อิสลามกับการชันสูตรศพ


มนุษย์เป็นสิ่งที่มีเกียรติทั้งยามที่มีชีวิตอยู่และหลังจากที่วิญญาณออกจากร่างไปแล้ว

1. บทนำ

เนื่องจากแหล่งบัญญัติอิสลามเป็นภาษาอาหรับ และตำราต่างๆที่บรรดาอุละมาอ์อิสลามได้เขียนขึ้นส่วนใหญ่ก็เป็นภาษาอาหรับ ดังนั้น ในการทำความเข้าใจกับความหมายของการชันสูตรศพตามนัยของบัญญัติอิสลาม จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของ การผ่าตัดชันสูตรศพ ในภาษาอาหรับก่อนเป็นอันดับแรก 

2. นิยามด้านภาษาและศัพท์เทคนิค

2.1 นิยามด้านภาษา

การชันสูตรศพ (post-mortem) หรือการตรวจศพ (autopsy) ในภาษาอาหรับเรียกว่า تَشْرِيْح อ่านว่า ตัชรีหฺ (tashrih) เป็นอาการนามที่ผันมาจากคำว่า شَرَحَ  ชะเราะหะ แปลว่า การทำให้เปิดเผยออก (uncover)[1] การผ่าตัด (dissection)[2] หรือการชำแหละเนื้อให้เป็นชิ้นบางๆ[3] 

ในหนังสือ al-Mu’jam al-Wasit อธิบายว่า ตัชรีหฺ หมายถึงการผ่าตัดเนื้อออกเป็นชิ้นยาวๆและบางๆ และการผ่าตัดศพหมายถึงการแยกชิ้นส่วนของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งออกจากกันเพื่อทำการตรวจพิสูจน์ทางการแพทย์[4]  

2.2 นิยามด้านศัพท์เทคนิค

ตัชรีหฺ หรือการผ่าตัดในความหมายด้านศัพท์เทคนิคจะหมายถึง การผ่าตัดทางการแพทย์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ศึกษาโครงสร้างและองค์ประกอบด้านสรีระของร่างกาย และดำเนินการผ่าตัดเชิงวิชาการและแยกหรือเปิดเผยชิ้นส่วนออกมา เพื่อทำการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาการแพทย์[5] ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามของวิชากายวิภาคศาสตร์ (anatomy) 

3. ความเป็นมาของวิชากายวิภาคศาสตร์ (anatomy)

วิชาการผ่าตัดซากศพ หรือกายวิภาคศาสตร์เป็นวิทยาการที่เป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่ยุคโบราณ ดังจะเห็นได้การกระทำของฟาโรห์ในยุคอียิปต์โบราณ ซึ่งพวกเขาได้ทำการผ่าตัดซากศพของพวกเขาเพื่อนำเอาลำไส้ออกจากซากศพเพื่อใส่สารที่ช่วยรักษาซากศพให้คงอยู่และไม่เน่าเปื่อย และด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ซากศพของบรรดากษัตริย์ฟาโรห์ที่อยู่ในรูปของมัมมี่จึงสามารถคงอยู่เป็นเวลานานมากว่า 5000 ปี

นอารยธรรมกรีกโบราณก็รู้จักวิทยาการผ่าตัดซากศพนี้เช่นเดียวกัน ในบรรดาแพทย์ผ่าตัดผู้เชี่ยวชาญของชาวกรีกโบราณได้แก่ อบู กุรอฏ หรือฮิปโปเครติส (Hippocrates) มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ก่อนค.ศ.460-370  และกาเลนูส (Claudius Galenus) หรือเป็นที่รู้จักในนามของ Galen มีชีวิตอยู่ระหว่างปีค.ศ.130-200 ทั้งสองได้ทำการผ่าตัดชำแหละซากศพเพื่อศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างของร่างกายและตรวจวินิจฉัยโรค

เช่นเดียวกับชาวจีนโบราณที่รู้จักการผ่าตัดชันสูตรซากศพ ตามที่มีบันทึกว่าสตรีนางหนึ่งชื่อฉางซี (Zhang Xi) ได้ทำการผ่าตัดชันสูตรศพชายคนหนึ่ง และจากการผ่าตัดดังกล่าวทำให้นางสามารถค้นพบสาเหตุการเสียชีวิตของเขา ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 1400 ปีมาแล้ว[6] 

ส่วนประวัติการแพทย์ของชาวมุสลิมก็พบว่า วิชาการผ่าตัดชันสูตรศพนี้ได้เป็นที่รู้จักของบรรดาอุละมาอ์ผู้คร่ำหวอดอยู่กับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายท่าน อาทิ มุหัมมัด บิน ซะกะรียา อัลรอซีย์ (Rhazes) (มีชีวิตระหว่างปี ฮ.ศ.251-313/ค.ศ.865-925) ซึ่งได้เขียนตำราหลายเล่มเกี่ยวกับวิชากายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) อันบ่งบอกถึงความมีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญที่ยิ่งยวดของเขา ถึงกับถูกขนานนามว่า กาเลนูสอาหรับ (Arabic Galenus), ในจำนวนตำราเหล่านั้นเขาได้เขียนตำราที่เกี่ยวกับวิชากายวิภาคศาสตร์ด้วยเล่มหนึ่งชื่อว่า al-Tibb al-Mansoriy (al-Mansoriy Medicine) ในหนังสือเล่มนี้อัลรอซีย์ได้บรรยายเกี่ยวกับการผ่าตัดชันสูตรร่างกายมนุษย์ อันประกอบด้วยการผ่าตัดองค์ประกอบของโครงสร้างใหญ่ของร่างกาย การผ่าตัดระบบเส้นประสาท และการผ่าตัดเส้นเลือดต่างๆ[7] หนังสือ al-Tibb al-Mansoriy เล่มนี้ได้ถูกแปลเป็นภาษาลาตินจำนวนหลายครั้ง ฉบับแปลเล่มแรกถูกตีพิมพ์เมื่อปี 1481 ภายใต้ชื่อ Liber ad Almansorem (Medicinalis Almansoris)

อบู อัลกอสิม อัลซะฮฺรอวีย์ (Abulcasis –Bucasis- Alzahravius) (มีชีวิตระหว่างปี ฮ.ศ.325-404/ค.ศ.937-1013) ฉายาบิดาแห่งการศัลยกรรมสมัยใหม่ (father of modern surgery)[8] หนังสือของเขาที่มีชื่อว่า อัลตัศรีฟ (Al-Tastif Liman Ajiza 'an al-Ta'lif) นับได้ว่าเป็นหนังสือคู่มือการศัลยกรรมที่สำคัญยิ่งเล่มหนึ่ง ซึ่งเขาได้ระบุเกี่ยวกับคู่มือและอุปกรณ์ใหม่ๆสำหรับใช้ในการผ่าตัดที่เหมาะสมกับเป้าหมายของการผ่าตัดประเภทต่างๆ อาทิ มีดผ่าตัด กรรไกร อุปกรณ์เปิดบาดแผล ตะขอเกี่ยว และคีมหนีบ ที่หลากหลายขนาด พร้อมกับวาดรูปเพื่อชี้แจงและอธิบายลักษณะของอุปกรณ์เหล่านั้น เขาเป็นคนแรกที่ได้ผูดมัดเส้นเลือดและท่อเดินเลือดด้วยเส้นไหมเพื่อระงับการสูญเสียเลือดขณะทำการผ่าตัด เป็นคนแรกที่คิดค้นวิธีการเย็บแผลด้วยการใช้เข็มสองเล่มกับด้ายเพียงเส้นเดียว และเป็นคนแรกที่ริเริ่มใช้เส้นด้ายที่ทำมาจากท้องสัตว์ (Catgut) เพื่อเย็บท้องหลังการผ่าตัด[9] 

อบู อาลี หุเสน บิน อับดุลลอฮฺ บินซีนา (Avicenna) (มีชีวิตระหว่างปี ฮ.ศ.370-428/ค.ศ.980-1037) ได้รับฉายาว่าบิดาแห่งวงการแพทย์ ซึ่งส่วนหนึ่งของข้อสรุปที่เขาได้ค้นพบและมีบันทึกอยู่ในตำราที่โด่งดังของเขา Qanun al-Tibb (The Canon of Medicine) คือ 1.กระดูกบนหัวกะโหลกเมื่อมีการแตกร้าวมันจะไม่มีวันสมานเป็นเนื้อเดียวกันเหมือนกับกระดูกส่วนอื่นๆของร่างกาย 2.การแตกหักของกระดูกแบ่งได้สองประเภท ประเภทแรกเป็นการแตกหรือหักภายใน โดยไม่ได้โผล่ออกมาให้เห็น การหักประเภทนี้จะไม่มีบาดแผลให้เห็น ซึ่งเป็นการแตกหักที่อันตรายยิ่ง เพราะจะทำให้เกิดอาการบวมและอักเสบ และเป็นที่กักขังของเลือดและน้ำหนอง ดังนั้นถ้ามัวแต่รักษาอาการบวมและอักเสบโดยไม่ได้สนใจกับการแตกร้าวของกระดูก บางทีอาจจะทำให้กระดูกด้านล่างเสียหายจนจำเป็นต้องมีการผ่าตัดในที่สุด ฯลฯ[10] 

อบู อัลหะสัน อิบนุ อัลนะฟีส (Ibn al-Nafis) (มีชีวิตระหว่างปี ฮ.ศ.607-687/ค.ศ.1210-1288) ส่วนหนึ่งของผลงานด้านวิชากายวิภาคศาสตร์คือ เขาได้ค้นพบระบบการหมุนเวียนของเลือดเล็กในปอด (Pulmonary Circulation) ซึ่งจะมีการถ่ายเทเลือดจากหัวใจไปสู่ปอดทั้งสองข้างเพื่อขจัดแอกซิดคาร์บอนออกและเพิ่มออกซิเจนเข้าไปแทน และผลงานชิ้นสำคัญของเขาเกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์โดยตรงคือหนังสือที่นับว่าสำคัญยิ่งในจำนวนหนังสือด้านการแพทย์ทั้ง 14 เล่มของเขา นั่นคือ ชัรหฺ ตัชรีหฺ อัลกอนูน (Commentary on the Anatomy of Canon of Avicenna) ซึ่งเป็นหนังสือที่เขาได้รวบรวมเนื้อหาต่างๆที่เกี่ยวกับวิชาการผ่าตัด (Anatomy) ที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายในหนังสือ กอนูนอัลติบเล่มแรกและสามของอิบนุซีนา พร้อมกับทำการอธิบาย ขยายความ และแก้ไขความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นกับอิบนุซีนา แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ผลงานการค้นพบของเขาหลายๆอย่างกลับถูกนักการแพทย์ยุโรปหลายคนสวมรอยและแอบอ้างว่าเป็นผลงานของพวกเขา[11] 

พวกเขาเหล่านี้ได้คร่ำหวอดอยู่กับการผ่าตัดชันสูตรศพ เพื่อทำการศึกษาให้เข้าใจเกี่ยวกับอวัยวะส่วนต่างๆ โครงสร้างของกระดูก และการวินิจฉัยโรค และได้บันทึกแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งดังกล่าวอย่างละเอียดอ่อนยิ่ง 

เช่นเดียวกับปราชญ์มุสลิมอีกท่านหนึ่งที่ชื่อ อบู อาลี อิบนุ ฮัยษัม (Ibn al-Haytham or Alhacen or Alhazen) (มีชีวิตระหว่างปี ฮ.ศ.354-430/ค.ศ.965-1039) ซึ่งเป็นชนรุ่นเดียวกับอิบนุซีนา เขาได้รับฉายาว่าผู้นำแห่งวิทยาการแสงหรือทัศนะศาสตร์ (The principles of optics) เพราะเขาเป็นคนแรกที่ที่บรรยายเกี่ยวกับการผ่าตัดดวงตา องค์ประกอบต่างๆ และหน้าที่ของแต่ชิ้นส่วนขององค์ประกอบเหล่านั้นด้วยการอธิบายความละเอียดยิ่ง ดังที่เป็นที่รู้จักกันในสมัยปัจจุบัน[12] อิบนุ อัลฮัยษัมได้เขียนตำราเฉพาะที่เกี่ยวกับวิทยาการแสงหรือทัศนะศาสตร์รวม 12 เล่ม ตำราที่สำคัญที่สุดคือตำราที่มีชื่อว่า Kitab al-Manazir (Book of Optics) ซึ่งเขาได้ใช้เวลาเขียนตำราเล่มนี้นานถึง 10 ปี (ค.ศ. 1011-1021)[13] หนังสือเล่มนี้ของเขาได้ถูกแปลเป็นภาษาลาตินเมื่อปี ค.ศ.1572 และตีพิมพ์เผยแพร่ที่เมืองบาซิล ประเทศสวิสเซอแลนด์ ภายใต้ชื่อ Thesaurus Opticus (แหล่งอ้างอิงที่สมบูรณ์สำหรับวิทยาการแสง)[14]

ยังมีต่อ... 



[1] Ibn Manzur, Lisan al-Arab, V.2 p.497
[2] J Milton Cowan, A Dictionary of Modern Written Arabic, p.463
[3] Qasim: Muhammad Abdullah, Qamus al-Mu’tamad, p.304
[4] al-Mujamma’ al-Lughah al-Arabiyah, al-Mu’jam al-Wasit, V.1 p.480
[5] Muhammad Ali al-Bar, Ilmu al-Tashrih Inda al-Muslimin, p.7, Izzuddin Faraj, al-tibb al-Islami, p.44, Hisham al-Khatib, al-Wajiz Fi al-Tibb al-Islami, p.192
[6] al-Wafd, Daily Newspaper (Cairo), 24/1/1988, p.5
[7] Jaodah, Muhammad Gharib, Abaqirah Ulama’ al-Hadarah al-Arabiyah Wa al-Islamiyah Fi al-Ulum al-Tabi’iyah Wa al-tib, pp.86-88
[8] A. Martin-Araguz, C. Bustamante-Martinez, Ajo V. Fernandez-Armayor, J. M. Moreno-Martinez (2002). Neuroscience in al-Andalus and its influence on medieval scholastic medicine, Revista de neurologia 34 (9), p.877-892       
[9] Jaodah, Muhammad Gharib, Ibid, pp.103-110
[10] Jaodah, Muhammad Gharib, Ibid, pp.168-173
[11] Jaodah, Muhammad Gharib, Ibid, pp.238-242, Salman Qatayah, Ibn al-Nafis al-Tabib al-Arabi, p.119
[12] Muhammad Ali al-Bar, Ibid, p.15, 28
[13] Bradley Steffens (2006), Ibn al-Haytham: First Scientist, Morgan Reynolds Publishing
[14] Jaodah, Muhammad Gharib, Ibid, pp.125-130
หมายเลขบันทึก: 105870เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2007 11:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เมื่อไรจะต่อ ข้อมูลสักที่ เพราะต้องการข้อมูลเรืองนี้มาก

อัสลามมุอลัยกมวาเราะมตุ้ลลอฮฺ

แล้วจะมีภาคสองเมือใด

...............................

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท