟฉายสวมหัวทำให้สะดวกในการส่องทางและหาดอกเห็ดยามค่ำคืน ส่วนไฟฉายกระบอกมีไว้ยามที่หลอดไฟของไฟฉายแบบแบตเตอรี่หมดไป มีดและถุง ไว้สำหรับเก็บเห็ด อาหารและเครื่องดื่มจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการออกหาเห็ดต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง อีกทั้งในป่ามียุงอาจทำให้เราเป็นไข้ป่าได้ ควรทายากันยุง ป้องกันไว้ด้วย ข้อสังเกต จากพรานเห็ดว่าวันไหนออกเก็บเห็ด แล้วมียุงออกอาละวาดมาก แสดงว่า วันนั้นอากาศแจ่มใส ถ้าไม่มียุงหรือมีน้อยผิดปกติแสดงว่า ฝนกำลังจะตก ต้องหาที่หลบฝนแล้วหล่ะ         

      ศัตรูเห็ดโคน ส่วนมากจะเป็นสัตว์และแมลงอาทิ 

            1.เต่าบก ในป่าบางแห่งมีเต่าอาศัยอยู่ และเต่าก็เป็นสัตว์ที่ชอบกินเห็ดเป็นอาหารอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเห็ดโคน เมื่อเห็ดโผล่ ขึ้นมาพ้นดิน           

            2.หอยทาก และกิ้งกือ ชอบกินเห็ดตั้งแต่เป็นหัวสีดำ ระดับผิวดินทำให้เห็ดเน่าไปในที่สุด           

            3.ด้วงปีกแข็ง สีดำ ตัวเท่าแมลงวัน จะกัดกินอยู่ในก้านดอกเห็ด เข้าทำลายเมื่อเห็ดบาน           

           แต่ชาวบ้านก็ได้รับประโยชน์จากสัตว์และแมลงเหล่านี้ ในการสังเกตว่าเห็ดชนิดไหนกินได้หรือกินไม่ได้ โดยสัตว์เหล่านี้เสี่ยงดวงไปก่อน           

            อาหารจานเด็ดจากเห็ดโคน พวกเราเหน็ดเหนื่อยกันพอสมควรจากการหาเห็ด แต่ก็คุ้มค่าเมื่อได้ลิ้มรสอาหารจานเด็ดจากเห็ดโคน เช่น ต้มเค็ม ผัดเห็ด เห็ดดอง ยำเห็ดดอง ยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่รสชาติอร่อยอย่าบอกใคร ถ้าใช้เห็ดโคนเป็นวัตถุดิบ เห็ดโคนนั้นสามารถนำมาประกอบอาหารสดๆ หรือนำไปถนอมอาหารเก็บไว้รับประทานได้ตลอดปี  เราลองมาฟังผู้ที่คลุกคลีอยู่กับการทำอาหารจากเห็ดโคนเป็นประจำว่านำไปทำอะไรได้บ้าง           

      หลังจากทำความสะอาดดอกเห็ดหรือทำโคนด้วยการปอกด้วยมีด เอาดินที่ติดก้านโคนเห็ดออกแล้ว นำไปแช่น้ำสะอาดอีกครั้งประมาณ 15 นาที ดินและทรายจะหลุดออกหมด นำขึ้นมาประกอบอาหารได้           

      1.เห็ดต้ม ใส่น้ำปลา หรือเกลือ เล็กน้อย อาจผ่านหอมแดงใส่ลงไปด้วยจะทำให้น้ำต้มหอมชวนรับประทานยิ่งขึ้น           

      2.แกงจืด อาจทำแกงจืดหมูสับ กระดูกหมู หรือไก่ ก็อร่อยทั้งนั้น แต่ถ้าเห็ดมีน้อย จะใส่วุ้นเส้นเพิ่มปริมาณอีกก็ได้ไม่ผิดกติกา           

      3.ต้มยำ ไม่ว่าจะเป็นต้มยำเห็ด ที่ใส่เห็ดเพียงอย่างเดียวพร้อมเครื่องปรุง แต่ไม่ควรใส่ตะไคร้เพราะจะกลบกลิ่นเห็ด แต่ถ้าเป็นต้มยำที่ใส่ปลา ไก่ หรือหมูลงไปด้วยต้องใส่ตะไคร้เพื่อดับกลิ่นคาวเนื้อสัตว์           

      4.แกงกะทิ แกงเห็ดโคนอย่างเดียว หรือใส่ฟักทองและเนื้อหมู เพิ่มลงไปอีกพรานเห็ดบอกรสชาติเด็ดกว่าแกงชนิดอื่น หรือแกงกับไก่ก็ได้ อร่อยไม่แพ้กัน           

      5.ผัดน้ำมันหอย ต้องใส่ใบโหระพาเล็กน้อย จะทำให้หอมอร่อยมากยิ่งขึ้น           

      6.ลาบ นำเห็ดไปย่างให้เกิดกลิ่นหอม หรือสุก หั่นเห็ดให้มีขนาดยาว 1 เซนติเมตร คลุกเคล้ากับเครื่องปรุงลาบทั่วไป แค่นี้ลาบเห็ดก็อร่อยกว่าลาบเป็ดเป็นไหนๆ           

      นอกจากนั้นอาจนำเห็ดโคนไปถนอมไว้รับประทานในยามที่ไม่มีเห็ดให้เก็บกินได้โดยนำไปดองหรือตากแห้ง ดังนั้น จึงขอแนะนำวิธถนอมเห็ดไว้รับประทานอย่างง่ายๆดังนี้           

      1.ดองเกลือหรือดองน้ำปลา ถ้าเห็ดบาน ล้างเห็ดให้สะอาด ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ คลุกด้วยเกลือหรือ น้ำปลา ทิ้งไว้นาน 4 ชั่วโมง นำไปต้มโดยไม่ต้องใส่น้ำเพิ่ม เพราะอาจจะมีน้ำจากดอกเห็ดออกมา อาจใส่น้ำได้เล็กน้อย ถ้าน้ำแห้ง ใส่โหลหรือภาชนะอื่นๆทิ้งไว้ให้เย็น นำไปแช่ในตู้เย็นช่องปกติจะเก็บไว้ได้นานประมาณ 1 สัปดาห์ ถ้านานกว่านี้เห็ดจะเปรี้ยว เห็ดจะเปลี่ยนจากสีเหลืองน้ำตาลเป็นสีขาว ถ้าเก็บไว้นานกว่านี้ ควรแช่ช่องแข็ง สามารถอยู่ได้นานข้ามปี ต้องการรับประทานเมื่อไหร่ ก็นำมาอุ่นต้มอีกครั้ง         

       2.ทำแห้ง หลังจากทำโคน หรือทำความสะอาดตีนเห็ดสะอาดแล้วห้ามล้างน้ำ ฉีกเห็ดเป็นชิ้นๆนำไปตากแห้ง การนำมารับประทานต้องนำมาแช่น้ำ ใช้ทำเฉพาะเห็ดโคนดอกตูมเท่านั้น           

       จะเห็นว่าเห็นโคนเป็นอาหารจานโปรดของชาวบ้าน และบุคคลทุกระดับชั้น ที่ได้เคยลิ้มลองอาหารจานเด็ดจากเห็ดชนิดนี้มาแล้ว ทำให้เห็ดโคนมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวชนบท ต่อเศรษฐกิจของชาวบ้าน ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พรานเห็ดจะต้องถ่ายทอดหลักวิชาการหาเห็ดที่ถูกวิธี ไม่ทำลายจาวเห็ดหรือสวนเห็ดใต้ผิวดิน ช่วยกันอนุรักษ์แหล่งอาหารจากธรรมชาติ ไว้เป็นสมบัติของลูกหลานไปตราบนานเท่านาน 


ผู้อยู่เบื้องหลัง           

        ขอขอบคุณ คุณประทีป มีศิลป์ ผู้อำนวยการสถานีทดลองหม่อนไหมตาก ที่อำนวยความสะดวกในการเดินป่าล่าเห็ดโคน และอาหารจานเห็ดเด็ดจากเห็ดโคนในวันรุ่งขึ้น           

       ขอขอบคุณ คุณสมเกียรติ เจริญสิงห์ และคุณสาคร มณีรัตน์ พรานเห็ด ที่ได้อุทิศเวลา 2 วัน ในป่าเห็ดจนผู้เขียนได้ภาพเห็ดมาประกอบเรื่องจนสมบูรณ์           

       ขอขอบคุณ คุณสุจินต์ แก้วฉี นิสิตปริญญาโทมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณจันจิรา แก้วเอียด, คุณรัตนา วงศ์สด ,คุณภัททิรา เสือแย้ม และคุณรุ่งนภา สังขนุช ที่ช่วยสืบค้นข้อมูลและจัดทำต้นฉบับ 

บรรณานุกรม

สุทธพรรณ ตรีรัตน์ , สัณห์ พณิชยกุล, เตือนใจ

     โก้สกุลและปริญญา รัตนพิมาน.2536.สถานภาพและศักยภาพ การวิจัย

และพัฒนาเกี่ยวกับเห็ดโคน (Termitomyces). ภาควิชาพฤกษศาตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.52หน้า

คำสำคัญ (Tags): #พรานเห็ด
หมายเลขบันทึก: 115046เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2007 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นบทความที่ดีมาก   มีสาระความรู้เป็นประโยชน์   และสื่อสารด้วยภาษาเรียบง่าย  สนุกสนาน   น่าสนใจมากมาก  ขอชื่นชมคะ

 

สนใจอยากได้เบอร์โทรของท่านพรานเห็นโคนด้วยคะเพื่อติดต่อซื้อเห็ดโคน 

ปูเป้ 086 - 1664765

ขอบคุณครับที่ติดตามบทความวิชาการ ผมทำวิจัยเรื่องหม่อนเป็นหลัก หากสนใจเรื่องเชื้อเห็ดกรุณาติดต่อกรมวิชาการเกษตร โทร. 02-5790147

ส่วนโทรศัพท์ผม 08-94476600

พอดีทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเห็ดโคน อยากจะขอไปเก็บตัวอย่างเห็นโคน จะต้องติดต่อไปที่ไหนค่ะ

เรียน คุณสโรชา

สามารถติดต่อ คุณสาคร ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ตาก โทร.055-593015 ครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท