ศิลปะ (2) ดนตรี นาฏศิลป์ “เรียนรู้หลักการพื้นฐาน”


ดนตรีไทย ดนตรีสากล ขับร้อง ฟ้อนรำและการแสดงเพลงพื้นบ้าน

ศิลปะ (2)

ดนตรี นาฏศิลป์

 เรียนรู้หลักการพื้นฐาน

           ในตอนที่ 2 นี้ ผมขอเล่าเรื่องของหลักการทางดนตรีและนาฏศิลป์ ด้านโสตศิลป์นี้ผมไม่ได้เรียนมาโดยตรงในสถาบัน เพียงแต่ผมฝึกมาจากปราชญ์ชาวบ้าน ทั้งร้อง รำ ดนตรี แบบคนสอนคน ไม่ได้เรียนรู้ในห้องเรียน แต่นำมาเล่าเพื่อที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูศิลปะที่เรียนมาทางดนตรี และนาฏศิลป์ ซึ่งได้แก่ ดนตรีไทย ดนตรีสากล ขับร้อง ฟ้อนรำ การแสดงเพลงพื้นบ้าน (ซึ่งวิชาศิลปะ คือภาพรวมทั้ง 3 สาระไม่มีแยกย่อย) 

          ศิลปะ (Art) ทุกสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อประโยชน์ในการใช้สอย และชื่นชมในความงาม มนุษย์มีการรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่ม เป็นเผ่าพันธุ์ แล้วค่อย ๆ ขยายเผ่าพันธุ์ออกไปเป็นชาติ บ้านเมือง ที่มีศิลปะและวัฒนธรรม ที่แสดงถึงความเจริญงอกงามก็ด้วยการอาศัยผลงานศิลปะเป็นสิ่งรองรับ หรือ มาประกอบการยกระดับความเจริญ ดังนั้น ศิลปะจึงมีความเชื่อมโยงกันกับวัฒนธรรมอย่างมีเหตุมีผล แขนงงานทางศิลปะ แบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ

        1. ด้านทัศนศิลป์ (Visual art) หมายถึงศิลปะที่มองเห็น หรือ ศิลปะที่สัมผัสได้ จับต้องได้และรับรู้ชื่นชมได้ด้วยการเห็น  ได้แก่ จิตรกรรม (Painting) ประติมากรรม (Sculpture) และสถาปัตยกรรม (Architecture)

       2. ด้านโสตศิลป์ (Audio art) หมายถึงศิลปะที่สัมผัสได้ ด้วยการรับฟัง ผ่านประสาทหู ได้แก่ ดนตรี (Music) และนาฏศิลป์ (Drama) 

หลักการของโสตศิลป์

       1. เข้าใจและแสดงออกทางดนตรีอย่างสร้างสรรค์

       2. วิเคราะห์ วิจารณ์ คุณค่า การถ่ายทอดความรู้สึกความคิดต่อดนตรี อย่างอิสระ

       3. นำเอาความรู้ทางดนตรีมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

      4. ความเข้าใจในความเป็นมาของดนตรีที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น

      5. เข้าใจและแสดงออกทางนาฏศิลป์อย่างสร้างสรรค์

      6. วิเคราะห์ วิจารณ์ คุณค่า การถ่ายทอดความรู้สึกความคิดต่อนาฏศิลป์ อย่างอิสระ

      7. นำเอาความรู้ทางนาฏศิลป์มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

      8. ความเข้าใจในความเป็นมาของนาฏศิลป์ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น 

      

ดนตรี    เครื่องดนตรี คือ เครื่องมือที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้บรรเลงให้มีเสียงดังเป็นทำนองเพลง ทำให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน  การแบ่งเครื่องดนตรี โดยอาศัยอากัปกิริยาในการบรรเลง แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ

       1.    เครื่องดนตรีประเภทดีด ใช้มือดีด หรือดีดด้วยวัสดุอื่นเกิดเป็นเสียง ดีดที่สายขึง ใช้นิ้วกดที่สาย แล้วดีดให้เกิดเป็นเสียง 7 เสียงได้แก่ พิณ ซึง จะเข้ กระจับปี่

       2.    เครื่องดนตรีประเภทสี มีเสียงเกิดจากการสีของคันชักที่ทำมาจากหางม้าสีลงบนสายที่ทำมาจากไหม หรือเอ็น มี 2-3 สาย มีคันทวนและกะโหลก  ได้แก่ สะล้อ ซอสามสาย ซอด้วง ซออู้ ซออีสาน ซอมอญ

       3.    เครื่องดนตรีประเภทตี จำแนกได้อีก 3 ประเภท คือ

           3.1     เครื่องตีทำด้วยไม้  ได้แก่ กรับคู่  กรับพวง

           3.2     เครื่องตีทำด้วยโลหะ ได้แก่ มโหระทึก ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ ระฆัง กังสดาล

           3.3     เครื่องตีทำด้วยหนัง ได้แก่ กลองทัด กลองตุ๊ก ตะโพน บัณเฑาะว์ กลองมลายู

      4.     เครื่องเป่า ได้แก่ แตรเขาควาย แตรงอน แตรสังข์ ปี่ใน ขลุ่ย ปี่ซอ ประเภทของวงดนตรีไทย        

การผสมวงดนตรีไทย มี ดังนี้

      1.     วงขับไม้ ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ซอสามสาย โทน กระจับปี่ และผู้ขับร้อง

      2.     วงเครื่องกลองแขก เครื่องดนตรี ได้แก่ กลองมลายู ปี่ ฆ้องโหม่ง

      3.     วงเครื่องสาย ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ซอด้วง ซออู้ จะเข้ ฉิ่ง ขลุ่ย โทน รำมะนา

      4.     วงปี่พาทย์ มีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน ได้แก่

           4.1 วงปี่พาทย์ชาตรี มี ปี่นอก ฆ้องคู่ โทนชาตรี ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง ฆ้องวงใหญ่

           4.2 วงปี่พาทย์เครื่องห้า มีระนาดเอก ปี่ใน ตะโพน กลองทัด ฆ้องวงใหญ่ ฉิ่ง

           4.3 วงปี่พาทย์เครื่องคู่ มี ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ปี่ใน ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง ฆ้องวง      ใหญ่ ฆ้องวงเล็ก

           4.4 วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ มี ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ปี่ใน ปี่นอก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก

       5.   วงมโหรี เป็นวงดนตรีที่มีความสมบูรณ์มากที่สุด มีเครื่องดนตรีทุกประเภท เป็นการรวมวงเครื่องสายกับปี่พาทย์เข้าด้วยกัน วงมโหรีมี  3 ชนิด คือ

           5.1 วงมโหรีเครื่องเดี่ยว มี ระนาดเอก ฆ้องวง ซอ ขลุ่ย จะเข้ โทน รำมะนา ฉิ่งฉาบ

           5.2 วงมโหรีเครื่องคู่ มี ซอด้วง ซออู้ จะเข้ ซอสามสาย (อย่างละ 2) ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงเล็ก ฆ้องวงใหญ่ ขลุ่ยหนีบ ขลุ่ยเพียงออ โหม่งราว ฉิ่ง ฉาบ กรับพวง  โทน รำมะนา

           5.3 วงมโหรีเครื่องใหญ่ มีเครื่องดนตรีครบทุกประเภท และสมบูรณ์มากที่สุด โดย เพิ่มระนาดเอกเหล็ก และระนาดทุ้มเหล็กเข้าไป มีขลุ่ยอู้อีกชิ้นหนึ่งด้วย ดนตรีสากล เป็นเครื่องดนตรีที่ชาวตะวันตกได้นำมาเผยแพร่จนเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก จึงทำให้ทุกชนชาติทุกภาษาสามารถเล่นดนตรีสากลได้ ทั้งนี้เพราะเครื่องดนตรีสากลมีมาตรฐานเดียวกัน และใช้ โน้ต บันทึกทำนองเพลง ประเภทของ

เครื่องดนตรีสากล   แบ่งออกได้เป็น  3 ประเภท คือ

        1. ดนตรีพื้นเมือง หรือดนตรีพื้นบ้าน (Folk Music) มีอยู่ตามท้องถิ่น ส่วนใหญ่ใช้เครื่องประกอบจังหวะ ฉิ่ง กรับ ฉาบ โหม่ง โทน ระมะนา กลอง อาจมี สะล้อ ซอ ซึง แคน เป็นต้น       

        2. ดนตรีแบบฉบับ (Classical Music) เป็นการพัฒนาดนตรีของแต่ละชนชาติ จนเป็นดนตรีชั้นสูง มีความดีเด่นจนเป็นดนตรีประจำชาติได้ เช่น ดนตรีไทย มีพัฒนาการจนสามารถบรรเลงในราชสำนักได้

        3. ดนตรีสมัยนิยมหรือ ชนนิยม (Popular Music) เป็นดนตรีที่ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไป  จะมีเพลงที่ได้รับความนิยมอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง แล้วก็เสื่อมไป มีเพลงใหม่เข้ามาแทนที่ มีการนำเอาทำนองของต่างชาติมาใช้ 

เครื่องดนตรีสากล  แบ่งออกเป็น  5 ประเภท คือ 

       1. ประเภทเครื่องสาย (The String Instruments) ทำมาจากสายโลหะ และสายเอ็น

            1.1 จำพวกเครื่องสายแบบดีด ได้แก่ กีตาร์ แบนโจ แมนโดลีน  ฮาร์ป

            1.2 จำพวกเครื่องสายสี ใช้คันชัก ได้แก่ ไวโอลีน วิโอล่า ดับเบิลเบส

       2. ประเภทเครื่องเป่าลมไม้ (The Woodwind Instruments) มี 2 ประเภท คือ

           2.1 ประเภทเป่าลมผ่านช่องลม ได้แก่ ฟลุท  ปิคโคโล เรคอเดอร์

           2.2 ประเภทเป่าลมผ่านลิ้น ได้แก่  คลาริเนท  แซกโซโฟน  โอโบ  บาสซูน

       3. ประเภทเครื่องเป่าโลหะ (The Brass Instruments) เป่าผ่านริมฝีปากไปปะทะช่องที่เป่า ได้แก่ คอร์เน็ท ทรัมเป็ต เฟรนซ์ฮอร์น ทรอมโบน แบริโทน ยูโฟเนีม ทูบา ซูซาโฟน

       4. ประเภทคีย์บอร์ด (The Keyboard Instruments) มีลิ่มนิ้วเรียงกันเป็นแผง     ได้แก่ เปียโน ออร์แกน  อิเล็กโทน  แอ็คคอร์เดียน  คีย์บอร์ดไฟฟ้า

       5. ประเภทเครื่องตี (The Percussion Instruments) แบ่งเป็น  2 กลุ่ม คือ

           5.1 เครื่องตีนำทำนอง (Molodic Percussion) ได้แก่ โซโลโฟน เบลไลลา ระฆังราว

          5.2 เครื่องตีทำจังหวะ (Rhythmic Percussion) ได้แก่ กลอง บองโกส์ ทอมบา ฉิ่ง ฉาบ กรับ ลูกแซก กลองชุด ความไพเราะของเพลง มีส่วนประกอบ 2 ส่วนคือ เพลงขับร้อง กับเพลงบรรเลง เพลงบรรเลง เป็นเพลงที่ใช้เครื่องดนตรีล้วน ๆ เช่น เพลงโหมโรง เพลงหน้าพาทย์เพลงขับร้อง เป็นการร้องประกอบดนตรี คือ ร้องและมีดนตรีรับ เช่น เพลงเถา เพลงตับเพลงที่เราได้รับฟังกันอยู่ในปัจจุบันมี 2 กลุ่ม คือ เพลงไทย และ เพลงไทยสากล

          

นาฏศิลป์ไทย  เป็นการแสดงท่าทาง โดยการร่ายรำ ซึ่งตามปกติจะใช้ดนตรีและการขับร้องประกอบอยู่ด้วย เช่น ระบำ รำฟ้อน เซิ้ง ละคร  โขน

         1. ระบำ การแสดงท่าทางรำพร้อมกันเป็นหมู่ เป็นชุด ไม่มีการดำเนินเรื่อง เช่น ระบำไก่ ระบำเทพบันเทิง ระบำศรีวิชัย ระบำดอกบัว  

         2. รำ  เป็นการแสดงท่าทางด้วยวงแขน มือที่อ่อนช้อยสวยงาม เป็นการแสดงคนเดียวหรือหมู่ เช่น รำศรีนวล รำแม่บท รำโคม

         3. ฟ้อน เป็นการรำแบบพื้นเมืองของภาคเหนือด้วยลีล่าที่ค่อนข้างจะเชื่องช้า แต่งกายแบบพื้นเมือง เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนเงี้ยว

         4. เซิ้ง ศิลปะการร่ายรำแบบพื้นเมืองภาคอีสาน ใช้จังหวะเร็ว สนุกสนาน ได้แก่ เซิ้งสวิง เซิ้งกระติบ เซิ้งบั้งไป (นำขบวนแห่บั้งไฟ)         

         5. ละคร  เป็นศิลปการแสดงที่ผูกเป็นเรื่องราวเป็นตอน ๆ  ตามลำดับ ประกอบด้วย บทร้อง รำ ทำท่าทาง บทเจรจา ใช้ดนตรีประกอบการแสดง มีการจัดฉากให้สอดคล้องกับเรื่องราว ได้แก่

             5.1 ละครชาตรี เป็นต้นแบบของละครรำ ใช้ผู้แสดง 3 คน มีวงปี่พาทย์บรรเลง

             5.2 ละครนอก  เป็นกระบวนการร้องรำที่ค่อนข้างจะรวดเร็ว เรื่องตลกขบขัน มีวงปี่พาทย์บรรเลง  เดิมผู้ชายแสดง ปัจจุบันผู้แสดงเป็นชาย-หญิง

             5.3 ละครใน  มุ่งเน้นศิลปะการร่ายรำเป็นสำคัญ ยึดระเบียบประเพณี ใช้เพลงไพเราะ ไม่นิยมตลกขบขัน ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน   

            5.4 ละครดึกดำบรรพ์ เป็นละครที่ผู้แสดงร้องเอง รำเอง เจรจาเอง มีการแต่งกาย มีฉากประกอบตามเนื้อเรื่อง มีวงดนตรี  วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์

            5.5 ละครพันทาง เป็นละครแบบผสม ทำเอาศิลปการแสดง ท่าทางของชาติอื่นมาผสมกับศิลปะของไทย แต่งกายตามเนื้อเรื่อง แบ่งการแสดงออกเป็นชุด 

            5.6 ละครร้อง ใช้การร้องเป็นหลัก ดำเนินเรื่อง ไม่มีรำ ใช้ท่าทางประกอบการแสดง 

            5.7 ละครพูด  เป็นละครสมัยใหม่ ใช้การพูดดำเนินเรื่องแทนการร้อง

        6. โขน  เป็นศิลปการแสดงของไทย รูปแบบหนึ่ง มีทั้งการรำ การเต้น ออกท่าทางเข้ากับดนตรี ผู้แสดงสมมุติเป็นตัวยักษ์ ตัวลิง เทวดา ตัวพระ ตัวนาง โดยสวมหน้า เรียกกันว่า หัวโขนผู้แสดงไม่ต้องร้อง จะมีผู้พากย์และร้อง ซึ่งเรียกว่า ตีบทเรื่องที่นำมาแสดง คือ เรื่องรามเกียรติ์ โขนมี 5 ชนิด คือ

            โขนกลางแปลง  โขนโรงนอก (โขนนั่งราว)

            โขนโรงใน  โขนหน้าจอ  โขนฉาก 

นาฏยศัพท์  เกี่ยวกับการใช้มือ 

        วง เป็นการตั้งแขนคล้ายครึ่งวงกลม ตั้งมือขึ้น นิ้วทั้งสี่เรียงชิดติดกันหลบหัวแม่มือเล็กน้อยแล้วหันฝ่ามือออกนอกตัวหักข้อมือเข้าหาลำตัว ตั้งวงมี 4 ชนิด คือ วงบน วงกลาง วงล่าง วงหน้า

        จีบ เป็นการจรดนิ้วมือเข้าหากัน นิ้วหัวแม่มือกับข้อสุดท้ายของปลายนิ้วนิ้วชี้ นิ้วอื่น ๆ กรีดคล้ายพัด การจีบมี 5 ลักษณะ คือ จีบหงาย จีบคว่ำ จีบปรกข้าง จีบปรกหน้า

        เดินมือ เป็นการเคลื่อนมือทั้งสองข้างสลับกันในท่ารำ จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับจังหวะนาฏยศัพท์  เกี่ยวกับการใช้เท้า

        กระดกเท้า เป็นการยกเท้าข้างใดข้างหนึ่งไปข้างหลัง ให้น่องชิดโคนขาแล้วหักข้อเท้า

        ก้าวเท้า  เป็นการก้าวเท้าไปข้างหน้า และก้าวเท้าไปข้างหลัง  โดยเอาส้นเท้าแตะลง

        ก้าวข้าง เป็นการก้าวเท้าออกไปทางด้านข้าง ด้วยเท้าข้างใดข้างหนึ่ง เปิดส้นเท้าหลังด้วย

        จรดเท้า ใช้จมูกเท้าแตะพื้น  วางส้น จรดส้นเท้าข้างใดข้างหนึ่ง

        กระทุ้งเท้า ยกเท้าข้างใดข้างหนึ่งให้สูงขึ้นเล็กน้อยแล้วใช้จมูกเท้ากระทุ้งลงที่พื้น

รำวง  เป็นศิลปะการเล่นพื้นเมือง โดยผู้รำจะต้องยืนรำเป็นวงกลม อาจยืนอยู่กับที่ หรือเดินรำเรียง กันไป ดนตรีที่นิยมใช้ คือ โทน บทร้องส่วนใหญ่เป็นบท หยอกเย้า ชมโฉม รำพันรัก บทจากกันเพลงรำวง ได้แก่ ยวนยาเหล  ยวนยาเหล  หัวใจว้าเหว่  ไม่รู้จะเห่ไปหาใคร

รำวงมาตรฐาน 

         เป็นการเล่นที่ประยุกต์มาจากรำวงพื้นเมืองหรือรำโทน ซึ่งกรมศิลปากรเป็นผู้จัดระเบียบของการรำเพื่อให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพลงต่าง ๆที่ใช้ในการรำจะมีความสัมพันธ์ท่ารำ ได้แก่

          -         เพลงงามแสงเดือน           ท่ารำสอดสร้อยมาลา

          -         เพลงชาวไทย                 ท่ารำชักแป้งผัดหน้า

          -         เพลงรำมาซิมารำ             ท่ารำ รำส่าย

          -         เพลงคืนเดือนหงาย          ท่ารำสอดสร้อยมาลาแปลง

          -         เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ      ท่ารำแขกเต้าเข้ารัง และผาลาเพียงไหล่

          -         เพลงดอกไม้ของชาติ        ท่ารำยั่ว

          -         เพลงหญิงไทยใจงาม        พรหมสี่หน้า และยูงฟ้อนหาง

          -         เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า      ช้างประสานงา และจันทร์ทรงกรดแปลง

          -         เพลงยอดชายใจหาญ        (หญิง) ชะนีรายไม้ (ชาย) จ่อเพลิงกาฬ

          -         เพลงบูชานักรบ   เที่ยวแรก (หญิง) ขัดจางนาง

                                                   (ชาย) จันทร์ทรงกรด 

                                      เที่ยวสอง (หญิง) ล่อแก้ว

                                                   (ชาย) ขอแก้ว

การแสดงเพลงพื้นบ้าน หรือเพลงพื้นเมือง การแสดงหรือการละเล่นของในแต่ละท้องถิ่น จะแฝงเอาไว้ด้วยศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และจิตใจของคนแต่ละท้องถิ่น

ประเภทของการแสดงท้องถิ่น

        1. เพลงพื้นบ้าน เป็นเพลงที่ชาวบ้านคิดคำร้องและท่าทางในการแสดงตามวิถีชีวิตในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้แก่ เพลงเรือ เพลงฉ่อย เพลงพวงมาลัย เพลงอีแซว  ลำตัด เพลงเทพทอง เพลงโคราช เพลงบอก เพลงแคน เพลงหมอลำ ฯลฯ

        2. รำพื้นเมือง  คือ ระบำ รำ ฟ้อนที่กำเนิดมาจากถิ่นต่าง ๆ  เช่น ฟ้อนเทียน ฟ้อนเล็บ ฟ้อนภูไท รำวง รำกลองยาว รำศรีนวล  

การแสดงเพลงพื้นบ้าน ภาคต่าง ๆ 

        1. เพลงพื้นบ้านภาคกลาง  เพลงพวงมาลัย เพลงเหย่ย เพลงฉ่อย ฯลฯ นิยมเล่นกันในเทศกาล ตรุษ สงกรานต์ สารทไทย  การแต่งกายผู้แสดงจะนุ่งโจงกระเบน ใส่เสื้อสีลายดอก

        2. การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ  ได้แก่ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ด้วยท่วงท่าลีลากรีดกราย  นุ่งผ้าสิ้น  ห่มสไบ  เกล้าผมมวยทรงสูง สวมเล็บยาวทั้ง 4 นิ้ว

        3. การแสดงพื้นเมืองภาคอีสาน ได้แก่ เซิ้งบั้งไฟ  หมอลำ  เซิ้งสวิง เซิ้งกระติบ การแสดงไม่มีแบบแผน เป็นรำ ทำท่าทางที่สนุกสนาน นำขบวนแห่บั้งไฟ  การแต่งกายนุ่งผ้าสิ้น เสื้อแขนกระบอก  ชายนุ่งกางเกงขาก๊วย เสื้อคอกลม ผ้าขาวม้าคาดพุง

        4. การแสดงพื้นเมืองภาคใต้ ได้แก่ โนรา หนังตะลุง  เพลงบอก   การแสดงโนรา แต่งกายนุ่งผ้าสนับเพลา มีสังวาล ทับทรวง ปั้นเหน่ง ผ้าห้อยหน้า จีบหางหงส์ กำไลต้นแขน ปลายแขนส่วนหนังตะลุง ใช้คนเป็นผู้เชิดตัวหนังที่ทำด้วยหนังวัว หนังควายขูดจนบาง แกะสลัก ระบายสีสวยงาม มีทั้งตัวพระ ตัวนาง ฤษี  ตัวตลก  ปราสาทราชวัง ฯลฯ เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบในการแสดงหนังตะลุง ได้แก่ ทับ 2 ลูก ฆ้องคู่  ปี่ ซอ กลองตุ๊ก ฉิ่ง และกรับ  ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้เครื่องดนตรีสากลด้วย  

     

ผลงานที่นักเรียนคิดสร้างสรรค์หรือปฏิบัติ (ตามความสนใจ ตามความสามารถ) ได้แก่

       1.     งานดนตรีพื้นบ้านตามความถนัด (ใช้เครื่องดนตรี 1-3 ชิ้น)
       2.     งานบรรเลงดนตรีไทย หรือดนตรีสากล
       3.     งานขับร้องเพลงไทย แบบไทยเดิม ไทยประยุกต์ และสากล
      
หมายเลขบันทึก: 103371เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2007 23:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:04 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

ค้นหาโดยใช้ Google.com ก็ได้ หรือจะ Search ด้วยเมนูของเว็บก็ได้ เพราะว่า บล็อกที่ผมขึ้นไว้ในเว็บนี้มีจำนวนมาก ไม่แต่เพียง "ศิลปะ" เท่านั้น ขอบคุณที่แสดงความเห็น

  • ถ้าความอยากจะ เปรียบเทียบได้กับความสนใจ หรือมีความเป็นพิเศษในนาฏศิลป์, ดนตรีอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาในใจแล้ว
  • ก็นับว่ามีจุดเริ่มต้นที่ดี แต่จะต้องมีการฝึกฝนอย่างจริงจังด้วย ครับ

สวัสดี bank

  • ขอขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยม บล็อกศิลปะ
  • มีสิ่งใดขาดตกไปบ้างแนะนำเข้ามานะ ครับ

อยากทราบว่าหลักการรับรู้คุณค่าความงามของมนุษย์ได้แก่อะไรบ้างคะ

ตอบความเห็นที่ 8 คุณอมรรัตน์

  • หลักการรับรู้คุณค่าความงามของมนุษย์ได้แก่อะไรบ้าง
  • ความพึงพอใจในความงามของมนุษย์ขึ้นอยู่กับประสาทสัมผัสที่ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติทางศีลธรรม และสิ่งโน้มน้าวจิตใจด้วย
  • ส่วนการตัดสินใจของมนุษย์ในทางความงามอาจยึดหลักการหรือยึดตนเองก็ได้ หากผู้นั้นมีความรู้จริงในสิ่งทั้งหลาย เช่น รู้ว่าศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้านเป็นเพลงร้อง ร้องปะทะคารม เล่นสำนวนชวนให้คิดก็ไม่ต้องไปพะวงในเรื่องของการรำจนเสียรูปแบบการแสดง
  • ผู้ที่ยึดหลักเกณฑ์เป็นตัวตัดสินใจ จะต้องศึกษาในเรื่องของสุนทรียธาตุ ฝึกพัฒนาจิตให้เกิดความสมบูรณ์จึงจะมองเห็นแก่นแท้ของคุณค่าทางความงามได้ ดังที่ผมยกมาในตอนหนึ่งว่า เพลงพื้นบ้านเป็นเพลงร้อง แต่ด้วยความที่มีบุคคลบางท่นไปเข้าใจว่าเป็นเพลงรำ จึงทำให้พบว่า เพลงอีแซว ของจังหวัดสุพรรณบุรี กลายเป็น เพลงรำอีแซว ไปเสียได้ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับว่า มนุษย์ในแต่ละบุคคล มีมาตรฐานในการวัด ในการรับรู้คุณค่าทางความงามที่แตกต่างกัน หากไม่รู้จริงจะต้องศึกษาต่อไป
  • ขอขอบคุณ ครับ มีอะไรเพิ่มเติมส่งขึ้นมาด้วย ผมพูดไปตามประสบการณ์ ครับ

ขอบคุณ คุณ Pol มากครับ ที่เข้ามาเยี่ยม

ขอบคุณมากเลยค่ะ สำหรับเนื้อห้า

ตอบความเห็น joOM

  • ขอบคุณมากครับ ที่เข้ามารับรู้เรื่องราวทางศิลปะการแสดง
  • ผมไม่ใช่ครูนาฏศิลป์และดนตรี แต่ผมศึกษางานด้านการแสดงจากภูมิปัญญาชาวบ้านมานาน
  • มีข้อเสนอแนะ ความเห็น แนะนำขึ้นมาบ้าง

สวัสดีค่ะ แวะมาทักทาย คนที่รักดนตรี-นาฏศิลป์เหมือนกันค่ะ

คนสัมคัญของนาฏศิลไทยคือใคร

ตอบความเห็นที่ 13 คุณครูบันเทิง

  • ขอบคุณคนรักดนตรีและนาฏศิลป์มากครับ (ความจริงผมจบมาทางจิตรกรรม)
  • แต่ผมสนใจและฝึกศิลปะการแสดงมาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ป.1 โดยเฉพาะพื้นบ้านฝึกมาหลายอย่างและยึดเป็นอาชีพการแสดงมานาน ครับ

ตอบความเห็นที่ 14 (คุณแบม)

  • คำถาม คนสำคัญทางนาฏศิลป์ไทย คือใคร
  • คำตอบที่ 1 เท่าที่ผมได้ยินชื่อท่านบ่อย ๆ คือ ครูเตือน พาทยกุล
  • คำตอบที่ 2 คือภูมิปัญญาท้องถิ่ร และศิลปินแห่งชาติด้านนาฏศิลป์ไทย
  • คำตอบที่ 3 คนสำคัญที่สุดของผมคือ ป้าอ้น จันทร์สว่าง (ผู้ที่สอนเพลงอีแซวให้ผม ก่อนปี 2520 และส่งให้ผมยืนอยู่บนเวทีการแสดงอาชีพมายาวนาน)

<h6>ครชำเลืองเกิด 2494 จริงๆเหรอ..เป็นไปได้ไงคะ...</h6>

ตอบความเห็นที่ 17 (สงสัย)

  • จริง ๆ ครับ ผมเกิดเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2494 (ตามบัตรประชาชน)
  • จะเกษียณอายุราชการในอีก 20 เดือนข้างหน้า ก็ทำงานมา 40 กว่าปีแล้ว

P...ครูชำเลีอง..แข็งแรงมากๆเลย..เหมือนพ่อครูอ้อยเล็กท่านเป็นครูดนตรีเกษียณมา 7 ปียังหนุ่มอยู่เลย ครูชำเลืองก็คงคล้ายกันนิ..

ตอบความเห็นที่ 19 คุณอ้อยเล็ก (ช้าไปนิด)

  • ดูจกภาพ คูรพ่อของอ้อยเล็กยังแข็งแรง มีสุขภาพดีมากนะ
  • ส่วนครูชำเลืองในช่วงใกล้ 60 ปีก็เริ่มทรุดลงไปบ้างแต่ก็ยังรับใช้สังคมไหวอยู่ ครับ
  • วันที่ 6, 7, 8 และ 9 มิถุนายน 2553 แสดงอยู่ที่ สยามแม็คโคร จ.ลพบุรี 4 วัน

สวัสดีคะ ชื่อฟักแฟงคะ ฟักแฟงอยากได้เกี่ยวเพลงรำบ้างนะคะ เช่น สีนวล อวยพรอ่อนหวาน มโนราห์บูชายัญ ฟ้องมาลัยนะคะหายากมากเลยในเน็ตนะคะ

สวัสดี ฟักแฟง

  • เพลงรำที่ฟักแฟงอยากได้ ค้นหาที่เว็บไซต์ youtube.com มีอยู่จำนวนมาก
  • โดยพิมพ์ข้อความที่ช่องค้นหาว่า "ฟ้อนมาลัย" หรืออื่น ๆ ตามที่เราต้องการจะพบ ในเว็บนี้มีข้อมูลมหาศาล ครับ หนูลองเข้าไปดู

่่ขอบคุณมากค่ะ 

ข้อมูลดีมากเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท