สาระสุข
riz สาธารณสุขน้อยๆ ชายแดนใต้

ไข้เลือดออก...อย่าตระหนก แต่ควร ตระหนัก


สำหรับ คนที่คุณรัก คุณคง ไม่อยากให้โรคใดๆ มากล้ำกราย

        ไข้เลือดออก  เป็นโรคที่พบบ่อย   เป็นภัยร้ายที่เราคุ้นเคย  ได้ยินบ่อย  แต่ไม่อาจละเลยได้ 

โรคนี้  หากติดตามอาการ และให้การดูแลอย่างถูกต้อง  มักไม่เป็นปัญหา  แต่อาการที่มักจะสร้างความตระหนก  ให้กับผู้ป่วย  และญาติ  คือมักจะเป็นช่วงที่มีไข้สูงลอย(ไข้สูงลอย  2-7 วัน  ไม่ยอมลง) มีอาการหน้าแดง ปวดหัว เมื่อย เบื่ออาหาร

มักไม่ค่อยมีอาการหวัด คัดจมูก ไอ หรือเจ็บคอ  ......ถ้ามาด้วยอาการหวัด  เจ็บคอ  ไอ  ไม่ใช่ไข้เลือดออกนะครับ

ถ้าไม่เป็นหนัก จะดีขึ้นใน 3-7 วันและเข้าสู่ระยะหาย   บางครั้งหากไปรับการรักษาตามโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย  มักจะให้ยาลดไข้  และแนะนำให้รักษาตามอาการ  ถ้าไม่มีภาวะบ่งชี้  ว่าจะเข้าสู่ภาวะช็อก  บางครั้ง  จะให้ผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวที่บ้าน

หากมีญาติ  เป็นไข้เลือดออกควรดูแลตามอาการ ดังนี้

1.ควรเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่นบ่อยๆ  (การเช็ดตัวลดไข้ จะช่วยให้ผู้ป่วยสุขสบายขึ้น) โดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำแล้วบิดพอหมาดๆ  ลูบเบาๆบริเวณหน้า ลำตัว แขน และขา แล้วพักไว้บริเวณหน้าผาก  ซอกคอ รักแร้  แผ่นอก  แผ่นหลัง และขาหนีบ  ทำติดต่อกันอย่างน้อยนาน 15 นาที  แล้วให้ผู้ป่วยสวมเสื้อผ้าที่ไม่หนามาก หรือห่มผ้าบางๆ นอนพักผ่อน 

            ระหว่างการเช็ดตัวถ้าผู้ป่วยมีอาการหนาวสั่นให้หยุดเช็ด  แล้วให้ผู้ป่วยห่มผ้า พอหายหนาวสั่นจึงค่อยเช็ดต่อ

2.ให้รับประทานยาลดไข้พาราเซทตามอล   เวลามีไข้สูง  ตัวร้อนจัด หรือปวดศีรษะ  ปวดเมื่อยตามตัวมาก โดยให้ห่างกันอย่างน้อย ชั่วโมง 

ห้ามรับประทานยาลดไข้ชนิดอื่นโดยเฉพาะยาแอสไพริน ยาซองลดไข้ทุกชนิดหรือยาพวกไอบรูโพรเฟน เพราะอาจจะทำให้เลือดออกมากผิดปกติหรือตับวายได้  

3.ให้ดื่มน้ำบ่อยๆ  อาจเป็นน้ำผลไม้   หรือน้ำเกลือแร่  ถ้ามีคลื่นไส้อาเจียน   ไม่สามารถดื่มน้ำได้ ให้จิบครั้งละน้อยๆ บ่อยๆ ไม่ควรดื่มแต่น้ำเปล่าอย่างเดียว 

4.อาหารควรเป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย รสไม่จัด เช่น นม ไอศกรีม ข้าวต้ม เป็นต้น
5.
ควรงดเว้นอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสีแดง  ดำ  หรือสีน้ำตาล  เพราะบางกรณี  ถ้ามีอาการเลือดออก  ภายในร่างกาย  กรณีที่อาเจียน  อาจทำให้สับสน  ว่าสีของอาเจียน  นั้นเป็นสีอาหาร  หรือสีของเลือด  อาจทำให้ยากต่อการวินิจฉัยได้

แต่อาการที่น่าเป็นห่วง ไม่ใช่ช่วงไข้สูง  แต่เป็นช่วงที่ไข้ลง ถ้ารักษาตามอาการแล้วยังมีอาการเหล่านี้ 

ซึมหรืออ่อนเพลียมาก

คลื่นไส้อาเจียนตลอดเวลา

มีเลือดออก เช่น เลือดกำเดา อาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นสีดำ

กระสับกระส่าย หงุดหงิด หรือมีอาการปวดท้องมาก 

ตัวเย็นชื้น สีผิวคล้ำลง หรือตัวลายๆ

ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะเป็นเวลานาน

ระยะนี้  เป็นระยะสำคัญถ้ามีดังที่ว่า แสดงว่าเข้าสู่ระยะช็อก  ( ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะรู้สติดี พูดจารู้เรื่อง ) เป็นระยะอันตรายของโรค  ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที และระหว่างการเดินทางพยายามกระตุ้นให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือแร่หรือน้ำผลไม้บ่อยๆ 

 เพราะฉะนั้น  เรามาร่วมสร้างความตระหนักในการรณรงค์  ป้องกันโรคไข้เลือดออก  กันดีกว่า
  • ควรนอนในมุ้งหรือในห้องติดมุ้งลวดที่ปลอดยุงลาย เด็กเล็ก ไม่ควรปล่อยเล่นในมุมมืดหรือบริเวณที่ไม่มีลมพัดผ่าน และที่อยู่อาศัย  โรงเรียน  ที่ทำงาน ควรมีแสงสว่างส่องได้ทั่วถึง  มีลมพัดผ่านได้สะดวก  และไม่มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุง  เช่น  แจกันดอกไม้ควรเปลี่ยนน้ำทุกวัน พลูด่างควรปลูกในดิน
  • กำจัดยุง ด้วยการพ่นสารเคมีในบริเวณมุมอับภายในบ้าน  ตู้เสื้อผ้า  และบริเวณรอบๆบ้า
  • กำจัดลูกน้ำ ภาชนะใส่น้ำภายในบ้านปิดฝาให้มิดชิด ถ้าไม่สามารถปิดได้  ให้ใส่ทรายอะเบท  หรือใส่ปลาหางนกยูง
  •  จานรองขาตู้กับข้าวจาน รองกระถางต้นไม้  ใส่เกลือ น้ำส้มสายชู ผงซักฟอก
  • กระป๋อง  กะลา  ให้คว่ำ  หรือทำลาย  และพวกยางรถยนต์เก่า หรือวัสดุ  ที่ทำให้มีน้ำขัง     ให้เผาหรือทำลายเสีย 

(และถ้าจะให้ดี  ควรกำจัดลูกน้ำยุงลาย  โดยการคว่ำขวด  กระป๋อง  กะลา  และเผาทำลายขยะทุกสัปดาห์)

และสำหรับ  คนที่คุณรัก  คุณคง  ไม่อยากให้โรคใดๆ  มากล้ำกราย

 แต่ถ้ารู้จัก  ที่จะรับมือกับมัน    ทั้งตอนที่ยังไม่เกิด  หรือเกิดขึ้นแล้ว  คงจะสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที   ..................................

ด้วยรักและความปรารถนาดีครับ

หมายเลขบันทึก: 107218เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2007 11:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 10:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท