"น้ำตาลมิตรลาว"เริ่มสร้างรง.ในลาวก.ค.นี้ ใช้งบ1.2พันล.-สัมปทานปลูกอ้อย6หมื่นไร่


"น้ำตาลมิตรลาว"เริ่มสร้างรง.ในลาวก.ค.นี้ ใช้งบ1.2พันล.-สัมปทานปลูกอ้อย6หมื่นไร่
   ศูนย์ข่าวขอนแก่น-กลุ่มมิตรผลเตรียมวางศิลาฤกษ์สร้างโรงงานน้ำตาลมิตรลาวมูลค่า 1.2 พันล้านบาทในแขวงไชยะบุรีแน่ต้นเดือนก.ค.นี้ ประเดิมพื้นที่ปลูกอ้อยป้อนโรงงาน 1.5 หมื่นไร่ กำลังผลิตเฟสแรกใช้อ้อย 5,000 ตันอ้อย/วันก่อนขยับอีกเท่าตัว ระบุเป็นโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรที่ใหญ่สุดในลาวแห่งแรก เผยเหตุขยายฐานผลิตเข้าสปป.ลาวเพื่อลดความเสี่ยงพื้นที่ปลูกอ้อยในไทยที่ลดลงเพราะถูกยางพารา ยูคาลิปตัสแย่งพื้นที่ปลูก
       
       นายพรชัย ศรีสาคร ผู้อำนวยการ บริษัทน้ำตาลมิตรลาว จำกัด เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสัมปทานพื้นที่ปลูกอ้อยและสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลในลาวตอนกลางว่า ในราวต้นเดือนกรกฎาคม บริษัทได้กำหนดวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโรงงาน คาดว่าจะแล้วเสร็จในราวเดือนธันวาคม 2551 และในต้นปี 2552 จะสามารถเปิดหีบอ้อยได้ โดยโรงงานผลิตน้ำตาลจะตั้งอยู่ในแขวงไชยะบุรี ใช้งบประมาณสร้างโรงงานดังกล่าวประมาณ 1,200 ล้านบาท โรงงานน้ำตาลมิตร ลาวถือเป็นโรงงานแปรรูปสินค้าด้านการเกษตรแห่งแรกใน สปป.ลาวที่ใหญ่ที่สุด
       
       บริษัทน้ำตาลมิตรลาว ในกลุ่มบริษัทน้ำตาลมิตรผลได้ทำสัญญาสัมปทานจากรัฐบาล สปป.ลาวเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2549 มีอายุสัมปทาน 40 ปี หลังจากนั้นสามารถต่อสัญญาได้อีก 20 ปี การดำเนินงานที่ผ่านมาถือว่าล่าช้าไปจากแผนการการลงทุน เนื่องจากติดปัญหาการจัดหาพื้นที่ปลูกอ้อย ส่งผลให้ทางบริษัทต้องเลื่อนการก่อสร้างโรงงานมาเป็นเดือนกรกฎาคม 2550
       
       นายพรชัยกล่าวว่าตามที่ระบุในสัญญา ทางการลาวต้องจัดหาพื้นที่ให้แก่บริษัทเพื่อปลูกอ้อยป้อนโรงงานทั้งหมด 60,000 ไร่ โดยมีพื้นที่เป้าหมายในแขวงไชยะบุรีและเมืองจำพอน บนเส้นทางหมายเลขที่ 13 ลงไปทางแขวงจำปากสัก อย่างไรก็ตามจากการสำรวจพบว่าหลายพื้นที่มีปัญหาไม่สามารถจัดสรรเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยของโรงงานได้ จึงพยายามขยายเขตพื้นที่สำรวจไปพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้ตอนนี้ได้พื้นที่รองรับปลูกอ้อยใกล้เคียงเป้าหมายแล้ว
       
       ทั้งนี้เพื่อให้ทันกับการหีบอ้อยตามแผนงานที่กำหนดไว้ บริษัทได้ลงแปลงเพาะพันธุ์อ้อยไว้แล้วราว 7,000 ไร่ และเตรียมพื้นที่ปลูกอ้อยให้เพียงพอกับการเดินเครื่องระยะแรกจำนวน 15,000 ไร่ นอกจากนี้ยังได้ขยายพื้นที่ปลูกอ้อยด้วยการทำ Contact Farming กับเกษตรกรชาวลาวในแขวงสะหวันนะเขตและไชยะบุรีอีกราว 1,500 ไร่
       
       "จากเดิมเรากำหนดเปิดโรงงานด้วยการหีบอ้อยโดยใช้วัตถุดิบ 1หมื่นตันอ้อยต่อวัน แต่ได้ปรับแผนลดเหลือ 5,000 ตันอ้อยต่อวันแทนเพื่อจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องของวัตถุดิบ หลังจากนั้นสักระยะค่อยขยายเต็มกำลังการผลิต"นายพรชัยกล่าวและว่าการปลูกอ้อยป้อนโรงงาน ถือเป็นอาชีพใหม่ที่เกษตรกรชาวลาวไม่เคยมีประสบการณ์ บริษัทจึงจ้างชาวลาวเข้ามาทำงานในไร่อ้อยเพื่อจะได้เรียนรู้ขั้นตอนการปลูกอ้อย ตั้งแต่การเพาะพันธุ์ การเตรียมดิน การปลูกตลอดจนการดูแลรักษา เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้อาชีพปลูกอ้อยไปตัว ระยะยาวจะทำให้เกษตรกรชาวลาวสามารถปลูกดูแลรักษาไร่อ้อยเป็น และท้ายที่สุดจะจ่ายต่อการส่งเสริมในรูปของ Contact Farming
       
       นายพรชัยระบุถึงมูลเหตุที่กลุ่มมิตรผลขยายฐานการลงทุนมายัง สปป.ลาว เนื่องจากพื้นที่การปลูกอ้อยในประเทศไทยเริ่มมีปัญหา ปริมาณการปลูกอ้อยของเกษตรกรลดลง จำนวนไม่น้อยที่หันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นแทน โดยเฉพาะยางพารา ไม่นับรวมยูคาลิปตัส และมันสำปะหลัง ที่เข้ามาแย่งพื้นที่ปลูกอ้อย ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้หลายปีที่ผ่านมาโรงงานน้ำตาลต่างแย่งรับซื้ออ้อยจากเกษตรกร
       
       การขยายฐานเข้ามายัง สปป.ลาวของมิตรผลก็เพื่อหนีปัญหาดังกล่าว และยังสามารถที่จะควบคุมการผลิตวัตถุดิบป้อนโรงงานได้อย่างเต็ม อย่างน้อยพื้นที่ 6 หมื่นไร่ก็เป็นการปลูกของมิตรผลเอง รัฐบาลลาวเองก็พร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่
       
       "ปัญหาขาดแคลนอ้อยป้อนโรงงานเชื่อว่าโรงงานที่มีอยู่ในไทยขณะนี้ 46 แห่งต่างประสบปัญหาไม่ต่างกัน ในแต่ละปีที่เปิดฤดูหีบอ้อย ปัญหาวัตถุดิบถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องตามแก้ แต่ละโรงงานควบคุมวัตถุดิบที่จะเข้าโรงงานไม่ได้ ต้องพึ่งอ้อยจากชาวไร่เป็นหลัก ครั้นจะปลูกอ้อยเอง ก็ไม่มีพื้นที่ให้ปลูก"นายพรชัยให้ความเห็น
       
       อย่างไรก็ตามขณะนี้ไม่เพียงแต่กลุ่มน้ำตาลมิตรผลเท่านั้นที่พยายามหาทางออกของปัญหาดังกล่าว ด้วยการขยายฐานการผลิตเข้ามายังแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ห่างจากตัวเมืองแขวงสะหวันนะเขตไปทางชายแดนเวียดนามราว 80 กม.ก็เป็นที่ตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลของบริษัทน้ำตาลสะหวันนะเขต ภายใต้การร่วมทุนของกลุ่มน้ำตาลบ้านโป่งและกลุ่มบริษัทน้ำตาลขอนแก่น จากเมืองไทยเช่นกัน
       
       สำหรับเป้าหมายทางการตลาดของโรงงานน้ำตาลมิตรลาวในกลุ่มน้ำตาลมิตรผล นายพรชัยกล่าวว่าในเบื้องต้นผลผลิตน้ำตาลที่ได้คงต้องส่งป้อนตลาดภายในประเทศสปป.ลาวเป็นหลัก ปัจจุบันความต้องการบริโภคน้ำตาลในสปป.ลาวอยู่ที่ 30,000 ตัน/ปี เหลือจากการจำหน่ายภายในก็จะส่งออกไปยังต่างประเทศ
หมายเลขบันทึก: 108317เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2007 16:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 15:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอขอบคุณอาจารย์และทีมงาน...

  • เรียนเสนอให้แยก "ป้าย / keyword" > "น้ำตาล" เพิ่มครับ เพื่อให้ search engine เช่น Google ฯลฯ ตรวจพบบล็อกของอาจารย์เพิ่มขึ้น เช่น เมื่อมีการค้นคำ "น้ำตาล" / "ลาว" / "น้ำตาล+ลาว" ฯลฯ
  • ขอขอบพระคุณ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท